เจ็บเท้า หลังวิ่งออกกำลังกาย บรรเทาอาการได้อย่างไร
เจ็บเท้า หลังวิ่งออกกำลังกาย ไม่ใช่เรื่องที่ควรละเลย โดยถ้าคุณวิ่ง แล้วมีอาการเจ็บเท้าร่วมด้วย ควรปรึกษาแพทย์ นอกจากนี้หากมีอาการเจ็บเท้าแบบไม่รุนแรง คุณอาจสามารถบรรเทาอาการด้วยตัวเองได้ ดังนี้
เจ็บเท้าหลังวิ่ง ปกติหรือไม่
อาการเจ็บเท้าหลังวิ่ง อาจไม่ใช่เรื่องปกติ และแม้ว่าคุณจะสวมรองเท้าวิ่งที่ใส่สบายที่สุดและรับน้ำหนักได้ดีที่สุด ก็อาจเสี่ยงต่อการเจ็บเท้าหลังวิ่งได้ นอกจากนี้ สำหรับคนส่วนใหญ่ การวิ่งเป็นเวลานาน สามารถทำให้เกิดอาการเจ็บเท้า แต่ถ้าคุณเพิ่งเริ่มหัดวิ่ง เพียงแค่ไม่กี่กิโลเมตรก็อาจทำให้เจ็บเท้าได้แล้ว เท้าของคนเราประกอบไปด้วยกระดูก เส้นเอ็น และกล้ามเนื้อ ที่แข็งแรงพอที่จะรับน้ำหนักร่างกาย อาการเจ็บเท้าจึงสามารถเกิดขึ้นได้ในทุกส่วนของเท้า ตั้งแต่หัวแม่เท้าจนถึงหลังส้นเท้า และการวิ่งสามารถทำให้เท้าบวมและเจ็บได้ ซึ่งถ้าเป็นอาการเจ็บที่ไม่รุนแรง จะสามารถบรรเทาอาการได้ด้วยตัวเอง แต่หากเป็นอาการเจ็บที่รุนแรง หรืออาการแย่ลง ควรปรึกษาแพทย์
บรรเทาอาการเจ็บเท้า หลังวิ่งออกกำลังกาย
หากคุณเจ็บเท้าเนื่องจากวิ่งติดต่อกันเป็นเวลานาน โดยปกติแล้วอาการจะดีขึ้นหลังจากพักผ่อน และประคบเย็น ดังนั้นจึงควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่อาจทำให้อาการเจ็บเท้าแย่ลง และสำหรับวิธีบรรเทาอาการเบื้องต้นคือ ประคบน้ำแข็งเป็นเวลา 15-20 นาทีวันละหลายครั้ง นอกจากนี้การกินยาแก้อักเสบอาจช่วยบรรเทาอาการได้ แต่ต้องปรึกษาแพทย์ก่อน มากไปกว่านั้นยังมีคำแนะนำเพิ่มเติม ดังนี้
พักร่างกาย
การพักถือเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการเยียวยาอาการเจ็บเท้า โดยควรใช้เวลาพักนานเท่าไหร่นั้น ขึ้นอยู่กับระดับความเจ็บปวดว่ารุนแรงแค่ไหน และระดับความหนักในการวิ่งของคุณ โดยคุณอาจหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่อาจทำให้อาการแย่ลง เช่น กีฬาที่ต้องกระโดดอย่างบาสเกตบอล รวมถึงคุณอาจพักร่างกายเป็นเวลานานจนหายดี และค่อยกลับมาวิ่งอีกครั้ง อย่างไรก็ตามหากอาการเจ็บเท้าไม่หายไปภายใน 2-5 วัน ควรปรึกษาแพทย์
ประคบน้ำแข็ง
นักวิ่งหลายคนใช้การประคบน้ำแข็ง เพื่อให้อาการเจ็บเท้าดีขึ้น โดยหลังจากวิ่ง ให้ถอดรองเท้าและถุงเท้าออก จากนั้นประคบน้ำแข็ง หรือเจลแช่แข็งบริเวณที่เจ็บเท้า หากถุงน้ำแข็งเย็นเกินไป ให้ห่อด้วยผ้าขนหนู โดยประคบไว้อย่างน้อย 10-15 นาที ความเย็นจากน้ำแข็งจะช่วยคลายความกดดันของกล้ามเนื้อ ที่สะสมในเท้าระหว่างวิ่ง และยังช่วยป้องกันอาการบวม รวมถึงช่วยลดอาการบวมด้วย
เอาเท้าแช่น้ำ
แช่เท้าในน้ำจะช่วยให้ผ่อนคลายมากขึ้น โดยการแช่เท้าในน้ำอุ่นจะช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อ ส่วนแช่เท้าในน้ำเย็นจะคล้ายกับการประคบน้ำแข็ง โดยให้แช่เท้าไว้ประมาณ 10 นาที
เมื่อไหร่ที่ควรไปพบคุณหมอ
หากมีอาการเหล่านี้ ควรไปพบคุณหมอทันที
- เจ็บรุนแรง หรือบวม
- มีแผลเปิด หรือบาดแผลมีหนอง
- มีสัญญาณของการติดเชื้อ เช่น ผิวเห่อแดง กดเจ็บ หรือมีไข้สูงกว่า 100 องศาฟาเรนไฮต์ (37.8 องศาเซลเซียส)
- ไม่สามารถเดิน หรือลงน้ำหนักที่เท้าได้
- เป็นโรคเบาหวาน และมีแผลที่รักษาไม่หาย หรือแผลลึก แดง บวม หรืออุ่นเวลาสัมผัส
- อาการบวมไม่ดีขึ้นหลังจากรักษาอาการด้วยตนเอง เป็นเวลา 2-5 วันผ่านไป
- อาการเจ็บหรือปวดไม่ดีขึ้นหลังจากผ่านไปหลายสัปดาห์
- มีอาการเจ็บแสบ ชา หรือรู้สึกเจ็บเหมือนผึ้งต่อย โดยเฉพาะบริเวณใต้ฝ่าเท้า
Hello Health Group ไม่ได้ให้คำปรึกษาด้านการแพทย์ การวินิจฉัย หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด