5 เคล็ดลับบริหารการเงินหลังแต่งงานอย่างชาญฉลาด ไม่ให้ทะเลาะกันในภายหลัง
หลายๆ คนคงเคยได้ยินว่าชีวิตคู่ที่แท้จริงจะเริ่มต้นหลังจากแต่งงาน ซึ่งนั้นก็เป็นเรื่องจริงที่แทบจะยิ่งกว่าจริง เพราะนอกจากคู่รักจะต้องปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิตประจำวันให้เข้ากันให้ได้หลังจากแต่งงานแล้ว มุมมองเรื่องการใช้เงินที่เคยแตกต่างกัน อีกคนหนึ่งใช้จ่ายอย่างประหยัดอดออม อีกคนช็อปแหลก ก็อาจจะต้องปรับจูนมุมมองการเงินให้ไปในทิศทางเดียวกัน เพราะเรื่องการเงินในครอบครัวเป็นสิ่งสำคัญมาก หลังแต่งงาน เงินหรือรายได้ทุกอย่างของครอบครัวจะรวมอยู่ที่กระเป๋าใบเดียวกัน หากบริหารจัดการไม่ดี ค่าใช้จ่ายอาจจะเพิ่มมากขึ้นเป็นเท่าตัว ยิ่งถ้าคู่สามีภรรยาคู่ไหนกำลังวางแผนมีลูก ยิ่งต้องวางแผนอย่างรัดกุม เพื่อมิให้เกิดปัญหาเรื่องเงินขาดมือขึ้นมาภายหลังได้
โดยขั้นแรกที่คู่สามีภรรยามือใหม่จะต้องทำก่อนเลย คือการเปิดใจและจับเข่าคุยกัน เพื่อวางแผนบริหารเงินภายในครอบครัวอย่างรอบคอบ ทำอย่างไรจึงจะมี “เงินออม” เพื่ออนาคต และจะทำอย่างไรให้ “เงินค่าสินสอด” ที่ได้มาจากครอบครัวงอกเงย Happy wedding.Life เรามีเคล็ดลับดีๆ มาฝากกันค่ะ
ตรวจสุขภาพทางการเงิน
เมื่อแต่งงานแล้ว คู่รักควรจะวิเคราะห์สถานะทางการเงินของทั้งคู่อย่างเปิดใจเพื่อให้คุณเห็นสภาพคล่องทางการเงินชัดเจนยิ่งขึ้น และสามารถวางแผนการเงินให้สอดคล้องกับสถานะภาพทางการเงิน (แต่ละครอบครัวอาจไม่เท่ากัน) เช่น รายได้ต่อเดือน หนี้สิน ค่าใช้จ่ายรายเดือน ที่จะเป็นตัวกำหนดว่าเราควรจะต้องวางแผนยังไงต่อไป เพื่อให้ครอบครัวมั่นคงในอนาคต
1. สร้างบัญชีกลางร่วมกัน
หลังจากที่เริ่มประมาณรายจ่ายของครอบครัวแล้ว ว่าค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือนจะมีจะมีค่าใช้จ่ายส่วนกลางอะไรบ้าง เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าผ่อนบ้าน ผ่อนรถ ฯ คู่แต่งงานอาจสร้างบัญชีร่วมกันขึ้นมา 1 บัญชี เป็นบัญชีกลางร่วมกัน จะทำให้คู่แต่งงานสบายใจมากขึ้น โดยเงินในบัญชีกองกลางนี้อาจมาจากการแบ่งสัดส่วนตามรายได้ของแต่ละฝ่าย 50% เข้าบัญชีกองกลางในแต่ละเดือน ส่วนที่เหลืออีก 50% ของเงินเดือน ถือเป็นเงินส่วนตัวที่สามารถใช้จ่ายได้อย่างอิสระ โดยไม่ต้องเกรงใจว่าจะทำให้อีกฝ่ายไม่สบายใจ
2. บัญชีเงินออมและเงินสำรองฉุกเฉิน
การสำรองเงินถือเป็นหลักประกันให้ครอบครัวในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินไม่คาดฟัน เช่น ตกงาน เจ็บป่วย อุบัติเหตุ คู่สามีภรรยาสามารถนำเงินส่วนนี้มาใช้ในได้ในกรณีฉุกเฉิน ฉะนั้นบัญชีธนาคารนี้ควรเป็นบัญชีเงินฝากออมทรัพย์หรือกองทุนเงินตราสาร ที่มีสภาพคล่องตัวสูงสามารถถอนเงินมาใช้ได้ใน 1-2 วัน ซึ่งหากไม่มีกรณีต้องใช้เงินฉุกเฉินเงินส่วนนี้ก็จะกลายเป็นเงินออมเพื่อเป้าหมาย ที่คู่แต่งงานอาจจะต้องมาคิดต่อว่าจะต้องออมเงินวิธีไหนถึงจะงอกเงยได้ผลกกำลังมาต่อยอดได้ดีที่สุด อาจจะซื้อพันธบัตรรัฐบาล หุ้น หรือฝากประจำ ซึ่งคู่รักคงต้องคุยกันให้เคลียร์ว่าวิธีออมแบบไหนถึงจะสบายใจทั้งคู่
3. บัญชีกองทุนของครอบครัว
จัดสรรเงินออมอย่างน้อย 10% ของเงินเดือนมาต่อยอดสร้างความมั่นคงให้ครอบครัว ด้วยการสร้างบัญชีลงทุกในตราสารหนี้ กองทุนรวมต่างๆ หรือหุ้น เพื่อสะสมในระยะยาวให้แก่ครอบครัว
4. บัญชีอนาคตเพื่อลูกน้อย
แน่นอนว่าคู่แต่งงานวัยรุ่นอาจจะยังไม่คิดมีลูกน้อยในตอนนี้ แต่หากคู่สามีภรรยามีการวางแผนอนาคตลูกให้ดีตั้งแต่เนินๆ เมื่อพร้อมมีลูก ต่อให้มีลูกสิบคนก็ไม่จนไปเป็นสิบชาติเหมือนอย่างที่เคยได้ยินมาอย่างแน่นอน เพราะคุณได้เครียมความพร้อมให้เขาตั้งแต่เนินๆ แล้ว โดยเริ่มคำนวนค่าใช้จ่ายสำคัญต่างๆ รวมถึงค่าใช้จ่ายการศึกษาในระดับสูงสุดที่ต้องการ มาพิจารณาจากการออมและการลงทุนที่หลากหลายไม่ว่าจะเป็นเงินฝากประจำหรือหรือประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ที่ได้รับเงินคืนในอนาคต บัญชีอนาคตเพื่อลูกน้อยจึงเป็นอีกหนึ่งบัญชีที่จะช่วยคู่สามีภรรยาได้ในระยะยาว
5. บัญชีส่วนตัวเพื่อใช้จ่าย
แน่นอนว่าทุกคนย่อมมีสิ่งที่ตนชื่นชอบแตกต่างกัน การแยกบัญชีที่ใช้จ่ายในเรื่องส่วนตัว ไม่ว่าจะเป็นการช็อปปิ้ง ซื้อของที่ชอบ หรือสังสรรค์กับเพื่อนฝูง จะทำให้คู่แต่งงานมีอิสระในการใช้เงินของตนมากขึ้น สามารถใช้จ่ายได้อย่างสบายใจ โดยที่คู่แต่งงานไม่สามารถนำเรื่องเงินส่วนนี้มาเป็นปัญหาในการทะเลาะเบาะแว้งกันได้
เพราะสถิติการหย่าร้าง มาจากปัญหาเรื่องเงินๆ ทองๆ สูงสุดถึง 80% จากสถิติเรื่องการหย่าร้างทั้งหมด ฉะนั้น ไม่ว่าจะก่อนแต่งงานหรือหลังแต่งงานก็ตาม สิ่งสำคัญอันดับแรก ที่คู่รักจะต้องจับเข่าคุยกันให้เข้าใจก็คือ "การบริหารการเงินในครอบครัว" ให้มีมุมมองทางการเงินที่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งถ้าหากคุณรู้หลักการบริหารเงินให้งอกเงยอย่างชาญฉลาดด้วยแล้วล่ะก็ ปัญหาเรื่องเงินๆ ทองๆ จะไม่มีผลในอนาคตต่อคู่ของคุณอย่างแน่นอน