“วินัยเชิงบวก” แนวทางเลี้ยงลูกยุคใหม่ที่ท้าทายแต่ได้ผลเกินคุ้ม

“วินัยเชิงบวก” แนวทางเลี้ยงลูกยุคใหม่ที่ท้าทายแต่ได้ผลเกินคุ้ม

“วินัยเชิงบวก” แนวทางเลี้ยงลูกยุคใหม่ที่ท้าทายแต่ได้ผลเกินคุ้ม
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

สำหรับคนเป็นพ่อแม่ การที่ลูกเติบโตเป็นคนที่มีคุณภาพน่าจะเป็นความฝันสูงสุด อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่เด็กทุกคนที่จะประสบความสำเร็จได้อย่างง่ายดาย บางคนต้องผ่านอุปสรรคมากมาย ในขณะที่บางคนกลายเป็นเด็กหลงทาง หากมองอย่างฉาบฉวย เราอาจบอกว่าความสำเร็จของเด็กแต่ละคนก็ขึ้นอยู่กับตัวเด็กเอง แต่เมื่อมองให้ลึกลงไปแล้ว ตัวตนของเด็ก ความรู้ผิดถูก ความสามารถในการตัดสินใจ ล้วนเป็นผลมาจากการเลี้ยงดูของครอบครัวทั้งสิ้น

เพราะครอบครัวคือจุดเริ่มต้นของมนุษย์คนหนึ่ง จึงเป็นหน้าที่ของครอบครัวที่จะ “ติดอาวุธ” ให้กับเด็กตั้งแต่อายุยังน้อย เพื่อให้เด็กสามารถเติบโตไปเป็นส่วนหนึ่งของสังคมได้อย่างมีคุณภาพ และเครื่องมือพื้นฐานที่ครอบครัวส่วนใหญ่เลือกใช้ คือการปลูกฝัง “วินัย” ซึ่งที่ผ่านมา เมื่อพูดถึงคำนี้ เราอาจเข้าใจว่าเป็นการตีกรอบและการลงโทษด้วยวิธีการที่เด็ดขาด แต่ปัจจุบันนี้ มีแนวทางการปลูกฝังวินัยที่ยืดหยุ่นกว่าและได้ผลในระยะยาวมากกว่า ซึ่งเรียกว่า “วินัยเชิงบวก”

เวลาทอง 10 ปี

ในเวทีสนทนา “วินัย สร้างได้ในครอบครัว” ซึ่งจัดโดยศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2562 อ.พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร กุมารแพทย์เวชศาสตร์วัยรุ่น และเจ้าของเพจ “เลี้ยงลูกนอกบ้าน” กล่าวว่า พ่อแม่จะมี “เวลาทอง 10 ปี” ในการเลี้ยงลูก ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ลูกต้องการพ่อแม่ในชีวิต เพื่อเป็นต้นแบบในการสร้างตัวตน และเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ ก่อนที่เด็กจะเข้าสู่วัยรุ่นเมื่ออายุเกิน 10 ปี และให้ความสำคัญกับเพื่อนและสื่อต่างๆ มากกว่าพ่อแม่ ทว่าทุกวันนี้ พ่อแม่กลับทำในสิ่งที่ตรงกันข้าม คือส่งลูกให้คนอื่นเลี้ยงเมื่อยังเล็ก เพื่อไปทำงานหาเลี้ยงครอบครัว และกลับมาเลี้ยงลูกเองเมื่อลูกโตแล้ว ส่งผลให้เกิดปัญหาตามมา

“ครอบครัวก็เป็นผลลัพธ์ของสังคมที่ล้มเหลว เศรษฐกิจที่ทำให้เขาอยู่กับครอบครัวไม่ได้ เสาร์อาทิตย์ต้องทำโอที ไม่มีเวลา มีลูกก็ส่งให้ปู่ย่าตายายเลี้ยง พอลูกโตแล้วเอามาเลี้ยงเอง เด็กหลายคนจึงโตมาแบบไม่เคยมีพ่อแม่ที่เป็นตัวตน แม่ก็จะมาพบหมอด้วยปัญหาลูกพูดไม่ฟัง พูดอะไรก็ไม่เชื่อ พ่อแม่ที่ไม่เคยมีตัวตน มันยากมากที่คำพูดจะมีตัวตน ดังนั้น การที่เราจะคาดหวังให้เขาโตมาแล้วฟังเรา มันยากมาก” อ.พญ.จิราภรณ์กล่าว

อย่างไรก็ตาม ปัญหาลูกพูดไม่ฟังเป็นเพียงจุดเล็กๆ ของปัญหาทั้งหมดเท่านั้น โดย อ.พญ.จิราภรณ์ได้เล่าถึงปัญหาที่พบจากการทำงานกับวัยรุ่น ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากครอบครัวที่ไม่มีการให้ความรักความอบอุ่น พ่อแม่ไม่ค่อยมีเวลาให้ลูก หรือใช้เวลาที่มีอยู่น้อยนิดไปกับการบ่น ด่า ตำหนิลูก ทำให้เด็กรู้สึกว่าตัวเองไม่มีตัวตน และเมื่อเป็นวัยรุ่น ซึ่งเป็นวัยที่ต้องสร้างตัวตน ก็จะสร้างตัวตนอย่างไม่มีรูปแบบ เช่น การมีแฟน การทำสิ่งต่างๆ ในโลกออนไลน์เพื่อให้มีคนกดไลก์เยอะๆ เพื่อเติมเต็มสิ่งที่ขาด นั่นคือความรักและนับถือตัวเอง

“เด็กที่ขาดความนับถือตัวเอง หรือ Self-esteem เป็นปัญหาที่สำคัญมาก เด็กคนหนึ่งจะเลือกทำหรือไม่ทำบางอย่าง หลายครั้งก็ด้วยความเคารพตัวเอง ฉันโอเคพอที่จะไม่ต้องทำแบบนี้ก็ได้ ฉันไม่ต้องเหมือนเพื่อนก็ได้ Self-esteem ไม่ได้สร้างได้เอง แต่มาจากความรู้สึกว่าตัวเองเป็นคนที่ถูกรัก มีคุณค่า มีความหมาย มีความสามารถ ซึ่งสิ่งเหล่านี้มันไม่ได้บ่มเพาะจากครอบครัวที่ไร้การเหลียวแล

ปัญหาครอบครัวอีกลักษณะหนึ่งที่ อ.พญ.จิราภรณ์พบก็คือ “ครอบครัววินัยเชิงลบ” คือครอบครัวที่เน้นการควบคุมพฤติกรรมลูก วินัยจัด พ่อแม่ไม่แสดงความรัก แต่ใช้อำนาจในความเป็นพ่อแม่เข้าไปควบคุมและกำหนดชีวิตลูก ซึ่งอาจส่งผลออกมาใน 3 รูปแบบคือ เด็กจะสู้ หนี และยอมจำนน

“เมื่อต้องเผชิญกับภาวะเครียด เด็กจะใช้สมองส่วนสัญชาตญาณในการเอาตัวรอด เด็กที่สู้ก็จะเป็นเด็กก้าวร้าว ใช้ความรุนแรง แต่ที่เราเจอในวัยรุ่น หลายครั้งเขาแสดงความรุนแรงออกมาทางกายไม่ได้ แต่แสดงออกผ่านการเอาคืนในรูปแบบอื่น ก็คือการทำตัวแย่ๆ ให้พ่อแม่กลุ้มใจ เพราะลึกๆ เขารู้สึกสะใจที่ได้เห็นสิ่งนั้น เด็กก็ทำไปด้วยความไม่รู้ตัว มันเป็นการเอาตัวเองให้รอดโดยอัตโนมัติ แล้วก็เป็นการตอบโต้ความโกรธที่อยู่ข้างในจิตใจ”

“อีกรูปแบบหนึ่งคือเป็นเด็กที่หนี ให้ทำอะไรก็ไม่ทำ เด็กหลายคนเรียกมาทำการบ้าน ไม่อยากทำ เขาไม่ได้หนีการบ้าน แต่เขาหนีความเครียดที่เกิดจากการที่แม่มาจี้ มาว่า ตำหนิ บ่น เด็กเหล่านี้ก็จะไม่เอา ไม่ลอง ไม่ทำอะไร ไปจนถึงปกปิด โกหก บิดเบือน ไม่ยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้น แล้วก็จะพัฒนาไปถึงอาการวิตกกังวล เลยไปถึงซึมเศร้า เพราะว่าการที่เขาหนี ลึกๆ เขาก็ไม่ได้รู้สึกสบายใจ อีกรูปแบบหนึ่งที่เราคิดว่าวินัยเชิงลบดูเหมือนได้ผล ก็คือเด็กยอม สิ่งที่เด็กคิดก็คือ ฉันเอาชนะใครไม่ได้ ฉันสู้เขาไม่ได้หรอก เด็กที่โตมาแบบนี้ก็จะยอมจำนน ใครให้ทำอะไรก็ทำ สิ่งที่เด็กอยากได้ก็คือการยอมรับ”

ขณะที่การปลูกฝังระเบียบวินัยแบบสุดโต่งไม่ก่อให้เกิดผลดี การให้อิสระอย่างเต็มที่ก็กลายเป็นปัญหาเช่นกัน โดย อ.พญ.จิราภรณ์ เล่าถึงปัญหาที่พบอีกอย่างคือเด็กประเภท “ทูนหัวของบ่าว” ที่ถูกพ่อแม่และปู่ย่าตายายตามใจ ไม่เคยพบกับความผิดหวัง ส่งผลให้เด็กกลุ่มนี้เคว้งคว้าง และขาดความรู้สึกรักตัวเองได้

“เด็กที่เติบโตมาแบบไม่มีกรอบ ก็เหมือนเราถูกจับไปทิ้งกลางทะเล เราจะรู้สึกไม่ปลอดภัย เคว้งคว้าง แล้วลึกๆ เราไม่รู้สึกดีกับตัวเอง เด็กที่ไม่เคยรู้สึกว่าฉันอยู่กับความผิดหวังได้ จะรู้สึกรักตัวเองไม่เป็น แต่เด็กที่อยู่กับความผิดหวังได้ ก้าวข้ามความผิดหวังได้ ก็จะกลายเป็นเด็กที่เคารพตัวเอง รู้สึกดีกับตัวเอง เชื่อมั่นในศักยภาพของตัวเอง ซึ่งครอบครัวที่พ่อแม่ตามใจ จะไม่สร้างสิ่งเหล่านั้น เด็กก็ไม่เคยมีกติกาในชีวิต ไม่เคยรู้ว่าอะไรได้ อะไรไม่ได้ ตัวตนของคนที่ถูกเลี้ยงมาแบบฉันคือที่รัก ฉันคือคนที่ได้ทุกสิ่ง จริงๆ ตัวเขาไม่ได้มีความภูมิใจในตัวเองเลย” อ.พญ.จิราภรณ์ กล่าว

4 แนวทางสร้างวินัยเชิงบวก

ผศ.ดร.ปนัดดา ธนเศรษฐกร จากสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายว่า สมองของคนเราประกอบด้วย 3 ส่วน ได้แก่ สมองส่วนสัญชาตญาณ ที่เกี่ยวข้องกับการเอาตัวรอด สมองส่วนอารมณ์ ที่มีการพัฒนาจนกลายเป็นอารมณ์ที่หลากหลาย และจำเป็นต้องมีการระบายอารมณ์ออกมา และสมองส่วน Executive Function หรือ EF คือสมองส่วนเหตุผล หน้าที่ของพ่อแม่ในการปลูกฝังวินัยเชิงบวกก็คือ ทำให้สมองส่วนสัญชาตญาณกับอารมณ์สงบ เพื่อให้สมองส่วนเหตุผลได้ทำงาน อย่างไรก็ตาม ผศ.ดร.ปนัดดา ชี้ให้เห็นว่า ทุกวันนี้ พ่อแม่ส่วนใหญ่ยังคงกระตุ้นสมองสองส่วนแรก ด้วยการสั่ง ดุ และตำหนิลูก ทำให้สมองส่วนเหตุผลไม่ถูกใช้งาน และทำให้การปลูกฝังวินัยเชิงบวกไม่ได้ผลเท่าที่ควร ดังนั้น แทนที่จะดุด่าว่ากล่าว สิ่งที่พ่อแม่ควรทำก็คือ พยายามใส่ “ประสบการณ์ที่มีคุณภาพ” ให้แก่ลูกอย่างค่อยเป็นค่อยไป เป็นการสะสมต้นทุนชีวิตตั้งแต่วัยเด็ก เพื่อนำไปเป็นทักษะชีวิตในอนาคต

ด้าน อ.พญ.จิราภรณ์ ก็ได้ให้คำจำกัดความของ “วินัย” ใหม่ ซึ่งไม่ใช่ระเบียบ แต่เป็นการกำกับตัวเองให้ทำสิ่งที่ควรทำและไม่ทำสิ่งที่ไม่ควรทำ หรือ self-control ซึ่งเด็กคนหนึ่งจะมี self-control ที่ดีได้ จะต้องรู้ว่าตัวเองมีตัวตนก่อน ดังนั้น การติดอาวุธที่เรียกว่าวินัยจึงควรเริ่มทำตั้งแต่ช่วง 1 ปีแรกของชีวิต ให้เด็กรู้สึกว่ามีตัวตน โดยการสร้างความรู้สึกปลอดภัย การสร้างสายสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่ลูก รวมทั้งเปิดโอกาสให้ลูกรู้จักความผิดพลาดและเริ่มต้นใหม่ ซึ่งทั้งหมดนี้ต้องทำอย่างสม่ำเสมอ หนักแน่น และมีเมตตา แนวทางในการสร้างวินัยเชิงบวก มีดังนี้

(1) สร้างความรู้สึกปลอดภัย

อ.พญ.จิราภรณ์กล่าวว่า ช่วง 1 ปีแรกของชีวิตเป็นช่วงเวลาที่สำคัญอย่างมาก พ่อแม่ต้องใส่ใจและใช้เวลากับลูกอย่างเต็มที่ เพื่อสร้างความรู้สึกปลอดภัยให้แก่ลูก ซึ่งเป็นต้นทุนชั้นดีที่จะทำให้เด็กเติบโตและพัฒนาตัวเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ

“เด็กที่ร้องหิวและมีนมลอยเข้าปาก เด็กที่รู้สึกเฉอะแฉะเพราะผ้าอ้อมเปียก แล้วผ้าอ้อมถูกเปลี่ยน เด็กที่รู้สึกกลัวแล้วมีมือคอยอุ้ม จะรู้สึกว่าโลกนี้ปลอดภัย เด็กที่รู้สึกว่าโลกปลอดภัย ก็จะกล้าทำอะไรใหม่ๆ ไม่ใช่อะไรก็ไม่กล้าลอง น่ากลัวไปหมด จะรักใครก็ไม่กล้ารัก เพราะว่าโลกมันไม่ปลอดภัยพอที่ฉันจะรักใคร เดี๋ยวเขาก็ทำให้ฉันผิดหวัง” อ.พญ.จิราภรณ์ยกตัวอย่าง

(2) สร้างสายสัมพันธ์ที่ดี

นอกจากสร้างความรู้สึกมั่นคงปลอดภัยแล้ว สิ่งสำคัญที่ควรมีในการสร้างวินัยเชิงบวกก็คือ “สายสัมพันธ์ที่ดีระหว่างพ่อแม่ลูก” โดยเด็กเล็กจะรับรู้ความรักของพ่อแม่ได้จากการโอบกอด คำพูดที่ดี การเล่นด้วย และการดูแลต่างๆ ในขณะที่วัยรุ่นจะมีความต้องการที่แตกต่างออกไป นั่นคือการรับฟังอย่างเข้าใจ ไม่ใช่การฟังเพื่อสั่งสอน แต่ต้องเป็นการรับฟังเพื่อให้เขาสามารถทบทวน ประมวลผลสิ่งต่างๆ และตกตะกอนเป็นความคิดของตัวเอง หรือพูดง่ายๆ ก็คือ วัยรุ่นไม่ได้ต้องการคนที่มาแก้ปัญหาให้ แต่ต้องการคนที่ช่วยให้เขากลายเป็นนักแก้ปัญหานั่นเอง

(3) “ผู้กำกับ” เปลี่ยนเป็น “กัลยาณมิตร”

โดยปกติ พ่อแม่มักจะรับบทเป็น “ผู้กำกับ” ที่คอยสั่งให้ลูกทำสิ่งต่างๆ โดยหวังให้ลูกเดินตามเส้นที่ขีดไว้ และเรียกสิ่งนั้นว่าวินัย แต่สำหรับวินัยเชิงบวก พ่อแม่ต้องเปลี่ยนบทบาทตัวเอง จากผู้กำกับมาเป็น “กัลยาณมิตร” ที่พร้อมร่วมทุกข์ร่วมสุขไปกับลูก โดยเริ่มจากวิธี “สั่งแบบไม่สั่ง” คือการพูดคุยด้วยคำพูดที่ชัดเจน ดึงลูกเข้ามามีส่วนร่วมในการทำสิ่งต่างๆ ไม่ใช่การสั่งให้ทำตาม และให้ทางเลือกให้ลูกตัดสินใจเอง ซึ่งเมื่อลูกสามารถทำได้สำเร็จ ก็จะเป็นการสร้างความภาคภูมิใจในตัวเอง (Self-esteem) ได้ด้วย นอกจากนี้ ในกรณีที่ลูกตัดสินใจผิดพลาด แนวทางนี้จะเปิดพื้นที่ให้ลูกได้เรียนรู้ความผิดพลาดจากการตัดสินใจของตัวเอง และเรียนรู้ที่จะรับผิดชอบ โดยคาถาที่พ่อแม่ควรจะท่องไว้ก็คือ “ไม่เป็นไร ลองใหม่” เพื่อให้ลูกได้ใช้ประสบการณ์ที่สะสมไว้มาพัฒนาการตัดสินใจของตัวเอง

“เราจะรู้สึกว่าตัวเองมีค่าก็ต่อเมื่อทำอะไรที่ต้องฝืนใจแล้วมันสำเร็จ เราพาลูกมามีส่วนร่วม ตื่นกี่โมง ตื่นอย่างไร ให้แม่เตือนอย่างไร หากว่าเขาตัดสินใจแล้วตัดสินใจพลาด เช่น บอกให้ลุกแล้วไม่ลุก ให้ยอมไปโรงเรียนสายค่ะ แต่การที่เขาตัดสินใจผิด แล้วไปโรงเรียนสาย มันทำโทษเขาพอแล้ว เราไม่ใช่แผนกซ้ำเติมและทับถม เราเป็นผู้ประคอง เราอยู่ข้างๆ เขา ณ วันที่เขาตัดสินใจผิด ที่สำคัญคือ เขาจะเกิดการตัดสินใจที่ดีขึ้น” ผศ.ดร.ปนัดดากล่าว

(4) ความสม่ำเสมอ

เมื่อสามารถปลูกฝังวินัยเชิงบวกให้กับลูกได้แล้ว สิ่งที่ขาดไม่ได้ก็คือการทำกระบวนการเหล่านี้อย่างสม่ำเสมอ ซึ่งจะก่อให้เกิดความผูกพันระหว่างพ่อแม่ลูก ที่จะทำหน้าที่ 3 อย่างโดยอัตโนมัติ คือให้ความรู้สึกปลอดภัยสำหรับเด็กเล็ก เป็นพื้นฐานจิตใจที่มีผลต่อการมองโลกของเด็ก และเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของเด็กในอนาคต เพราะเด็กมีพ่อแม่อยู่ในใจ และหลายครั้งจะไม่กล้าทำผิดเพราะคิดถึงพ่อแม่

ครอบครัวมีผลอย่างมากต่อพฤติกรรมของเด็ก ซึ่งจะติดตัวมาจนกระทั่งโตเป็นผู้ใหญ่ แม้การเลี้ยงดูด้วยกฎเกณฑ์ที่เคร่งครัด หรือการให้อิสระจนเกินขอบเขตจะเป็นวิธีการเลี้ยงดูที่ใช้เวลาน้อย เห็นผลเร็วทันตา แต่ก็ทิ้งบาดแผลที่ส่งผลกระทบต่อตัวเด็กอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในขณะที่การสร้างวินัยเชิงบวกเป็นแนวทางที่ท้าทายกว่า ใช้เวลานานและใช้ความอดทนมากกว่า แต่ผลลัพธ์ที่ได้ก็คือการเติบโตทางจิตวิญญาณของทั้งเด็กและพ่อแม่ไปพร้อมๆ กัน ซึ่ง อ.พญ.จิราภรณ์ ได้ทิ้งท้ายไว้ในเวทีสนทนาว่า

“อยากให้พ่อแม่มองว่าการเลี้ยงลูกคือการพัฒนาตัวเอง และลูกไม่ได้เป็นในสิ่งที่เราสอน เขาจะเป็นในสิ่งที่เราเป็น”

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook