ปวดฉิ่งฉ่อง อย่ากลั้น

ปวดฉิ่งฉ่อง อย่ากลั้น

ปวดฉิ่งฉ่อง อย่ากลั้น
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ตอนเช้ารถก็ติด มาถึงออฟฟิศห้องน้ำก็คนเยอะ กลางวันก็แสนยุ่ง และกลับบ้านหลังเลิกงานก็เจอรถติดอีก ปัญหาเหล่านี้ทั้งผู้ชายและผู้หญิงต่างก็ประสบพบเจอกันอยู่ทุกวัน และเชื่อว่าแทบทุกคนจำใจต้องอั้นฉิ่งฉ่อง เพราะติดปัญหามากมายที่ทำให้ไปเข้าห้องน้ำไม่ได้ สุดท้ายแล้วก็จะเกิดอาการปวดฉิ่งฉ่อง แต่ฉิ่งฉ่องไม่ออกหรือหากออกมาก็อาจจะเป็นเลือดได้ นั่นแสดงว่า เรากำลังเจอปัญหาที่มาพร้อมกับการอั้นฉิ่งฉ่องนานๆ นั่นเอง

อาการที่มาพร้อมกับการกลั้นปัสสาวะ

ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย หากปวดฉิ่งฉ่องแล้วไม่ยอมไปเข้าห้องน้ำ กลั้นเอาไว้จนนาทีสุดท้าย นานไปก็จะลืมว่าเคยปวดฉิ่งฉ่อง ก็นิ่งนอนใจคิดว่าไม่เป็นอะไร สุดท้ายแล้วก็จะส่งผลให้เกิดโรคที่เกี่ยวข้องกับการกลั้นปัสสาวะตามมาจนได้ โดยจะเริ่มอาการเจ็บป่วยตั้งแต่ระดับเบาๆ ถึงขั้นเทพ

จากระดับเบาๆ คือ กระเพาะปัสสาวะอักเสบ หรือกระเพาะปัสสาวะยืดขยายจนกลับมาปัสสาวะอีกทีก็ลำบาก (เหมือนตอนที่เราอั้นฉิ่งฉ่องตอนนอน ตื่นเช้าขึ้นมา กว่าจะฉิ่งฉ่องได้ก็ใช้เวลานานมากนั่นเอง) ต่อมาความดันโลหิตก็จะขึ้น หัวใจเต้นเร็ว และขั้นรุนแรงก็จะเป็น กระเพาะปัสสาวะติดเชื้อ ปวดมาก ฉิ่งฉ่องไม่สุดจนกระทั่งเลือดออกได้ หรือ กรวยไตอักเสบ อันนี้อันตรายมาก อาจถึงขั้นไตวายหรือช็อคได้ทีเดียว รวมทั้ง ความดันโลหิตขึ้น และในผู้ใหญ่ที่มีความดันสูงอยู่แล้วไม่ดีแน่ๆ เดี๋ยวเส้นเลือดแตก

แต่หากเป็นถี่ๆ บ่อยมากขึ้นเรื่อยๆ จะเจอกับขั้นเทพที่หนักกว่านี้ อาทิ นิ่วในท่อปัสสาวะ ต่อมลูกหมากโต ความผิดปกติที่ตัวทางเดินปัสสาวะเอง เช่น ท่อไตมีปัญหาหรือว่าตัวไตผิดปกติแต่กำเนิด การคาสายสวนปัสสาวะไว้หรือในกรณีที่สอดกล้องส่องเข้าไปในท่อปัสสาวะก็ทำให้อักเสบได้ ในคนที่ภูมิต่ำ เช่น เบาหวาน ผู้สูงวัย หรือผู้ติดเชื้อเอชไอวี ต้องระวังไว้ด้วย และอย่างสุดท้ายคือ มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ


 

วิธีการป้องกันไม่ให้อาการกระเพาะปัสสาวะมีปัญหามาสร้างความร้าวฉานให้ชีวิต

หลายคนบอกว่า ใครเป็นกระเพาะปัสสาวะอักเสบแล้ว หรือมีอาการฉิ่งฉ่องขัดๆ แล้ว จะเป็นตลอดไม่หาย ซึ่งจริงๆ แล้วหากเรารู้ว่าสาเหตุที่แท้จริงของมัน เกิดมาจากพฤติกรรม หรือเหตุอะไร เราก็จะไม่เป็นอาการที่เราเคยเป็นอีก แต่ก่อนที่เราจะเป็นนั้น เราควรที่จะมีวิธีป้องกันไม่ให้เป็นจะดีกว่า โดยสิ่งที่ต้องทำก็คือ

1. ไม่อั้นฉิ่งฉ่องนานเกินไป ถ้าเผอิญมีเหตุจริงๆ ให้รีบหาห้องน้ำเข้า แล้วรีบดื่มน้ำตามมากๆ เพื่อล้างตั้งแต่กรวยไตไปถึงท่อปัสสาวะ

2. ดื่มน้ำผลไม้รสเปรี้ยว ฝรั่งบอกว่าให้ดื่มแครนเบอรี่ ครั้นจะไปหาแครนเบอรี่ก็แลดูจะลำบาก ของไทยๆ ของเราก็มี นั่นก็คือ "กระเจี๊ยบแดง" ดื่มแทนกันได้เลย ให้ดื่มบ่อยๆ เพราะกรดผลไม้ ทำให้ปัสสาวะไม่เป็นแหล่งสะสมของเชื้อท่อปัสสาวะอักเสบ

3. ดื่มน้ำเปล่า ดีที่สุดคือน้ำเปล่า อย่างน้อยวันละ 2 ลิตรหรือ 2 ขวดใหญ่ เทคนิคคือ ตั้งใจเอาขวดน้ำวางไว้หน้าโต๊ะทำงาน แล้วบอกตัวเองว่าจะกินให้หมดในวันนี้

4. ไม่จำเป็นอย่าใช้สายสวนปัสสาวะ หรือคาสายสวนไว้ เพราะจะได้เชื้อแถมเข้าท่อฟรีๆ

5. ก่อนและหลังมีเพศสัมพันธ์ ควรดื่มน้ำให้มากๆ แล้วปัสสาวะทิ้งเป็นการล้างท่อภายในได้ดีทีเดียว

 

 

วิธีการรักษา หากใครกำลังประสบปัญหานี้อยู่

หากไม่เป็นแล้วไม่ต้องเป็นกังวลไป เรามีหนทางพอที่จะมาเยียวยาได้ โดยเริ่มจากการหานาทีทองของการปัสสาวะ รู้สึกปวดเมื่อไหร่อย่าอั้น เข้าห้องน้ำให้เป็นเวลา อย่ากลั้นนานเกินไป เช่นเป็นชั่วโมง ดื่มน้ำสะอาดให้ได้อย่างน้อยวันละ 2 ลิตร ดื่มน้ำกระเจี๊ยบแดงหรือน้ำส้มเป็นประจำ เลี่ยงอาหารรสจัดและเผ็ดเพราะปัสสาวะออกมาจะแสบ ยิ่งไประคายเคืองท่อปัสสาวะ

และระวังเรื่องการรับประทานยาล้างไตที่ซื้อตามร้านหรือยาที่ผ่านไตจะทำให้ไตทำงานหนักเพิ่มขึ้น จะส่งผลต่อระบบอื่นๆ ตามมาภายภาคหน้า และสุดท้ายฝึกออกกำลังอุ้งเชิงกรานโดยการทำ "คีเกล เอ็กเซอร์ไซส์" หรือการฝึกขมิบเป็นระยะเพื่อความแข็งแรงของหูรูด แต่ถ้าไม่หายจริง ก็มียาที่ช่วยรักษาเกี่ยวกับโรคนี้โดยตรง อยู่ที่คุณหมอสาขาที่เรียกว่า "ศัลยกรรมทางเดินปัสสาวะ" ที่รักษาเองไม่ได้ ต้องพึ่งคุณหมอก็งานนี้นี่แหละ

เมื่ออาการฉิ่งฉ่องขัดหรือฉิ่งฉ่องออกมาเป็นเลือดครั้งหน้า ลองทำตามการรักษาแบบอายุรวัฒน์ที่สามารถรักษาเองได้ด้วยตัวเองดูก่อน แล้วก็ปรับพฤติกรรมการเข้าห้องน้ำเสียใหม่ เท่านี้ก็คงพอที่จะทำให้ทั้งผู้ชายและผู้หญิงที่ต้องเจ็บปวดจิตใจและร่างกาย ได้หายจากอาการที่มาพร้อมกับการอั้นฉิ่งฉ่องนานๆ ได้แล้ว

สัญญาณอันตราย ที่เฉยไม่ได้หากเกิดขึ้นเมื่อกลั้นปัสสาวะ

มีไข้ หนาวสั่น ฉิ่งฉ่องขัด ไม่สุด หรือมีเลือดปน ปวดหลัง ฉิ่งฉ่องไม่ออก หรือออกน้อยผิดปกติ ซึ่งเหล่านี้เป็นสัญญาณของโรคอันตราย อย่าง กระเพาะปัสสาวะติดเชื้อ กรวยไตอักเสบ ต่อมลูกหมากโต หรือมะเร็งในทางเดินปัสสาวะได้

ข้อมูล : นพ.กฤษดา ศิรามพุช ผู้อำนวยการศูนย์เวชศาสตร์อายุรวัฒน์นานาชาติ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook