อยู่กับ “แม่วัยทอง” อย่างไรให้เป็นสุข?

อยู่กับ “แม่วัยทอง” อย่างไรให้เป็นสุข?

อยู่กับ “แม่วัยทอง” อย่างไรให้เป็นสุข?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

คุณแม่ที่น่ารักของเรา เคยมีอาการเหล่านี้ไหม... มักจะหงุดหงิด อารมณ์ไม่ดี อารมณ์แปรปรวนง่าย เหวี่ยงวีนแบบไม่มีเหตุผลบ่อย ๆ จนทำให้คุณทั้งน้อยใจ ทั้งเครียด ไม่รู้จะทำยังไงดีแล้ว ถ้ามีอาการตามนี้ ก็เป็นไปได้ว่า คุณแม่ของเรากำลังอยู่ในช่วงวัยทอง และแม้ว่าการดูแล แม่วัยทอง จะไม่ถือว่ายุ่งยากอะไร แต่ก็ต้องการทั้งความเข้าใจ และพลังใจของคนรอบข้างพอสมควร วันนี้เราจึงนำเทคนิคดีๆ ในการดูแล และ รับมือกับคุณแม่วัยทอง มาฝากกัน เพื่อให้ทุกคนในครอบครัวได้อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข

ทำความเข้าใจ แม่วัยทอง

วัยทอง หรือ Menopause คือ ภาวะที่สตรีเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน โดยมักมีอาการ เมื่อมีอายุเฉลี่ยประมาณ 45-55 ปี วัยทองจะส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลง ทั้งทางด้านร่างกาย และจิตใจ อาการอาจหายไปเองเมื่อเริ่มเข้าสู่วัยชรา หรือคงอยู่ตลอดจนสิ้นอายุขัย โดยก่อนจะเข้าสู่วัยทอง ร่างกายจะมีการส่งสัญญาณเตือนล่วงหน้า คือ ประจำเดือนเริ่มมาคลาดเคลื่อน หรือมาแบบกะปริบกะปรอย และประจำเดือนขาดไปราว 1 ปี แต่กลับมาเป็นอีกครั้ง ก่อนหมดประจำเดือนอย่างถาวร

หลังจากที่คุณแม่เข้าสู่วัยทอง หรือวัยหมดประจำเดือนแล้ว จะเริ่มมีอาการต่าง ๆ ที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย ดังนี้

  • ไม่มีประจำเดือน ช่องคลอดแห้ง
  • ร้อนวูบวาบ ไม่สบายตัว เหงื่อออกตอนกลางคืน
  • เริ่มมีปัญหาเรื่องการนอน นอนน้อย นอนไม่หลับ
  • ผิวแห้ง ผมร่วง หนังศีรษะบาง
  • ระบบเผาผลาญในร่างกายทำงานได้น้อยลง อ้วนขึ้น
  • ไม่มีสมาธิ อารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดง่าย

ลูกๆ รวมถึงคนรอบข้าง จำเป็นต้องตระหนักถึง และเข้าใจต่ออาการต่าง ๆ และสิ่งที่ คุณแม่วัยทอง ต้องเผชิญ เพื่อที่จะได้เรียนรู้ และปรับตัวเข้ากับสภาวะของคุณแม่ได้อย่างเหมาะสม

โดยสิ่งที่ลูกๆ ควรทำ เพื่อให้อยู่ร่วมกับ คุณแม่วัยทอง ได้อย่างเป็นสุข คือ

  • ให้ความรัก และการดูแลอย่างเต็มที่

ความรัก ความเข้าใจ และการดูแลเอาใจใส่ คือสิ่งที่สำคัญที่สุด ในการดูแล แม่วัยทอง เพราะคนวัยทอง จะมีอารมณ์ที่ค่อนข้างแปรปรวน การแสดงความรักและความเอาใจใส่ด้วยคำพูด รวมถึงการแสดงออกด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น การกอด การหอม จากคนในครอบครัว รวมถึงคนรอบข้างอื่น ๆ จะช่วยให้คุณแม่ของคุณ รู้สึกสบายใจ ไม่เครียด และคลายความกังวลได้

  • ช่วยดูแลเรื่องสุขภาพ

นอกจากเรื่องของอารมณ์ และพฤติกรรม ที่อาจเปลี่ยนไปมากแล้ว สุขภาพร่างกายของคุณแม่วัยทอง ก็เกิดการเปลี่ยนแปลงเช่นเดียวกัน เมื่อคุณแม่นอนไม่หลับ ทำให้ไม่สามารถพักผ่อนได้อย่างเพียงพอ ก็อาจทำให้ท่านล้มป่วยได้ง่าย รวมถึงภาวะกระดูกพรุน ที่พบได้บ่อยในผู้ที่อยู่ในช่วงวัยทอง ที่ทำให้คุณแม่เสี่ยงต่อการบาดเจ็บ หรือกระดูกหักได้ง่ายขึ้น ลูก ๆ จึงควรช่วยดูแลรักสุขภาพร่างกาย ให้กับคุณแม่ และพาไปตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ

  • ช่วยดูแลเรื่องอาหาร

อาหารหลายชนิด สามารถช่วยบรรเทาต่าง ๆ ที่มักเกิดขึ้นในคนวัยทองได้ เช่น

  • อาหารที่ช่วยเรื่องการหลั่งฮอร์โมนแห่งความสุข เช่น ข้าวกล้อง ปลาแซลมอน ไข่ กล้วย อัลมอนด์ โสม เป็นต้น เพื่อช่วยลดอาการอารมณ์แปรปรวนง่าย
  • อาหารที่ช่วยปรับฮอร์โมนเอสโตรเจนให้สมดุล เช่น ข้าวสาลีและธัญพืช แครอท น้ำมะพร้าว น้ำเต้าหู้
  • อาหารจำพวกแคลเซียม เพื่อช่วยป้องกันโรคกระดูกพรุน
  • ส่วนอาหารที่ควรหลีกเลี่ยง คือ ชา กาแฟ แอลกอฮอล น้ำอัดลม อาหารรสจัดหรือเผ็ดร้อน และขนมหวานต่าง ๆ
  • หากิจกรรม หรืองานอดิเรกให้ทำยามว่าง

การให้คุณแม่ได้มีกิจกรรมทำในยามว่าง เช่น ท่องเที่ยว ดูหนัง ช้อปปิ้ง หรืองานอดิเรกต่าง ๆ เช่น งานประดิษฐ์ ทำอาหาร ทำสวน นอกจากจะช่วยคลายเหงาได้แล้ว ยังสามารถช่วยลดความเครียดให้กับคุณแม่ได้ และถ้าเป็นกิจกรรม ที่สามารถทำร่วมกับคนในบ้านได้ด้วยแล้ว ก็ยิ่งดีไปกันใหญ่ เพราะนอกจากจะช่วยให้คุณแม่ได้คลายเหงา มีจิตใจเบิกบานแล้ว ยังเป็นกระชับความสัมพันธ์ในครอบครัว ให้แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้นอีกด้วย

  • รู้จักปล่อยวาง

หากคุณได้ทำหน้าที่ของลูกอย่างเต็มที่แล้ว แต่คุณแม่ของคุณก็ยังไม่พอใจ ทำอะไรก็ไม่ถูกใจเสียที หรือยังคงโดนดุด่าโดยไม่มีเหตุผลอยู่เป็นประจำ ก็ต้องขอแนะนำว่า ให้คุณใจเย็น ๆ และปล่อยวางกับทุกสิ่งเสียบ้าง เพราะพฤติกรรมเหล่านี้ เป็นไปได้ว่าเกิดจากอาการของวัยทอง ที่คุณแม่เองก็ไม่สามารถควบคุมได้เช่นกัน

หากคุณสามารถทำความเข้าใจได้ว่า สิ่งที่คุณแม่แสดงออกมานั้น เป็นธรรมชาติของวัยทอง ก็จะช่วยให้คุณสามารถรับมือกับเรื่องทั้งหมดได้ง่ายขึ้น และไม่จำเป็นต้องรู้สึกน้อยอกน้อยใจแต่อย่างใด

วัยทอง ไม่ใช่เรื่องที่น่ากลัวเสมอไป แต่ก็จำเป็นต้องใช้ความเข้าใจ ความอดทน และความเสียสละ จากคนรอบข้างด้วย หากคุณมุ่งมั่นที่จะเรียนรู้และเข้าใจ รวมถึงหมั่นดูแลเอาใจใส่คุณแม่วัยทอง ก็จะสามารถช่วยให้ทุกคนผ่านพ้นการเปลี่ยนแปลงต่างๆ นี้ที่คุณแม่ของคุณ รวมถึงคุณ และคนรอบๆ ข้าง ไปได้ด้วยดี

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook