ผลสำรวจความสุขคนกรุง ผู้หญิงเลือกเป็นโสดสุขกว่ามีคู่
Life's Good Poll แบบสำรวจความสุขของคนกรุงเทพฯ โดยความร่วมมือระหว่าง บริษัท แอลจี อีเลคทรอนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด และสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต เผยผลสำรวจความสุขในแง่มุมต่างๆ ของคนกรุงเทพฯ ในปี 2555 โดยกลุ่มตัวอย่างชายและหญิง อายุระหว่าง 20-45 ปี จำนวน 1,037 คน ในเขตธุรกิจสำคัญของกรุงเทพฯ ระหว่างเดือน ต.ค.-พ.ย. 55 ที่ผ่านมา
ผลสำรวจพบว่า ความสุขในภาพรวมของคนกรุงเทพฯ มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 3.37 โดยคนที่คิดว่าตนเองมีความสุขมากถึงมากที่สุดมีเพียงร้อยละ 7, ร้อยละ 54 มีความสุขปานกลาง, และร้อยละ39 มีความสุขน้อยถึงน้อยที่สุด เมื่อจำแนกตามช่วงอายุ กลุ่มที่มีความสุขน้อยที่สุดคือ 20-25 ปี
ผลสำรวจยังแสดงให้เห็นว่านิยามของชีวิตที่มีความสุขนั้นแตกต่างกันตามช่วงอายุ โดยคนกรุงเทพฯ อายุ 31 ปีขึ้นไป (ร้อยละ 26) เชื่อว่าชีวิตที่มีความสุขคือ การมีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง ไร้โรคภัยไข้เจ็บ ในขณะที่กลุ่มหนุ่มสาวอายุ 20-25 ปี (ร้อยละ 23) จะมีความสุขหากได้ทำในสิ่งที่ตัวเองรักและใช้ชีวิตตามที่ต้องการ นอกจากนี้ การมีเพื่อนร่วมงานที่ดีกลับมีความสำคัญต่อความสุขในการทำงานของคนกลุ่มนี้ มากกว่าความก้าวหน้าในหน้าที่การงานซึ่งส่งผลต่อความสุขของกลุ่มคนอายุ 36 ปีขึ้นไป (ร้อยละ 25)
นอกจากนี้ยังสำรวจมุมมองด้านความสัมพันธ์ที่มีผลต่อความสุขของคนกรุงเทพฯ และสังคมซึ่งระบุว่า ผู้ร่วมสำรวจส่วนใหญ่ (ร้อยละ 57) เชื่อว่าชีวิตจะมีความสุขได้เมื่อมีความสัมพันธ์ที่ยืนยาว มีอนาคตร่วมกัน แต่ก็มีถึงร้อยละ 21 ของผู้หญิงที่ต้องการความอิสระ เชื่อว่าการเป็นโสดทำให้ชีวิตมีความสุขมากกว่าการใช้ชีวิตคู่ ในขณะที่ร้อยละ 21 ของผู้ชายที่ร่วมตอบแบบสำรวจ ไม่ต้องการมีความสัมพันธ์ที่ผูกมัด
ส่วนทัศนคติที่มีต่อเทคโนโลยีและนวัตกรรมซึ่งส่งผลต่อชีวิตที่มีความสุข โดยคนกรุงเทพฯ ยกให้โทรศัพท์มือถือเป็นสิ่งที่ช่วยเติมเต็มให้ชีวิตมีความสุขเป็นอันดับหนึ่ง (ร้อยละ 32) ในขณะที่โทรทัศน์และโน้ตบุ๊คเป็นอันดับรองลงมา (ร้อยละ 24 และ 19 ตามลำดับ) นอกจากนี้ คนกรุงเทพฯส่วนใหญ่เชื่อว่า เทคโนโลยีที่จะช่วยให้พวกเขามีความสุขมากขึ้น คือ การมีสัญญาณ W-iFi ฟรีและแรง ครอบคลุมทั่วพื้นที่กรุงเทพฯ
ผลสำรวจจาก Life's Good Poll ยังระบุว่าคนกรุงเทพฯ จะมีความสุขมากยิ่งขึ้น ถ้าปัญหาด้านเศรษฐกิจและค่าครองชีพได้รับการแก้ไข (ร้อยละ 32) รองลงมาคือปัญหาด้านการเมือง คอร์รัปชั่น และความสามัคคีภายในชาติ ร้อยละ 16 เท่ากัน
เมื่อถามถึงประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือ AEC ซึ่งจะส่งผลต่อคนไทยในปี 2558 ที่จะถึงนี้ ปรากฏว่ามีถึงร้อยละ 35 เชื่อว่าคนไทยจะเสียเปรียบมากกว่า เพราะแรงงานต่างชาติจะเข้ามาแย่งแรงงานไทย และมีถึงร้อยละ 12 ไม่รู้จักและไม่รู้เลยว่า AEC จะส่งผลต่อคนไทยอย่างไร โดยจำนวนที่เหลือเชื่อว่า AEC จะช่วยให้เกิดการสร้างงาน และกระตุ้นเศรษฐกิจไทย และช่วยให้แรงงานไทยทำงานต่างประเทศได้มากขึ้น