มะเร็งปากมดลูก... เอาอยู่!

มะเร็งปากมดลูก... เอาอยู่!

มะเร็งปากมดลูก... เอาอยู่!
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

"หนูรู้หรือยังลูก ว่าแม่เป็นมะเร็งปากมดลูก" คุณแม่คนเก่งพูดขึ้นมาท่ามกลางวงครอบครัวที่กำลังดูละครหัวค่ำ "แหม...ดราม่าอะไรกันคุณแม่ หนูทราบแล้วล่ะ อีกอย่าง คุณหมอก็บอกว่า ตรวจเจอเบาๆ แต่ยังไม่ลุกลาม ยังไงก็มีโอกาสหาย" ฉันรีบตอบก่อนที่คุณแม่คนเก่งจะเครียดไปมากกว่านี้ หลังพูดจบคุณแม่ก็พูดขึ้นมาว่า "โถ่! ตั้งใจจะอ้อนลูกสาวเสียหน่อย ดันรู้ทัน!" แล้วก็หัวเราะอย่างสบายอารมณ์ ที่แท้คุณเธอรู้รายละเอียดทุกอย่างแล้ว และคนแกร่งอย่างเธอ ไฉนเลยจะดราม่าง่ายขนาดนี้ ว่าแล้วก็กอดคุณแม่แน่นๆ ให้ชื่นใจเสียหน่อย


มะเร็งปากมดลูกมะเร็งปากมดลูก


ความเข้าใจเกี่ยวกับมะเร็งปากมดลูก

มะเร็งปากมดลูก อาจจะไม่น่ากลัวมากไปกว่ามะเร็งชนิดอื่นๆ แม้ว่ามะเร็งชนิดนี้จะคร่าชีวิตผู้หญิงไทยไปเยอะ นั่นเพราะว่า กว่าจะรู้ว่าเป็นมะเร็งปากมดลูก ก็เข้าขั้นลุกลามไปแล้ว แต่โอกาสของการหายก็มีมาก หากเรารู้ก่อน และตรวจเจอเจ้าเชื้อไวรัส ที่ชื่อว่า "ฮิวแมนแปปปิโลมา" หรือ HPV นี้ก่อน ซึ่งเจ้าไวรัสชนิดนี้ เป็นตัวที่กระตุ้นปากมดลูกให้กลายเป็นมะเร็งสุดๆ นั่นเอง โดยสาเหตุที่ติดไวรัสชนิดนี้ หลักๆ ก็หนีไม่พ้นเรื่องของการมีเพศสัมพันธ์ กรณีที่เปลี่ยนคู่นอนบ่อย มีเพศสัมพันธ์เมื่ออายุยังน้อยกว่า 17 ปี ซึ่งเป็นช่วงที่มีการกลายรูปของเซลล์ เคยเป็นซิฟิลิส หนองใน หรือ เป็นหูดหงอนไก่ ไม่ยอมไปตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก หรือ เขินอายกับการไปตรวจภายใน การรับประทานยาคุมกำเนิดเป็นเวลานานๆ ถ้านานกว่า 5 ปี และ 10 ปี ก็มีความเสี่ยงสูงขึ้น 1.3 เท่า และ 2.5 เท่า ตามลำดับ เช่นกัน

โดยเฉพาะวัยทำงานอย่างเราๆ จำเป็นมากเลย กับการที่จะไปตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก ต้องไปตรวจแม้ว่าจะเคยมีเพศสัมพันธ์หรือไม่ก็ตาม พอถึงเวลาหนึ่งก็ควรไปตรวจไว้จะดีที่สุด ซึ่งไม่เกี่ยวกับความถี่ของการมีเพศสัมพันธ์ แม้จะฟีทเจอริ่งกันไม่บ่อย ก็มีโอกาสเป็นได้ทั้งนั้น ซึ่ง เราต้องไปตรวจอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง หรือ ทุกๆ 6 เดือนได้ยิ่งดี ในกรณีที่เราไปตรวจแล้ว รู้ผลของการตรวจแล้วว่า อาจจะติดเชื้อ HPV หรืออะไรก็ตามที่อาจจะเกี่ยวข้อง เรารู้เร็ว ซึ่งมันเป็นเพียงระยะก่อนลุกลาม คือ ยังไม่ลามไปยังส่วนอื่นๆ ลดการเสี่ยงมะเร็งลุกลามเข้าไปช่องท้อง และต่อมน้ำเหลือง ในส่วนระยะก่อนลุกลามนี้ เราจะสามารถปรึกษาคุณหมอได้เลยว่า เราจะกำจัดจุดอ่อนนี้ได้ด้วยวิธีไหนได้บ้าง เช่น ผ่าตัด ฝังแร่ ฉายแสง หรือวิธีอื่นๆ ที่เห็นตามความเหมาะสมและสมควร ตามคำวินิจฉัยของคุณหมอ

มะเร็งปากมดลูกมะเร็งปากมดลูก

สำหรับเรื่องของการรักษานั้น หลายคนเป็นกังวลไปต่างๆ นานา แน่นอนว่า เมื่อรู้จักคำว่า "มะเร็ง" เป็นใคร ใครก็ตกใจเป็นเรื่องธรรมดา แต่ให้หายใจลึกๆ ตั้งสติให้มั่น แล้วตั้งมั่นกับคำว่า "สู้" อย่าไปเครียด อย่าไปสรรหายาผีบอกที่ไหนมากินเอง เพราะอาจจะส่งผลให้เจ้าเชื้อไวรัส หรือ มะเร็งตัวนี้ มันมีอารมณ์โกรธแล้วเพิ่มขนาดของมันก็เป็นได้ ทางที่ดีให้รับฟังคำแนะนำจากคุณหมอเจ้าของไข้ของเราจะดีที่สุด

อีกเรื่องที่สำคัญ และเป็นกังวลสำหรับหลายๆ คน คือ เรื่องของการรักษาพยาบาล เรื่องของค่าใช้จ่ายต่างๆ สำหรับคนที่มีสิทธิบัตรทอง 30 บาท หรือ มีบัตรประกันสังคม สามารถเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยวิธีแป๊ปสเมียร์ได้ฟรี* ซึ่งสามารถรับการตรวจได้ตั้งแต่ผู้หญิงที่มีอายุตั้งแต่ 35-60 ปี ผู้หญิงหลังคลอดลูก 6 เดือน หรือหญิงสาวที่สมัครใจเข้ารับการตรวจ ซึ่งไม่เคยเข้ารับการตรวจคัดกรองมาก่อน

นอกจากนี้ในกรณีที่รู้ผลว่าเป็น สำหรับคนที่มี สิทธิบัตรทอง ก็สามารถเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลที่ตัวเองมีสิทธิรักษาได้เลย หรือ ในกรณีที่ทางโรงพยาบาลต้นสังกัดออกหนังสือส่งตัวเพื่อเข้ารับการรักษาต่อในโรงพยาบาลที่มีศักยภาพสูงกว่า อาทิ โรงพยาบาลของรัฐบาล ก็จะไม่เสียค่าใช้จ่าย แต่ว่าจะต้องดำเนินการเรื่องเอกสารต่างๆ ทั้งเรื่องการพิจารณาจากทางโรงพยาบาลของรัฐบาล และโรงพยาบาลต้นสังกัด และอาจจะต้องรอคิวรักษาสักหน่อย เนื่องจากมีผู้เข้ารับการรักษาจากทั่วประเทศเป็นจำนวนมาก ส่วนคนที่มี สิทธิประกันสังคม* อยู่นั้น ระบบการส่งต่อก็จะคล้ายกันกับสิทธิบัตรทอง ในส่วนนี้เราอาจจะคลายความกังวลใจเรื่องค่ารักษาโรคมะเร็งได้ระดับหนึ่ง

ทั้งหมดที่เล่าให้ฟังนี้ ฉันเองก็เล่าให้คุณแม่ฟัง พร้อมได้รับคำแนะนำจากคุณหมอเพิ่มเติมมาว่า เรื่องอาหารการกิน ก็สามารถกินได้ตามปกติ อาจจะเน้น "โปรตีน" ที่จะช่วยซ่อมสร้างได้ อาทิ เนื้อไก่ ไข่ขาว ปลาและเต้าหู้ และหันไปหาหลานสาวที่เพิ่งแตกเนื้อสาวไม่นานบอกว่า "ให้คุณแม่ของเธอ พาไปฉีดวัคซีนตั้งแต่ช่วงอายุ 10 - 12 ปี เพื่อป้องกันการเป็นมะเร็งปากมดลูกในอนาคตจะดีที่สุด เพราะป้าๆ ได้ผ่านช่วงนาทีทองนี้มานานมาก ถึงมากที่สุดแล้ว" 

*หมายเหตุ :

- สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดให้บริการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยวิธีแป๊ปสเมียร์แก่สตรีทั่วประเทศฟรี แต่ในปีนี้ได้หมดโครงการไปแล้ว เมื่อสิ้นเดือนกันยายน 2555 ที่ผ่านมา ซึ่งสามารถติดตามข่าวสารในเรื่องดังกล่าวได้ที่ www.nhso.go.th หรือติดต่อสอบถามได้ที่โทร. 1330

- สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานประกันสังคมแห่งชาติ โทร. 1506

ข้อมูล

นพ.กฤษดา ศิรามพุช ผอ.ศูนย์เวชศาสตร์อายุรวัฒน์นานาชาติ
ราชวิทยาลัยสูตินารีแพทย์แห่งประเทศ www.rtcog.or.th

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook