หลากหลายวัสดุกับเรื่อง รั้ว รั้ว
หากพูดถึง "รั้วบ้าน" นั่นคงเป็นสิ่งแรกที่คนภายนอกจะได้พบเห็นก่อนภายในตัวบ้าน จึงจัดได้ว่ารั้วถือเป็นหน้าเป็นตาของบ้านเลยก็ว่าได้ ซึ่งหากสังเกตดีๆรั้วบ้านที่เราพบเห็นทั่วๆไปนั้นสร้างจากวัสดุที่หลากหลาย ต่างสไตล์กันไป ตามความชอบ ความเหมาะสมของพื้นที่ ประโยชน์ใช้สอย และเพื่อให้สวยงามลงตัวกับบ้านของคุณ ยิ่งถ้าพูดถึงเรื่องของประโยชน์ใช้สอยแล้ว บอกได้เลยว่ารั้วคือพระเอกของบ้านชัดๆ เพราะนอกจากรั้วจะเป็นเครื่องหมายบอกอาณาเขตของบ้านแล้ว ยังช่วยป้องกันโจรขโมยหรือผู้อื่นที่จะล่วงล้ำเข้ามาสู่ความเป็นส่วนตัวของเรา และยังทำหน้าที่ปกป้องตัวบ้านและผู้อยู่อาศัยจากปัญหามลพิษต่างๆ
ไม่ว่าจะเป็นมลพิษจากเสียง ฝุ่นและทัศนวิสัยที่ไม่พึงประสงค์จากนอกบ้าน และที่สำคัญคือรั้วยังช่วยปกป้องตัวบ้านจากภัยธรรมชาติได้บ้างส่วนอีกด้วย เช่น การออกแบบรั้วบ้านให้เป็นกำแพงสำหรับป้องกันการสไลด์ของหน้าดิน หรือเมื่อมีลมพายุพัดมาปะทะกับตัวบ้านแรงๆ รั้วก็สามารถช่วยเปลี่ยนทิศทางลมได้ อ่านมาถึงบรรทัดนี้แล้ว ทุกคนคงพยักหน้าเป็นเสียงเดียวกันว่า รั้ว คือพระเอกของบ้านจริงๆ อย่างที่เราได้กล่างไว้ข้างต้น ถ้าเห็นตรงกันแล้ว เราลองมาทำความรู้จักกับ รั้ว เพิ่มเติมกันเลยดีกว่าค่ะ
โดยทั่วไป เรามักจะสร้างบ้านให้เสร็จเรียบร้อยก่อนจะสร้างรั้ว สาเหตุที่ไม่มีใครสร้างรั้วถาวรก่อนในระหว่างก่อสร้างบ้าน ให้เหตุผลง่ายๆ ได้ว่า รั้ว จะไปกีดขวางการขนย้ายวัสดุก่อสร้างที่ต้องขนเข้าออกเป็นประจำ อาจทำให้รั้วสวยๆ ของเรานั้นเลอะเทอะหรืออาจต้องซ่อมแซมในภายหลัง ซึ่งสอดคล้องกับหลักฮวงจุ้ยว่าการสร้างรั้วถาวรก่อนตัวบ้านจะเป็นการปิดกั้นความเจริญรุ่งเรืองของผู้อยู่อาศัย หลักการสร้างบ้านที่ดีต้องสร้างจากด้านในขยายไปสู่ด้านนอก จึงจะถือว่าถูกต้อง รั้วจึงเป็นขั้นตอนสุดท้ายที่จะสร้าง
นอกจากนั้น ความสูงของรั้วบ้านต้องไม่สูงหรือต่ำจนเกินไป การสร้างกำแพงสูง จะปิดบังลมที่พัดเข้าสู่ตัวบ้าน และทำให้ผู้อยู่อาศัยรู้สึกเหมือนถูกกักขัง การสร้างรั้วสูงส่วนใหญ่จะเหมาะกับบ้านที่มีพื้นที่มากๆ ซึ่งตัวบ้านไม่ได้อยู่ชิดรั้วมากจนเกินไป ความรู้สึกอึดอัดก็จะลดน้อยลง ถ้าสร้างรั้วต่ำเกินไป ขโมยก็คงยิ้มปากหวานไปเดินเล่นแถวบ้านเราทุกวันเป็นแน่ ยกเว้นว่าคุณจะมีบ้านในยุโรปหรือสหรัฐอเมริกา บ้านของเขามีเพียงรั้วต้นไม้เตี้ยๆ เปิดประตูบ้านเช้า กลางวัน เย็นมาทักทายกันได้สบายๆ
โครงสร้างของรั้วบ้าน นิยมใช้คอนกรีตเสริมเหล็ก แข็งแรง มั่นคง โดยใช้ฐานรากแบบใช้เสาเข็มหกเหลี่ยมสั้น เพราะไม่ต้องรับน้ำหนักมาก ระยะเสาประมาณ 2-4 เมตร ขึ้นอยู่กับวิศวกร โดยทำโครงสร้างเป็นแนวยาวต่อเนื่องกัน แต่ให้ระวังในกรณีที่สร้างรั้วเป็นแนวยาวมากๆ และพื้นที่ก่อสร้างมีระดับความสูงต่ำไม่เท่ากัน ควรแบ่งการก่อสร้างเป็นช่วงๆ โดยแยกโครงสร้างให้ขาดจากกัน ป้องกันการแตกร้าวเนื่องจากการทรุดตัวของดิน และสิ่งสำคัญที่สุดอย่าสร้างรั้วโดยไม่ตอกเข็มนะคะ
การออกแบบรั้วเพื่อให้เหมาะสมกับหน้าที่และยังคงความสวยงามสะท้อนบุคลิกของเจ้าของบ้าน สามารถทำได้หลายรูปแบบดังต่อไปนี้
1.ผักสวนครัวรั้วกินได้
การปลูกพืชผักสวนครัว สำหรับใช้ในครัวเรือนนอกจากจะปลูกในสวน ในแปลง ในกระถางแล้ว พืชผักบางชนิดเราสามารถนำมาปลูกเป็นรั้วบ้านได้ ซึ่งนอกจากจะทำหน้าที่เป็นรั้วที่ล้อมกั้นเขตของบ้านที่มีความสวยงามดูแปลกตาแตกต่างไปจากรั้วบ้านชนิดอื่นๆแล้ว รั้วประเภทนี้ยังให้ใบ ให้หน่อ ให้ดอก ให้ผล ให้เรานำไปทำเป็นอาหารอิ่มท้องและยารักษาโรคอีกด้วย
โดยทั่วไปพืชผักที่ใช้ปลูกเป็นรั้วกินได้ มักเลือกที่ปลูกง่าย ไม่ต้องการการดูแลรักษามานัก ทนต่อโรคและแมลงได้ดีและตัดแต่งเป็นรั้วบ้านตามที่เราต้องการได้ สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ
- รั้วที่ปลูกโดยพืชผักไม้ยืนต้น พืชเหล่านี้ลักษณะลำต้นตั้งตรงหรือทรงพุ่ม ยืนต้นอยู่ได้ด้วยตัวเอง สามารถตัดแต่งให้เป็นรั้วมีขนาดกว้างและสูงได้ตามต้องการ ได้แก่ กระเจี๊ยบแดง กระถิน กุ่ม ขี้เหล็ก แคบ้าน ชะมวง ชะอม ชุมเห็ดเทศ ทองหลาง ทำมัง ผักหวานบ้าน ไผ่ มะกรูด มะกอก มะขาม มะดัน มะตูม มันปู ยอ เล็บครุฑ สะเดา สมุย โสน เหลียง เป็นต้น
- รั้วที่ปลูกโดยพืชผักชนิดเลื้อยเกาะ พืชเหล่านี้มีลำต้นเป็นเถาเลื้อยพันยึดเกาะกับแนวหรือโครงรั้วที่สร้างด้วยวัสดุต่างๆ เช่น รั้วเหล็กดัด รั้วลวดหนาม รั้วขัดแตะ รั้วไม่รวก รั้วไม้ไผ่ ฯลฯ แถมยังให้ใบ ยอดอ่อน ดอก และผลเป็นอาหาร ได้แก่ กะทกรก ขจร ตำลึง ถั่วพลู ถั่วฝักยาว น้ำเต้า บวบ ผักปลัง พวงชมพู ฟัก มะระขี้นก มะระ ย่านาง เป็นต้น มีให้เลือกหลากหลายขนาดนี้ อาหารเต็มโต๊ะกันทุกบ้านแน่นอน
2. ดอกไม้ริมรั้ว
ซุ้มไม้เลื้อย ที่อยู่ตรงทางเข้าหน้าบ้าน หรือปลูกดอกไม้ให้เกาะแนบไปตามแนวรั้วนอกจากจะใช้เป็นส่วนต้อนรับแขกผู้มาเยือนบริเวณทางเข้าบ้านได้เป็นอย่างดีแล้ว บางต้นยังช่วยส่งกลิ่นหอมและทำให้รั้วบ้านของเราดูไม่กระด้างจนเกินไป มีความเป็นธรรมชาติที่สื่อถึงความเรียบง่ายในตัว เราสามารถเลือกดอกไม้หลากสายพันธุ์มาผสมกัน ปล่อยให้ขึ้นรวมกันอย่างเป็นธรรมชาติ ไม่มีขอบแปลง ไม่ต้องตัดแต่ง เลือกต้นไม้ชนิดที่ให้ดอกและใบ ซึ่งมีรูปทรงและสีสันแตกต่างกัน สร้างความสนุกสนาน และที่สำคัญต้องสามารถเจริญเติบโตอยู่ในสภาพแวดล้อมแบบเดียวกันได้ อย่างเช่น forget me not(สีชมพู สีม่วง สีขาว) เขาแพะ หอมหมื่นลี้ คัดเค้า บูลเดซี่ พวงหยก พวงแสด มาลัยทอง สร้อยสายเพชร แตรนางฟ้า แย้มปีนัง เข็มปัตตาเวีย แซลเวีย แวววิเชียร ลาเวนเดอร์บลู ลองหาข้อมูลเพิ่มเติมว่าจะปลูกอะไรตรงไหนดี คุณอาจเกิดไอเดียและสนุกกับการปลูกต้นไม้มากยิ่งขึ้นค่ะ
3. รั้วกันมลพิษ
- รั้วทึบ รั้วประเภทนี้ปกป้องมลพิษทางด้านสายตาเป็นอย่างดี อาจทำด้วยกำแพงอิฐที่ก่อโชว์ฝีมือของช่างหรือกำแพงที่ทำด้วยคอนกรีต แม้ค่าก่อสร้างจะสูงแต่คงทน ไม่ต้องซ่อมแซมบำรุงบ่อยๆ สามารถติดตั้งโคมไฟได้ง่าย บังสายตาจากถังขยะ หรือต่อเติมเพื่อเก็บเครื่องมือทำสวน รั้วแบบนี้ไม่ควรสูงเกิน 1.80 เมตร เมื่อมีพายุและลมแรง รั้วทึบจะทำหน้าที่ต้านแรงลมไว้แต่อาจทำให้เกิดลมหมุนย้อนกลับ ซึ่งจะทำให้บริเวณใกล้กำแพงมีลมแรงขึ้นจนอาจทำให้ต้นไม้บริเวณใกล้รั้วเสียหายได้
- รั้วโปร่ง สามารถออกแบบได้จากวัสดุหลายชนิดตั้งแต่รั้วไม้ที่เข้ากับธรรมชาติ ให้ความเป็นมิตรและสบายตา ช่วยป้องกันตัวบ้านจากฝุ่นละออง ถ้าปลูกต้นไม้เลื้อยพันรั้วไว้ก็ยิ่งจะช่วยลดมลพิษได้มากขึ้น เช่นกรองความร้อนที่แผ่รังสีมาจากพื้นถนนหน้าบ้านและจากแสงแดดที่ร้อนระอุในเวลากลางวัน ทำให้ลมที่พัดเข้าสู่บ้านของเราเย็นลง หรือจะเลือกใช้เหล็กดัด อัลลอยด์โดยทำเป็นรั้วทึบในส่วนล่าง เพื่อความแข็งแรงและป้องกันเสียง ส่วนด้านบนอาจใช้ไม้หรือลวดตาข่ายพันด้วยไม้เลื้อยที่คุณชอบ ก็ทำให้บ้านดูน่าสนใจไปอีกแบบ
4. รั้วอุ่นใจ
วันนี้ขอแนะนำรั่วอุ่นใจที่สร้างจาก "Sheet pile" อาจจะสงสัยกันว่าคืออะไร Sheet pile คืออะไร ภาษาไทยเราเรียกกันว่า เข็มพืด ซึ่งจะมีลักษณะเป็นแผ่นเหล็ก โดยนิยมใช้ก่อสร้างกำแพงกันดินและกำแพงกันน้ำ หากเป็นกำแพงกันน้ำก็จะแตกต่างออกไป โดยแผ่น Sheet pile ที่ฝั่งลึกเข้าไปในดิน จะมีการอุดรอยต่อเพื่อป้องกันน้ำซึมผ่านลอดใต้ดินที่สามารถลอดผ่านรอยต่อระหว่างแผ่น นอกจากนี้กำแพงกันน้ำท่วมที่สร้างจาก Sheet Pile สามารถนำมาก่อสร้างในพื้นที่เล็กๆ เช่น บริเวณบ้านพักอาศัยได้และยังสามารถตกแต่งผิวให้ดูสวยงามได้อีกด้วย
เห็นไหมคะ.... รั้วมีหลากหลายแบบจริงๆ อาจมากกว่าที่คุณคิดหรือเคยเห็น ลองศึกษาดูว่ารั้วแบบไหน ถูกใจ และเหมาะกับบ้านคุณ ขอให้สนุกกับการเลือกรั้วหน้าบ้านของคุณกันนะคะ
Tips
- มีกำหนดในกฎหมายว่า รั้วบ้านที่ติดทางสาธารณะ ต้องมีความสูงไม่เกิน 3 เมตร
- บ้านที่อยู่ใกล้ทะเลไม่ควรทำรั้วเหล็กและอัลลอยด์ เพราะไอเค็มจากทะเลจะทำให้รั้วเป็นสนิมเร็วขึ้น
- ปลูกผักสวนครัวริมรั้ว นอกจากได้ความสวยงามจากรูปทรงแล้ว ยังอิ่มท้องอีกด้วย
- ปลูกไม้ดอกหอม เลือกพันธุ์ไม้ดอกหอมหรือสีสัน รูปทรงสวยงาม ไว้คอยต้อนรับแขกแขกผู้มาเยือน
- รั้วทึบช่วยบังสายตา ทำจากลำต้นไผ่ตีชิดกัน เพิ่มลูกเล่นด้วยการเล่นระดับให้ดูมีมิติ
- รั้วโปร่งสีขาวดูสะอาดและสบายตา ใช้ไม้ตีเว้นร่องเพียงแค่นี้ก็สวยแล้ว
- นอกจากการนำ sheet pile มาเป็นรั้วแล้ว ยังมี metal sheet วัสดุอีกชนิดหนึ่งที่สามารถนำมาเป็นรั้วบ้านที่แข็งแรงและอุ่นใจด้วย ตกแต่งเพิ่มให้น่ารักสวยงามด้วยต้นไม้และดอกไม้เท่านี้ก็เรียบร้อย
- ไม่ว่าบ้านขนาดใหญ่หรือเล็ก ถ้าระยะห่างจากตัวบ้านไปถึงรั้วไม่เกิน 6 ฟุต ควรออกบบรั้วให้เรียบง่าย ไม่หนา ดูเป็นสัดส่วน ลดความอึดอัดและเหมาะกับตัวบ้าน
เพิ่มเติม
1. รั้วสวนครัวอีกแบบใช้กะลามะพร้าวแทนกระถางปลูกต้นไม้ แขวนกับเสาไม้ไผ่........
2. รั้วไม้ไผ่โปร่งๆ เป็นรั้วแบบลำลอง กั้นภายในบริเวณบ้าน เพิ่มชีวิตชีวาด้วยสวนครัว เรียงเป็นแนวดูแล้วสวยดี
3. รั้วก่ออิฐฉาบปูนธรรมดาเจาะช่องโล่งเป็นจังหวะ พร้อมใส่ไฟดาว์ไลท์
4. รั้วโปร่งสีขาว ใช้ไม้ฉลุตีเว้นร่อง ดูคลาสสิคและ สบายตา เลือกพันธ์ไม้แนวหญ้าประดับปลูกริมรั้วดูเป็นธรรมชาติเข้ากันได้ดี
5. ริมรั้วด้านหน้าใช้ไม้หมอนรถไฟตอกฝังลงในดิน เป็นแนวสำหรับใส่ดินปลูกต้นไม้ ผสมผสานหลายๆชนิด ช่วยลดความแข็งกระด้างของเหล็กลง