ญี่ปุ่นผุดกระแส #KuToo คัดค้านกฎบังคับสตรีใส่ส้นสูงในที่ทำงาน

ญี่ปุ่นผุดกระแส #KuToo คัดค้านกฎบังคับสตรีใส่ส้นสูงในที่ทำงาน

ญี่ปุ่นผุดกระแส #KuToo คัดค้านกฎบังคับสตรีใส่ส้นสูงในที่ทำงาน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

สื่อสังคมออนไลน์ญี่ปุ่น ผุดกระแสไวรัลใหม่ #KuToo เพื่อผลักดันให้ยกเลิกกฎบังคับสตรีใส่ส้นสูงในที่ทำงาน และมีผู้ที่สนับสนุนแนวคิดดังกล่าวเป็นจำนวนมาก

ตอนนี้มีสตรีชาวญี่ปุ่นเกือบ 2 หมื่นคน ยื่นคำร้องต่อกระทรวงสาธารณสุขญี่ปุ่นเมื่อวันจันทร์ เรียกร้องให้ยกเลิกข้อบังคับของบริษัทที่ให้ผู้หญิงสวมรองเท้าส้นสูงในที่ทำงาน ซึ่งเป็นตัวอย่างของการเลือกปฏิบัติทางเพศ ตามมุมมองของยูมิ อิชิคาว่า นักแสดงและนักเขียนอิสระวัย 32 ปี ผู้ริเริ่มกระแส #KuToo ในญี่ปุ่น ด้วยความหวังให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสภาพแวดล้อมการทำงาน และสร้างความตระหนักรู้ถึงการเลือกปฏิบัติทางเพศในสังคมญี่ปุ่น

#KuToo นั้นเป็นการเล่นคำภาษาญี่ปุ่น kutsu ที่แปลว่ารองเท้า และ kutsuu ที่แปลว่าเจ็บปวด จึงแปลรวมๆในภาษาญี่ปุ่นได้ว่า “เพราะใส่ส้นสูงจึงเจ็บปวด” และไปพ้องกับ #MeToo การเคลื่อนไหวทางสังคมเมื่อไม่กี่ปีมานี้ ให้กล้าเปิดเผยเรื่องการถูกก่อกวนรังควานทางเพศในที่ทำงาน

คุณอิชิคาว่า ริเริ่มกระแส #KuToo ในญี่ปุ่น หลังจากที่เธอเคยทวีตข้อความเรื่องการถูกบังคับให้ใส่รองเท้าส้นสูงไปทำงานที่บริษัทจัดงานศพ ซึ่งเป็นงานชั่วคราวเท่านั้น

โดยในคำร้องของคุณอิชิคาว่าต่อกระทรวงสาธารณสุขญี่ปุ่น ระบุว่า หลังจากเลิกงาน ทุกคนก็เปลี่ยนมาใส่รองเท้าผ้าใบและรองเท้าส้นแบนกันทั้งนั้น และว่ารองเท้าส้นสูงทำให้เกิดโรคตาปลาที่เท้า แผลพุพองจากการเสียดสีกับรองเท้า และทำให้เกิดอาการปวดหลัง อีกทั้งรองเท้าส้นสูงยังยากต่อการเคลื่อนไหว เพราะไม่สามารถวิ่งบนรองเท้าส้นสูงได้และทำให้เจ็บเท้า แต่ทั้งหลายทั้งปวงนี้ผู้หญิงต้องทำเพราะเป็นมารยาททางสังคม

แม้ว่าบริษัทญี่ปุ่นหลายแห่งไม่ได้กำหนดให้พนักงานผู้หญิงจะต้องสวมรองเท้าส้นสูงมาทำงาน แต่ผู้หญิงจำนวนมากเลือกที่จะใส่ส้นสูงเพราะเป็นธรรมเนียมปฏิบัติและความคาดหวังทางสังคม

เมื่อปี ค.ศ. 2005 ญี่ปุ่นเริ่มเปลี่ยนรูปแบบของการแต่งกายในที่ทำงานของผู้ชาย ภายใต้แคมเปญ Cool Biz ของรัฐบาลญี่ปุ่น ที่ระบุว่าผู้ชายไม่จำเป็นต้องผูกเนคไทมาทำงาน เพื่อช่วยให้บริษัทปรับเครื่องปรับอากาศในที่ทำงานให้เย็นน้อยลง เพื่อลดการใช้พลังงาน

ตอนนี้ #KuToo ได้รับความสนใจจากสื่อต่างประเทศมากกว่าในญี่ปุ่น และมีแนวโน้มที่สังคมญี่ปุ่นจะมองว่าประเด็นนี้เป็นปัญหาด้านสุขภาพ มากกว่าเรื่องความเท่าเทียมกันทางเพศ โดยคุณอิชิคาว่า มองว่า ญี่ปุ่นค่อนข้างหัวแข็งไม่ยอมรับเรื่องการเลือกปฏิบัติทางเพศ และถือว่าล้าหลังกว่าประเทศอื่นๆในเรื่องนี้ ซึ่งตรงกับการจัดอันดับของ World Economic Forum ที่ระบุว่าญี่ปุ่นมีระดับความเท่าเทียมกันทางเพศอยู่ในอันดับที่ 110 จาก 149 ประเทศทั่วโลก

ขณะที่การเคลื่อนไหวในลักษณะนี้เกิดขึ้นในไม่กี่ประเทศทั่วโลกซึ่งมีทั้งประสบความสำเร็จและล้มเหลว อย่างเมื่อปี ค.ศ. 2017 ประเทศฟิลิปปินส์ และบริติชโคลัมเบียของแคนาดา ผ่านกฎหมายห้ามบริษัทบังคับสตรีสวมส้นสูงทำงาน ขณะที่อังกฤษ ซึ่งมีนักแสดงหญิงในกรุงลอนดอน นิโคลา ธอร์พ ล่ารายชื่อ 150,000 รายชื่อสนับสนุนกฎหมายดังกล่าว แต่ไม่ได้รับความเห็นชอบจากสภาอังกฤษในท้ายที่สุด

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook