เตรียมจัดยาพาลูกเที่ยว ยาจำเป็นเมื่อเด็กเดินทาง
พาลูกไปเที่ยว หรือต้องเดินทางไกล คนเป็นแม่มีเรื่องต้องเตรียมสารพัด แต่ถึงจะวุ่นวายแค่ไหน สิ่งสำคัญที่ต้องเตรียมเมื่อพาลูกไปเที่ยวด้วยคือ ยาสำหรับเดินทาง ต้องจัดยาอะไรบ้าง เพื่อเตรียมรับมือกับอาการเจ็บป่วยที่อาจเกิดได้
ยาสำหรับเดินทาง มียาอะไรบ้างที่ต้องพกไปด้วย?
- ยาแก้ปวด ยาลดไข้ แนะนำเป็น พาราเซตามอล เป็นยาแก้ปวด ลดไข้ ที่ควรพกติดตัวเสมอ ใช้ได้ทั้งผู้ใหญ่ และเด็ก แต่สำหรับเด็ก ควรดูขนาดน้ำหนักตัวให้เหมาะสมกับ ขนาดยาพาราเซตามอลที่เหมาะสมคือ 10 – 15 มิลลิกรัม/กิโลกรัม โดยรับประทานทุก 4-6 ชั่วโมง หรือเมื่อมีอาการ ดังนั้นการรับประทานยาจึงควรให้เหมาะสมกับน้ำหนักตัว และ เด็กไม่ควรรับประทานติดต่อกันเกิน 5 วัน หรือถ้ามีไข้อยู่ไม่ควรรับประทานติดต่อเกิน 3 วัน
- ยาแก้ไอ อาการไอ เกิดขึ้นได้ถ้าอากาศเปลี่ยน หรือเกิดอาการแพ้ ระคายเคือง ควรติดยาแก้ไอ ละลายเสมหะไปด้วย สำหรับเด็กเลือกเป็นยาน้ำ ยาแก้ไอ ละลายเสมหะสำหรับเด็ก ที่เหมาะสม คือมีตัวยาคาร์โบซิสเตอีน 200 มก.
- ยาลดกรด แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ เวลาเดินทางอาจจะกินเยอะ กินมากกว่าปกติ หรือกินอาหารที่ไม่คุ้นเคยทำให้มีอาการปวดท้อง ท้องอืดได้
- เกลือแร่แก้ท้องเสีย ท้องร่วง อากาศ หรืออาหารที่ไม่คุ้นเคย อาจทำให้ลูกมีอาการท้องเสียได้ ถ้าลูกถ่ายหลายครั้ง ควรให้ลูกจิบน้ำเกลือแร่ป้องกันการขาดน้ำ
- ยาแก้แพ้ ยาลดน้ำมูก อากาศเปลี่ยนอาจทำให้เกิดอาการภูมิแพ้ได้ ถ้าหากลูกใช้ยาแก้แพ้อยู่แล้ว ให้ใช้ตัวที่ใช้เป็นประจำ และอาจจะติดน้ำเกลือล้างจมูกไปด้วย
- ยาทาภายนอก แก้แพ้ ผดผื่น ลูกที่ผิวแพ้โน่น แพ้นี่ง่าย อาจจะแพ้ฝุ่น แพ้ยุง มีผดผื่นสารพัดได้ตลอดเวลา ควติดยาทากลุ่มคารามายด์ (calamine) หรือ เมนทอล (menthol) ไปด้วย เพื่อให้รู้สึกเย็นสบาย ลดอาการคัน หรือยาทากลุ่มสเตียรอยด์ โดยเลือกความเข้มข้นให้เหมาะสม เช่นในเด็กควรใช้ยาที่มีความแรงอ่อนเช่น ไฮโดรคอร์ติโซน (hydrocortisone)
อุปกรณ์อื่น ๆ ที่ควรเตรียมไปด้วย
- ที่ตัดยา เพราะยาบางชนิดลูกไม่ได้กินทั้งเม็ด
- ไซรินจ์เล็ก สำหรับป้อนยาลูก
- ไซรินจ์ใหญ่ ไว้สำหรับล้างจมูกด้วยน้ำเกลือ
- น้ำเกลือล้างจมูก ขวดเล็ก
- หน้ากากอนามัย
- พลาสเตอร์ยา
- สำลี กระดาษทิชชูเปียก
- เจลแอลกอฮอล์ล้างมือ
ทิปส์ เมื่อต้องพกยาไปต่างประเทศ
- ตรวจสอบรายชื่อยาต้องห้ามของประเทศที่จะเดินทางไป แต่ละประเทศอาจมีข้อห้ามของยาแต่ละชนิดแตกต่างกัน
- แพ็คยาใส่ถุงพลาสติกใสที่มองเห็นได้ชัดเจน
- พกยาที่มีฉลาก ชื่อยาเป็นภาษาอังกฤษชัดเจน อย่าแบ่งหรือแกะยา เพราะหากเจ้าหน้าที่สนามบิน ขอตรวจสอบ อาจไม่ทราบว่าคือยาอะไร
- ถ้าเป็นยาน้ำสำหรับเด็ก ต้องระวังขวดแตก และขวดยาต้องบรรจุไม่เกิน 100 มล.
- พกยาใส่กระเป๋าถือหิ้วขึ้นเครื่อง แทนการโหลดไป เพราะหากจำเป็นต้องใช้ยาระหว่างเดินทาง หรืออยู่บนเครื่องบิน จะได้ใช้ได้ทันที
- ถ้าไม่มั่นใจว่ายาที่จัดไปใช้กับเด็กได้ไหม ต้องใช้แค่ไหน ควรปรึกษาเภสชักร หรือคุณหมอก่อน