อาการปวดเมื่อยหลังออกกำลังกาย เกิดขึ้นจากอะไร แก้ไขอย่างไรดี
การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ไม่เพียงช่วยให้ร่างกายแข็งแรงเท่านั้น แต่ยังช่วยสร้างความอึดทนให้กล้ามเนื้อ ช่วยกระตุ้นระบบเผาผลาญให้ทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ แต่สังเกตกันบ้างหรือไม่คะว่า บางคนหลังออกกำลังกายเสร็จไม่นาน ก็เกิดอาการปวดกล้ามเนื้อ หรือบางคนที่ยังเป็นมือใหม่ วันรุ่งขึ้นหลังออกกำลังกาย ก็รู้สึกปวดเมื่อยไปทั่วตัว แทบจะลุกจากเตียงไม่ไหว พาลทำให้ไม่อยากออกกำลังกายต่อ ซึ่งอาการเหล่านี้มีสาเหตุที่คุณสามารถแก้ไขได้ เราลองมาทำความเข้าใจอาการที่เกิดขึ้น พร้อมวิธีบรรเทาที่จะช่วยให้การออกกำลังกายกลายเป็นเรื่องสนุกเหมือนเดิม เพิ่มเติมคือ ลดอาการบาดเจ็บให้น้อยลงอีกด้วย
อาการปวดเมื่อยตามตัวหลังออกกำลังกาย เกิดจากอะไร?
เมื่อร่างกายมีการเคลื่อนไหว กล้ามเนื้อจะมีกระบวนการที่ดึงเอาพลังงานมาใช้ หรือที่เรารู้จักกันดีในระบบเมตาบอลิซึ่ม ซึ่งจะเผาผลาญออกมาเป็นพลังงาน และยังทำให้เกิดเป็นกรดแลคติกออกมาด้วย ซึ่งกรดดังกล่าวจะก่อให้เกิดอาการเมื่อยล้าตามส่วนต่างๆ ของกล้ามเนื้อได้ นอกจากนี้อาการปวดเมื่อยอาจเกิดได้จากกล้ามเนื้อมีการฉีกขาด เนื่องจากในขณะที่ออกกำลังกาย ร่างกายมีการใช้แรงมากจนเกินไป แม้จะเป็นการฉีกขาดเพียงเล็กน้อยไม่รุนแรงมากนัก แต่ก็มีส่วนทำให้เกิดอาการปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อได้เช่นเดียวกัน
วิธีบรรเทาอาการปวดกล้ามเนื้อหลังจากออกกำลังกาย
หากไม่อยากให้หลังการออกกำลังกายต้องเผชิญกับอาการปวดเมื่อยจนชวนหงุดหงิดเกินไป วิธีเหล่านี้สามารถช่วยคุณได้ค่ะ
1.วอร์มอัพร่างกาย
ก่อนออกกำลังกายทุกครั้ง ควรวอร์มอัพร่างกายโดยยืดเส้นยืดสาย ให้ร่างกายพร้อมสำหรับการออกกำลังกาย และยังเป็นการกระตุ้นกล้ามเนื้อให้มีความยืดหยุ่น พร้อมสำหรับการรับแรงกระแทกได้ดีขึ้น เช่น การวิ่งเหยาะๆ ประมาณ 10-15 นาที เพื่อให้กล้ามเนื้อได้มีการปรับตัวที่ดีก่อน หากกล้ามเนื้อปรับตัวได้ดีแล้ว ก็สามารถออกกำลังกายได้ตามปกติ และสังเกตได้เลยว่าหลังออกกกำลังกายจะมีอาการปวดเมื่อยลดน้อยลงอย่างมาก
2.ดื่มน้ำให้เหมาะสม
การออกกำลังกายจะทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำไปด้วย ซึ่งหากร่างกายขาดน้ำก็จะส่งผลให้กล้ามเนื้อฟื้นตัวได้ช้า หากเป็นเช่นนี้ก็จะทำให้อาการปวดหายช้าตามมา ดังนั้นทางที่ดีควรดื่มน้ำสัก 8 ออนซ์ทุกๆ 15-30 นาทีระหว่างที่ออกกำลังกาย ด้วยวิธีการค่อยๆ จิบ ไม่ต้องดื่มทีเดียวจนหมดแก้ว เพื่อให้ร่างกายมีน้ำเพียงพอต่อกระบวนการทำงานอยู่เสมอ เพียงเท่านี้ก็จะช่วยให้อาการปวดลดลง กล้ามเนื้อฟื้นตัวได้เร็วขึ้นด้วย
3.เคลื่อนไหวร่างกายอย่างสม่ำเสมอ
หากร่างกายเกิดการปวดเมื่อยก็จะทำให้ไม่สามารถออกกำลังกายได้ แต่รู้หรือไม่ว่ายิ่งเคลื่อนไหวร่างกายในช่วงที่กำลังปวดกล้ามเนื้ออยู่ ก็จะยิ่งทำให้อาการปวดหายเร็วยิ่งขึ้น เพราะเมื่อร่างกายมีการเคลื่อนไหว เลือดก็มีการไหลเวียนที่ดีขึ้นตาม ระบบของร่างกายจะช่วยเร่งระบายของเสียและสารเคมีที่มีผลต่ออาการเจ็บปวดกล้ามเนื้อ ทำให้อาการเหล่านี้หายไปได้ เป็นอีกวิธีที่ได้ผลดีเยี่ยมไม่แพ้กันเลยทีเดียว
นอกจากนี้การออกกำลังกายอย่างเหมาะสมในด้านปัจจัยของสุขภาพ อายุ เพศ และน้ำหนักตัว ก็เป็นสิ่งที่ต้องคำนึงถึงเช่นเดียวกัน การออกกำลังกายที่ไม่หักโหมจนเกินไป ย่อมส่งผลดีต่อสุขภาพในระยะยาวมากกว่าการหักโหมเกินระดับที่ร่างกายจะรับไหว ซึ่งหากทำบ่อยจนเกินไป ก็จะกลายเป็นผลเสียมากกว่าผลดีตามมาได้ค่ะ