เคล็ดลับการดูแลรักษา ร่างกายหลังคลอด ของคุณแม่
ภายหลังจากการคลอดบุตร ผู้หญิงต้องผ่านช่วงที่เรียกว่า ภาวะหลังคลอด (postpartum) ซึ่งในระยะนี้ ร่างกายหลังคลอด จะมีการเปลี่ยนแปลงกลับเข้าสู่ภาวะไม่ตั้งครรภ์ โดยมักจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตของคุณแม่หลัง คลอดด้วย อย่างไรก็ดี การเปลี่ยนแปลงนี้อาจแตกต่างกันออกไปในผู้หญิงแต่ละคน
เข้าใจกับการเปลี่ยนแปลงของ ร่างกายหลังคลอด
ในขณะที่ร่างกายของคุณกำลังเปลี่ยนแปลงกลับสู่ภาวะไม่ตั้งครรภ์ มักปรากฏอาการต่างๆ ดังนี้
- บาดเจ็บกล้ามเนื้อ เป็นอาการที่พบโดยทั่วไปภายหลังการคลอดบุตร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บริเวณแขน ต้นคอ และกราม
- ภาวะเลือดออกหรือมีของเหลวออกมาทางช่องคลอด อาจมีอาการตั้งแต่ 2 ถึง 4 สัปดาห์ และอาการจะค่อยๆ หายไปภายใน 2 เดือน
- มดลูกหดตัว อาจใช้เวลาประมาณ 8 สัปดาห์ที่มดลูกจะกลับเข้าสู่สภาวะเดิมก่อนการคลอด
- อาการเจ็บในช่องคลอด คุณอาจรู้สึกระคายเคือง ชา หรือเจ็บในช่องคลอด หรือหากฝีเย็บเกิดการปริแตก หรือมีการตัดขยายปากช่องคลอด คุณอาจมีอาการเจ็บปวดรุนแรงขึ้น
- เจ็บบริเวณท้องน้อย ในกรณีที่คุณผ่าท้องคลอด อาจมีอาการเจ็บปวดบริเวณแผล โดยแพทย์อาจจ่ายยาบางชนิดเพื่อบรรเทาอาการนานประมาณ 1-2 สัปดาห์
- เต้านมคัด เต้านมคัดเป็นอาการที่พบได้บ่อยทั่วไป เนื่องจากเต้านมของคุณจะเต็มไปด้วยน้ำนม 3-4 วันหลังการคลอดบุตร แต่ไม่จำเป็นต้องกังวล เพราะนี่เป็นกระบวนการตามธรรมชาติ คุณสามารถบรรเทาอาการได้ด้วยการประคบน้ำแข็ง หรือประคบร้อนบริเวณเต้านม หรือจะอาบน้ำอุ่นก็ได้เช่นกัน
- น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น มักเกิดขึ้นในผู้หญิงหลายคน และมักเกิดขึ้นร่วมกับความเปลี่ยนแปลงด้านอารมณ์ด้วย
การดูแลตัวเองหลังการคลอดบุตรควรทำอย่างไร
เพื่อช่วยให้ร่างกายกลับสู่การทำงานตามปกติ คุณอาจต้องมุ่งเป้าไปที่การเยียวยาและดูแลร่างกายตนเอง และนี่คือคำแนะนำที่คุณสามารถปฏิบัติตามได้ด้วยตนเองง่ายๆ
รับประทานอาหารที่มีประโยชน์
หลังการคลอดบุตร ร่างกายของคุณจำเป็นต้องได้รับอาหารที่มีประโยชน์เพื่อเสริมสร้างระบบฟื้นฟูในร่างกาย โดยคุณควรเพิ่มการรับประทานผัก ผลไม้ โปรตีน และธัญพืช ให้มากขึ้น
ปรึกษาแพทย์ก่อนตัดสินใจออกกำลังกาย
แพทย์จะแจ้งให้คุณทราบว่าเมื่อใดที่คุณพร้อมที่จะออกกำลังกายได้อย่างปลอดภัย
ใช้ผ้าอนามัยแบบแผ่น
เปลี่ยนการใช้ผ้าอนามัยแบบสอดมาเป็นแบบแผ่นในช่วงที่มีรอบเดือน ซึ่งอาจจะกินเวลานานเกือบสองสัปดาห์
ใช้ยาบรรเทาปวด
เพื่อลดอาการปวดท้อง คุณอาจรับประทานยาไอบูโพรเฟน หรือในกรณีที่แพทย์สั่งจ่ายยาชนิดอื่นๆ มาให้ ควรรับประทานยาที่แพทย์สั่ง
ประคบเย็นบริเวณช่องคลอด
เมื่อมีอาการเจ็บหรือบวมรอบบริเวณช่องคลอด อาจใช้น้ำแข็งประคบบริเวณที่มีอาการประมาณ 10-20 นาที และควรใช้ผ้าห่อน้ำแข็งเพื่อป้องกันผิวจากการสัมผัสน้ำแข็งโดยตรง
ทำความสะอาดร่างกายด้วยน้ำอุ่น
ควรอาบน้ำหรือทำความสะอาดร่างกายด้วยน้ำอุ่น และแนะนำให้นั่งแช่ในน้ำอุ่นสามครั้งต่อวัน หรือหลังจากถ่ายอุจจาระ
บรรเทาอาการริดสีดวงทวาร
ผู้หญิงหลังคลอดเกือบทุกคนจะมีอาการเจ็บปวดจากโรคริดสีดวงทวาร (hemorrhoids) หรือบริเวณระหว่างช่องคลอดและลำไส้ใหญ่ เพื่อบรรเทาอาการนี้ อาจใช้น้ำแข็งประคบหรือใช้แผ่นแปะที่ประกอบด้วยสารสกัดจากต้นวิชฮาเซล
บรรเทาอาการท้องผูก
ควรดื่มน้ำและของเหลวมากๆ รวมทั้งรับประทานอาหารที่มีกากใยสูง หรือในบางกรณี แพทย์อาจจ่ายยาเพื่อให้ถ่ายสะดวกขึ้น
ในรายที่มีแผลผ่าตัด
ควรงดกิจกรรมที่ใช้แรงอย่างน้อย 6 สัปดาห์หรือมากกว่า และควรใช้หมอนวางบนแผลผ่าตัดหากมีอาการไอ หรือใช้ขณะนอนหลับเพื่อบรรเทาอาการปวดแผล
สิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงหลังการคลอดบุตรมีอะไรบ้าง
คุณควรงดเว้นกิจกรรมทางเพศประมาณ 4-6 สัปดาห์หลังการคลอดบุตร หรือจนกว่าคุณจะหายดี ในกรณีที่ต้องเดินทางโดยรถยนต์เป็นระยะเวลานานๆ ควรหยุดพักรถบ่อยๆ เพื่อเปลี่ยนอิริยาบถ แต่ถ้าเป็นไปได้ควรงดเดินทางประมาณ 5-6 สัปดาห์
Hello Health Group ไม่ได้ให้คำปรึกษาด้านการแพทย์ การวินิจฉัย หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด