มลพิษทางอากาศ ทำร้ายสุขภาพเด็ก ได้อย่างไรบ้าง
เด็ก เป็นวัยที่เสี่ยงต่อมลพิษทางอากาศมากกว่า เนื่องจากปอดของเด็กกำลังเติบโตและหายใจรับอากาศเข้าไปมาก โดยมีงานวิจัยหลายงานวิจัยที่ชี้ถึงปัญหาสุขภาพของเด็ก ที่เกิดจากมลพิษทางอากาศ มาดูกันว่า มลพิษทางอากาศ ทำร้ายสุขภาพเด็ก ได้อย่างไรบ้าง
มลพิษทางอากาศ ส่งผลต่อสุขภาพเด็กอย่างไร
มลพิษทางอากาศส่งผลต่อการทำงานของปอด
มีงานวิจัยที่ศึกษากลุ่มเด็กอายุ 8 ขวบที่อยู่ในบริเวณที่มีมลพิษทางอากาศสูงกว่า คืออาศัยอยู่ภายในบริเวณ 100 เมตรจากถนนสายสำคัญ ที่จะมีมลพิษทางอากาศได้แก่ ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 และเขม่า (คาร์บอนสีดำ) ผลการวิจัยพบว่าเด็กกลุ่มนี้มีการทำงานของปอดแย่กว่า เมื่อเทียบกับกลุ่มเด็กที่อยู่ในบริเวณที่มีมลพิษทางอากาศน้อยกว่า ที่อาศัยอยู่ห่างจากถนนสายสำคัญออกไป 400 เมตรหรือมากกว่า
มลพิษทางอากาศกับการคลอดก่อนกำหนด
งานวิจัยหลายงานวิจัยพบว่า มลพิษทางอากาศส่งผลต่อเด็กขณะที่พวกเขาอยู่ในครรภ์ โดยงานวิจัยจากแคลิฟอร์เนียพบว่า ระดับมลพิษทางอากาศที่สูงกว่า สามารถเพิ่มความเสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนด และงานวิจัยจากบอสตันก็ให้ข้อมูลคล้ายกันว่า ผู้หญิงตั้งครรภ์ที่ได้รับมลพิษจากฝุ่นละอองในระดับต่ำ มีความเสี่ยงสูงต่อการคลอดก่อนกำหนด นอกจากนี้งานวิจัยจากประเทศออสเตรเลียยังพบว่า การคลอดก่อนกำหนดเกิดขึ้นบ่อยมากขึ้นในเวลาที่เกิดมลพิษ
ผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของปอด
สถาบัน The Southern California Children's Health ศึกษาผลกระทบในระยะยาวของมลพิษทางอากาศต่อสุขภาพของวัยรุ่น โดยได้ติดตามเด็กจำนวน 1,759 คน ที่มีอายุระหว่าง 10-18 ปีที่เกิดในปี 1993-2001 ผลการวิจัยพบว่า เด็กที่เติบโตในพื้นที่ที่มีมลพิษทางอากาศมากกว่า จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการลดลงของเจริญเติบโตของปอด ซึ่งปอดอาจไม่สามารถกลับคืนสภาพเดิมได้เต็มประสิทธิภาพ และการทำงานของปอดที่ลดลงโดยเฉลี่ยนั้น คล้ายกับผลกระทบของการเติบโตขึ้นในบ้านที่มีผู้ปกครองที่สูบบุหรี่
ผลกระทบอื่นๆ ต่อสุขภาพเด็ก
- ปอดของเด็กยังคงพัฒนา และมลพิษทางอากาศสามารถส่งผลกระทบต่อการพัฒนาได้
- สมองของเด็กๆ ยังคงพัฒนา และสารพิษต่อประสาทในมลพิษทางอากาศ สามารถส่งผลกระทบต่อพัฒนาการทางด้านความรู้ความเข้าใจของเด็ก
- เด็กๆ หายใจเอาอากาศเข้าร่างกาย ต่อหน่วยของน้ำหนักตัวมากกว่าผู้ใหญ่
- เด็กยังมีความสามารถในการขับสารพิษออกจากร่างกายน้อยกว่าวัยผู้ใหญ่
ป้องกันสุขภาพของเด็กๆ จากมลพิษทางอากาศ
- ไม่ควรสูบบุหรี่ในอาคาร หรือบริเวณที่มีเด็ก
- ควรหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมกลางแจ้ง เช่น พาเด็กไปที่สนามเด็กเล่น
- หากต้องออกไปนอกอาคาร หรือไปในบริเวณที่มีมลพิษทางอากาศสูง ควรให้เด็กสวมหน้ากากอนามัย ที่สามารถป้องกันฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5
- หากเด็กๆ ต้องเดินข้ามถนน หรือเผชิญกับการจราจรที่ติดขัด ควรอุ้มเด็กไว้ เพื่อให้อยู่ห่างจากมลพิษบนท้องถนน เช่น ควันจากท่อไอเสีย
- รักษาสุขภาพให้เด็กแข็งแรงอยู่เสมอ โดยให้เด็กออกกำลังกายเป็นประจำ และกินอาหารที่มีประโยชน์ เพื่อลดความเสี่ยงในการเป็นโรคต่างๆ
- เฝ้าดูระดับมลพิษทางอากาศในบริเวณที่คุณอาศัยอยู่ หากเป็นช่วงที่มลพิษทางอากาศสูง ควรให้เด็กอยู่ในบ้าน
- ทำอาหารในพื้นที่ที่ระบายอากาศได้ดี หรือในห้องครัวควรมีพัดลมระบายอากาศ
- หยุดการเผาทำลายขยะ และควรกำจัดขยะอย่างถูกวิธี หรืออาจนำไปรีไซเคิล
Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด