คอเลสเตอรอลสูงในเด็ก ภาวะเสี่ยงที่พ่อแม่ควรระวัง
ไม่ใช่แค่วัยผู้ใหญ่ที่ได้รับผลกระทบจากการมีคอเลสเตอรอลสูงในร่างกาย แต่เด็กๆ ก็สามารถมีภาวะคอเลสเตอรอลสูง และเสี่ยงต่อการมีปัญหาสุขภาพเช่นกัน เช่น การเป็นโรคหัวใจเมื่ออายุมากขึ้น ข้อเท็จจริงและวิธีรับมือกับอาการ คอเลสเตอรอลสูงในเด็ก มีดังนี้
คอเลสเตอรอลคืออะไร
คอเลสเตอรอลเป็นไขมันในเลือด ซึ่งร่างกายต้องการคอเลสเตอรอลเพื่อมีส่วนช่วยในการทำงานของสมอง ผิวหนัง และอวัยวะอื่นๆ ตับจะสร้างคอเลสเตอรอลให้ร่างกาย หรือคุณอาจได้รับคอเลสเตอรอลจากอาหารบางชนิด เช่น ผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากเนื้อสัตว์อย่าง เนื้อ ไข่ เนย ชีส และนม คำว่า ระดับคอเลสเตอรอล หมายถึง ปริมาณคอเลสเตอรอลที่พบในเลือด ประกอบด้วยคอเลสเตอรอลแอลดีแอล (LDL หรือ low-density lipoproteins) และเอชดีแอล (HDL หรือ high-density lipoproteins) แอลดีแอล มักถูกเรียกว่า "ไขมันไม่ดี" เนื่องจากว่าแอลดีแอลจะขัดขวางทางเดินเลือด และเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจ ส่วนเอชดีแอล คือไขมันดี เพราะช่วยป้องกันโรคหัวใจ และการมีไขมันแอชดีแอลมากจะดีต่อร่างกาย นอกจากแอลดีแอล และเอชดีแอลแล้ว ระดับคอเลสเตอรอลยังรวมถึงไตรกลีเซอร์ไรด์ด้วย ไตรกลีเซอร์ไรด์ (Triglycerides) คือไขมันอีกชนิดหนึ่งที่อยู่ในร่างกาย การมีระดับไตรกลีเซอร์ไรด์สูง และมีแอชดีแอล (HDL) ต่ำจะเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจ
คอเลสเตอรอลสูงในเด็ก
สำหรับเด็กๆ จะไม่มีสัญญาณหรืออาการที่บ่งบอกว่ามีคอเลสเตอรอลสูง การไปตรวจเลือดจึงเป็นวิธีที่ทำให้รู้ระดับไขมันในเลือด ซึ่งผลจากการตรวจเลือดจะบอกระดับคอเลสเตอรอล สถาบันสุขภาพแห่งชาติ (National Institutes of Health) ของสหรัฐฯ แนะนำระดับคอเลสเตอรอลที่ดี สำหรับวัยเด็ก ดังนี้
- คอเลสเตอรอลทั้งหมด (Total cholesterol) น้อยกว่า 170mg/dL
- ไขมันแอลดีแอล (LDL cholesterol) น้อยกว่า 100mg/dL
- ไขมันแอชดีแอล (HDL cholesterol) มากกว่า 45mg/dL
- Non-HDL น้อยกว่า 120mg/dL
- ไตรกลีเซอร์ไรด์ (Triglycerides) น้อยกว่า 75 mg/dL ในเด็กแรกเกิดจนถึงอายุ 9 ปี และน้อยกว่า 90 mg/dL ในเด็กอายุ 10-19 ปี
การตรวจระดับคอเลสเตอรอลในเลือดของเด็กๆ ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ได้แก่ อายุ ปัจจัยเสี่ยง หรือประวัติครอบครัว ส่วนคำแนะนำสำหรับการตรวจคอเลสเตอรอลในเด็ก มีดังนี้คือ
- การตรวจระดับคอเลสเตอรอลครั้งแรกควรตรวจในช่วงอายุ 9-11 ปี
- เด็กควรตรวจระดับคอเลสเตอรอลอีกครั้ง โดยตรวจทุกๆ 5 ปี
- เด็กที่มีปัจจัยเสี่ยงสูง เช่น เด็กที่เป็นโรคเบาหวาน หรือมีประวัติว่าคนในครอบครัวมีระดับคอเลสเตอรอลสูง เด็กกลุ่มนี้ควรตรวจสอบระดับคอเลสเตอรอล ตอนอายุ 2 ปีและ 8 ปี จากนั้นกลับมาตรวจอีกครั้งในช่วงอายุระหว่าง 12-16 ปี
สาเหตุที่ทำให้เด็กคอเลสเตอรอลสูง
ระดับคอเลสเตอรอลในเด็ก ส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับ 3 ปัจจัย ได้แก่
- กรรมพันธุ์ (จากพ่อแม่สู่ลูก)
- อาหาร
- ความอ้วนในเด็ก
ในหลายกรณีพบว่า เด็กที่มีคอเลสเตอรอลสูง พ่อแม่จะมีคอเลสเตอรอลสูงเช่นกัน
วิธีรับมือกับภาวะคอเลสเตอรอลสูงในเด็ก
การเปลี่ยนแปลงไลฟ์สไตล์บางอย่าง ไม่เพียงแค่ส่งผลต่อสุขภาพที่ดีของลูก แต่ยังเป็นประโยชน์กับทั้งครอบครัวอีกด้วย ซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่ว่าได้แก่ การลดน้ำหนัก การกินอาหารที่มีประโยชน์ และการออกกำลังกายมากขึ้น วิธีรับมือกับภาวะคอเลสเตอรอลสูงในเด็ก อาจทำดังนี้
- เคลื่อนไหวร่างกาย ให้ลูกเคลื่อนไหวร่างกายตลอดทั้งวัน และไม่ควรให้นั่งอยู่หน้าจอทั้งวัน ไม่ว่าจะเป็นจอคอมพิวเตอร์ หน้าจอทีวี แท็บแลต หรือโทรศัพท์
- กินอาหารไขมันต่ำ หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันอิ่มตัว ไขมันทรานส์ และคอเลสเตอรอล โดยปริมาณไขมันที่เด็กอายุ 2 ปีขึ้นไปควรได้รับต่อวันคือ ไม่เกิน 30% ของปริมาณแคลอรี่ต่อวัน ดังนี้ ไขมันอิ่มตัวควรกินให้น้อยกว่า 10% และในเด็กที่มีความเสี่ยงสูงควรกินไขมันอิ่มตัวไม่เกิน 7% ของปริมาณแคลอรี่ต่อวัน และควรหลีกเลี่ยงไขมันทรานส์ และปริมาณคอเลสเตอรอลไม่ควรเกิน 200 มิลลิกรัมต่อวัน
- กินอาหารครบ 5 หมู่ การกินอาหารครบ 5 หมู่จะทำให้เด็กๆ ได้รับสารอาหารอย่างครบถ้วนตามที่ร่างกายต้องการ
- ออกกำลังกายเป็นประจำ การออกกำลังกายเป็นประจำ เช่น การปั่นจักรยาน การวิ่ง การเดิน หรือการว่ายน้ำ จะช่วยเพิ่มระดับไขมันเอชดีแอล (ไขมันดี) ในร่างกาย และลดความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด
Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค และการรักษาโรคแต่อย่างใด