รู้ทัน 2 เชื้อโรคร้าย เพื่อปกป้องลูกรัก จากอันตราย

รู้ทัน 2 เชื้อโรคร้าย เพื่อปกป้องลูกรัก จากอันตราย

รู้ทัน 2 เชื้อโรคร้าย เพื่อปกป้องลูกรัก จากอันตราย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เจ้าเชื้อโรคร้าย คืออะไร?
เชื้อแบคทีเรียตัวร้ายที่แผลงฤทธิ์ จนก่อให้เกิดโรคอันตรายในเด็ก ที่อยากให้คุณพ่อคุณแม่รู้จัก คือเจ้าเชื้อนิวโมคอคคัส และเชื้อเอ็นทีเอชไอ(ฮีโมฟีลุส อินฟลูเอ็นซา ชนิดไม่มีเปลือกหุ้ม) ..... เชื้อโรคอะไรไม่รู้ ชื่อเรียกก็ยาก มาลองรู้จักกันหน่อยดีไหม?

เชื้อนิวโมคอคคัสเป็นเชื้อแบคทีเรีย ที่พบได้ 21%-59% ในโพรงจมูกและลำคอของเด็กที่แข็งแรงดี ส่วนเชื้อเอ็นทีเอชไอพบได้ในโพรงจมูกและลำคอได้ถึง 60%-90% ของเด็กที่แข็งแรงดี เชื้อโรค 2 ชนิดนี้อาศัยอยู่ในร่างกายของเด็ก โดยส่วนใหญ่จะไม่ก่อโรค แต่เมื่อใดที่ร่างกายอ่อนแอ เช่นป่วยเป็นหวัด ติดเชื้อไวรัสในทางเดินหายใจ เชื้อโรค 2 ชนิดนี้จะเข้าไปในอวัยวะต่างๆก่อให้เกิดอันตรายได้

เชื้อนิวโมคอคคัส และเชื้อเอ็นทีเอชไอ ในเด็กเล็กๆที่ภูมิต้านทานยังไม่แข็งแรงเป็นสาเหตุของการติดเชื้อที่รุนแรงที่เยื่อหุ้มสมองและในกระแสเลือดและยังเป็นสาเหตุหลักในการก่อให้เกิดโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ เช่น หูชั้นกลางอักเสบ ไซนัสอักเสบ หลอดลมอักเสบ ปอดบวม เป็นต้น นอกจากนี้เชื้อเอ็นทีเอชไอยังทำให้เป็นโรคตาแดง เยื่อบุตาอักเสบด้วย ในแต่ละปีเชื้อนิวโมคอคคัสทำให้เด็กทั่วโลกเสียชีวิตมากกว่า 1ล้านคน

เชื้อร้ายนี้ ก่อโรคได้อย่างไร ?
ในเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 2 ปีมีความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อโรค 2 ชนิดนี้ โดยเชื้อโรคจะติดต่อจากคนสู่คนโดยการหายใจหรือไปสัมผัสกับ เสมหะ น้ำมูก น้ำลายของคนที่ติดเชื้อ เช่น ในขณะไอหรือ จาม เชื้อนิวโมคอคคัสสามารถอยู่ในเสมหะที่อุณหภูมิห้องได้นาน 1-2 วัน แต่ถ้าอยู่ในอุณหภูมิ 4 องศาเซลเซียสเชื้อจะอยู่ได้นานมากกว่า 1 สัปดาห์เลยทีเดียว ในบางพื้นที่มีรายงานว่า มือของเด็กอายุ 3-7 ปีพบเชื้อนิวโมคอคคัสได้ถึง 37%

โรคอันตรายในเด็กที่ควรรู้ ที่เกิดจาก 2 เชื้อนี้ ได้แก่โรคอะไรบ้าง?

1. โรคไอพีดี (IPD: Invasive Pneumococcal Disease) คือ โรคติดเชื้อนิวโมคอคคัสชนิดรุนแรงโดยเชื้อจะรุกรานเข้าไปในบริเวณที่ปลอดเชื้อในร่างกาย เช่น เยื่อหุ้มสมอง น้ำหล่อเลี้ยงสมองและไขสันหลัง ในกระแสโลหิต ช่องเยื้อหุ้มปอด ทำให้เกิดโรคติดเชื้อในระบบประสาท การติดเชื้อในกระแสเลือด โรคปอดอักเสบ

อาการของโรคติดเชื้อในระบบประสาท เช่น โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ เด็กจะมีไข้สูง ปวดศีรษะ ซึมลง สับสน คลื่นไส้ อาเจียน ซึ่งในเด็กทารกอาจมีการงอแง ซึม ไม่กินนม และชักได้ ถ้าไม่ได้รับการรักษาทันทีเด็กอาจมีความผิดปกติของสมอง โรคลมชัก หูหนวก ในรายที่เป็นรุนแรงอาจถึงเสียชีวิตได้

อาการของโรคติดเชื้อในกระแสเลือด ในเด็กเล็กมักจะมีไข้สูง ร้องกวน งอแง อาจเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ช็อกมือเท้าเย็น หายใจเร็ว ถ้าอาการเป็นมากขึ้นจนมีหัวใจวาย อาจเสียชีวิตได้ (เชื้อเอ็นทีเอชไอเป็นสาเหตุในการก่อให้เกิดโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบและติดเชื้อในกระแสเลือดได้เหมือนกัน แต่พบได้น้อยกว่ามาก)

 

2. โรคปอดอักเสบ คือ การอักเสบติดเชื้อของเนื้อปอด ปอดเมื่อมีการอักเสบ จะมีน้ำและหนองในเนื้อปอด ทำให้ความสามารถในการทำงานของปอดในการนำอ๊อกซิเจนเข้าไปในเลือดลดลง มีเด็กป่วยเป็นโรคปอดอักเสบทั่วโลกปีละ155 ล้านคน ปอดอักเสบเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตในเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปีมากกว่า 1.8 ล้านคนต่อปี (ประมาณ 20% ของการเสียชีวิตของเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปีทั่วโลก) ในเมืองไทยพบเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปีป่วยเป็นปอดอักเสบประมาณ 7 คนต่อประชากรเด็ก 100 คน

โรคปอดอักเสบที่เกิดจากโรคติดเชื้อในเด็ก เกิดได้จากหลายสาเหตุ ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย หรือเชื้อไวรัส โดยเชื้อแบคทีเรียนิวโมคอคคัสและเชื้อเอ็นทีเอชไอเป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดปอดอักเสบในเด็ก

เด็กที่เป็นโรคนี้จะมีไข้ ไอ หายใจเร็ว หายใจลำบาก หายใจเสียงดัง โดยโรคปอดอักเสบ อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน คือ ภาวะนํ้าหรือหนองในช่องเยื่อหุ้มปอด ฝีในปอด ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดที่รุนแรง ภาวะช็อกและอาจเสียชีวิตได้

 

3. โรคหูชั้นกลางอักเสบ คือ โรคที่เกิดจากการติดเชื้อที่บริเวณหูชั้นกลาง สาเหตุส่วนใหญ่มาจากการติดเชื้อแบคทีเรีย หรือไวรัส โดยเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดหูชั้นกลางอักเสบในเด็ก 35%-40% เกิดจากเชื้อนิวโมคอสคัส และ 20%-25% เกิดจาก เชื้อเอ็นทีเอชไอ

การอักเสบเฉียบพลันของหูชั้นกลางพบได้บ่อยในเด็ก มีรายงานว่า กว่า 80% ของเด็กอายุต่ำกว่า 3 ปีเคยเป็นโรคหูชั้นกลางอักเสบ อย่างน้อย 1 ครั้ง เหตุผลที่พบบ่อยในเด็ก เนื่องจากเด็กมีการติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบนเช่น จมูก คอได้บ่อย เชื้อโรคจากโพรงหลังช่องจมูก แพร่มาทางท่อยูสเตเชียนเข้าไปในหูชั้นกลาง (ท่อยูสเตเชียนเป็นท่อเล็กๆที่เชื่อมระหว่างหูชั้นกลางกับโพรงหลังจมูก) ซึ่งท่อนี้ในด็กจะสั้นและวางตัวในแนวนอนมากกว่าในผู้ใหญ่ ทำให้เชื้อโรคเข้าไปในหูชั้นกลางได้ง่าย หากมีการอักเสบที่หูชั้นกลาง แล้วถ้าไม่ได้รับการรักษาที่ดี เชื้ออาจกระจายไปที่อวัยวะต่างๆ เช่น ไปสู่สมอง ทำให้เป็นเยื่อหุ้มสมองอักเสบ หรือฝีในสมองได้

เด็กที่ป่วยเป็นโรคหูชั้นกลางอักเสบ ในเด็กเล็กอาจจะมีอาการหวัด ร้องกวน เอามือจับหู ส่วนในเด็กโตมักบอกได้ว่าเจ็บหู ซึ่งหากเด็กไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสมอาจเกิดความพิการทางการได้ยิน ทำให้เด็กมีปัญหาในการเรียนรู้ ส่งผลต่อเนื่องต่อพัฒนาการทางด้านภาษา พัฒนาการด้านต่างๆ และคุณภาพชีวิตตามมา

 

ทั้ง 3 โรคอันตรายนี้ สามารถรักษาได้หรือไม่?
รักษาได้ครับทั้ง 3 โรคนี้ รักษาได้ด้วยยาปฏิชีวนะร่วมกับวิธีการรักษาอื่นๆ สิ่งสำคัญคือต้องได้รับการวินิจฉัยโรคและรักษาอย่างทันท่วงที อย่างไรก็ตามบางครั้งทั้งๆ ที่ได้รับการวินิจฉัยโรคและรักษาอย่างถูกต้อง ผลการรักษาก็ยังไม่ดีเท่าที่ควร ปัจจุบันพบว่าเชื้อนิวโมคอสคัสและเชื้อเอ็นทีเอชไอมีการดื้อยาปฏิชีวนะมากขึ้น ทำให้การรักษายาก ฉะนั้นการป้องกันดูจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด

จะปกป้องลูกให้ห่างไกลจาก 2 เชื้อโรคร้าย และ 3 โรคอันตราย ได้อย่างไร?
เด็กเล็กยังมีภูมิคุ้มกันโรคไม่ดีนักเนื่องจากร่างกายของเขายังเจริญเติบโตไม่เต็มที่และยังไม่แข็งแรงพอที่จะต้านเชื้อโรคร้ายแรงได้ โดยเฉพาะ 2 เชื้อร้ายอย่างนิวโมคอคคัสและเอ็นทีเอชไอ ซึ่งเป็นเชื้อโรคที่ทำให้เกิดโรคไอพีดี ปอดบวมและโรคหูชั้นกลางอักเสบ นับได้ว่าเป็นเขื้อที่มีอันตรายร้ายแรง มีความทนทานและมีความเสี่ยงในการดื้อยาสูง และที่สำคัญคนที่เคยป่วยเป็นโรคเหล่านี้ยังสามารถกลับมาเป็นช้ำได้

ดังนั้นการป้องกันจึงเป็นสิ่งที่ดีที่สุด ทำได้โดย
1. เลี้ยงลูกด้วยนมแม่เป็นเวลามากกว่า 1 ปี
2. รักษาความสะอาด ดูแลข้าวของเครื่องใช้ โดยเฉพาะสิ่งของที่ใช้มือจับบ่อยๆ เช่นลูกบิดประตู ของเล่น เป็นต้น
3. ล้างมือให้เด็กบ่อยๆ
4. ปิดปากและจมูกทุกครั้งที่ไอ หรือจาม
5. ไม่แคะจมูก ไม่เอามือใส่ปาก ไม่ขยี้ตา
6. หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผู้ป่วยที่มีอาการ ไอ จาม รวมถึงหลีกเลี่ยงการพาลูกไปในสถานที่ที่มีเด็กอยู่รวมกันมากๆ ที่ที่มีคนสูบบุหรี่ มลภาวะเป็นพิษต่างๆ
7. ทำร่างกายให้แข็งแรง ด้วยการออกกำลังกาย รับประทานอาหารที่ดีมีประโยชน์ อย่าให้เด็กนอนดึก
8. ปรึกษากุมารแพทย์เรื่องการเสริมภูมิคุ้มกันป้องกันโรคจากเชื้อ 2 ชนิดข้างต้น และโรคอื่นๆ เช่นไข้หวัดใหญ่ ที่อาจทำให้ร่างกายอ่ออนแอติดเชื้อต่างๆ ได้ง่าย

...คุณพ่อคุณแม่ ถ้ายังมีข้อสงสัยสามารถปรึกษากุมารแพทย์ เพื่อขอรับทราบข้อมูลเหล่านี้ได้ครับ...


นพ.สุบรรณ สุวัฒนะพงศ์เชฏ กุมารแพทย์

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook