ปานเขียวที่ก้นในเด็กทารกแรกเกิด เกิดจากสาเหตุอะไร อายุเท่าไหร่ถึงจะหาย
เคยสงสัยไหมคะว่าปานเขียวที่ก้นลูกคืออะไร ทำไมเด็กเกิดมาจะต้องมีปานนี้ด้วย เคยได้ยินเด็กบางคนถูกเรียกว่า "ดำตูดหมึก" ไม่คิดว่าลูกจะมีปานดำๆ เขียวๆ ที่ก้นกับเขาด้วยเหมือนกัน แล้วอย่างนี้จะทำให้ลูกหมดความมั่นใจเมื่อโตขึ้นหรือไม่ คุณพ่อคุณแม่ที่กังวลกับเรื่องนี้ มารู้จักกับปานนี้กันค่ะ
รู้จักกับปานเขียวในเด็กแรกเกิด
ปานเขียว หรือที่เรียกว่า ปานมองโกเลียน (Mongolian spot) มีลักษณะเป็นผื่นราบสีเขียว ฟ้าเทา หรือ ฟ้าเข้ม พบได้บ่อยบริเวณก้นและสะโพก แต่อาจปรากฎที่บริเวณอื่นใดของร่างกายก็ได้ เช่น แขน ขา หลัง ไหล่ หนังศีรษะ ลำตัว เป็นต้น ปานมองโกเลียนมักพบในเด็กที่มีเชื้อชาติเอเชีย และแอฟริกา แต่อย่างไรก็ตาม ปานนี้จะค่อยๆ จางลง และหายไปเมื่อเข้าสู่วัยเด็ก
สาเหตุการเกิด ปานเขียว
ไม่เป็นที่ทราบแน่ชัดว่าปานมองโกเลียน มีสาเหตุเกิดจากอะไร เพราะเด็กเอเชียบางคนก็มี บางคนก็ไม่มี และไม่สามารถป้องกันได้ แต่คาดว่า อาจเกิดจากการเคลื่อนตัวของเซลล์ dermal melanocyte ในชั้นผิวหนังของทารก ที่ควรจะเคลื่อนตัวไปยังผิวหนังชั้นแรก ในช่วงระหว่างสัปดาห์ที่ 11 – 14 ของการตั้งครรภ์ และหายไปเมื่อถึงอายุครรภ์ 20 สัปดาห์ แต่เซลล์นี้อยู่ลึกเกินไป เลยทำให้เม็ดสีของผิวหนังส่วนนี้ยังหลงเหลือติดอยู่บนผิวหนังชั้นบน
ปานเขียวจะหายไปเมื่ออายุเท่าไหร่
แต่โดยปกติแล้ว ปานชนิดนี้จะค่อย ๆ จางหายไปเมื่อลูกน้อยโตขึ้น และจะหายไปเองเมื่ออายุราว ๆ 1-5 ขวบ ซึ่งเด็กบางคนอาจจะหายไปเร็วหรือช้ากว่านี้ก็ได้ ทั้งนี้ คุณพ่อคุณแม่ไม่ต้องกังวลแต่อย่างใด เพราะแม้ปานนี้จะทำให้เด็กถูกล้อว่า "ดำตูดหมึก" แต่เมื่อโตขึ้น ปานนี้จะสามารถหายไปอย่างแน่นอน โดยที่คุณพ่อคุณแม่ไม่ต้องทำอะไรกับปานเขียวๆ นี้ทั้งสิ้นเลย