พลังชีวิตจาก “ออย ไอรีล” ผู้ป่วยมะเร็งระยะ 4 ที่เรียนรู้ชีวิตจากเนื้อร้าย และพร้อมจากไปอย่างไม่เสียดาย

พลังชีวิตจาก “ออย ไอรีล” ผู้ป่วยมะเร็งระยะ 4 ที่เรียนรู้ชีวิตจากเนื้อร้าย และพร้อมจากไปอย่างไม่เสียดาย

พลังชีวิตจาก “ออย ไอรีล” ผู้ป่วยมะเร็งระยะ 4 ที่เรียนรู้ชีวิตจากเนื้อร้าย และพร้อมจากไปอย่างไม่เสียดาย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

น่าแปลกที่ในระหว่างการสัมภาษณ์เรารู้สึกเหมือนถูกเติมเต็มพลังบางอย่างจากหญิงสาวที่พูดคุยอยู่เบื้องหน้า ความเหน็ดเหนื่อยจากการงานมาทั้งวัน พอได้ฟังเรื่องราวของคุณออย-ไอรีล ไตรสารศรี ผู้ก่อตั้งโครงการ Art for Cancer by Ireal (อาร์ต ฟอร์ แคนเซอร์  บาย ไอรีล ) ภายใต้การดำเนินการของบริษัท อาร์ต ออฟไลฟ์ วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด กลับรู้สึกหายเหนื่อย และเกิดความคิดอยากทำอะไรใหม่ๆ ให้ชีวิต

มิใช่เพียงเราที่รู้สึกเช่นนั้น เพราะเธอมักจะได้ยินคนรอบข้างพูดเสมอว่าเธอเป็นคนมี “พลังชีวิต” ซึ่งไม่ใช่พลังหรืออำนาจพิเศษ แต่เป็นพลังบวกที่มองไม่เห็นแต่สัมผัสได้ นั่นอาจเป็นเพราะแม้ปัจจุบันเธอคือผู้ป่วยมะเร็งเต้านมระยะที่ 4 แต่ใบหน้า แววตาสดใส เจือรอยยิ้มนิดๆ ตอนพูดคุย ทำให้เราไม่คิดเลยว่าเธอคือผู้ป่วย และในภาระหน้าที่หลักของเธอวันนี้คือการทำเพื่อผู้ป่วยมะเร็ง จึงไม่ต้องแปลกใจเลยว่าเหตุใดเธอจึงดูมีเรี่ยวแรง และกำลังใจอยู่เสมอ

 “มะเร็ง” บททดสอบที่เธอไม่ใช่ผู้เลือก

ย้อนกลับไปเมื่อช่วงปี 2554 คุณออยคลำเจอก้อนเนื้อที่หน้าอก และตรวจพบว่าเป็นมะเร็งเต้านมระยะที่ 2 ซึ่งลามไปยังต่อมน้ำเหลืองใต้รักแร้ขวาเรียบร้อยแล้ว ตอนนั้นเธอรู้สึกเหมือนอนาคตพังเพราะกำลังจะเดินทางไปเรียนต่อต่างประเทศ เมื่อมะเร็งเข้ามาเหมือนเป็นสิ่งที่เบรกชีวิตของเธอไว้ แต่เมื่อตั้งสติ และยอมรับได้ เธอก็เข้าสู่ขั้นตอนการรักษา โดยเป็นการรักษาแบบคว้านเนื้อร้าย และเนื้อรอบข้างออกแต่สงวนเต้านมเอาไว้ นอกจากนั้นยังมีการฉายแสงร่วมด้วย 19 ครั้ง และให้เคมีบำบัดอีก 6 ครั้ง โดยเฉพาะช่วงเวลาที่รักษาเป็นช่วงน้ำท่วมกรุงเทพฯ พอดี เธอจึงรู้สึกว่าชีวิตตอนนั้นช่างสาหัส

“ตอนนั้นน้ำท่วมพอดี คุณภาพชีวิตเลยค่อนข้างแย่ ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางไปผ่าตัด ทำการรักษา เพราะเราก็คิดว่าเราควรได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม ได้รับเคมีตรงเวลา แต่ตอนนั้นทุกอย่างควบคุมไม่ได้ ธุรกิจที่บ้านก็ได้รับความเสียหาย ขาดทุน เหมือนชีวิตถูกถาโถม ตอนนั้นรู้สึกสาหัสมาก ถือว่าแย่กว่าตอนรู้ว่าตัวเองเป็นมะเร็งครั้งแรกเสียอีก”

Art For Cancer โปรเจคของผู้ป่วยมะเร็งเพื่อผู้ป่วยมะเร็ง

ในความโชคร้ายของเธอตอนนั้น คุณออยกลับคิดว่าหรือนี่คือบททดสอบให้เธอได้เห็นอีกด้านหนึ่งของชีวิตคนอื่น โดยเฉพาะชีวิตของผู้ป่วยมะเร็งที่นั่งรอการรักษาอยู่รอบๆ ตัวเธอ นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เธอเข้าถึงความรู้สึกของคนที่ลำบากกว่าตนเอง

“ตอนนั้นเราคิดได้เลย เพราะเห็นคนที่ลำบากกว่าเรา ไม่ใช่เราคนเดียวที่เป็นมะเร็ง ในขณะที่เรายังดูแข็งแรง แต่บางคนไม่มีแม้แต่ค่ารถ บางคนมีสิทธิรักษาแต่ไม่มีเงิน จึงเกิดการเปรียบเทียบ เห็นความสำบากของคนอื่น เรายังโชคดีที่มีทางบ้านดูแล งานก็ไม่ต้องทำ แค่หยุดอยู่เฉยๆ อยากทานอะไรก็สั่งแม่บ้าน เวลาไปหาหมอก็มีคนขับรถไปส่ง”

จุดเริ่มต้นของโปรเจค อาร์ต ฟอร์ แคนเซอร์ฯ เริ่มต้นขึ้นทันทีเมื่อการให้เคมีบำบัดเข็มสุดท้ายเสร็จสิ้นลง โดยโปรเจคมีเป้าหมายเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยมะเร็งยากไร้ เริ่มจากการเปิดเพจชื่อเดียวกับโปรเจค ขอบริจาคงานศิลปะจากเพื่อนๆ เพื่อจำหน่ายและนำรายได้ไปบริจาคให้ 3 มูลนิธิ คือศิริราชมูลนิธิ มูลนิธิรามาธิบดี และมูลนิธิสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ผ่านไป 1 ปีเธอสามารถหาเงินเข้ากองทุนได้มากกว่า 1 ล้านบาท จากแคมเปญเล็กๆ เติบโตเป็นแคมเปญต่อเนื่องนาน 5 ปี ก่อนที่คุณออยจะกลับมาเป็นมะเร็งเต้านมอีกครั้ง

“มะเร็ง” กลับมาอีกครั้ง ในวันที่ฉันเปลี่ยนไป

โปรเจคอาร์ต ฟอร์ แคนเซอร์ฯ เกิดขึ้นเคียงคู่ไปกับการรักษาตัวเป็นเวลา 1 ปี และเฝ้าติดตามผลอีก 1 ปี ในช่วงเวลานั้นแม้การรักษาจะเสร็จสิ้นลง แต่คุณหมอยังบอกไม่ได้ว่าหายหรือไม่ เพราะปกติจะมีช่วงแคนเซอร์ ฟรีประมาณ 5 ปีขึ้นไป แต่หลังพ้น 5 ปีจนขึ้นสู่ปีที่ 6 มะเร็งเพื่อนเก่ากลับมาเยือนอีกครั้ง และครั้งนี้เข้ามาที่ปอด ทำให้ต้องมีการผ่าตัดปอดออกไปส่วนหนึ่ง

“ตอนผ่านการรักษาครั้งแรกไปได้เราดีใจที่มีโอกาสกลับไปเรียนต่อ เหมือนได้ใช้ชีวิตใหม่อีกครั้ง มะเร็งทำให้เรามีแรงกระตุ้นมากกว่าเดิม บางคนอาจหดหู่ ท้อแท้ แต่เรากลับรู้สึกมีแรงผลักดัน จะทำอย่างไรให้เวลาที่เรามีอยู่มันดีที่สุด เราคิด 2 แบบคือเหลือเวลาน้อยแล้วต้องใช้เวลาเท่าที่มีอยู่ให้คุ้มค่า และการที่เราได้กลับไปเรียนมันคือการพิสูจน์ตัวเองว่าเราควรทำให้พ่อแม่ภาคภูมิใจในตัวเรา”

แต่หลังจากทราบว่ามะเร็งลามไปที่ปอด เธอมีอาการเซ็งเล็กน้อยเหมือนชีวิตที่กำลังจะทะยานขึ้นแต่กลับถูกเบรกอีกครั้ง แต่การรักษาก็ต้องดำเนินต่อไปตามขั้นตอนซึ่งตอนนั้นต้องผ่าตัดเอาส่วนเนื้อร้ายบางส่วนของปอดออกไป รวมทั้งยังต้องตัดมดลูกและรังไข่ออกทั้งหมด เนื่องจากมะเร็งเต้านมระยะที่ 4 หรือระยะแพร่กระจายนั้นทางการแพทย์จะทำการรักษาเพื่อการควบคุมไม่ใช่เพื่อการรักษาให้หายขาดเหมือนในระยะเริ่มต้น

“จริงๆ ตั้งใจว่าจะลุยทำอาร์ต ฟอร์ แคนเซอร์ฯ อย่างเต็มที่ และช่วยกิจการที่บ้าน แต่พอเจอเพื่อนเก่ากลับมาทักทายแบบนี้แม้จะเซ็ง แต่ก็ยังตั้งใจทำตามความฝัน”

 

จากโปรเจคเล็กๆ สู่ธุรกิจเพื่อสังคม ที่ช่วยเยียวยาตนเอง

เมื่อมะเร็งกลับมาเยือนในครั้งที่ 2 ทำให้เธอเริ่มคิดถึงวันที่เธอไม่อยู่ โปรเจคที่เธอปั้นมากับมือจะตายไปพร้อมกับเธอหรือเปล่า เธอจึงเปลี่ยนอาร์ต ฟอร์ แคนเซอร์ฯ โปรเจคเล็กๆ เป็นธุรกิจเพื่อสังคมที่ยั่งยืน และจดทะเบียนในรูปแบบบริษัท รวมทั้งยังได้คุณเบลล์พาร์ทเนอร์ซึ่งเป็นอดีตผู้ป่วยมะเร็งมาร่วมแรงร่วมใจด้วยอีกกำลัง

“เรามีการแบ่งงานกันทำตามที่ตัวเองถนัด เบลล์ที่เป็นพาร์ทเนอร์ดูแลเรื่องงานประชาสัมพันธ์ สายธุรกิจ ส่วนเราถนัดเรื่องศิลปะ สิ่งที่ทำมีทั้งจัดกิจกรรมให้คนทั่วไปได้ใช้ศักยภาพของตัวเองส่งต่อให้ผู้ป่วย เช่นการเพนท์กระเป๋าผ้าส่งกำลังใจให้ผู้ป่วย เป็นการใช้ศิลปะเป็นสื่อกลาง โดยไม่จำเป็นต้องใช้เงินเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการให้กำลังใจ หรือการสร้างการรับรู้ การตระหนักของคนในสังคม”

ไม่เพียงอาร์ต ฟอร์ แคนเซอร์ฯ จะเป็นโปรเจคที่ทำเพื่อผู้ป่วยมะเร็งเท่านั้น แต่เพราะคุณออยคือผู้สร้างมันขึ้นมาจากใจ เธอจึงต้องการทำสิ่งนี้อย่างเต็มที่ก่อนที่ตัวเองจะจากไป และมันเหมือนเป็นการช่วยบำบัดเยียวยาตัวเธอเองด้วยเช่นกัน

"เราคงทำเต็มที่ที่สุดในตอนนี้ พยายามเผยแพร่องค์ความรู้ไปยังเครือข่ายที่เรามี เช่นกลุ่มผู้ป่วยมะเร็ง และพยายามปั้นออยคนที่ 2 คนที่ 3 เพราะไม่จำเป็นต้องเป็นออยคนเดียว ถ้าคนอื่นเห็นว่ามันดีก็ทำต่อไปได้ เพราะเราอยากทำให้มันอยู่ต่อไป เพราะเรามีสมุดเล่มหนึ่งที่เขียนแผนเอาไว้ว่าจะเป็นอย่างไรต่อ ถ้าออยไม่อยู่ เพื่อนออยไม่อยู่มันจะเป็นอย่างไร ปีนี้แหละที่ออยเริ่มมาคิด การเตียมตัวไว้ไม่เสียหาย ตายไปจะได้สบายใจทั้งเราและคนที่อยู่ข้างหลังเรา"

โจทย์เก่า ที่ยากและท้าทายลมหายใจ

ต้นปีที่ผ่านมา หลายคนอธิษฐานถึงชีวิตใหม่ที่ดีกว่าเดิม และการทิ้งสิ่งไม่ดีเดิมๆ ไว้กับปีเก่าเพื่อเข้าสู่ปีใหม่ แต่สำหรับคุณออย เธอได้รับข่าวใหม่ ที่มีเนื้อข่าวไม่ต่างไปจากเดิมนั่นคือ มะเร็งกลับมาหาเธออีกครั้งเป็นครั้งที่ 3 และครั้งนี้คือมะเร็งระยะลุกลามที่คุณหมอบอกแล้วว่าอาจไม่หาย แต่สามารถควบคุมการลุกลามของโรคได้ ซึ่งเธอต้องได้รับยาในราคา 1.5 แสนบาททุกๆ เดือนไปพร้อมกับการฉีดยาควบคุมการทำงานของฮอร์โมนซึ่งเป็นฮอร์โมนเพศหญิงที่ส่งผลต่อการเป็นมะเร็งเต้านม ทั้งนี้ก็เพื่อรักษาคุณภาพชีวิตและยืดอายุของคุณออยออกไปให้ได้มากที่สุด

