4 สัญญาณเช็กความหิวของร่างกาย

4 สัญญาณเช็กความหิวของร่างกาย

4 สัญญาณเช็กความหิวของร่างกาย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ปกติร่างกายจะส่งสัญญาณให้เรารู้ตลอดเวลา ว่าเมื่อไหร่ที่เริ่มขาดพลังงานหรือสารอาหาร ที่จำเป็น อาทิ ปากแห้งแสดงว่าร่างกายเริ่มขาดน้ำ หรือรู้สึกอ่อนเพลียจนเปลือกตาเริ่มหนัก แสดงว่าร่างกายต้องการพักผ่อน ซึ่งปฏิกิริยาต่างๆ ที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นว่าร่างกายสื่อสารกับเราอยู่ตลอดเวลา แต่ด้วยการดำเนินชีวิตที่เร่งรีบในทุกช่วงเวลา ทำให้เราไม่เคยฟัง หรือสังเกตสัญญาณที่ร่างกายส่งผ่าน ออกมา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ‘สัญญาณของความหิว' จึงทำให้เกิดพฤติกรรมการกินที่ผิดปกติ ทั้งการกินจุบจิบหรือกินแบบไม่รู้ตัว ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้ถือเป็นการสร้างภาระให้แก่ร่างกาย และก่อให้เกิดโรคอ้วนตามมา หากไม่ต้องการเพิ่มน้ำหนักเราต้องฟัง ‘สัญญาณของความหิว' ซึ่งแต่ละคนจะแสดงปฏิกิริยาของความหิวแตกต่างกันออกไป โดยมีวิธีสังเกตดังนี้

1. เมื่อร่างกายอยู่ในสภาวะขาดพลังงาน เนื่องจากน้ำตาลในเลือดมีปริมาณต่ำลง ก่อนการรับประทานอาหารมื้อถัดไป จะมีสัญญาณผ่านปฏิกิริยาต่างๆ เช่น รู้สึกวิงเวียนศีรษะ อ่อนเพลียและหน้ามืด แต่สัญญาณเตือนชั้นดีที่สร้างความมั่นใจว่า ร่างกายขาดพลังงานจริงๆ คือ ‘เสียงท้องร้อง'

2. เนื่องจากพฤติกรรมการกินของคนปัจจุบัน จะหยุดกินก็ต่อเมื่ออาหารหมดเกลี้ยงจาน หรือเมื่อรู้สึกอิ่มจนแน่นท้อง เพื่อป้องกันพฤติกรรมเหล่านี้ ควรเช็กระดับความหิวของเรา โดยฟังสัญญาณจากกร่างกายแล้วจดบันทึก ‘อาการของความหิว' ทั้งก่อนและหลังกินเสร็จในทุกมื้อ โดยใช้เกณฑ์การให้คะแนนความหิวหรืออิ่ม ตั้งแต่ 1 ที่เป็นระดับของความหิวมากถึง 10 ซึ่งหมายถึงอิ่มแน่นจนเริ่มไม่สบายตัว การจดบันทึกจะช่วยทำให้เราประเมินได้ว่าจริงๆ แล้ว เราควรหยุดกินเมื่อไหร่กันแน่

3. เราควรจะเริ่มกินเมื่อระดับความหิวอยู่ที่ 3 ถึง 4 ซึ่งกระเพาะอาหารของเราจะร้องเบาๆ เป็นสัญญาณบอกว่าควรเริ่มกินได้แล้ว และควรหยุดเมื่อความหิวอยู่ที่ระดับ 5 หรือ 6 หมายถึงเรากำลังอิ่มในระดับที่เรียกว่าพอดี แต่ถ้าปล่อยให้หิวจัดจนตาลายเรามักจะกินทุกอย่างที่ขวางหน้า ผลคืออิ่มแน่นจนทรมาน

4. เมื่อฝึกแยกแยะและวิเคราห์ระดับความหิว-อิ่มแล้ว ให้จำไว้ว่า ‘กินแค่พออิ่ม' ซึ่งเทคนิคการกินให้อิ่มอย่างง่ายๆ คือฟัง ‘สัญญาณ' และสังเกตปฏิกิริยาจากร่างกายของเรานั่นเอง เช่น มีอัตราการเคี้ยวและความเร็วในการกินอาหารจะช้าลง และที่สำคัญควรใส่ใจเรื่องคุณค่าของสารอาหารที่กินเข้าไปในแต่ละมื้อร่วมด้วย การฝึกฟังเสียงสัญญาณจากภายในร่างกายเป็นเรื่องสำคัญ เพราะอย่างน้อยก็ทำให้เราแน่ใจว่าก่อนจะส่งอาหารเข้าปาก เรามั่นใจแล้วว่า ‘หิวจริงๆ' ไม่ใช่แค่ ‘อยากกิน' เพราะไม่อย่างนั้นคงต้องเข้าโปรแกรมลดน้ำหนักกันยาว

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook