ลูกเลือกกิน เป็นเด็กกินยาก จัดการอย่างไรให้อยู่หมัด

ลูกเลือกกิน เป็นเด็กกินยาก จัดการอย่างไรให้อยู่หมัด

ลูกเลือกกิน เป็นเด็กกินยาก จัดการอย่างไรให้อยู่หมัด
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หนึ่งปัญหาในการกินของลูกๆ ที่คุณพ่อคุณแม่หลายคนประสบก็คือ ลูกเลือกกิน เป็นเด็กกินยาก โดยเฉพาะเด็กอายุ 1-5 ปี การยอมให้ลูกกินแต่อาหารที่ตัวเองชอบ หากปล่อยวันนานวันไม่รีบแก้ไข อาจก่อปัญหาสุขภาพอื่นๆ ตามมาได้ เช่น ลูกน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์หรือเกินเกณฑ์ พัฒนาการล่าช้าไม่เป็นไปตามวัย หากคุณพ่อคุณแม่คนไหนเจอกับปัญหานี้ Helloคุณหมอ มีวิธีรับมือมาฝาก

ทำไมลูกถึงกินยากจัง

ปัญหาเด็กกินยาก หรือเลือกกินมักเริ่มในช่วงอายุ 2-3 ปี ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ควรทำความเข้าใจให้ได้ว่าที่ลูกเลือกกินนั้นเป็นเพราะอะไร โดยส่วนใหญ่มักเกิดจากสาเหตุเหล่านี้

อาหารรสชาติไม่ถูกปาก

มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ชี้ว่า การที่เด็กชอบกินอาหารรสหวาน เป็นเพราะสัญชาตญาณที่ติดตัวมาแต่กำเนิด เนื่องจากอยู่ในวัยกำลังเจริญเติบโต ร่างกายจึงต้องการอาหารที่ให้พลังงานหรือแคลอรีสูง แถมเด็กบางคนยังมียีนที่ทำให้ไวต่อรสขม จึงไม่แปลกที่เด็กจะเลือกกิน หรือกินอาหารบางอย่างยากเป็นพิเศษ

ลูกยังไม่หิว

พออายุครบ 2 ปีการเจริญเติบโตของเด็กจะค่อยๆ ช้าลง พวกเขาจึงกินได้น้อยลงกว่าแต่ก่อน หรือบางวันก็ไม่อยากอาหาร และบางครั้งลูกของคุณอาจกินขนมและเครื่องดื่มเยอะจนอิ่มเกินไป เลยไม่อยากกินอาหารมื้อหลัก

ลูกมีปัญหาสุขภาพ

บางครั้งการที่ ลูกเลือกกินหรือกินยาก ก็อาจมาจากปัญหาสุขภาพ หากลูกกระวนกระวาย หรืองอแงตลอดเมื่อถึงเวลากินอาหาร อาจเป็นเพราะเด็กเป็นภูมิแพ้อาหาร หรือมีความผิดปกติของระบบประมวลผลทางประสาทสัมผัส (Sensory Processing Disorder) เกิดจากสมองไม่สามารถประมวลข้อมูลที่ได้รับผ่านประสาทสัมผัสทั้ง 5 ได้ เด็กที่เป็นโรคนี้จึงมักไวต่อรส กลิ่น หรือเนื้อสัมผัสของอาหารบางชนิดเป็นพิเศษ

ลูกเลือกกิน หรือไม่ สังเกตได้อย่างไรบ้าง

เด็กที่มีปัญหากินยาก หรือเลือกกินจะมีพฤติกรรมเหล่านี้ตั้งแต่ 1 ข้อขึ้นไป

  • ลูกอาจไม่ยอมกินอาหารที่มีสี รูปทรง หรือลักษณะใดลักษณะหนึ่ง เช่น อาหารที่มีสีแดง อาหารแฉะๆ
  • ลูกกินแต่อาหารที่ตัวเองชอบ ไม่ยอมกินอาหารชนิดอื่น
  • บางครั้งเมื่ออยู่ที่โต๊ะอาหาร ลูกกลับสนใจทำอย่างอื่นมากกว่ากินอาหาร
  • ลูกไม่ยอมลองกินอาหารใหม่ๆ

เทคนิครับมือเมื่อลูกกินยาก

ลดเครื่องดื่มแคลอรีสูง

บางครั้งการให้ลูกดื่มเครื่องดื่มที่มีแคลอรีสูง เช่น น้ำผลไม้ น้ำอัดลม นม มากเกินไป ก็อาจทำให้เด็กอิ่มจัดจนไม่อยากกินอาหารมื้อหลัก คุณพ่อคุณแม่จึงควรจำกัดปริมาณเครื่องดื่มที่มีแคลอรีสูงต่อวันของลูก โดยให้ดื่มน้ำผลไม้ได้ไม่เกินวันละ 120 มิลลิลิตร นมไม่เกินวันละ 700 มิลลิลิตร ส่วนน้ำอัดลม ไม่ควรให้ลูกกินเลยจะดีที่สุด เพราะแคลอรีและน้ำตาลสูง แถมยังมีคาเฟอีน และสารเคมีที่ส่งผลเสียต่อร่างกายอีกเพียบ

กำจัดสิ่งเบี่ยงเบนความสนใจ

เด็กๆ มักจะห่วงเล่นมากกว่าห่วงกิน ฉะนั้น เมื่อถึงเวลากินข้าว คุณพ่อคุณแม่ควรปิดทีวี ไม่ให้ลูกเล่นมือถือ เพื่อให้ลูกได้โฟกัสกับการกินอาหาร รวมถึงต้องจัดสภาพแวดล้อมให้ดีด้วย เช่น อย่าให้บริเวณโต๊ะอาหารมืดเกินไป

กำหนดเวลาอาหารให้แน่นอน

ในเมื่อคุณพ่อคุณแม่ห้ามไม่ให้ลูกกินขนมไม่ได้ ก็ควรฝึกให้ลูกกินอาหารเป็นเวลา โดยการกำหนดเวลาอาหารมื้อหลักและอาหารว่างให้แน่ชัด และไม่ควรให้ลูกกินอาหารอะไรระหว่างมื้อ หากถึงเวลาอาหารแล้วลูกไม่ยอมกิน ก็ควรให้เขานั่งร่วมโต๊ะอาหารด้วย เพื่อให้เขารู้ว่าตอนนี้คือเวลาที่ควรกินอาหาร

ไม่ให้ลูกกินอาหารจานสะดวก

บางครั้งเมื่อลูกไม่ยอมกินอาหารที่เตรียมไว้ให้ คุณพ่อคุณแม่อาจให้ลูกกินขนมหรืออาหารง่ายๆ เช่น ขนมปัง ลูกชิ้นทอด ขนมขบเคี้ยว เพราะไม่อยากให้ลูกต้องทนหิว แถมเด็กส่วนใหญ่ยังชอบกินอาหารแบบนี้เสียด้วย แต่หากยอมตามใจแบบนี้ตลอด จนลูกติดเป็นนิสัย ไม่นานปัญหาสุขภาพ ทั้งฟันผุ โรคอ้วน ต้องตามมาแน่นอน ฉะนั้นหากลูกไม่ยอมกินอาหาร ควรให้เขารอจนกว่าจะถึงมื้อต่อไป หรือถ้าลูกหิวจนรอไม่ไหว ก็ให้กินอาหารที่ดีต่อสุขภาพ เช่น ผลไม้ นม รองท้องไปก่อน

ลูกเลือกกินอย่าเพิ่งท้อ เพราะอาจต้องลองถึง 11 ครั้ง

การที่เด็กไม่ยอมรับสิ่งใหม่ง่ายๆ ถือเป็นเรื่องธรรมชาติ สำหรับเรื่องอาหารเองก็เช่นกัน มีผลการศึกษาระบุว่า บางครั้งเด็กๆ อาจต้องลองกินอาหารชนิดเดิมถึง 11 ครั้ง จึงจะรู้ตัวว่าชอบกินอาหารชนิดนั้นหรือไม่ ฉะนั้นหากลูกไม่ยอมกินอาหารที่เตรียมให้ก็อย่าเพิ่งบังคับ ลองให้เขาได้หยิบจับ หรือเล่นกับอาหารนั้นๆ เพื่อทำความคุ้นเคยกับเนื้อสัมผัสก่อน แล้วค่อยๆ ให้ลูกลองชิมดู

ไม่จำเป็นต้องให้ลูกกินอาหารจนเกลี้ยงจาน

อย่าลืมว่ากระเพาะอาหารของเด็กย่อมเล็กกว่าผู้ใหญ่ ฉะนั้นแทนที่จะบังคับให้ลูกกินอาหารจนเกลี้ยงจาน ลองเปลี่ยนมาใช้กฎ 1:1:1 คือกำหนดจำนวนคำของอาหารแต่ละชนิดตามอายุของเด็ก เช่น หากลูกของคุณอายุ 3 ขวบ อาหารมื้อนี้คือ ข้าวผัด ไก่ต้ม และผักต้ม ก็ให้ลูกกิน ข้าวผัด ไก่ต้ม และผักต้มอย่างละ 3 คำ

ให้ลูกได้มีส่วนร่วมในการทำอาหาร

ลองให้ลูกของคุณได้มีส่วนช่วยในการทำอาหารแต่ละมื้อ ตั้งแต่การคิดเมนู การเลือกซื้อวัตถุดิบ ให้ลูกได้เลือกผักผลไม้ หรือวัตถุดิบอื่นๆ ที่เขาอยากกิน โดยมีคุณพ่อคุณแม่คอยแนะนำวัตถุดิบใหม่ๆ ที่มีประโยชน์ให้ด้วย เมื่อถึงเวลาทำอาหารก็ให้ลูกช่วยงานครัวที่เหมาะสมกับช่วงวัยของเขา เช่น ล้างผักผลไม้ ชั่งตวงวัตถุดิบ คนส่วนผสม จัดโต๊ะอาหาร ซึ่งวิธีนี้จะทำให้เด็กภูมิใจที่ได้มีส่วนร่วมและรู้สึกอยากกินอาหารฝีมือตัวเอง หากลูกมีปัญหาในการเคี้ยวอาหาร กลืนอาหาร หรือแสดงอาการวิตกกังวลรุนแรงเมื่อต้องลองกิน  อาหารใหม่ๆ คุณพ่อคุณแม่อย่านิ่งนอนใจ ควรรีบปรึกษาคุณหมอทันที

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำปรึกษาด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook