Be Magazine : ตุลาคม 2555

Be Magazine : ตุลาคม 2555

Be Magazine : ตุลาคม 2555
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

The Art of Contemporary Living : ศิลปะของการใช้ชีวิต

น้ำผึ้ง-ณัฐริกา ธรรมปรีดานันท์

หากใครสักคนจะเลือกมองการใช้ชีวิตตามแบบฉบับของตัวเองอย่างสุดโต่ง คือ การที่ทำอย่างไรก็ได้ให้ชีวิตที่เกิดมาคุ้มค่ามากที่สุด และมีความสุขมากที่สุด แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ได้หมายความว่า จะสามารถทำตามอำเภอใจได้ทุกอย่าง แล้วไปทำให้คนอื่นเดือดร้อน แต่หมายถึง การใช้ชีวิตอย่างมีศิลปะ ศิลปะที่ตัวเองสร้างสรรค์ขึ้นด้วยความรู้สึก และด้วยประสบการณ์ที่ผ่านผู้คนมามากมาย อย่าง น้ำผึ้ง-ณัฐริกา ธรรมปรีดานันท์ สาวติสท์ แต่วงเล็บไว้ว่า ไม่แตก คนนี้ มีแนวการใช้ชีวิตผ่านศิลปะของตัวเอง เลือกเอง และลงมือปฏิบัติเอง ท้ายสุดแล้ว ชีวิตของเธอจะประกอบไปด้วยศิลปะผสมผสาน ที่มีสีสันมากมาย พร้อมคลุกเคล้าแล้ว เป็นชีวิตอย่างที่เธอชอบ และมีความสุขที่สุดตามแบบฉบับของเธอเอง


น้ำผึ้ง ณัฐริกาน้ำผึ้ง ณัฐริกา


ระหว่างงานศิลปะที่คุณน้ำผึ้งชอบ กับงานแสดง สำหรับคุณน้ำผึ้งแล้ว มันต่างกันอย่างไร?

ต่างกันนะ งานแสดงยากกว่า แต่งานศิลปะมันเป็นตัวตนของเราจริงๆ ก็คือ ตัวแท้ๆ ของเรา แล้วมันง่าย เพราะมันเป็นตัวของเราเอง ไม่ต้องท่องสคริป ไม่ต้องเตรียมตัวอะไรเลย แล้วเราเป็นตัวเรามาตั้งนานแล้ว 30 กว่าปีแล้วที่เป็นอย่างนี้ ตั้งแต่ตอนเด็กๆ ที่เราจำได้ เราก็นั่งสเก็ตรูป เหมือนไม่เหมือนเราไม่รู้ แต่เราชอบวาด วาดเขียน ถ่ายรูป ชอบอะไรที่เป็นสีๆ เกี่ยวกับงานทำมือ ของทำมือเต็มบ้านไปหมด ซึ่งมันเป็นงานครีเอทีฟด้วย

แสดงว่ามุมมองเรื่องศิลปะของคุณน้ำผึ้งได้เปลี่ยนไป?

แต่ก่อนเราคิดว่า ภาพวาดจะอยู่แต่ในเฟรม ศิลปะมันถูกจำกัด แต่มันก็ไม่ใช่ อย่างในแกลเลอรีที่ฝรั่งเศส เขาทำก๋วยเตี๋ยวกันแล้ว คือ เขาไม่แคร์แล้วว่า มันจะอยู่ในรูปแบบของอะไร ลองย้อนกลับไปสมัยที่เรายังไม่มีกล้องถ่ายรูป คนเราในยุคนั้นจึงให้คุณค่าของรูปวาดเหมือน เลียนแบบได้เหมือนมากๆ เป็นคนที่เก่ง แต่ในขณะนั้นก็มีศิลปินอย่าง ปิกัซโซ แวนโก๊ะ ในยุคสมัยที่เขาอยู่นั้นก็ไม่ได้การยอมรับเรื่องการวาดภาพของเขา คือ เหมือนก็ไม่เหมือน แสงเงาก็ไม่ได้ หน้าคนก็มีสองด้าน ซึ่งมันคือความคิดจำกัดของคนกลุ่มหนึ่ง ซึ่งก็เยอะซะด้วยสิ พอมาสมัยนี้ มีกล้องถ่ายรูป เราสามารถทำออกมาให้เหมือนเป๊ะๆ ได้ คอนเซปต์เรื่องความเหมือนเลยเปลี่ยนไป กลายเป็นว่า คุณค่าของศิลปะมันจะอยู่ที่ไหนนอกจากความเหมือนอีก ก็เลยมาเพ่งเล็งดูถึงหัวใจของงาน ดูประวัติของคนๆ นั้น ว่าทำไมเขาถึงคิดและทำออกมาแบบนั้น เราเลยรู้ว่า งานศิลปะเราทำแล้ว เรารู้สึกกับมันหรือเปล่า

สำหรับเราแล้วมันไม่มีผิด ไม่มีถูก มันขึ้นอยู่กับว่า เราชอบศิลปะของใคร หากเราไปดูแล้ว บอกว่าไม่โดน ก็ไม่ได้แปลว่างานนั้นแย่ ซึ่งคนเรามันมีความหลากหลายและแตกต่าง ทำให้เรารู้ว่า ทุกคนสามารถแสดงเอกลักษณ์ลงในงานศิลปะของตัวเองได้ โดยไม่จำเป็นต้องเป็นแพทเทิร์นที่เหมือนกัน แพทเทิร์นที่ว่านี้อาจจะดี แต่มันทำให้ระบบความคิดสร้างสรรค์ของเราอาจจะถูกจำกัด มันไม่อิสระ แล้วเราจะไม่ได้ใช้ศักยภาพของสมอง ของความคิดสร้างสรรค์ของเรามากเท่าที่เรามีศักยภาพ แต่ก็ต้องวงเล็บไว้ว่าอยู่ในศีลธรรมทั่วไปด้วย

แต่ในขณะที่งานแสดงมันทำให้คุณน้ำผึ้งได้รู้จักศิลปะอีกอย่างคือ ศิลปะแห่งความเป็นคน จริงหรือเปล่า?

เราว่า งานแสดงละครมันทำให้เราได้รู้จักตัวเองที่แท้จริง ผ่านงานแสดง หากเราไม่ได้ทำอาชีพแสดง เราอาจจะไม่ได้เข้าใจตัวเองเลย เพราะว่ามันมีเหตุผล มันมีที่มาที่ไป เราเล่นละครต้องเปลี่ยนบท เปลี่ยนตัวแสดง เปลี่ยนคาแรกเตอร์ เปลี่ยนไปเปลี่ยนมานั้น มันทำให้เราเห็นคนแต่ละคน แต่ละแบบในโลก ที่อาจจะมากกว่า 10 แบบ แล้วเราก็รู้ว่า ตัวเราจำกัดอยู่ในจำพวกไหน เราได้เรียนรู้บุคคลผ่านบุคลิกหลายๆ อย่างผ่านตัวละครจริงๆ และในขณะที่เราใช้ศิลปะของการแสดงนั้น เราเองก็ได้เรียนรู้ผู้คนจริงๆ ว่าคนไม่ได้คิดเหมือนเรานะ มีคนคิดต่าง คิดแตกต่าง และก็มีอีกหลายคนที่คิดประเสริฐเลิศล้ำ หรูกว่าเรา ดีกว่าเราเยอะ แล้วก็มีคนที่คิดไม่ดีกับเราเยอะ ทั้งๆ ที่เราไม่ได้ทำอะไรให้เขาเลย มันมีหลายแบบมาก มันเลยทำให้เราเข้าใจเลยว่า ตัวเราเป็นคนประเภทไหน บางทีก็เล่นซ้ำคาแรกเตอร์ตัวเอง คือเราไม่รู้มาก่อนเลย จนกระทั่งเล่นๆ เสร็จ แล้วรู้ว่า เฮ้ย! นี่มันวัยเด็กของเรานี่! เราเป็นคนอย่างนี้ แล้วเราเป็นคนจำพวกนี้ แล้วเราโดนกระทำอย่างนี้ แล้วเราจะต้องทำยังไง สุดท้ายมันทำให้เราหลุดออกมาจากกรอบของการไม่รู้จักตัวเอง


น้ำผึ้ง ณัฐริกาน้ำผึ้ง ณัฐริกา


เมื่อเข้าใจบุคลิกของคนแล้ว เราจะอยู่กับคนที่หลากหลายนั้นอย่างไร?

เราจะต้องสลายอัตตา เราต้องเอาความเป็นน้ำผึ้ง ณัฐริกา ที่เป็นดารานั้นออกไป เวลาที่เราแสดงละคร เราต้องปล่อยวางอัตตาของเรา มันเป็นเหมือนภาคบังคับ เพราะไม่อย่างนั้น มันจะทำให้เราแสดงออกมาไม่ดี สำหรับเรานะ เราต้องเอาน้ำผึ้ง ณัฐริกาออกไป แล้วเอาตัวละครที่กำลังเล่นใส่เข้ามา และพยายามมีสมาธิกับตัวละครตัวนั้น อย่างตอนที่เราเล่นเป็นตัวร้าย ถ้าเป็นตัวจริงของเรา เราก็คิดแล้วว่า เราทำทำไม มันไม่ใช่เหตุผล เราไม่ควรจะไปทำร้ายคนอื่น แต่ในตัวของตัวร้าย เขามีเหตุผล ว่าเขาอยากได้อันนี้ เราต้องเอามโนธรรม ผิดชอบชั่วดี ออกไปให้หมด จะดีหรือร้าย เราต้องเป็นตัวละครตัวนั้น เพราะตัวละครนั้นถูกกระทำมา เขาอาจจะแค้นโลก อาจจะไม่เหมือนเรา แต่เขาก็ไม่ผิดที่ทำ เขามีเหตุผลของเขา อีกอย่างในวงการการแสดง พอเราอัตตาต่ำๆ มันก็จะชินที่จะทำงานกันเป็นกลุ่ม พอเราเอาความเป็นดาราของเราออกไปแล้ว เราก็จะไม่มีอาการแบบแบ่งศักดินาใคร เช่น คนนี้เป็นคนเสิร์ฟน้ำ เราต้องทำท่าอะไรใส่เขา

ในเมื่อเราตำแหน่งสูงกว่า คือ เปรียบตามลำดับชั้นในสังคมทั่วไปนะ มันทำให้เราไม่มีสิ่งเหล่านั้น ทำให้เรามองว่า ใครก็เป็นเพื่อนไปหมด ใครแก่กว่าก็ยกมือไหว้หมด ซึ่งมันทำให้คนที่ทำงานร่วมกับเรา รู้สึกถึงการทำงานเป็นทีม เหมือนกับว่า ใครจะรวยจะจนมาจากไหนไม่รู้ พอคุณมาทำงานละครแล้ว คุณต้องทำงานเป็นทีม พอเป็นทีมมันก็ทำให้เกิดความมหัศจรรย์ของความสวยงามของงานละคร มันจะทำให้เกิดความสนุกตั้งแต่ตอนถ่ายละคร และไม่ได้ถ่ายละคร เพราะเราจะรู้สึกเหมือนว่า เราไม่ได้มาทำงาน เหมือนเราอยู่กับเพื่อน แล้วเพื่อนก็มีหลายแบบ จะมาจากไหน รวยจน เราก็คือเพื่อนกัน นั่นคือประเด็น เราหวังดีกัน เราให้อภัยกัน แล้วเป้าหมายของเราคือ การทำงานให้ออกมาให้ดีที่สุด แล้วละครจะออกมาไม่ดีได้ยังไง

สิ่งสำคัญที่สุดของการสลายอัตตา ทำให้เกิดอะไรขึ้น?

พอเราเริ่มสลายอัตตาได้ เราก็รู้สึกว่า ในคนจนมันจะมีทั้งคนดีและคนไม่ดีปนกันอยู่ บางคนที่รวยมากๆ แล้วบวกเก่งด้วย แล้วยังมองไปถึงการช่วยเหลือคนจนจริงๆ เรามองว่า บุคคลเหล่านี้คือคนที่น่ากราบไหว้ สำหรับเรานะ เราคิดว่าฐานะไม่ได้บอกอะไรเลย ทำให้ปัญหาศักดินา ชนชั้นสำหรับเราก็เลยหายไป เรามองเหนือกว่านั้น มองไปทีจิตใจ ศักดินาของเราจะอยู่ที่จิตใจของคนๆ นั้นดีหรือเปล่า ถ้าดีก็ดี ถ้าไม่ดีก็ไม่ใช่ว่าเลว แต่เป็นคนละจำพวกกัน หากเราเลือกที่จะคบคนให้ถูกประเภท ชีวิตของเราก็จะง่ายขึ้น เพราะเราจะคุยภาษาเดียวกัน เราจะมีจริยธรรมในลำดับเท่าๆ กัน ไม่มากไม่น้อย แล้วมันก็จะทำให้เราถูกหลอกยากขึ้น ตัวเราเองอาจจะไม่ได้เป็นคนที่มองโลกดีร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่การเติบโต ชีวิต ศิลปะ การแสดง ทุกอย่างที่เข้ามาในชีวิตไม่ว่าดีหรือร้ายก็ตาม มันทำให้เราตกตะกอน แล้วเริ่มอยู่กับโลกความจริงเป็น แล้วชีวิตมันมีความสุขมากขึ้น ซึ่งมีคนหนึ่งที่ช่วยปลดล็อคในเรื่องอัตตา เรื่องความดีความเลว ให้เราก็คือ คุณบุ๋ม-ปนัดดา วงศ์ผู้ดี ที่จะบอกให้เรามองคนเป็นสีเทาๆ เพราะตัวเรายังเป็นสีเทาเลย เราไม่ได้ดีเลิศสุด บางวันเราก็ทำไม่ดี เพราฉะนั้นเมื่อเรามองคนเป็นสีเทาแล้วมันจะไม่มีการตัดสินคนอื่น สิ่งที่เขาทำนั้นก็เป็นไปตามเหตุ ตามปัจจัย ตามสิ่งที่เขาได้รับมา แล้วมันก็จะไม่มีความขุ่นในใจ

แต่แล้ววันหนึ่ง สิ่งที่คิด สิ่งเห็น มันไม่ได้เป็นความจริง คุณน้ำผึ้งจะมองเรื่องนี้ยังไง?

เราว่ามันเป็นความก้าวผ่านระหว่างเด็ก กับ ผู้ใหญ่ ตอนที่เราเป็นเด็ก เราก็อดจินตนาการเองไม่ได้ เพราะเรายังไม่ได้ผ่านประสบการณ์ อย่างคำที่ว่า บางทีอย่าประมาทคนที่แก่กว่า เก๋ากว่า จริงๆ พอเราไม่ผ่านประสบการณ์ เราก็ได้แต่สมมุติฐานว่า โลกมันอาจจะเป็นอย่างนี้นะ แล้วเราก็เชื่อในสมมุติฐานของตัวเอง แต่พอโลกได้สั่งสอน โลกได้ให้เราผ่านประสบการณ์มากมายหลายอย่าง อาจจะดีบ้าง ไม่ดีบ้างก็ปนกันไป ผสมกันไป ทั้งดีใจเสียใจก็ปนกันไป แล้วมันก็ทำให้เรามองเห็นโลกตามความเป็นจริงมากขึ้น ไม่ไปวิจารณ์โลก แต่เราจะอยู่กับมันให้ได้อย่างมีความสุข นั่นคือประเด็นใหม่ของเรา


น้ำผึ้ง ณัฐริกาน้ำผึ้ง ณัฐริกา


หากทุกวันนี้เรามีเรื่องให้ขบคิด แล้วมีผลกระทบต่อจิตใจของเรา คุณน้ำผึ้งใช้วิธีอะไรผ่านมัน?

ไปเล่นละครเดี๋ยวก็หายค่ะ (หัวเราะ) แล้วก็ใช้ศิลปะเยียวยา มันบำบัด มันทำให้เราได้อยู่กับปัจจุบัน บางทีก็ใช้โยคะ อย่างน้อยมันจะช่วยให้เราออกจากอดีตที่เราเพิ่งเจอมาได้ แล้วก็มาอยู่กับปัจจุบันอีกทีหนึ่ง มันเรียกว่า กุศโลบายมากกว่า เพราะว่า คนเราคิดได้ทีละเรื่อง เราต้องใช้วิชาชั่งหัวมัน มันใช้ได้ดีเสมอ และต้องใช้วิชาธรรมะเข้าช่วยด้วย

จริงหรือเปล่าที่คุณน้ำผึ้งค้นพบตัวเอง เพราะการได้ลองใช้ชีวิตในต่างจังหวัด?

คงเป็นช่วงที่สำคัญของชีวิตมากกว่า คือ ทำให้เราได้เข้าใจโลกใบนี้มากขึ้น เราได้ลองไปทำสวน ทำไร่ สร้างบ้านเองอยู่ที่เชียงใหม่ ตั้งแต่ยังไม่มีเสาไฟฟ้าเลย ด้วยความที่เราเป็นคนชอบเดินทางอยู่แล้ว พอยิ่งโตก็ยิ่งเข้มข้นขึ้น ก็เลยอยากไปดูโลกภายนอกจริงๆ แล้วหากเราต้องสร้างบ้านเองสักหลัง จะตายไหม? เราเคยอยู่แต่ในที่ที่ดีๆ เราก็คิดว่า เท่านั้นมันไม่พอ อาจเป็นเพราะเรามีสัญชาตญาณการค้นหาตัวเองสูงมากก็ได้นะ หรือที่เขาเรียกว่า ติสท์ แต่วงเล็บว่า ไม่แตกนะ อย่ามาใส่ (หัวเราะ) คือเราอยากรู้จริงๆ ไม่อยากรู้จากปากคนอื่น แล้วเราเป็นคนที่ไม่ค่อยกลัว ซึ่งช่วงที่เราทำนั้นก็สนุกดี ก็ได้เห็นความหลากหลายรูปแบบของคน และระยะเวลาที่เราไปอยู่ที่นั่นก็เป็นปี

ตอนนั้นเราจัดการเองหมดเลย แล้วก็ตัดผมสั้นด้วย ช่วงนั้นต้องลุย ต้องแมน ต้องคุมคนงาน แบบว่าไม่กลัวแดดเลย แล้วสักพักหนึ่งก็รู้สึกว่า ตัวเองดำมาก (หัวเราะ) แล้วก็ดูกระจก ก็ตกใจว่า เฮ้ย! สง่าราศีเราหายไปไหนหมด ออร่าหายหมดเลย ดำปี๋เลย แต่ก็เท่ไปอีกแบบนะ เราอยากให้ดูแมน แต่หน้าตาของเราแมวยังไม่กลัวเลย (หัวเราะ) เออ...บางทีเราก็คิดไปเองนะว่า เราทำหน้าดุแล้วนะ เราร้ายกาจแล้วนะ แต่มันก็ไม่ได้ร้ายอะไรเลย จนมันทำให้เราได้รู้ว่า สิ่งที่เราคิดว่าเราเป็น กับสิ่งที่เราเป็นจริงๆ บางทีมันก็ไม่เหมือนกันอีก


น้ำผึ้ง ณัฐริกาน้ำผึ้ง ณัฐริกา


ที่เชียงใหม่ ได้สอนอะไรให้คุณน้ำผึ้งบ้าง?

สอนให้เราเติบโต และเป็นแหล่งเรียนรู้ที่สอนตัวเราเอง ทำให้เราเข้าใจว่า คนหน้าตาเหมือนเรา แต่ไม่ได้คิดเหมือนเรา 100% คนมีหลายประเภท แล้วให้เราจัดการกับคนแต่ละประเภท แต่ละแบบด้วย คือเราเรียนรู้ที่จะตงฉิน มีอะไรพูด! สู้! แต่ในความเป็นจริงแล้วเราต้องมีกุศโลบายในการอยู่บนโลกมากกว่าตงฉิน เพราะคนตรงๆ บางทีก็อยู่ลำบาก แล้วบางทีก็ไม่ดีด้วย เพราะแลดูปากเสีย แล้วอาจจะดูร้ายกาจกับคนอื่น เวลาที่พูดตรงๆ หลายอย่างก็กลายเป็นไม่มีมารยาทนะ ความตรงที่มีของเราก็ต้องเบาๆ ลง เบรคๆ ไว้บ้าง

แล้วชีวิตที่เชียงใหม่ กับ ชีวิตในเมืองอย่างนี้ มันแตกต่างกันมากไหม
โอ้โห! มันต่างกัน 100% คือ พอเราอยู่ในเมือง เราก็ต้องคบค้าสมาคมกับเพื่อนๆ เพื่อนเก่าเราก็เป็นมหาเศรษฐีกันหมดแล้ว ซึ่งเราเองก็ต้องปรับตัวตามสภาพ ให้ดูหรูหราไปตามสังคม เล่นไปตามเกม แล้วพอเรากลับไปอยู่เชียงใหม่ เราก็ต้องทำตัวติดดินเว่อร์ เพื่อที่จะเข้าไปอยู่ในสังคมของชาวบ้าน โดยที่แบบกลมกลืนกับเขา โชคดีที่เรามีวิชาการแสดง ไม่ใช่ว่าเราแสดงใส่แบบไม่จริงใจนะ คือ เราแสดงแบบบวก การแสดงเชิงสร้างสรรค์ มันทำให้เรามีชีวิตรอดอยู่บนโลกได้อย่างสวยงาม มันคือการปรับตามสภาพ มันคือกลยุทธ์ของการอยู่กับเพื่อนหลายๆ กลุ่มที่มีบุคลิกแตกต่างกัน ออกไปได้อย่างกลมกลืนและมีความสุขด้วย

คุณน้ำผึ้งเลือกที่จะใช้ชีวิตแบบไหน ระหว่างต่างจังหวัดกับเมือง?

เชื่อไหมว่า พฤติกรรมที่สุดขั้วของเรา เราก็ทดลองมาหมดแล้ว แล้วเราก็ได้รู้ว่า บางทีเราไม่ต้องเลือก ชีวิตไม่ต้องเลือกเสมอไป เราอยู่กับมัน เพราะถ้าเราเลือก เหมือนเราไปพยายามทำมันตลอดเวลา แค่เราอยู่กับปัจจุบันตลอดทุกขณะ มันจะพาเราไปเอง ตอนที่เราตัดสินใจไปอยู่ที่ต่างจังหวัด ที่ไปทำไร่ ตอนนั้นก็แอบคิดนะว่า จะอยู่ตลอดไปเลย เพราะเราอยู่แต่แบบหรูๆ รวยๆ มา ทำให้เราเห็นว่า ไม่ใช่อันนี้ดำ อันนั้นขาว มันก็เทาๆ เหมือนกันหมด แล้วยังเดินทางไปต่างประเทศอีก ทำให้เราเห็นความสุดขั้วของมันอยู่ตลอดเวลา แล้วเราก็เลยมาคิดขึ้นได้ว่า โลกเราไม่มีดำ ไม่มีขาว จริงๆ เพราะฉะนั้นก็แค่เลือกที่จะปรับเปลี่ยนไปเรื่อยๆ เพราะเมื่อเราวางแผน มันมักไม่เป็นไปตามแผนเอาเสียเลย อ้าว! แล้วอย่างนั้นเราจะไปคิด ไปวางแผนให้มันเสียเวลาทำไม ในเมื่อมันจะไม่เป็นอยู่แล้ว เราต้องใช้วินาทีนี้ให้มีสติมากที่สุด อันนี้จะเป็นคาถาป้องกันเราได้เอง ในเมื่อสุดท้ายเราก็ต้องตายอยู่แล้ว จะวางแผนยังไงก็ต้องตาย นี่คือ คิดถึงอนาคตนะ ก็แค่ใช้ชีวิตให้มีความสุข ถ้าไม่ทำให้คนอื่นเดือดร้อน ก็จบ!

แล้วอะไรที่ทำให้คุณน้ำผึ้งเปลี่ยนแปลงตัวเองได้มากมายขนาดนี้?

สำหรับเรา เราวงเล็บไว้ว่า ตัวเรามีชีวิตที่ค่อนข้างสุดขั้ว วงเล็บว่า มันอาจจะไม่ใช่แบบอย่างที่ดีที่สุด เพราะว่ามันต้องแข็งแกร่งจริงๆ มันต้องสุดๆ จริงๆ ถึงจะเป็นอย่างเราได้ มันเสี่ยง แต่เราก็ไม่ตาย อีกอย่างเราได้คำสอนที่เลิศประเสริฐจากคุณแม่ท่านที่สองคือ พี่สาวทั้งสองของเราเอง พี่สาวคนแรก สอนให้เราเป็นคนที่มีน้ำใจ ไม่มองตัวเองเหนือกว่าคนอื่น ซึ่งมันทำให้เราไม่หลงลอยไปง่ายๆ เหมือนเดิม เราจะเห็นคนอื่นเป็นมนุษย์เหมือนกับเรา แล้วเราก็จะมีเพื่อนเยอะมาก เพราะว่าเมื่อเรามีน้ำใจให้เขา เขาก็จะมีน้ำใจตอบกลับมา ซึ่งเป็นคำสอนที่เจ๋งมากๆ ส่วนอีกคำสอนที่เจ๋งสุดยอดเหมือนกันจากพี่สาวอีกคนก็คือ คำเตือนที่บอกกับเราว่า "ความสวยไม่จีรัง ความงั่งสิถาวร" เขาก็สอนเราตลอดเลยในเรื่องนี้ คนเราสวยได้นะ แต่ความสามารถจะต้องไม่ด้อยไปกว่าความสวย คือ ต้องสวย มีความสามารถ และมีน้ำใจ มันจะทำให้ชีวิตเรามีความสุข พอวันหนึ่งที่เราแก่ เราเลิกสวยแล้ว เราก็ยังมีมิตรภาพที่ดีไปตลอดชีวิตนะ เรามีน้ำใจและมีความสามารถ ความสามารถมันจะทำให้เราหาเลี้ยงตัวเองได้ตลอดไป พี่สาวคนที่สองก็เลย ฝึกเรื่องความสามารถตรงนี้ก่อนที่จะไปเน้นเรื่องความสวย ให้เราฝึกทักษะทุกอย่างก่อนเลย จนทำให้เรารู้ว่า ความสามารถที่เราพอมีนั้น ก็มาจากสิ่งที่พี่สาวเราสอน สวยอย่างเดียวไปไม่รอดใน พ.ศ.นี้นะ


น้ำผึ้ง ณัฐริกาน้ำผึ้ง ณัฐริกา


คุณน้ำผึ้งคิดว่าจะใช้ชีวิตในวัยชราให้ออกมาเป็นรูปแบบไหน?

ถ้าจินตนาการเล่นๆ นะ แต่ความเป็นจริงไม่แน่นะ คือเราอยากเป็นคนแก่ที่ยิ่งแก่ ยิ่งฉลาดขึ้น อันนั้นเป็นเป้าหมายของเรา ฉลาดในความหมายของเราก็คือ ฉลาดกับการใช้ชีวิตอย่างมีความสุขให้มากขึ้น นี่คือสิ่งที่เราต้องการ ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบไหนก็ตาม ไม่ว่าเราจะไปจบที่เรารวยหรือจนก็ตาม เราว่ามันไม่ใช่สิ่งสำคัญเท่ากับการที่เราใช้เวลาในชีวิตเรา เทียบวินาทีต่อวินาที เรามีความสุขมากแค่ไหน เพราะเราคิดว่า อันนั้นแหละคือผลสรุปรวมของชีวิตว่า ชีวิตเกิดมาคุ้มไหม ถ้าชีวิตเกิดมาแล้วไม่มีความสุขสักวินาที แล้วจะเกิดมาเพื่ออะไร สำหรับเราแล้ว "ความสุข" มันคือประเด็นสำคัญมากกว่า

น้ำผึ้ง-ณัฐริกา ธรรมปรีดานันท์ ให้คำนิยามของตัวเองว่าอย่างไร?

ชีวิตเราคืองานศิลปะของพระเจ้า มันเหมือนพระเจ้าใส่ศิลปะในชีวิต มันเป็นศิลปะผสม มันเป็น Contemporary Art ระหว่างสิ่งที่เราได้มาในชีวิตคือ พระเจ้าหว่านเมล็ดพันธุ์ให้หนึ่งดอก แล้วเราเลือกที่จะตัดสินใจเอง และควบคุมชีวิต ก็คือเป็นงานศิลปะผสม

"การแสดงเชิงสร้างสรรค์ มันทำให้เรามีชีวิตรอดอยู่บนโลกได้อย่างสวยงาม มันคือ กลยุทธ์ของการอยู่กับเพื่อนหลายๆ กลุ่มที่มีบุคลิกแตกต่างกันออกไปได้อย่างกลมกลืนและมีความสุข"

"คำสอนที่เจ๋งสุดยอดจากพี่สาวก็คือ คำเตือนที่บอกกับเราว่า ความสวยไม่จีรัง ความงั่งสิถาวร เราสวยได้ แต่ต้องมีความสามารถ และมีน้ำใจ ชีวิตจะมีความสุข"

อัลบั้มภาพ 9 ภาพ

อัลบั้มภาพ 9 ภาพ ของ Be Magazine : ตุลาคม 2555

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook