เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับ Chanel และประเทศอเมริกา
อเมริกาไม่เคยทรยศชาเนล...
แม้ว่าฝรั่งเศสจะได้ชื่อว่าเป็นบ้านเกิดและแรงบันดาลใจหลักของเธอ หากเมื่อว่ากันตามเนื้อผ้า ประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างฝรั่งเศสกับ กาเบรียล ‘โคโค่’ ชาเนล กลับกระเดียดไปทางลุ่มๆ ดอนๆ หรือต้องอาศัยความพยายามให้ได้มาซึ่งความสำเร็จอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งผิดกันลิบลับกับความสัมพันธ์ราบรื่นของเธอกับสหรัฐอเมริกา เพราะเมื่อผลิตสร้างสิ่งใดก็แลดูจะกลายเป็นเงินเป็นทองและขายดิบขายดีไปเสียทั้งหมดโดยง่าย
ด้วยเหตุนี้ หนังสือเดินทางของมาดมัวแซลจึงมีตราประทับเข้าเมืองลุงแซมกระจายสัญลักษณ์อยู่ทั่วไป อีกทั้งเมื่อสิ้นสุดยุคของเธอและต่อยอดเข้าสู่กาลสมัยของไกเซอร์ คาร์ล ลาเกอร์เฟลด์ เราก็มีโอกาสได้เห็นชาเนลเลือกจัดแฟชั่นโชว์ในสหรัฐอเมริกาอยู่บ่อยครั้ง ตั้งแต่โชว์ยุคบุกเบิกงานศิลปาชีพคอลเล็กชั่น Métiers d’Art ปี 2005 ซึ่งจัดขึ้นภายในบูติกใหญ่สาขาถนน 5th Avenue ในนิวยอร์ก (ในปีเดียวกัน แบรนด์ยังเปิดตัวนิทรรศการใหญ่ที่จัดขึ้นร่วมกันกับพิพิธภัณฑ์ Metropolitan Museum of Art หรือ The Met)
ถัดมาอีก 2 ปี ชาเนลใช้สถานีรถไฟ Grand Central Station เป็นรันเวย์เพื่อจัดโชว์ครูส เมื่อปี 2015 แบรนด์ก็ยังขนงานรีสเตจคอลเล็กชั่น Paris-Salzburg มาโชว์ให้ลูกค้ากระเป๋าหนักฝั่งอเมริกาชมกันเป็นการภายในอีกรอบ ไม่นับรวมคอลเล็กชั่น Paris-Dallas ที่ขบวนนางแบบเดินกันในโรงนาในรัฐเท็กซัส และคอลเล็กชั่น Métiers d'Art ในธีม Paris-New York ระลอกที่ 2 ซึ่งจัดขึ้นภายในพิพิธภัณฑ์ The Met
จริงอยู่ที่ความยิ่งใหญ่ของโคโค่ผูกโยงเสมอมา (และจะตลอดไป) กับความหาญกล้าในการปฏิวัติเครื่องแต่งกายของเธอในฝรั่งเศสในทศวรรษ 1910 ด้วยการมอบอิสรภาพจากเครื่องรัดทรงอัดแน่นและสไตล์ กิบสัน เกิร์ล หนักอึ้งที่ถมทับสตรีเพียงเพื่อให้ได้มาซึ่งซิลูเอตตัว S ที่ค้างอยู่ในกระแสแฟชั่นมานับแต่ปี 1905 หากนับจากความสำเร็จครั้งนั้น ไทม์ไลน์ชีวิตของโคโค่กลับวนเวียนอยู่กับเรื่องรักๆ ใคร่ๆ การเยียวยาหัวใจให้กลับมาเริ่มใหม่ได้อีก
การท่องเที่ยวทั่วโลกไปกับคนรู้ใจ รวมถึงการคบหากับเหล่าเพื่อนศิลปินคนดังประจำศตวรรษผู้พาให้เธอมีโอกาสออกแบบเสื้อผ้าคอสทูมสำหรับละครเวทีและโมเดิร์นแดนซ์อยู่เป็นครั้งคราว สลับกันไปกับงานออกแบบที่ขายได้ตลอดก็จริง แต่ไม่ได้ปฏิวัติวงการยิ่งใหญ่เท่าเมื่อครั้งแรกเริ่มธุรกิจ อย่างไรก็ตาม กลับเป็นประเทศอเมริกานี่เองที่มอบความไว้เนื้อเชื่อใจให้เธอเสมอมา
ในปี 1914 เมื่อครั้งโคโค่เริ่มแตกไลน์จากหมวกสู่สเวตเตอร์ซึ่งวางขายในเมืองโดวิลล์ สื่ออเมริกันในนิวยอร์กคือเจ้าแรกๆ ที่คาดคะเนว่ามันจะฮิต เช่นเดียวกับในปี 1954 เมื่อเธอตัดสินใจเปิดห้องเสื้อกูตูร์อีกครั้งหลังปิดกิจการไปนาน 14 ปีเต็มระหว่างช่วงสงครามโลก (ไม่นับรวมความสูญเสียทางใจเมื่อดยุคแห่งเวสต์มินสเตอร์เสียชีวิต รวมถึงการที่เธอตัดสินใจขายคฤหาสน์ ลา โปซา แสนรักในปีก่อนหน้า)
สื่อบ้านเกิดก็ไม่ใยดีคอลเล็กชั่นเดือนกุมภาพันธ์ของดีไซเนอร์หญิงวัย 70 กะรัตรายนี้ แถมยังวิจารณ์เสียๆ หายๆ ว่า “เก่าเก็บ” และ “ล้าสมัย” จวบจนภาพความงามสไตล์ปารีเซียงเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลมายังอเมริกาในอีกเพียงหนึ่งเดือนต่อมาตลาดสหรัฐจึงมีโอกาสช่วยชุบชีวิตแบรนด์ชาเนล เริ่มต้นจากกระแสความต้องการเรือนล้านที่ส่งให้นิตยสารสตรีในสมัยนั้นต่างเพียรหาผลงานของโคโค่มาตีพิมพ์จนกลายเป็นคลื่นสะท้อนกลับไปยังบ้านเกิดคือปารีสเองให้หันกลับมาพิจารณาคอลเล็กชั่นที่ตนเคยรังเกียจเสียใหม่ ผลสรุปในวันนั้นคือโว้กปารีสตีพิมพ์ภาพชุดสูทเจอร์ซีสีขาว-กรมท่า จับคู่เบลาซ์สีขาวกับหมวกกะลาสีบนหน้าปก
ความสำเร็จนี้อาจแลดูเหมือนเรื่องบังเอิญ แต่แท้จริงแล้วเกิดจากการคำนวณแผนสองมาอย่างดิบดี โคโค่เดาทางออกว่าเธอมีสิทธิ์จะโดนจวกแทงจากสื่อปารีสด้วยกันเองที่กำลังขึ้นหม้อกับกระแส Dior fever ในขณะนั้น และมองการณ์ไกลถึงตลาดที่ใหญ่กว่าอย่างอเมริกา
มีหลักฐานชัดเจนว่า 5 เดือนก่อนเปิดตัวคอลเล็กชั่นทวงบัลลังก์ เธอเขียนจดหมายถึง คาเมล สโนว์ บรรณาธิการของนิตยสารฮาร์เปอร์ บาซาร์ในอเมริกา และอธิบายแผนการตลาดที่ตั้งใจปรับผลงานโอต์ กูตูร์ไปเป็นเสื้อผ้าสำเร็จรูปซึ่งตัดเย็บสะดวกกว่าและน่าจะขายง่ายขึ้นในต่างประเทศ โทรเลขจากคาเมลถึงโคโค่ลงวันที่ 24 กันยายน 1953 ระบุชัดถึงแผนการ: “รู้จักโรงงานเสื้อผ้าสำเร็จรูปชั้นหนึ่งที่สนใจไลน์ของคุณ - หยุด - เมื่อไรคอลเล็กชั่นจะเสร็จ - หยุด - จะมานิวยอร์กพร้อมกับคอลเล็กชั่นไหม - หยุด - เรื่องผ้าจะว่ายังไง - หยุด - ยินดีช่วยเหลือ - หยุด -”
และเป็นอเมริกาอีกเช่นกันที่รุมซื้อสินค้าพะยี่ห้อชาเนลจนมาดมัวแซลตัดสินใจเปิดตลาดเครื่องหนังผ่านกระเป๋าหนังรุ่นแรกคือ 2.55 ในเดือนกุมภาพันธ์ปี 1955 ตามติดมาด้วยงานออกแบบชุดสูทกระโปรงผ้าทวีดทรงตรงในปีถัดมาซึ่งกลายเป็นสินค้ายอดนิยมชั่วข้ามคืน รวมทั้งรองเท้าทูโทนในปี 1957 ที่ไม่ต้องเดาเราก็น่าจะทราบดีว่ามันยังคงขายดีมาถึงปัจจุบัน โปรดสังเกตว่าชิ้นงานระดับไอคอนที่กลายมาเป็นภาพจำที่สำคัญที่สุดของแบรนด์ล้วนเกิดขึ้นในช่วงครึ่งหลังของทศวรรษ 1950 จากความสำเร็จของตลาดอเมริกา โดยสตรีวัยเลยผ่านเลข 7 และทั้งหมดทั้งมวลก็เพื่อตอกย้ำแนวคิด “ผลิตสร้างเพื่อหญิงสาวผู้เคลื่อนไหว”
แล้วเมื่อไรกันที่ดีไซเนอร์ราศีสิงห์ได้มีโอกาสเดินทางมาสัมผัสกับทวีปอเมริกาด้วยตัวของเธอเอง ตามจริงเธอเคยเดินทางมายังสหรัฐอเมริกาตั้งแต่ปี 1931ขึ้นเรือที่ท่าฮัมบวร์ก ประเทศเยอรมนี ก่อนข้ามทะเลนาน 6 สัปดาห์มาขึ้นฝั่งยังนิวยอร์กและใช้เวลารักษาอาการไข้อยู่ที่นั่นนาน 2 สัปดาห์ จากนั้นจึงโดยสารต่อโดยรถไฟสีขาวขบวนพิเศษนาน 4 วันเต็มด้วยระยะทาง 4,750 กิโลเมตร ไปยังจุดหมายหลักคือ ลอส แอนเจลิส เพื่อสร้างสรรค์คอสทูมให้กับดาราภาพยนตร์ชื่อดังประจำยุคของสตูดิโอฮอลลีวู้ด
แม้ท้ายที่สุดผลลัพธ์ของภารกิจฮอลลีวู้ดในครานั้นจะไม่เปรี้ยงปร้างเท่าที่ควรเนื่องจากความ ‘น้อยแต่มาก’ ที่ยังไม่เตะตาผู้ชมหรือโดนใจคอหนังโดยรวม แต่โคโค่ก็เดินทางกลับมายังกรุงปารีสพร้อมค่าตัว 1 ล้านดอลล่าร์ซึ่งนับว่าสูงมหากาฬ
ในขณะที่ภาพดาราสาว กลอเรีย สวอนสัน ในชุดราตรีสีเข้มคัตติ้งเนี้ยบกริบก็สามารถสุมไฟสร้างแรงบันดาลใจให้หญิงสาวมากมายได้ในเวลาต่อมา ไม่นับรวมโอกาสในการพบปะกับสื่อมากมายเพื่อเตรียมเปิดตลาดในอนาคต ตอนป่วยอยู่ในนิวยอร์กเธอมีโอกาสต้อนรับนักข่าวมากมายและแม้ว่าจะตอบเต็มปากเต็มคำไปว่าไม่มีแผนออกแบบเสื้อที่นั่นเพราะ “ไม่ได้ติดกรรไกรมาด้วย”
แต่ผู้สื่อข่าวชาวอเมริกาก็ยังหลงรักสไตล์เก๋ไก๋ของเธออย่างหัวปักหัวปำ หนังสือพิมพ์ เดอะ นิวยอร์ก ไทมส์ ร่ายยาวลุคของเธอไว้ละเอียดยิบว่า “ชาเนลสวมเสื้อผ้าแนวสปอร์ตตัวจิ๋วผ้าเจอร์ซีสีแดงราวกุหลาบที่ไม่ต้องอาศัยความพยายามเกินงาม จับคู่เสื้อถักสีขาวที่มีคอปกแสนจะ ‘ดูเป็นชาเนล’ และข้อแขนสีขาว สร้อยมุกเส้นยาวพันทบหลายรอบอยู่บนลำคอ และเธอสวมกำไลพลอยหลากสี”
ที่อเมริกาอีกเช่นกันที่โคโค่ได้รับมอบรางวัล นีแมน มาร์คัส สาขาแฟชั่น อันทรงเกียรติในปี 1957 ที่เมืองแดลลัส และเมื่อเข้าสู่เจเนอเรชั่นของคาร์ล เขาก็ได้รับรางวัลเดียวกันนี้ไปในปี 2013 เพียงวันเดียวหลังโชว์คั่นฤดูกาลจบลง ยิ่งไปกว่านั้น ชีวประวัติของเธอยังได้รับการสรรเสริญผ่านละครเพลงบรอดเวย์ประจำปี 1969 เรื่อง ‘CoCo’ ซึ่งนำแสดงโดย แคธารีน เฮปเบิร์น สุดยอดดาราหญิงแห่งยุคเจ้าของรางวัลตุ๊กตาทองมากที่สุดคือ 4 ตัว ดาราหญิงเขียนจดหมายถึงสุดยอดดีไซเนอร์แห่งยุคเพื่อสดุดีแด่เธอด้วย “หวังว่าฉันจะมีความสามารถพอจะสวมบทบาทนี้"
ไม่ว่ายามนี้หรือยามไหนความหวัง (หรือกลุ่มควันไฟ) ของชาวปารีเซียงจะมุ่งไปในยังทิศใด ที่แน่ๆ ประวัติศาสตร์กว่า 9 ทศวรรษพิสูจน์แล้วว่าความฝันของชาวอเมริกันยังคงมีอักษร C คู่ของชาเนลเกี่ยวไขว้เหนี่ยวไว้เสมอ