เมนูอาหารลูกน้อย "ข้าวคั่วตุ๋น" เต็มไปด้วยประโยชน์ที่ลูกน้อยต้องการ
เข้าสู่ช่วงวัยที่ลูกน้อยเริ่มจะหม่ำอาหารได้ เชื่อได้ว่าคุณแม่มือใหม่หลายคน คงวุ่น และกังวลเกี่ยวกับเมนูที่จะคอยเสิร์ฟให้ลูกน้อยได้อิ่มท้อง พร้อมประโยชน์อยู่แน่ๆ ต่อไปนี้ไม่ต้องคอยหาข้อมูลให้เสียเวลาอีกต่อไปค่ะ คุณแม่ ปอม-รัตมา พงศ์พนรัตน์ พรชำนิ จะมาคอยแจกสูตรการทำอาหารให้แก่ลูกน้อยแบบทำตามได้ง่าย และข้อมูลแน่นๆ เลยค่ะ
มาเริ่มที่เมนูแรกกันเลยกับ ข้าวคั่วตุ๋น ที่ใช้ส่วนผสมเพียงไม่กี่อย่าง
ข้าวหอมมะลิ ½ ถ้วย
ข้าวกล้องหอมมะลิ ½ ถ้วย
น้ำเปล่า 2 ถ้วย
และแล้ววันที่ตั้งหน้าตั้งตารอคอยก็ได้มาถึง วันที่เราสามารถทำสิ่งที่เราคิดว่าถนัดที่สุด นั่นก็คือการทำอาหารให้ลูก ซึ่งน่าจะเป็นขั้นตอนเดียวที่เรารู้สึกว่าควบคุมมันได้ เข้าใจได้ดีกว่ากระบวนการในการเลี้ยงลูกอื่นๆ ที่ใหม่สำหรับเรามากและไม่ถนัดเอาซะเลย แถมยังเป็นการเรียกความมั่นใจในตัวเองให้กลับมาอีกครั้งด้วย ก็รู้สึกตื่นเต้นกับการตระเตรียมอุปกรณ์ต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่มีอยู่แล้วในครัว ก็เอาออกมาทำความสะอาดจัดเตรียมไว้
จริงๆ แล้วอุปกรณ์ที่สำคัญที่คิดว่าคุณแม่ทุกท่านควรมีไว้สำหรับทำอาหารให้เด็กเริ่มทานอาหารก็คือ Hand Blender หรือที่ปั่นอาหารแบบมือถือ ไม่จำเป็นที่จะต้องไปซื้อเครื่องทูอินวันที่มีระบบนึ่งและปั่นเฉพาะของเด็ก เพราะพอลูกโตก็ไม่ได้ใช้แล้ว เราใช้อันสำหรับในครัวทั่วไปนี่ละค่ะ ของดิฉันอันที่ใช้อยู่ ใช้มายี่สิบปีแล้วยังคงทนซื่อสัตย์ไม่เคยเสีย เวลาเลือกซื้อดูความแรงที่วัตต์นะคะ เพราะมันจะบ่งบอกความละเอียดและความเร็วในการปั่น อันที่ใช้อยู่รุ่นเดอะก็จะแรงแค่ 300 วัตต์ (ซึ่งก็พอ) แต่สมัยนี้มีที่สูงกว่านี้ ราคาก็จะสูงขึ้นตามจำนวนวัตต์ ถ้ามีงบประมาณพอก็จัดแบบวัตต์สูงมาก็ได้ค่ะ
คุณแม่ท่านใดชอบวิธีดั้งเดิมก็สามารถใช้วิธีครูดบดกับตะแกรง หรือจะอุดหนุนเซตอุปกรณ์ทำอาหารเด็กของญี่ปุ่นมาด้วยก็ได้ ที่เขารวมเอาจานบด ตะแกรงครูดไว้ แต่เอาเข้าจริงนะคะ ได้ซื้อมาลองใช้เหมือนกัน ยังไงก็กลับไปพึ่งที่ปั่นอาหารแบบมือถืออยู่ดีค่ะ
ตอนนี้อุปกรณ์พร้อมแล้ว แล้วดวงใจตัวน้อยของแม่พร้อมหรือยัง ริมาส่งสัญญาณพร้อมรับอาหารเสริมจากการที่นางเริ่มนั่งตัวตรง และสามารถควบคุมให้ศีรษะตั้งตรงได้ตั้งแต่เดือนที่ห้าค่ะ แถมยังแสดงความไม่ชอบทานนม จะอยากเฉพาะเวลาจะนอนเท่านั้น จะแบบเบือนหน้าหนีสองครั้งก่อนจะยอมเอาเข้าปากแบบ “ก็ได้” ในครั้งที่สาม สัญญาณเหล่านี้ตามตำราแสดงให้เห็นว่านางพร้อมแล้วค่ะ
จากคำแนะนำของผู้อาบน้ำร้อนมาก่อน ดิฉันเลยให้ริมาเริ่มลองทานกล้วยน้ำหว้าขูดเป็นอาหารชนิดแรกในบางมื้อเพื่อเตรียมท้องน้อยสองอาทิตย์ก่อนครบหกเดือนโดยใช้ปลายช้อนขูดแต่เนื้อ พอใกล้ถึงโซนเม็ดก็ทิ้ง รู้สึกว่านางจะพอใจกับการเคี้ยวและกลืนกล้วยน้ำหว้า น่าจะเป็นเพราะลูกคุ้นชินกับรสหวาน ซึ่งเป็นรสชาติแรกของทารกที่รู้จักผ่านการดื่มนมแม่ จากนั้นดิฉันก็ค่อยมาจริงจังในเดือนที่หก ที่ต้องมีการวางแผนในการเตรียมอาหารอย่างจริงจัง
นอกจากการผสมผสานเมนูอาหารให้เสมอกับความต้องการของร่างกายของเด็กน้อยแล้ว สิ่งสำคัญอีกประการในการให้อาหารลูกน้อยคือ อย่าไปเน้นแต่ขาเข้า ขาออกก็สำคัญมาก การวิเคราะห์ขาออกว่าแข็งหรือเหลว ลูกทานแล้วท้องเสียไหม ลักษณะเป็นอย่างไรก็สำคัญเพื่อจะได้ใช้ในการตัดสินใจว่าควรจะทานต่อหรือไม่
วันนี้ดิฉันเลือกเมนู ข้าวคั่วตุ๋น มานำเสนอเป็นเมนูแรกเปิดคอลัมน์ค่ะ จากตำราหมอไทย หมอตะวันตกและอายุรเวทของแขกสรุปได้ว่า ”ข้าว” น่าจะเป็นเมนูแรกเริ่มที่ดีและเหมาะสมกับร่างกายเจ้าตัวน้อยเป็นที่สุด นอกจากจะเป็นอาหารหลักของคนไทยเราแล้ว ข้าวคั่วตุ๋นมีคาร์โบไฮเดรตและธาตุเหล็กที่เจ้าหนูต้องการ อีกทั้งยังสามารถนำไปใช้เป็นเบสผสมกับผัก ผลไม้และเนื้อสัตว์ต่างๆ อีกมากมายที่เราจะค่อยๆ อธิบายในครั้งต่อไป
ว่าด้วยเรื่องกรรมวิธีการทำ หลายท่านคงคุ้นเคยกับการต้มข้าวที่ใช้ข้าวสวย หรือขึ้นจากข้าวสารเลย และคงจำความรู้สึกเวลายืนต้มข้าวหน้าเตาจนเมื่อยแล้วเมื่อยอีก ข้าวก็ไม่นุ่มซะที เผลอๆ ก็เกือบครึ่งชั่วโมงแล้ว ดิฉันขอเสนอการเตรียมที่นานกว่าเพื่อที่จะสบายหน้าเตาค่ะ เริ่มจากเราจะซาวข้าว เอามือประกบถูๆ ขัดข้าวให้สะอาดสักสามน้ำ
เนื่องจากสมัยนี้มันมีพวกยาฆ่าแมลงเข้ามาเกี่ยวข้อง เอาที่เราสบายใจก็แช่ข้าวต่ออีกสักสิบยี่สิบนาที นอกจากเพื่อความสะอาดแล้วยังทำให้ข้าวนิ่มและง่ายต่อการปรุง จากนั้นผึ่งลมให้แห้ง แล้วนำไปทำให้สุกโดยคั่วให้หอมแบบทำข้าว(เหนียว)คั่วใส่ลาบ ทิ้งไว้ให้เย็นก่อนนำไปโขลกหรือใส่เครื่องปั่นละเอียดจนเป็นผง ซึ่งเป็นเทคนิคเดียวกับการทำโจ๊ก เก็บไว้ในขวดสูญญากาศซึ่งเก็บไว้ในตู้เย็นได้เป็นเดือน เป็นอันเสร็จกระบวนการเตรียม
เวลาทำ เราก็จะเลือกตวงข้าวขาวอย่างเดียวก่อน หรือผสมกันกับข้าวกล้องให้ได้ครึ่งถ้วย ตวงน้ำสองถ้วยตั้งให้เดือดก่อนใส่ข้าวลงไป คนไปเรื่อยๆ จะได้ไม่ติดก้นหม้อ จะประหยัดเวลาไปได้มากโขค่ะ แถมไม่ต้องเสียเวลามาบดอีก หากข้นเกินก็เติมน้ำจนได้เนื้อสัมผัสที่พอใจ(ของริมาข้นติดช้อน) (เนื่องจากภาชนะ อุณหภูมิ เวลาเอาไปทำต่างกัน ขอแนะว่าถ้ายังไม่ละเอียดพอ ให้ไปบดผ่านตะแกรง หรือปั่นเพิ่มเพื่อรสสัมผัสที่ละเอียดขึ้นอีกได้) ผลลัพธ์เราก็จะได้ข้าวหอมๆ ละเอียดเนียนไว้คอยเสิร์ฟเจ้าตัวน้อย
ทานตอนไหน ขนาดไหนดี
ในช่วงอาทิตย์แรกของเดือนที่หก ดิฉันจะให้อาหารเสริมวันละมื้อ โดยจะเลือกมื้อในช่วงเช้าหลังตื่นจากงีบแรก มิสริมาจะนอนยาวตั้งแต่สี่ทุ่มถึงตีห้า ตื่นมาให้นม เล่นและหลับต่อ จะตื่นมาอีกทีประมาณแปดเก้าโมง ก็จะเริ่มให้ทานอาหารเสริมแล้วตามด้วยนม ดิฉันเลือกเวลานี้เพราะคุณป้าหมอเข้าเวรจนถึงบ่ายแก่ๆ หากเกิดอาการแพ้สิ่งใดจะได้หาหมอทันไงคะ เวลาป้อนควรเลือกช้อนซิลิโคน อย่าใช้ช้อนสแตนเลสป้อนนะคะ เคยพลาดมาแล้ว เพราะนอกจากจะเก็บความร้อนแล้วยังจะบาดปากจิ๋วๆ ได้ เริ่มแรกจะเริ่มจาก 1-2 ช้อนโต๊ะก่อนดื่มนม อย่าไปฝืนเขานะคะ ถ้าเบือนหน้าหนีก็หยุด ลองสักสี่ห้าวัน แล้วค่อยๆ เพิ่มชนิดอาหารทีละอย่างลงไปผสมกับข้าวพร้อมกับเพิ่มปริมาณตามความต้องการของเด็กเลยค่ะ
การจัดเก็บและการนำมาใช้
เป็นอีกขั้นตอนสำคัญที่จะทำให้คุณแม่มือใหม่อย่างดิฉันหัวฟูน้อยลง ดิฉันเลือกวันอาทิตย์เป็นวันปฏิบัติการเปิดครัวทำอาหารของลูก จะเตรียมสต๊อคเหมือนทำร้านอาหารเลยค่ะ เช่น น้ำซุป ข้าวตุ๋น ผักผลไม้นึ่งแล้วปั่น เตรียมแช่แข็งไว้ใช้อาทิตย์ต่ออาทิตย์ อุปกรณ์ที่สำคัญเลยคืออุปกรณ์แช่แข็งที่ได้มาตรฐานทนร้อนและเย็น ปราศจากBPA ราคาและความปลอดภัยจะไปในทางเดียวกันค่ะ ตู้เย็นที่ใช้แช่แข็งต้องสามารถทำอุณหภูมิได้ -18 องศาเซลเซียสขึ้นไปนะคะ ถ้าน้อยกว่านี้ไม่ควรนำไปแช่ เพราะสารอาหารจะหายไปไม่ครบถ้วนค่ะ
เมื่อทำเสร็จควรรอให้เย็นก่อน ไม่ต้องรีบ ใจร่มๆ แล้วค่อยมาตักใส่ภาชนะที่ใช้แช่แข็ง สำหรับวัยหกเดือน ดิฉันใช้ภาชนะสำหรับอาหารเด็กโดยเฉพาะยี่ห้อ Edison ที่หลุมมีปริมาณหนึ่งช้อนโต๊ะมาให้เบ็ดเสร็จ ไม่จำเป็นต้องซื้อก็ได้นะคะ เห็นในหนังสือแม่บ้านญี่ปุ่นเขาจะใช้ที่ทำน้ำแข็งกัน แต่ต้องให้แน่ใจว่ามีสัญลักษณ์ระบุเป็น food grade
เวลาละลายน้ำแข็งจะเตรียมออกมาตั้งไว้ในตู้เย็นช่องธรรมดาคืนก่อนหน้า หรือนำใส่ภาชนะแก้วเข้าเวฟละลายน้ำแข็งสามนาทีเป็นอันเสร็จ สำหรับข้าวคั่วตุ๋นเนื่องจากข้าวอมน้ำเวลาแช่แข็ง จะแห้งไปเมื่อละลายน้ำแข็งแล้ว ก็สามารถกดน้ำร้อนนิดเดียวเพื่อเพิ่มความขลุกขลิกได้
การชั่งตวงวัดก็สำคัญ
อย่างที่กล่าวไปเบื้องต้น ลูกทานอะไรเข้าไปคงต้องให้ความสำคัญมากขึ้น เพราะวัยนี้ลูกพูดเองไม่ได้นะคะ บอกเราไม่ได้ว่าเจ็บปวดตรงไหน เราควรต้องมีบันทึกการทานของลูกค่ะ ข้อดีของการชั่งตวงวัดในการทำอาหารลูกน้อยคือ เมื่อตวงแล้วนอกจากรสชาติไม่ผิดเพี้ยน เวลาเราไม่ว่าง เราสามารถวานให้คนอื่นปรุงให้ลูกน้อยทานแทนได้ และข้อดีที่สำคัญที่สุดเลยคือ หากลูกเราเป็นไรขึ้นมา จะได้เป็นข้อมูลไปคุยกับคุณหมอให้ช่วยในการวินิจฉัยง่ายขึ้น
แล้วพบกันอาทิตย์หน้าค่ะสำหรับเมนูแห่งความสนุกในการเตรียมลาภปากให้ลูกน้อย
>> เมนูอาหารลูกน้อย ไม่ใช่เรื่องยาก! "รัตมา พงศ์พนรัตน์" แนะนำสูตรอาหารเด็กทำง่าย ได้ประโยชน์