6 วิธีรับมือมิจฉาชีพทางโทรศัพท์
ใครเคยโดนแก๊งคอลเซ็นเตอร์หลอกบ้างยกมือขึ้น!
เชื่อว่าหลายต่อหลายคนคงกำลังชูแชนขึ้นสูง เพราะอาจเคยหลงเชื่อกลุ่มมิจฉาชีพที่แฝงกายมาในรูปของคอลเซ็นเตอร์สุดแสบจนเสียทั้งเงิน เจ็บทั้งใจ หรือหากไม่เคย ก็อาจได้ยินเรื่องราวทำนองนี้อยู่บ่อยๆจนพาลหวาดระแวง หากจะต้องรับโทรศัพท์จากคนที่ไม่รู้จักมักคุ้น
ทันทีที่เหยื่อรับสาย แก๊งเหล่านี้ก็จะ ‘แจ้งข่าว'ให้ผู้รับสายฟังในรูปแบบต่างๆ อาทิ
"สวัสดีครับ ผมชื่อ... ติดต่อมาจาก ธนาคารแห่งประเทศไทย ขอเรียนให้คุณทราบว่าบัตรเครดิตของคุณมียอดค้างชำระจำนวนxxxxบาท หากต้องการตรวจสอบ กรุณาไปที่เอทีเอ็มของคุณ และกดเบอร์ดังนี้...
หรือ "ดิฉัน ชื่อ... ติดต่อมาจากบริษัทxxx ขอแจ้งให้คุณทราบว่า คุณคือผู้โชคดีจากการสุ่มเบอร์โทรศัพท์ชิงรางวัลจากทางบริษัท ทว่าทางบริษัทต้องขอหักภาษี ณ ที่จ่ายโดยทันทีสำหรับผู้รับรางวัล ขอให้คุณทำการโอนเงินมาที่.."
เพื่อป้องกันไม่ให้ชาว Secret โดนหลอกแบบนี้ (อีก?) เราจึงขอเสนอ 6วีธีรับมือมิจฉาชีพทางโทรศัพท์ เพื่อให้ทุกคนสามารถ ตั้งรับเหล่ามิจฉาชีพพวกนี้ได้อย่างมีสติ
• ตั้งสติก่อนเสียสตางค์
แกงค์มิจฉาชีพส่วนมาก มักเล่นกับความโลภ หรือความกลัวของเหยื่อ เช่น คุณเป็นผู้โชคดีได้รับรางวัลเงินสดจำนวน ...จากการจับฉลากของเรา หรือ ทางตำรวจสืบพบว่าบัญชีของคุณเป็นบัญชีที่ผิดกฏหมาย ฯลฯ ซึ่งทำให้ผู้รับมีอาการดีใจ หรือตื่นตกใจ จนไม่ทันคิดถึงความเป็นไปได้ ดังนั้นสิ่งที่สำคัญที่สุด คือการมีสติ ไม่ไหลไปกับสิ่งที่ปลายสายกำลังพูด ไม่ว่าคนเหล่านั้นจะเป็นใครก็ตาม
(กรอบ)
ก่อนรับโทรศัพท์ให้หายใจเข้าลึกๆ2-3ครั้งก่อน อย่ารีบรับในทันที ทั้งนี้เพื่อฝึกเรียกสติให้เป็นนิสัย และเมื่อใดที่ได้รับโทรศัพท์ประเภทนี้ ควรตรวจสอบข้อมูลให้แน่ชัดก่อน ที่สำคัญคืออย่าได้พาตัวเฉียดกรายไปใกล้ตู้เอทีเอ็มเด็ดขาด !
• ทำตัวเป็นนักสืบ(ชั่วคราว)
ระหว่างที่คุยโทรศัพท์กับปลายสายที่เราไม่แน่ใจว่าเป็นมิจฉาชีพหรือเปล่า ให้ลองทำตัวเป็น ‘คนช่างสังเกต' ดูว่า บุคคลปลายสาย มีลักษณะดังนี้ หรือไม่
O ไม่เปิดโอกาสให้เรามีสติพอที่จะคิดหรือเปล่า เช่น /คุณต้องรีบโอนเงินตอนนี้ ไม่งั้นจะเสียสิทธิ์ /คุณต้องเสียภาษีภายในเย็นวันนี้ ไม่งั้นถูกดำเนินคดี /ห้ามบอกคนอื่นเพราะเป็นความลับของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ฯลฯ
O มีคำพูดจูงใจน่าคล้อยตาม แต่มีข้อแม้ที่ชวนสับสน เช่น คุณได้รับรางวัลมูลค่า 1 แสนบาท แต่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายภายในตอนนี้ ส่วนของรางวัลจะตามมาทีหลัง
O เมื่อใดที่เราเริ่มตั้งข้อสงสัยหรือถามข้อมูลกลับมากๆ ปลายสายจะเริ่มบอกปัด หรือรีบวางสาย และจะไม่มีการ ทิ้งเบอร์ติดต่อกลับอย่างเด็ดขาด (ยกเว้นในกรณีที่เหยื่อหลงเชื่อ มิจฉาชีพก็จะทิ้งเบอร์ไว้เพื่อให้เหยื่อติดต่อกลับ ไปตรวจสอบข้อเท็จจริง ซึ่งส่วนมาก มักเป็นเบอร์พวกเดียวกัน!)
(กรอบ)
เจ้าหน้าที่(ตัวปลอม) มักหลอกถามเหยื่อในหัวข้อสำคัญๆ ซึ่งหากคุณให้ข้อมูลเพียงบางส่วน ก็สามารถทำให้คุณตกเป็นเหยื่อได้แล้ว เช่น
+ ชิ่อ- นามสกุล วัน เดือน ปีเกิด เลขบัตรประชาชน
+ หมายเลขโทรศัพท์/ หมายเลขบัตรเครดิต หรือ รหัสหลังบัตร 3 ตัว ซึ่งรหัสนี้สามารถนำไปซื้อสินค้า online ได้ทันที
+ กรณีที่ไม่มีบัตรเครดิตธนาคาร ปลายสายจะแจ้งว่า คุณอาจถูกปลอมเอกสาร ดังนั้นคุณจะต้อง fax เอกสารบัตรประชาชน หรือเอกสารสำคัญอื่นๆ เช่นหน้าสมุดบัญชี เพื่อแจ้งขอคืนเงิน หรือบางครั้งก็จะขอให้คุณไปกดรหัสที่ตู้ ATM แต่รหัสที่บอกกลับเป็นรหัสที่ใช้ในการโอนเงินให้เขาแทน !!
+ ที่อยู่เพื่อจัดส่งเอกสาร ที่อยู่ตามใบแจ้งหนี้บัตรเครดิต และวงเงินที่ได้รับอนุมัติ
• (หลอก)ถามข้อมูลกลับ
หากคุณเริ่มเอะใจ แต่ยังไม่สามารถฟันธงได้ว่า ปลายสายเป็นมิจฉาชีพ100 เปอร์เซนต์ ขอแนะนำให้คุณหลอกถามข้อมูลของฝ่ายมิจฉาชีพกลับบ้าง เช่น สำนักงานตำรวจแห่งชาติอยู่ที่ไหน ใครเป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ตอนนี้ใครเป็น ประธานของธนาคารแห่งประเทศไทย ฯลฯ เอาให้รู้กันไปเลยว่า ใครแน่กว่าใคร !
วิธีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้ในการติดตามจับคนร้ายกลุ่มนี้ ส่วนใหญ่เริ่มจาก หมายเลขบัญชีธนาคาร.. เพราะ ข้อมูลอื่น ที่คนร้ายให้มาจะไม่มีเรื่องจริงเลย ยกเว้น หมายเลขบัญชีอย่างเดียวเท่านั้น ดังนั้น เมื่อปลายสายเริ่มหลอกให้ ไป โอนเงินที่ตู้เอทีเอ็ม ให้คุณเตรียมปากกา จดหมายเลขโทรศัพท์ หมายเลขบัญชีธนาคาร ชื่อธนาคาร
จากนั้นคุณก็สามารถนำข้อมูลดังกล่าวไปแจ้งความกับสน.ต่างๆได้ทันที
• ติดต่อไปยังแหล่งที่มา(ของจริง!)
กลุ่มมิจฉาชีพทางโทรศัพท์ส่วนมาก มักอ้างบริษัท ห้างร้าน ธนาคาร สถาบัน ที่เป็นที่รู้จักและ น่าเชื่อถือ หรืออ้างชื่อของบุคคลที่มีชื่อเสียงในวงสังคม ดังนั้นหากไม่แน่ใจว่าตัวเองกำลังโดนหลอกหรือไม่ ให้ลองติดต่อสอบถามไปยังแหล่งที่ปลายสายอ้างถึง โดยอาจเสิร์ชดูหมายเลขโทรศัพท์ในอินเตอร์เนต หรือสอบถามจาก1113
(กรอบ)
ธนาคารแห่งประเทศไทย โทร. 0-2283-5353
กระทรวงพาณิชย์ 02-507-8000
สำนักงานตำรวจแห่งชาติ 022514730 หรือ191
• แกล้งกลับ (ซะบ้าง!)
หากคุณมีเวลา อาจลองหาประสบการณ์แปลกใหม่ให้กับชีวิต ด้วยการ ‘เล่น'กับกลุ่มมิจฉาชีพดู เพื่อจะได้เรียนรู้กลวิธีการต้มตุ๋นของคนกลุ่มนี้ เอาไว้เตือนภัยคนใกล้ตัว เช่น สังเกตว่ากลุ่มมิจฉาชีพมีวิธีการพูดอย่างไรให้คนเชื่อจนโอนเงินให้ หรือถ้านึกสนุกขึ้นมา อาจแกล้งทำเป็นไม่เข้าใจในสิ่งที่ปลายสายพูดจนทำให้อีกฝ่ายต้องพูดซ้ำๆ นานๆ จน โมโห เบื่อหรือเซ็ง ไปเอง ! จะได้เข็ดขยาดไม่นึกอยากโทรไปหลอกใครอีก
• วางสาย (ซะงั้น!)
หากคุณไม่มีเวลา ก็จงวางสายไปเสียเถิด เพราะ สัตว์โลก...ย่อมเป็นไปตามกรรม
รู้อย่างนี้แล้ว ขอเพียงคุณมีสติตั้งมั่น รับรองว่าคุณจะสามารถรับมือกับเหล่ามิจฉาชีพทางโทรศัพท์ได้อย่างสบายหายห่วงแน่นอน!