“ครั้งนี้ยังไม่ต้องให้เคมีบำบัด หรือฉายแสง เพราะเหมือนเป้าหมายในการรักษาคือการควบคุมไม่ให้ลุกลาม และทำให้เราสามารถใช้ชีวิตดีที่สุด ส่วนการดูแลตัวเองหมอไม่ได้ห้ามอะไรนอกจากความเครียด ถ้ามากกว่านั้นคือการวางใจ เตรียมพร้อม หากวันหนึ่งเราไม่สามารถควบคุมโรคได้ หรือเราอาจจะตายไป เราได้เตรียมอะไรไว้ดีแล้วหรือยัง ถ้าวันหนึ่งเราไม่สามารถควบคุมโรคได้ อยากตายในแบบที่เราได้เตรียมพร้อมทุกอย่างไว้แล้ว”

มอง "มะเร็ง" ในแง่งาม

คุณออยยอมรับว่าหลังจากป่วยเป็นมะเร็งมุมมองการใช้ชีวิตของเธอเปลี่ยนไป เพราะเธอมองเห็นคุณค่าในชีวิตของตัวเองมากขึ้น มองเห็นศักยภาพของตัวเองที่สามารถทำอะไรเพื่อคนอื่นได้ ที่ผ่านมาเคยสงสัยว่าเหตุใดถึงไม่มีใครลุกขึ้นมาทำสิ่งเหล่านี้ หรือแท้จริงแล้วเธอคือผู้ถูกเลือก ดังนั้นในอีกด้านหนึ่งมะเร็งก็มีแง่งาม และไม่ใช่ศัตรูแบบที่ใครหลายคนประทับตรา

"ตอนนี้ออยอยากใช้ชีวิตที่มีอยู่ไม่ใช่ทำเพื่อตัวเอง ชีวิตที่มีคุณค่ามันคือการทำในสิ่งที่ดีสำหรับเราพร้อมกับดีกับผู้อื่นไปได้พร้อมๆ กัน ออยรู้สึกว่านี่แหละคือชีวิตที่ตายแล้วไม่เสียชาติเกิด สำหรับมะเร็งออยมองว่าเขาก็มีแง่งาม ใครจะรังเกียจ กลัว หรือมองเป็นศัตรูต้องชนะเธอ แต่ออยไม่เคยคิด เราคิดว่าเธอเป็นส่วนหนึ่งในตัวเรา ไม่ว่าจะเกิดมาด้วยเหตุปัจจัยอะไรก็ตาม ส่วนหนึ่งต้องขอบคุณที่ทำให้เราเข้าใจชีวิตว่าต้องดำเนินไปแบบไหน ทำให้ออยเห็นคุณค่าลมหายใจ ถ้าไม่มีมะเร็งออยคงไม่มีโอกาสได้ใช้ชีวิตที่ดีแบบนี้"

การเปิดบทสนทนาให้คุณออยพูดถึงมะเร็ง แม้จะทำให้เธอน้ำตาคลอแต่กลับกลายเป็นเธอค้นพบว่านับตั้งแต่เป็นมะเร็งมาจนถึงวันนี้ มันคือช่วงเวลาที่ดีที่สุดในชีวิตของเธอเช่นกัน ถ้ากอดมะเร็งได้ เธอจึงอยากขอกอดมะเร็งสักครั้งที่เข้ามาเป็นทั้งบทเรียน เป็นครู แม้ร้ายแต่ก็มีแง่งามทำให้รู้ว่าเป้าหมายชีวิตที่แท้จริงคืออะไร และเธอเองก็พร้อมจะจากไปอย่างไม่เสียดายและรู้สึกค้างคา

ตลอดการสัมภาษณ์ เรื่องราวทั้งหมดของเธอทำให้เรารู้สึกได้ถึงพลังบวก พลังแห่งความหวัง พลังจิตใจ ซึ่งล้วนเป็นพลังในด้านดี สำหรับผู้ที่สนใจอยากร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการดูแล ให้กำลังใจผู้ป่วยมะเร็ง หรือต้องการร่วมกิจกรรมต่างๆ กับทางเพจ สามารถเข้าไปดูรายละเอียดได้ที่เพจ Art for Cancer by Ireal ได้เลยนะคะ

 

 

 

 

 

 

 

อัลบั้มภาพ 21 ภาพ

อัลบั้มภาพ 21 ภาพ ของ พลังชีวิตจาก “ออย ไอรีล” ผู้ป่วยมะเร็งระยะ 4 ที่เรียนรู้ชีวิตจากเนื้อร้าย และพร้อมจากไปอย่างไม่เสียดาย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook