“อ้วนซ่อนรูป” เสี่ยงไขมันเกาะตับ

“อ้วนซ่อนรูป” เสี่ยงไขมันเกาะตับ

“อ้วนซ่อนรูป” เสี่ยงไขมันเกาะตับ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ภาวะไขมันสะสมในตับ คือ ภาวะที่ร่างกายมีการสะสมของไขมันภายในเซลล์ตับ ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในรูปของไตรกลีเซอไรด์ โดยอาจมีเพียงการสะสมของไขมันอย่างเดียว หรืออาจมีการอักเสบของตับร่วมด้วย ซึ่งในผู้ป่วยบางรายการอักเสบเรื้อรังนี้ อาจนำไปสู่การเกิดพังผืดในตับ หรือที่เราเรียกว่าภาวะตับแข็งได้ โดยสาเหตุของโรคนี้ปัจจุบันยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด อาจมีหลายปัจจัยร่วมกัน

โดยข้อมูลในปัจจุบันเชื่อว่า ปัจจัยสำคัญของการเกิดภาวะไขมันสะสมในตับคือ ภาวะดื้อต่ออินซูลิน และจากนั้นอาจจะมีกลไกอื่นที่มากระตุ้นให้เซลล์ตับที่มีไขมันเกาะอยู่นั้น เกิดการอักเสบ และการตายของเซลล์ตับซึ่งผู้ป่วยส่วนมากจะไม่แสดงอาการชัดเจนนัก โดยผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการจุกแน่นชายโครงด้านขวา หรือในรายที่เป็นมานาน อาจมีอาการเริ่มต้นของภาวะตับแข็ง เช่น อ่อนเพลีย ท้องโต เป็นต้น ซึ่งมักตรวจพบโดยบังเอิญจากการตรวจเลือด เช็กสุขภาพประจำปี ซึ่งอาจทำให้ความเสี่ยงของอาการนี้ลุกลามจนยากแก่การรักษา

ไขมันเกาะตับ


รศ.นพ.สมบัติ ตรีประเสริฐสุข แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านทางเดินอาหาร ศูนย์โรคระบบทางเดินอาหารและตับกรุงเทพ โรงพยาบาลกรุงเทพ เปิดเผยว่า โรคตับที่พบบ่อยในชาวเอเชีย และคนไทย นอกจากไวรัสตับอักเสบบี , ซี และโรคตับแข็งจากการดื่มแอลกอฮอลล์แล้ว ปัจจุบันยังพบภาวะไขมันสะสมในตับ หรือ ไขมันเกาะตับ ในผู้ป่วยชาวไทยเพิ่มขึ้น ภาวะไขมันสะสมในตับ คือ ภาวะที่ร่างกายมีการสะสมของไขมันภายในเซลล์ตับ ในรูปของไตรกลีเซอไรด์ ในคนไข้บางรายอาจพบการอักเสบของตับร่วมด้วย ซึ่งการปล่อยให้ตับอักเสบเรื้อรังอาจนำไปสู่การเกิดพังผืดในตับ หรือ ภาวะตับแข็ง ได้ในที่สุด

"ไขมันเกาะตับอาจดูไม่รุนแรง แต่แสดงให้เห็นถึงความเสี่ยงเป็นโรคตับแข็งในระยะเริ่มต้น โดยเฉพาะคนอ้วน หรือมีภาวะน้ำหนักเกิน ผู้ที่ป่วยเป็นโรคเบาหวาน แต่ก็ใช่ว่า คนที่มีรูปร่างผอมบาง จะไม่มีความเสี่ยง โดยเฉพาะคนอ้วนซ้อนรูป ซึ่ง 1 ใน 4 กลุ่มนี้พบภาวะไขมันสะสมในตับ"



นพ.สมบัติ อธิบาย จากอุบัติการณ์ที่พบทำให้โรคไขมันสะสมในตับกลายเป็นโรคยอดฮิตในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา หลังจากตรวจพบครั้งแรกในอเมริกา จากคนอ้วนกลุ่มหนึ่งที่มีค่าตับที่สูงขึ้น และเมื่อตรวจอย่างละเอียดในคนไข้กลุ่มนี้ ทำให้พบว่ามีไขมันเกาะอยู่เต็มเนื้อตับ "ปัจจุบันอุบัติการณ์ของโรคดังกล่าวยังคงเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน โดยเฉพาะในกลุ่มคนเอเชียที่มีรูปร่างเล็ก ผอมบาง แต่มีภาวะอ้วนลงพุง จากพฤติกรรมการใช้ชีวิต กินดีอยู่ดี ไม่ชอบออกกำลังกาย" คุณหมอกล่าวย้ำ และตั้งข้อสังเกตว่า ภาวะไขมันเกาะตับมีความเชื่อมโยงกับโรคเบาหวาน ความดันสูง คลอเรสเตอรอลสูง และน้ำหนัก และรอบเอวเกิน หรือรวมเรียกว่า โรคเมตะบอลิคซินโดรม อย่างเห็นได้ชัด

นพ.สมบัติ กล่าวว่า ปัจจัยสำคัญของการเกิดภาวะไขมันสะสมในตับคือ อาการดื้อต่ออินซูลิน ร่วมกับกลไกอื่นที่มากระตุ้น เช่น การอักเสบ และการตายของเซลล์ตับ ซึ่งผู้ป่วยส่วนมากจะไม่แสดงอาการให้เห็นชัดเจน ในขณะที่บางรายที่เป็นมานาน จะเริ่มมีอาการจุกแน่นบริเวณชายโครงด้านขวา หรือมีอาการเริ่มต้นของภาวะตับแข็ง เช่น อ่อนเพลีย ท้องโต ปรากฎให้เห็น ในอดีตคนไข้ที่พบภาวะเสี่ยงตับแข็งหรือไขมันเกาะตับในระยะเริ่มต้น แพทย์จะทำการเจาะชิ้นเนื้อตับเพื่อตรวจหาความผิดปกติ และให้ยารักษา ในขณะที่ปัจจุบันวิทยาการทางการแพทย์ได้พัฒนาเครื่องวัดความยืดหยุ่นของตับ Fibroscan with CAP (Controlled Attenuation Parameter) ที่ให้ผลวิเคราะห์ที่แม่นยำด้วยเทคนิคอุลตร้าซาวน์ แทนการเจาะชิ้นเนื้อ เพื่อลดอาการเจ็บปวด และผู้ป่วยไม่ต้องเสียเวลาพักรักษาตัว

นพ.สมบัติ บอกว่า Fibroscan เป็นเทคโนโลยีใหม่ล่าสุดในการตรวจวินิจฉัยเพื่อดูสภาพการเกิดพังผืดในเนื้อตับเข้ามาช่วย ที่ทางโรงพยาบาลกรุงเทพเป็นแห่งแรกในประเทศไทยที่นำใช้เทคโนโลยีนี้มาใช้วินิจฉัยผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง โดยนอกจากจะสามารถตรวจประเมินสภาวะพังผืดในเนื้อตับในผู้ป่วยที่เป็นตับแข็งระยะแรกๆ รวมถึงติดตามผลแล้ว ยังช่วยประเมินระดับความรุนแรงเพื่อวางแผนการรักษาและวินิจฉัยภาวะแทรกซ้อนของผู้ป่วยที่มีภาวะตับแข็งแทนการเจาะเนื้อตับ อีกทั้งยังสามารถประเมินและแสดงปริมาณไขมันสะสมในตับสำหรับผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงต่อภาวะไขมันพอกตับ( Fatty liver) ได้พร้อมกันภายในครั้งเดียวอย่างรวดเร็ว และแม่นยำ

"เครื่องดังกล่าวสามารถบอกได้ถึง ปริมาณไขมันที่สะสมในตับ และตรวจหาภาวะพังผืดในเนื้อตับ ระดับคลอเรสเตอรรอลและไตรกรีเซอไรด์ เพื่อนำไปสู่การวินิจฉัย และยืนยันผลการรักษา โดยคนไข้ที่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วมทีจะช่วยชะลออาการและป้องกันความเสี่ยงต่อภาวะตับอักเสบ และตับแข็งในอนาคต"

นพ.สมบัติกล่าว และว่า ภาวะไขมันเกาะตับ มีความรุนแรงและแตกต่างจากโรคตับที่เกิดจากไวรัส เนื่องจากไม่มียารักษา นอกจากการออกกำลังกาย เปลี่ยนนิสัยการกินอยู่ ลดอาหารประเภทแป้ง และไขมัน ซึ่งคนไข้กลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะชะล่าใจ คิดว่าตัวเองยังแข็งแรง สุขภาพดี รอจนกระทั่งเกิดการอักเสบ เมื่อมาพบแพทย์ก็สายไปแล้ว คนไข้ที่จำเป็นต้องตรวจตับเป็นพิเศษคือคนที่มีภาวะตับอักเสบเรื้อรัง หรือมีค่าการทำงานของตับที่ผิดปกติเกินกว่า 6 เดือน มีภาวะบ่งบอกว่าเป็นตับแข็งระยะต้น เช่น ผลเลือดมีเกร็ดเลือดต่ำ ค่าตับสูงเล็กน้อย ม้ามโตเล็กน้อย เครื่องนี้จะบอกได้ว่าตับแข็งหรือไม่

อย่างไรก็ตาม แม้ในปัจจุบันจะยังไม่มียารักษาพังผืดในตับ แต่แพทย์และนักวิจัยทั่วโลกได้พยายามเดินหน้าวิจัยและพัฒนายารักษา เพื่อป้องกันไม่ให้พังพืดที่เกิดในระยะเริ่มต้น กลายเป็นสาเหตุทำให้ตับแข็งตามมาในภายหลัง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook