รู้ลึก มะเร็งเต้านม ญาติฝ่ายแม่เป็น เสี่ยงสูง

รู้ลึก มะเร็งเต้านม ญาติฝ่ายแม่เป็น เสี่ยงสูง

รู้ลึก มะเร็งเต้านม ญาติฝ่ายแม่เป็น เสี่ยงสูง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

มะเร็งเต้านม กลายเป็นภัยร้ายอันดับหนึ่งที่คุกคามผู้หญิงไทยและผู้หญิงทั่วโลก แทนที่ "มะเร็งปากมดลูก" ไปแล้ว

โรงพยาบาลสมิติเวช สุขุมวิท จัดรณรงค์ป้องกันมะเร็งเต้านม ภายใต้แคมเปญ "October Go Pink" เพื่อให้ทุกคนได้ตระหนักและพร้อมใจป้องกันโรคร้ายเป็นปีที่ 3


แพทย์หญิงสมสิริ สกลสัตยาทร
กรรมการผู้จัดการและเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สมิติเวช จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า นับวันผู้หญิงป่วยเป็นมะเร็งเต้านมอายุน้อยลงทุกปี ล่าสุด มีผู้หญิงอายุ 27 ปี เสียชีวิตจากการเป็นมะเร็งเต้านม!!

"กว่า 2 ปี ที่มะเร็งเต้านมกลายเป็นโรคร้ายแรงอันดับหนึ่งสำหรับผู้หญิงแทนที่มะเร็งปากมดลูก น่าตกใจว่าผู้หญิงไทยที่ป่วยเป็นโรคนี้แล้วเสียชีวิตมีอายุน้อยลงเรื่อยๆ จากเดิม 40 ปี ถึงตรวจพบ แต่ปัจจุบันนี้ ไม่ถึง 30 ปีก็ป่วยและเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งเต้านม และยังพบด้วยว่าผู้หญิงที่มีอายุตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไปมีซีสต์ที่เต้านมมาก ในเบื้องต้นอาจเป็นแค่ก้อนแคลเซียมธรรมดา แต่ในระยะยาวมีสิทธิพัฒนาเป็นมะเร็งได้จากปัจจัยเสี่ยงในชีวิตประจำวัน"

แพทย์หญิงสมสิริแนะนำว่า ผู้หญิงอย่าชะล่าใจเรื่องนี้ ถ้ามีเต้านมโตเต็มวัย หรือมีอายุประมาณ 20 ปีขึ้นไป ควรตรวจมะเร็งเต้านมด้วยตนเอง หรือเข้ารับการตรวจหามะเร็งเต้านมกับสถาบันการแพทย์

"ผู้หญิงที่มีญาติทางฝ่ายมารดาเป็นมะเร็งเต้านม มีความเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านมสูง ขอให้ระวังเป็นพิเศษ หมั่นเช็กด้วยตนเองเป็นประจำ"

ด้าน นพ.วิชัย วาสนสิริ บอกถึงสาเหตุของการเกิดมะเร็งเต้านมว่า สาเหตุการเกิดมะเร็งเต้านมที่แท้จริงทางการแพทย์ยังไม่ทราบว่าเกิดจากสาเหตุใด แต่เมื่อวิเคราะห์ตามหลักกายวิภาคแล้ว มะเร็งเต้านมมักจะเกิดในสองส่วนคือ ท่อน้ำนมและกระเปาะสร้างน้ำนมที่มีเซลล์เยื่อบุอยู่ข้างใน หากเซลล์ที่ว่ามีการพัฒนาตัวเองแต่ไม่ออกนอกผนังท่อหรือผนังกระเปาะ เรียกว่าระยะศูนย์ แต่เมื่อไรที่ลุกลามออกข้างนอกเราจึงจะเรียกมะเร็ง

"ปัจจัยที่ทำให้ผู้หญิงเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านมมีทั้งที่เปลี่ยนแปลงได้และเปลี่ยนแปลงไม่ได้ ปัจจัยที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ คือ 1.อายุ โดยความเสี่ยงจะเพิ่มตามอายุที่มากขึ้น 2.กรรมพันธุ์ 3.ผู้ที่มีประจำเดือนมาเร็วก่อนอายุ 12 ปี และผู้มีประจำเดือนหมดช้าหลังอายุ 55 ปี และ 4.กลุ่มที่ต้องให้ฮอร์โมนวัยทอง โดย 2 ประการหลังเป็นเพราะผู้หญิงสัมผัสกับฮอร์โมนเอสโตรเจนมากเกินควร

"ส่วนปัจจัยที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ก็คือ 1.การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ จะช่วยให้เต้านมผลิตฮอร์โมนโปรแลคตินมาแทนที่ฮอร์โมนเพศหญิงเอสโตรเจน 2.มีบุตรคนแรกก่อนอายุ 30 ปี เพราะระหว่างตั้งครรภ์ร่างกายผู้หญิงไม่ต้องผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจน 3.ไลฟ์สไตล์ที่ดี กินอาหารที่มีประโยชน์ 4.งดเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ และ 5.ออกกำลังกาย" นพ.วิชัยให้ความรู้ทิ้งท้าย

ภายในงาน ยังได้จัดกิจกรรมรับบริจาคเส้นผมเพื่อผลิตเป็นวิกผม ก่อนนำไปมอบให้กับสถาบันมะเร็งแห่งชาติ รวมทั้งถักหมวกจากเส้นไหมจีนธรรมชาติไม่ก่อให้เกิดเอฟเฟ็กต์ เพื่อมอบให้แก่ผู้ป่วยที่เกิดผลข้างเคียงหลังจากรักษาด้วยเคมีบำบัดที่เริ่มเป็นปีแรก โดยได้รับเกียรติจาก


เซเลบริตี้ชื่อดัง "เกรซ มหาดำรงค์กุล" ตัดผมสุดรักสุดหวงร่วมบริจาคด้วย

แพทย์หญิงสมสิริบอกว่า ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมเมื่อต้องให้คีโมผมจะร่วง ทำให้เขาเกิดความรู้สึกไม่มั่นใจในตัวเอง แต่วิกผมจะช่วยให้เขามีชีวิตสดใสและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยความยาวที่เหมาะแก่การบริจาคผมต้องยาวตั้งแต่ 7-8 นิ้วขึ้นไป และต้องเป็นผมบริสุทธิ์ ไม่ผ่านการทำสี ดัด หรือแม้แต่ทำทรีตเมนท์ภายใน 6 เดือนก่อนการบริจาค เพราะอาจทำให้เกิดเอฟเฟ็กต์ต่อผู้ป่วยได้

สามารถบริจาคเส้นผมและหมวกไหมพรมได้ที่โรงพยาบาลสมิติเวช จนถึงวันที่ 31 ตุลาคม การร่วมมือเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยโรคมะเร็งเต้านมในวันนี้ จะเป็นพลังครั้งสำคัญสำหรับผู้ป่วยในการต่อสู้โรคร้ายได้

หน้า 25 มติชนรายวัน ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 18 ตุลาคม 2555

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook