กินเจอย่างฉลาด เลือกเมนูชูสุขภาพดี
สำหรับปีนี้เทศกาลกินเจ จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 15-23 ต.ค.นี้ อาจารย์สง่า ดามาพงษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการ และผู้จัดการโครงการโภชนาการสมวัย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการเลือกกินอาหารเจ การเตรียมตัวให้พร้อมกับการกินเจ การกินเจให้สมวัย ข้อควรระวังและความปลอดภัยในการกินอาหารเจ เอาไว้อย่างน่าสนใจ
ผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการพูดถึงการกินเจว่า การกินเจนอกจากจะได้บุญแล้ว ยังได้สุขภาพร่างกายที่แข็งแรงด้วย เพราะการกินเจคือการกินผัก ผลไม้ ถั่วเมล็ดแห้งต่างๆ แทนเนื้อสัตว์ ผักช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันโรค มีวิตามิน แร่ธาตุและสารต่อต้านอนุมูลอิสระ อย่างไฟโตรนิวเทรียนส์ที่มีในผักและผลไม้เท่านั้น ที่ช่วยลดอัตราเสี่ยงการเป็นมะเร็ง ซึ่งการที่เรากินผักเป็นประจำเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยน้อยกว่าคนที่ไม่กินผัก
"การกินเจทำให้ได้รับโปรตีนจากพืช ซึ่งให้คุณค่าทางโภชนาการใกล้เคียงกับโปรตีนจากสัตว์ เพราะโปรตีนจากพืชมีกรดอะมิโนใกล้เคียงกับสัตว์ อย่างกรดอะมิโน เมทไทโอนิน (methionine) กับไลซีน (lysine) ซึ่งกรดอะมิโนชนิดนี้มีอยู่ในข้าวกล้อง ถ้ากินควบคู่กับอาหารเจทำให้ได้รับสารอาหารครบถ้วน ที่สำคัญโปรตีนจากพืชไม่มีคอเรสเตอรอล เหมือนกับเนื้อสัตว์ แต่มีกรดไขมันที่จำเป็นต่อร่างกาย" อาจารย์สง่าแจกแจง
ผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการยังบอกอีกว่า ที่สำคัญคือ อย่ากินเจ ตามแฟชั่น ต้องกินเจอย่างมีความรู้ เพื่อสุขภาพดี โดยแนะนำว่า ควรหลีกเลี่ยงอาหารประเภทผัด ทอด ซึ่งใช้น้ำมันเยอะ ควรกินอาหารประเภท ต้ม นึ่ง หรือ อบ ส่วนอาหารเจที่ผ่านการต้มซ้ำแล้วซ้ำอีก น้ำต้มจะระเหยเหลือเพียงความเค็มเท่านั้น การกินเค็มทำให้ความดันสูง อาจจะหันมากินอาหารไทยพวกน้ำพริกเจ กินคู่กับผักสด ผักพื้นบ้าน นอกจากจะมีประโยชน์แล้วยังไม่มีสารพิษเจือปน หรือกินข้าวกล้องเพราะมีคุณค่าทางโภชนาการสูงมาก อีกสิ่งหนึ่งที่น่าเป็นห่วงคือ การกินอาหารเจแบบเดิมๆ ซ้ำกันจนเกินไป ทำให้ขาดสารอาหารได้ อย่างเช่น กินแต่ผักมากเกินไปก็ทำให้ท้องอืดได้ กินอาหารที่เป็นแป้งเยอะ อย่างพวกอาหารเจที่ดัดแปลงให้คล้ายกับเนื้อหมู เนื้อไก่ ในปัจจุบันมักจะทำจากแป้งมากกว่าจากถั่วเมล็ดแห้ง เต้าหู้ต่างๆ จึงควรกินให้หลากหลายเพื่อสร้างความสมดุลและคุณค่าทางโภชนาการให้กับร่างกาย
นอกจากนี้ อาจารย์สง่ายังแนะนำการเตรียมตัวให้พร้อมในการกินเจอีกด้วยว่า การเตรียมตัวเพื่อเข้าสู่เทศกาลกินเจ คือ การเตรียมระบบต่างๆ ภายในร่างกายให้คุ้นชินกับอาหารเจ ควรเตรียมตัวอย่างน้อย 2 วันล่วงหน้า เริ่มจากวันแรก ควรกินเนื้อสัตว์ใหญ่ให้น้อยลง หันมากิน ปลา นมและไข่แทน วันต่อมาก็เริ่มกินผัก ผลไม้ให้มากขึ้น และไม่กินเนื้อสัตว์ใหญ่ เมื่อร่างกายปรับตัวได้วันต่อมาก็สามารถกินเจได้อย่างสบาย
ทั้งนี้ หลายคนอาจมองว่าเจสามารถกินได้ทุกเพศทุกวัย แต่ควรกินอย่างไรให้เหมาะสมกับวัยนั้น อาจารย์สง่าแนะนำว่า การกินเจให้สมวัย เด็กที่อายุต่ำกว่า 5 ปี เป็นวัยที่ไม่เหมาะสมต่อการกินเจ เพราะโอกาสที่เด็กจะขาดสารอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายมีมาก เนื่องจากเด็กวัยนี้เป็นวัยที่กำลังเจริญเติบโต สมองและร่างกายต้องได้รับสารอาหารอย่างเพียงพอ เด็กๆ ไม่สามารถปรับตัวได้เหมือนกับผู้ใหญ่ หรืออาจให้กินได้แต่ต้องไม่เคร่งครัด ต้องให้กินนมและไข่ด้วย สำหรับเด็กอายุ 6 ขวบขึ้นไปจนถึงวัยเรียน สามารถกินได้แต่ต้องไม่เคร่งครัด และต้องมั่นใจว่าเด็กได้รับโปรตีนอย่างเพียงพอ กินนมและไข่ได้ ส่วนเด็กอายุ 14 ปีขึ้นไปจนถึงผู้ใหญ่และผู้สูงอายุสามารถกินได้ตามปกติ แต่สำหรับผู้สูงอายุควรเน้นอาหารเจที่ย่อยง่าย
เทศกาลกินเจในปีนี้ น่าจะเป็นการสร้างมิติใหม่ของการกินเจเพื่อปลูกฝังให้คนรุ่นใหม่หันมากินเจอย่างฉลาด มีสติ และเกิดจากความศรัทธาและความตั้งใจอย่างแท้จริง มิใช่เพียงทำตามกระแสเท่านั้น
เรื่องโดย : พิมพ์ชนก ศรเพชรTeam content www.thaihealth.or.th