รู้หรือไม่ การแสดงอารมณ์ ส่งผลต่อโครงสร้าง ร่างกาย
คนที่อารมณ์ดี คิดดี ทำดี จิตใจดี จะเป็นคนที่มีความสุข ใบหน้าแววตาสดใส ส่งผลดีต่อสุขภาพร่างกายอย่างน่าอัศจรรย์ เมื่อจิตใจดี สุขภาพร่างกายก็จะดีตามมาเอง แต่อารมณ์ไม่ได้มีผลต่อสุขภาพเพียงอย่างเดียว ยังมีผลต่อโครงสร้างร่างกายอีกด้วย คุณเพ็ญพิชชากร แสนคำ Clinical Director จากสถาบันปรับโครงสร้างร่างกายอริยะ กล่าวว่า อารมณ์เป็นตัวกำหนดพฤติกรรมต่างๆ ที่แสดงออกมา เช่น คนที่มีความสุขก็จะมีหน้าตาสดใส พฤติกรรมการยืน เดิน นั่ง ก็สง่าผ่าเผย ต่างจากคนที่มีอารมณ์หดหู่ ที่มักจะนั่งไหล่ตก ตัวงอ ส่งผลให้โครงสร้างร่างกายผิดรูปไปจากเดิม พฤติกรรมที่แสดงออกมาจึงล้วนมี ผลต่อโครงสร้างร่างกายทั้งสิ้น ลองหันมาสังเกตอารมณ์ของตนเอง ว่ามีผลต่อพฤติกรรมการแสดงออกทางร่างกายอย่างไร
อารมณ์โกรธ ตกใจ และหวาดกลัว จะมีพฤติกรรมหายใจถี่ หัวใจเต้นแรงและเร็ว ซึ่งเกิดจากการเปลี่ยนแปลงระดับฮอร์โมนในร่างกายที่เรียกว่า ‘Cortisol' ฮอร์โมนที่มีผลทำให้หลอดเลือดและกล้ามเนื้อต่างๆ มีการเกร็งตัวมากกว่าปกติ โดยเฉพาะกล้ามเนื้อที่บริเวณท้ายทอย ซึ่งมีผลต่อการไหลเวียนเลือด ทำให้เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงสมองน้อยลง คนกลุ่มนี้มักมีอาการปวดเมื่อยศีรษะและหนักศีรษะ
อารมณ์เสียใจ ร้องไห้ ซึมเศร้า มีผลต่อกล้ามเนื้อในการหายใจ โดยเฉพาะกล้ามเนื้อระหว่างซี่โครง ซึ่งทำหน้าที่ยกซี่โครงขึ้นเวลาเราหายใจเข้า ทำให้ปอดขยายได้เต็มที่ คนในกลุ่มอารมณ์นี้กล้าม-เนื้อจะเกร็งตัวมาก ทำให้หายใจไม่อิ่ม แน่นหน้าอก การไหลเวียนของออกซิเจนเข้าไปเลี้ยงร่างกายถูกจำกัด ที่สำคัญคนเหล่านี้จะอยู่ในท่าทางคอตก อกพับ ไหล่จะงุ้มไปด้านหน้า และหลังค่อมมากกว่าปกติ นานเข้าทำให้การหายใจและการทำงานของปอดลดลง อาจเสี่ยงทำให้เกิดโรคร้ายแรงได้
อารมณ์เครียด เป็นอารมณ์ที่คนทั่วไปมักปฏิเสธว่าตนเองไม่ได้เป็น แต่อันที่จริงแล้วในจิตใต้สำนึกเป็นอยู่ ซึ่งจะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงระดับฮอร์โมนในระยะยาว ทำให้ไม่สามารถทนต่อสิ่งเร้าต่างๆ ที่มากระทบได้ สะสมจนทำให้เป็นคนหงุดหงิดง่าย โมโหง่าย มีผลต่อโครงสร้างร่างกายโดยตรงคือกล้ามเนื้อทั้งตัวจะตึงรั้ง หดเกร็งมากกว่าปกติ บาดเจ็บได้ง่าย โดยเฉพาะกล้ามเนื้อมัดเล็กที่บริเวณต้นคอ ทำให้มีอาการปวดคอ มึนศีรษะ และเกิดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคกระดูกคอเสื่อมได้ง่าย
อารมณ์ดี คนกลุ่มนี้จะมีท่วงท่าที่สง่าผ่าเผย หลังตั้งตรง อกผายไหล่ผึ่ง การสูบฉีดของเลือดไปเลี้ยงเซลล์ต่างๆ ในร่างกายได้ดี ฮอร์โมนในร่างกายส่งเสริมให้มีภูมิต้านทานโรคภัยไข้เจ็บได้ดี แนวกระดูกจะเรียงตัวในความโค้งที่เหมาะสม อวัยวะต่างๆ อยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้องส่งเสริมให้ร่างกายทำงานได้ดี
อารมณ์ต่างๆ ที่คุ้นชินอาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้อุปนิสัยเปลี่ยน รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงฮอร์โมนและเซลล์ในร่างกาย ขณะเดียวกันก็ส่งผลต่อระบบโครงสร้างของร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นระบบกระดูก กล้ามเนื้อ ระบบการไหลเวียนเลือด น้ำเหลือง และระบบประสาท ดังนั้น เราจึงควรดูแลรักษาตัวเองจากภายใน เพราะจิตที่แจ่มใสย่อมอยู่ในร่างกายที่แข็งแรง