Be Magazine : ธันวาคม 2555
โครงการของพระราชา ที่ประชาชนควรรู้
พระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราชบรมนาถบพิตร กษัตริย์รัชกาลที่ 9 ของประเทศไทย เสด็จขึ้นครองราชย์สมบัติตั้งแต่เริ่มจวบจนปีครองราชย์ปัจจุบัน เป็นเวลายาวนานกว่า 66 ปี หลากหลายพระราชกรณียกิจก่อกำเนิดขึ้น ทรงสร้างพระบารมีจากการปฏิบัติตามทศพิธราชธรรม แล้วคุณจะไม่แปลกใจเลย ว่าทำไมประชาชนคนทำธรรมดา หรือปราชญ์ชาวบ้านที่เราเชิดชูหลายท่าน ถึงนำแนวทางของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นต้นแบบในการดำเนินชีวิตได้อย่างมีความสุขกระทั่งทุกวันนี้
๑. กษัตริย์ในวัยเติบโต
พระอัจฉริยภาพของกษัตริย์นั้น เกิดจากการฝึกฝนด้วยการเล่นในสิ่งที่มี และเล่นในสิ่งที่ประดิษฐ์ขึ้นเอง กษัตริย์ผู้พัฒนาตนจากคำสอนของผู้เป็นแม่ เรื่องราวในวัยเยาว์กลายเป็นพื้นฐานของกษัตริย์นักประดิษฐ์ ประหยัด กตัญญู ผู้เป็นแบบอย่างของคนไทยทั้งประเทศ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เมื่อยังทรงพระเยาว์พระองค์ได้ทรงใช้ชีวิตแบบสามัญชน ประทับอยู่ร่วมกับพระเชษฐา สมเด็จพระพี่นางเธอฯ และสมเด็จย่าโดยตลอด ณ พระตำหนักส่วนพระองค์ ที่เมืองโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ พระองค์โปรดปรานการช่างและการดนตรีเป็นอย่างมาก พระองค์ทรงเคยหุ้นค่าขนมกับพระเชษฐา เพื่อซื้อชิ้นส่วนวิทยุทีละชิ้นๆ แล้วเอามาประกอบเองเป็นวิทยุแล้วแบ่งกันฟัง ในด้านการดนตรี เมื่อราวพระชนมายุ 14-15 พรรษา ทรงซื้อแซกโซโฟนมือสองราคา 300 ฟรังก์มาหัดเล่น โดยครึ่งหนึ่งเป็นเงินสะสมส่วนพระองค์ และอีกครึ่งหนึ่งสมเด็จย่าออกให้ และภายหลังพระองค์ได้พระราชนิพนธ์เพลงขึ้นมาหลายบทเพลง
นอกจากนี้ยังโปรดปรานการเล่นกล้องถ่ายรูป กล้องถ่ายรูปกล้องแรกของพระองค์คือ Coconet Midget ทรงซื้อด้วยเงินสะสมส่วนพระองค์ เมื่อพระชนมายุเพียง 8 พรรษา เท่านั้น จะเห็นได้ว่าพระอัจฉริยภาพของพระองค์ มีพื้นฐานมาจาก "การเล่น" เพราะหากอยากได้ของเล่นอะไรต้องทรงเก็บเงินซื้อหรือประดิษฐ์เอง และที่สำคัญพระองค์ทรงเป็นกษัตริย์ยอดกตัญญู เมื่อครั้งที่สมเด็จย่ามีพระชนมายุได้ 93 พรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช จะเสด็จรับประทานอาหารเย็นกับสมเด็จย่าถึง 5 วันต่อหนึ่งสัปดาห์ ด้วยเหตุผลที่ว่า "ไปคุยกับแม่ ไปทำให้แม่ชุ่มชื่นหัวใจ" ถือว่าเป็นกษัตริย์ที่เป็นแบบอย่างให้กับประชาชนได้ในทุกๆ ด้าน
๒. การเดินทางของกษัตริย์
การเดินทางของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ กษัตริย์ผู้ทรงครองใจคนไทยทั้งประเทศ พระองค์ไม่ได้สะดวกสบายอย่างที่หลายคนคิด พระองค์ทรงเดินทางด้วยความลำบากเพื่อที่จะได้เข้าใกล้ราษฎรของพระองค์ให้มากที่สุด โดยทรงมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างประโยชน์สุขแก่ราษฎรชาวไทย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมพสกนิกร เมื่อปี พ.ศ. 2498 ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้ทรงรับทราบถึงความเดือดร้อนทุกข์ยากของราษฎรและเกษตรกรที่ขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคและการเกษตร จึงได้มีพระมหากรุณาธิคุณพระราชทาน โครงการพระราชดำริ "ฝนหลวง" ขึ้นเพื่อขจัดปัญหาภัยแล้ง
พระองค์ยังทรงเป็นห่วงราษฎรในเรื่องของสาธารณสุข พระองค์ได้พระราชทาน เรือเวชพาหน์ ให้แก่สภากาชาดไทยสำหรับเป็นพาหนะในการเดินทางไปตรวจรักษา และให้ความรู้ด้านสุขภาพแก่ราษฎรผู้อาศัยอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งจะเน้นในด้านทันตกรรมเป็นหลัก รวมทั้งให้ความรู้เกี่ยวกับการส่งเสริมสุขภาพตนเองและครอบครัว เพราะทรงเดินทางลงพื้นที่ด้วยพระองค์เอง จึงทำให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงรับรู้ถึงปัญหาที่แท้จริงของราษฎรและสามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุด นอกเหนือจากนี้ พระองค์ก็ทรงให้ความสำคัญกับการศึกษาโดยทรงจัดตั้ง มูลนิธิอานันทมหิดล ขึ้นเพื่อส่งเสริมสนับสนุนนักศึกษาที่มีความเป็นเลิศทางวิชาการสาขาต่างๆ ให้ได้รับโอกาสไปศึกษาต่อเพิ่มเติมที่ต่างประเทศ ในระดับที่สูงขึ้น เพื่อให้เป็นบุคคลชั้นนำของประเทศในสาขาวิชานั้นๆ และนำความรู้กลับมาพัฒนาประเทศชาติต่อไป
๓. เดินทางเพื่อพัฒนา
แม้ว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ จะทรงงานหนักมานานนับสิบปีแล้ว แต่ปัญหาของราษฎรก็ยังไม่หมดไป รวมทั้งภัยธรรมชาติอันหนักหน่วงที่เกิดขึ้น พระองค์ยังคงเดินทางอย่างต่อเนื่องเพื่อทรงแก้ไขปัญหาแก่ราษฎร จนเกิดคำพูดที่ว่า "ไม่มีที่ไหนในประเทศไทย ที่พระเจ้าอยู่หัวฯ เสด็จไปไม่ถึง"
เมื่อเดือนตุลาคมปี พ.ศ. 2505 ได้เกิดพายุแฮเรียต พัดผ่านตอนใต้ของประเทศไทย ก่อให้เกิดความเสียหายในจังหวัดภาคใต้ถึง 12 จังหวัด พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถานีวิทยุ อส.พระราชวังดุสิตประกาศเชิญชวนผู้มีจิตศรัทธาบริจาคเงินและสิ่งของเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัย โดยทรงรับและพระราชทานสิ่งของด้วยพระองค์เอง ทรงพระราชทานเงินให้กระทรวงศึกษาธิการ สร้างโรงเรียนประชาบาลที่ถูกพายุพัด และภายหลังพระราชทานชื่อว่า โรงเรียนราชประชานุเคราะห์
ซึ่งในปัจจุบันมีโรงเรียนดังกล่าวทั้งหมด 44 แห่งทั่วประเทศ และหลังจากที่พระองค์ทรงเดินทางลงพื้นที่ต่างๆ ไปทั่วประเทศ ทำให้พระองค์ทรงทราบถึงปัญหาที่แท้จริงของราษฎร คือความไม่พอเพียงในการดำรงชีวิต พระองค์จึงทรงชี้แนวทาง เศรษฐกิจพอเพียง แก่ราษฎรทั้งประเทศในขณะนั้นคือปี พ.ศ. 2517 แต่กว่าคนไทยเราจะเห็นค่าของสิ่งที่พระองค์ทรงชี้แนะ เวลาก็ล่วงเลยมาหลายทศวรรษ กระทั่งปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงถูกพูดถึงและนำมาใช้อย่างจริงจังเมื่อปี พ.ศ. 2540 หรือในยุคฟองสบู่แตก แต่เพราะปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ทำให้ประเทศไทยผ่านพ้นวิกฤตนั้นมาได้
๔. พลิกแผ่นดินเกษตรกรรม
การช่วยเหลือของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ไม่ได้เพียงช่วยเหลือให้ผ่านๆไปเท่านั้น พระองค์ทรงมองการณ์ไกลไปถึงอนาคตข้างหน้าของราษฎร ว่าราษฎรของพระองค์จะต้องช่วยเหลือตัวเองได้ และมีที่ทำกินต่อไปในอนาคต เมื่อพระองค์เสด็จเยี่ยมราษฎรในถิ่นทุรกันดารทางภาคเหนือ พระองค์ทรงเห็นว่าชาวเขานิยมปลูกฝิ่น และทำไร่เลื่อนลอยอันเป็นการทำลายระบบนิเวศน์ ต้นน้ำลำธารถูกทำลายและเป็นแหล่งต้นกำเนิดของยาเสพติด ทำให้ในปี พ.ศ. 2512 มีการจัดตั้งสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง จ.เชียงใหม่ จึงเกิดขึ้น ซึ่งเป็นสถานีวิจัยแห่งแรกของโครงการหลวง เพื่อส่งเสริมการปลูกพืชเมืองหนาวแก่ชาวเขา ส่งเสริมให้เกิดรายได้ทดแทนการปลูกฝิ่นและทำไร่เลื่อนลอย ต่อมาในปี พ.ศ. 2513 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถฯ เสด็จเยี่ยมราษฎรบ้านห้วยห้อม จ.แม่ฮ่องสอน เป็นครั้งแรก และได้พระราชทานทรัพย์แก่ราษฎรที่ขาดแคลนข้าวเพื่อจัดตั้งเป็นธนาคารข้าว
พระองค์รับสั่งว่าเป็นธนาคารข้าวแห่งแรกของโลก ทั้งนี้การเดินทางเพื่อราษฎรของพระองค์ยังคงต่อเนื่อง โดยเฉพาะเมื่อปี พ.ศ. 2521 พระองค์ได้เสด็จเยี่ยมราษฎรหมู่บ้านพระบาทห้วยต้ม จ.ลำพูน ทอดพระเนตรเห็นสภาพพื้นที่ และชีวิตความเป็นอยู่ที่ขาดแคลน มีเด็กเป็นโรคขาดสารอาหารจำนวนมาก พระองค์ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งโครงการหลวงส่วนพระองค์ขึ้นนับแต่นั้นเป็นต้นมา ต่อจากนั้น ก็ยังมีโครงการหลวงเกิดขึ้นอีกมากมายทั่วประเทศ โดยผลผลิตจากโครงการหลวงในปัจจุบันมีชื่อการค้าว่า โครงการหลวง และดอยคำ สุดท้ายแล้วราษฎรก็สามารถพึ่งพาตัวเองได้
๕. จากบ้านสู่โรงเรียนประชาชน
พระองค์ไม่ได้ออกเดินทางแค่ต่างจังหวัด หรือออกพื้นที่เพียงอย่างเดียว หากแต่พระองค์ยังทรงเดินในบ้านของพระองค์ และเปลี่ยนบ้านของพระองค์เอง เป็นศูนย์ให้ความรู้ ให้อาชีพแก่ราษฎร เพื่อให้ประชาชนได้ความรู้และนำไปพัฒนาตัวเอง พระองค์ไม่ได้ทรงหยิบยื่นให้ แต่หากสอนให้ประชาชนเรียนรู้ และหาทำกินเอง และยืนได้ด้วยตัวเอง
จากโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา อันตั้งอยู่ภายในพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เป็นศูนย์ความรู้ที่พระองค์ตั้งใจจะแจกจ่ายความรู้ให้แก่ประชาชน เพื่อพึ่งพาตนเองได้ โดยมีการศึกษา ทดลอง เก็บรวบรวมข้อมูล และผลการศึกษาในด้านเกษตรกรรม ทำให้วังที่ประทับของพระองค์ที่เปรียบเหมือนบ้าน กลายเป็นโรงเรียนที่ให้ความรู้ ให้อาชีพแก่ราษฎร พระองค์ทรงเดินทุกๆ จุดของบ้านพระองค์ เพื่อให้มั่นใจว่าเป็นโครงการที่ช่วยเหลือประชาชนได้จริง โดยจะจำหน่ายผลิตภัณฑ์ในราคาที่ไม่หวังผลกำไร มุ่งส่งเสริมให้ประชาชนบริโภคสินค้าที่ผลิตได้ภายในประเทศ ซึ่งมีผลิตภัณฑ์มากมาย เช่น นมยูเอชที นมผงอัดเม็ด เนย ไอศกรีม โยเกิร์ต เป็นต้น อีกทั้งยังทรงจัดตั้ง มูลนิธิชัยพัฒนา เพื่อสนับสนุนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และโครงการพัฒนาอื่นๆ เพื่อช่วยเหลือประชาชนในด้านเศรษฐกิจและสังคมให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
นอกจากนี้ พระองค์ทรงเดินทางมุ่งแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำในภาคอีสานจากเหตุการณ์วิกฤตฝนแล้งเมื่อต้นปี 2530 และไม่ได้ทรงหยุดอยู่เพียงแค่ครั้งนั้น ทรงมีพระราชดำริในการหาหนทางช่วยเหลือประชาชนชาวอีสานอย่างต่อเนื่อง และพัฒนาเป็นแผนพัฒนาอย่างเป็นระบบ จนเป็นจุดเริ่มต้นของโครงการอีสานเขียว อันทำให้ภาคอีสานของประเทศไทยไม่เป็นดินแดนอันแห้งแล้งอีกต่อไป แสดงถึงความใส่ใจที่ทรงให้ความสำคัญแก่ประชาชนในทุกด้านอย่างแท้จริง
๖. ทรงฟื้นผืนป่าและน้ำ
หลังจากพระองค์รู้รอบบ้านของพระองค์เองแล้ว พระองค์ยังทรงเดินหน้าใส่ใจป่าไม้ และทรัพยากรธรรมชาติ เพราะป่าไม้นั้นมีความสัมพันธ์กับน้ำ กล่าวคือ ป่าเป็นแหล่งกำเนิดของต้นน้ำ หากไม่มีต้นน้ำ ก็จะไม่มีปลายน้ำอันเป็นหัวใจสำคัญของการดำรงชีพของประชาชน ดังนั้น ป่าไม้ จึงเป็นสมบัติอันล้ำค่าของประเทศที่พระองค์ให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงตระหนักถึงคุณค่าของธรรมชาติและป่าไม้ เพื่อดำรงรักษาจำนวนป่าไม้ให้ยั่งยืนและมากที่สุด จึงเกิดพระราชดำริป่าเปียก ทฤษฎีการพัฒนาป่าไม้โดยการใช้ทรัพยากรน้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อป้องกันไฟไหม้ป่าและปัญหามลพิษหมอกควัน และยังทรงพัฒนาป่าไม้ควบคู่กับการทำมาหากินของราษฎร จากโครงการในพระราชดำริห้วยองคต โดยใช้พื้นที่ป่าสงวนซึ่งถูกบุกรุกทำลายจนมีสภาพเสื่อมโทรม มาดำเนินการจัดสรรให้แก่ราษฎรผู้ยากจนเข้าไปประกอบอาชีพที่สามารถสร้างรายได้ พัฒนาเป็นอาชีพให้เลี้ยงปากเลี้ยงท้องตนเองและครอบครัวได้
นอกจากนั้นยังเกิดโครงการสำคัญคือ โครงการแก้มลิง โดยพระองค์ทรงได้แนวคิดจาก ลิง ที่โดยทั่วไปถ้าส่งกล้วยให้ลิง มันจะรีบปอกเปลือก เอาเข้าปากเคี้ยว แล้วนำไปเก็บไว้ที่แก้มก่อน ทำอย่างนี้จนกล้วยหมดหวีหรือเต็มกระพุ้งแก้ม จากนั้นจะค่อยๆ นำออกมาเคี้ยวและกลืนกินภายหลัง พระองค์ทรงนำหลักการนี้มาใช้กับการชะลอน้ำก่อนที่จะจัดการระบายออกลงทะเล เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วม โครงการแก้มลิงเป็นโครงการที่แก้ปัญหาน้ำท่วมได้เป็นอย่างดีและมีประสิทธิภาพมาก พระองค์ถือเป็นผู้ที่รู้ลึกถึงองค์รวมของธรรมชาติทั้งหมด ไม่มองเฉพาะปลายทาง หากแต่มองไปถึงหัวใจสำคัญที่หล่อเลี้ยงชีวิตทุกชีวิต
๗. ธ ผู้ไม่เคยละทิ้งประชาชน
หลังจากพระองค์ทรงใส่ใจต้นน้ำ ปลายน้ำก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน ตลอดเวลาที่ได้ทรงงาน พระองค์ทรงให้ความสำคัญ เรื่องน้ำ เป็นอันดับหนึ่ง เนื่องจากภูมิประเทศของประเทศไทย เป็นแหล่งอู่ข้าวอู่น้ำ เหมาะแก่การเกษตรกรรม แต่ข้อเสียคือ เมื่อน้ำมากเกินไป จึงเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมที่ซ้ำแล้วซ้ำเล่าในประเทศไทย พระองค์จึงทรงมีพระราชดำริเกี่ยวกับน้ำนานับไม่ถ้วน พระองค์ทรงมีพระราชดำริให้ปรับปรุงคลองลัดโพธิ์ จังหวัดสมุทรปราการ คลองตัวอย่างของการบริหารจัดการน้ำ ช่วยให้แม่น้ำเจ้าพระยาไหลลัดลงทะเลได้สะดวกและรวดเร็ว และแก้ไขปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพฯ และปริมณฑล ช่วยลดผลกระทบจากภาวะน้ำล้นตลิ่งได้อย่างมีประสิทธิภาพ และจากเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ปี 2554 ที่สร้างความเสียหายครั้งยิ่งใหญ่แก่ประเทศไทย ทันทีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงรับทราบความเดือดร้อนของประชาชน
พระองค์ทรงมีพระบรมราชานุญาตให้ผันน้ำเข้าที่ดินส่วนพระองค์ บริเวณทุ่งมะขามหย่อง และ ทุ่งภูเขาทอง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อลดระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาที่ไหลบ่าเข้ากรุงเทพฯ บรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน พระองค์ทรงเป็นพระราชาที่เสียสละ และยินดีจะทำเพื่อราษฎรของท่านอย่างแท้จริง ตลอดระยะเวลา 66 ปี พระองค์ทรงเดินทางอย่างเหน็ดเหนื่อย เพื่อประชาชนชาวไทย แต่พระองค์ก็ไม่เคยหยุดนิ่ง ทรงมีพระราชดำริ ทรงเป็นห่วง และไม่เคยละทิ้งประชาชน ดังที่พระองค์เคยตรัสครั้งหนึ่งว่า "ถ้าประชาชนไม่ "ทิ้ง" ข้าพเจ้าแล้ว ข้าพเจ้าจะ "ละทิ้ง" อย่างไรได้" และจากการที่พระองค์ได้ขึ้นตรัส ณ สีหบัญชร ในวันที่ 5 ธันวาคมของทุกๆ ปี ก็เป็นที่ตอกย้ำว่า ไม่ใช่แค่พระองค์เท่านั้นที่เดินทางเพื่อประชาชน แต่ประชาชนคนไทยทุกคนก็พร้อมที่จะเดินทางมาหาพระองค์ ทำให้ประจักษ์แก่สายตาทุกคนบนโลกว่า คนไทยทุกคนเองก็ไม่เคยละทิ้งพระมหากษัตริย์อันเป็นที่รักยิ่งเช่นกัน
๘. เตือนใจจากพ่อ
"ในบ้านเมืองนั้น มีทั้งคนดีและคนไม่ดี ไม่มีใครที่จะทำให้ทุกคนเป็นคนดีได้ทั้งหมด การทำให้บ้านเมืองมีความปกติสุข เรียบร้อยจึงมิใช่การทำให้ทุกคนเป็นคนดี หากแต่อยู่ที่การส่งเสริมความดี ให้คนดีปกครองบ้านเมือง และคุมคนไม่ดี ไม่ให้มีอำนาจไม่ให้ก่อความเดือดร้อนวุ่นวายได้" พระบรมราโชวาทในพิธีเปิดงานชุมนุมลูกเสือแห่งชาติ ณ ค่ายลูกเสือวชิราวุธ จังหวัดชลบุรี เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2512
"ผู้ที่จะรักษาความเป็นไทยได้มั่นคงที่สุด ดีและเหมาะสมที่สุด ไม่มีใครอื่นนอกจากคนไทย เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะอยู่ ณ แห่งใด คนไทยมีหน้าที่ต้องรักษาความเป็นไทยเสมอ" พระบรมราโชวาท พระราชทานแก่สมาคมนักเรียนไทยในประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2537
"อาจจะมีของหรูหราก็ได้ แต่ว่าต้องไม่ไปเบียดเบียนคนอื่น ต้องให้พอประมาณตามอัตภาพ พูดจาก็พอเพียงทำอะไรก็พอเพียง ปฏิบัติตนก็พอเพียง" พระราชดำรัสเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2541
ความเมตตาปรารถนาดีของท่านต่อกันนี้เป็นปัจจัยอย่างสำคัญ ที่จะทำให้ความพร้อมเพรียงให้เกิดขึ้น ดีขึ้นทั้งในหมู่คณะและในชาติบ้านเมือง แต่ถ้าคนไทยเรายังมีคุณธรรมข้อนี้ประจำอยู่ในจิตใจก็จะมีความหวังได้ว่าบ้าน เมืองไทยไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ใดๆ ก็จะอยู่รอดปลอดภัย และธรรมธำรงมั่นคงปลอดภัย ได้ตลอดรอดฝั่งอย่างแน่นอน พระราชดำรัส ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม พระราชวังดุสิต เมื่อวันพุธที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2555