Low Salt 50% ลดเค็มครึ่งหนึ่ง คนไทยห่างไกลโรค

Low Salt 50% ลดเค็มครึ่งหนึ่ง คนไทยห่างไกลโรค

Low Salt 50% ลดเค็มครึ่งหนึ่ง คนไทยห่างไกลโรค
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เรื่องอาหารการกินเป็นสิ่งสำคัญที่สามารถส่งผลกับสุขภาพของเราได้ และอาหารรสเค็มก็เป็นรสชาติโปรดของใครหลายๆ คน แต่รู้มั้ยว่าภัยเงียบที่มากับอาหารรสเค็มนี้มีมากมายเลยทีเดียว

ในปัจจุบันพบว่าคนไทยมีพฤติกรรมการบริโภคเกลือ หรือโซเดียม สูงเป็น 2-3 เท่า ของปริมาณที่ร่างกายต้องการ และได้รับเกลือไม่รู้ตัว ซึ่งมักอยู่ในอาหารแปรรูป โดยเฉพาะจากเครื่องปรุงรสซึ่งนิยมใช้ เช่น น้ำปลา ซีอิ๊วขาว เกลือ กะปิ และซอสหอยนางรม เนื่องจากเราใช้ชีวิตนอกบ้านกันมากขึ้น การฝากท้องไว้กับร้านอาหารนอกบ้าน จึงกลายเป็นเรื่องปกติไปซะแล้ว และพฤติกรรมที่ชอบเติมเครื่องปรุงก็เป็นภัยเงียบอีกอย่างเช่นกัน ที่สามารถทำให้เราเสี่ยงต่อการเป็นความดัน โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคไต อัมพฤต อัมพาต การรับประทานอาหารรสเค็มหรืออาหารที่มีเกลือหรือโซเดียมสูงจะส่งผลเสียต่อสุขภาพ ทำให้ความดันโลหิตสูง เพิ่มการรั่วของโปรตีนในปัสสาวะ และยังมีผลเสียต่อไตโดยตรง นอกจากนี้ยังทำให้หัวใจทำงานหนักก่อให้เกิดภาวะหัวใจวาย และความดันโลหิตสูงยังส่งผลให้ความดันในสมองเพิ่มขึ้น มีโอกาสเป็นโรคอัมพฤกษ์ อัมพาตได้อีกด้วย

นพ.โสภณ เมฆธน รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ปัจจุบันโรคเรื้อรังถือเป็นปัญหาสาธารณสุขใหญ่ของไทย พบว่า คนไทยเป็นโรคความดันโลหิตสูง คิดเป็นร้อยละ 21.4 หรือ11.5 ล้านคน โรคไต ร้อยละ 17.5 หรือ 7.6 ล้านคน โรคหัวใจขาดเลือด ร้อยละ 1.4 หรือ 0.75 ล้านคน โรคหลอดเลือดสมอง โรคอัมพฤกษ์ อัมพาต ร้อยละ 1.1 หรือ 0.5 ล้านคน โรคกลุ่มนี้เกิดจากพฤติกรรมการบริโภคที่ไม่ถูกต้อง อาหารรสชาติเค็ม เป็นอาหารที่มีเกลือ หรือโซเดียมสูง ส่งผลร้ายต่อสุขภาพอย่างคาดไม่ถึง จึงแนะนำให้บริโภคเกลือไม่เกินวันละ 5 กรัม ถ้าเทียบเป็นปริมาณโซเดียมก็ไม่ควรเกิน วันละ 2,400 มิลลิกรัม ซึ่งเทียบเท่ากับเกลือ 1 ช้อนชา

จากการสำรวจพฤติกรรมการบริโภคอาหารมื้อหลักของคนไทย พบว่ามากกว่าร้อยละ 30 จ ะซื้อกินนอกบ้าน ทั้ง 3 มื้อ โดยเฉพาะกลุ่มที่ทำงานหรือใช้ชีวิตนอกบ้าน และมากกว่าร้อยละ 70 และที่น่าสนใจกว่านั้นคือ พฤติกรรมการปรุงรสชาติของอาหารเมื่อต้องรับประทานอาหารนอกบ้าน คือ นิยมเติมเครื่องปรุงรสเพิ่ม ร้อยละ 88 ส่วนการอาหาร ประเภทแกงจืด ผัดผัก และยำต่างๆ พบว่ามีการเติมเครื่องปรุงรสที่ให้รสเค็มในสูตรอาหารอยู่แล้ว ทั้งเกลือ น้ำปลา และซอสปรุงรสต่างๆ เมื่อวิเคราะห์ปริมาณโซเดียมในอาหารถุงปรุงสำเร็จ พบปริมาณโซเดียมเฉลี่ยต่อถุงอยู่ระหว่าง 815 - 3,527 มิลลิกรัม ส่วนปริมาณโซเดียมที่พบในอาหารจานเดียว เช่น ข้าวหน้าเป็ด ข้าวมันไก่ ข้าวขาหมู และข้าวคลุกกะปิ พบปริมาณโซเดียม 1,000-2,000 มิลลิกรัมต่อหนึ่งหน่วยบริโภค ซึ่งแทบจะเกินความจำเป็นของร่างกายแล้ว หากเราบริโภคเกลือเกินความจำเป็น เป็นประจำแล้ว โรคความดัน โรคไต โรคหัวใจ ฯลฯ ดังนั้นเราจึงควรสร้างนิสัยการรับประทานอาหารอ่อนเค็มเสียตั้งแต่วันนี้ เพื่อสุขภาพที่ดีและชีวิตที่เป็นสุขปราศจากโรคภัย



การลดปริมาณโซเดียมที่รับประทาน ได้แก่

- หลีกเลี่ยงการใช้เกลือ น้ำปลา ซอสปรุงรสต่างๆ และผงชูรสในการปรุงอาหาร

- ไม่ควรเติมเครื่องปรุง เช่น ปรุงรสเพิ่มในก๋วยเตี๋ยว เติมพริกน้ำปลาในข้าวแกง เป็นต้น

- หลีกเลี่ยงอาหารประเภทดองเค็ม อาหารแปรรูป เช่น ไข่เค็ม ปลาเค็ม ปลาแดดเดียว ปลาส้มแหนม ไส้กรอก กุนเชียง หมูหยอง เป็นต้น

- เลือกรับประทานอาหารที่มีหลายรสชาติ เช่น แกงส้ม ต้มยำ เพื่อทดแทนรสชาติเค็ม

- น้ำซุปต่างๆ เช่น ก๋วยเตี๋ยวมักมีปริมาณโซเดียมสูง ควรรับประทานแต่น้อยหรือเทน้ำซุปออกบางส่วน แล้วเติมน้ำเพื่อเจือจาง ก็จะช่วยลดปริมาณโซเดียมได้

- ควรตรวจดูปริมาณโซเดียมต่อหน่วยบริโภคบนฉลากของซอสปรุงรส อาหารสำเร็จรูป และขนมกรุบกรอบ เพื่อหลีกเลี่ยงอาหารที่มีปริมาณโซเดียมสูง


ขอบคุณข้อมูลจาก : ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์ฯ และสำนักงานกองทุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook