เด็กน้อยเป็นอะไร เคยพูดรู้เรื่อง แล้วกลับพูดไม่ฟัง
Q. ตอนนี้ลูกสาวอายุ 3 ขวบ 5 เดือน เกิดมาพูดกันไม่รู้เรื่องทั้งที่ตอนยังไม่ไปโรงเรียนไม่เป็นขนาดนี้ เดี๋ยวนี้ข้อต่อรองเยอะ อะไรไม่ได้ดั่งใจจะใช้วิธีร้องไห้ อะไรที่เขาทำไม่ถูก ไม่ควร พ่อแม่พูดหรือบอกดีๆ ให้ทำใหม่ก็มองหน้านิ่ง ไม่ยอมแก้ไข สังเกตว่าเขารู้สึกผิดอยู่ บางทีเราโกรธหรือเสียใจที่เขาเป็นอย่างนี้จนไม่พูดด้วยเลยค่ะ เขาก็ไม่พูดด้วยตอบเสียอีก รับมือยากขึ้นเรื่อยๆ ขอความช่วยเหลือด้วยค่ะ
ก่อน 3 ขวบ เด็กส่วนใหญ่จะยังงงเรื่องตัวเขาตัวเรา เขาเป็นลูก คุณเป็นแม่ แต่แม่ลูกผูกพันจนเป็นเหมือนชีวิตเดียวกัน ไม่รู้ใครเป็นใคร ก่อน 3 ขวบ เด็กส่วนใหญ่จะยังไม่ชัดเจนนักเรื่องการคงอยู่ของอะไรต่อมิอะไร เขาไม่แน่ใจว่าคุณแม่นั้นมีอยู่จริงๆ เราจึงเห็นปรากฏการณ์ที่เด็กเล็กบางคนไม่อนุญาตให้แม่เข้าห้องน้ำเพราะเวลาแม่ลับบานประตูไปคือหายไป เด็กเล็กบางคนไม่ยอมเข้าโรงเรียนเพราะไม่แน่ใจว่าเข้าไปแล้วถึงตอนเย็นกลับออกมาแม่จะยังอยู่เพราะไม่เห็นคือไม่มี
ประมาณ 2 ขวบครึ่งที่เด็กเล็กส่วนใหญ่จะมีตัวตนที่มั่นคงมากพอสมควรแล้ว เขาคือเขา (คือมีอะไรที่เรียกว่าตัวตนหรือ self แล้ว) และเห็นคุณแม่มั่นคงตามสมควร (คือคุณแม่นั้นมีอยู่จริงหรือ constant แล้ว) แม้ว่าจะยังไม่มั่นคงถึงที่สุดจนกว่าจะครบ 3 ขวบดังว่า ช่วง 2 ขวบครึ่งนี้เองที่เด็กจะเริ่มกระบวนการแยกตัวออกจากคุณแม่ ที่จริงตัวก็แยกอยู่แล้วนั่นแหละ แต่ที่เขียนนี้หมายถึงกระบวนการแยกตัวตนหรือจิตใจออกจากตัวตนหรือจิตใจคุณแม่กลายเป็นบุคคลอิสระ(เรียกว่า separation-individuation) กระบวนการแยกตัวนี้ดำเนินไปเรื่อยๆ จนกระทั่งเสร็จสิ้นเมื่ออายุ 3 ขวบ เขาเป็นเขา แม่เป็นแม่ คนสองคนเป็นคนละคนจริงๆแล้ว มิใช่พัวพันกันจนไม่รู้ใครเป็นใครเหมือนก่อนหน้านั้น
ตอน 3 ขวบเขามิใช่เป็นเพียงบุคคลอิสระเขายังมีขาแข็งแรงเดินไปไหนก็ได้ ปีนได้ด้วย เขายังมีมือแข็งแรงฉวยหยิบจับอะไรก็ได้ ขว้างได้ด้วย ยิ่งไปกว่านั้นเขายังพูดได้ โอ้โฮ เขาพูดได้ เก่งอะไรเช่นนี้ แค่สามอย่างก็ทำคุณพ่อคุณแม่ปวดศีรษะได้แล้ว มิพักต้องพูดถึงความสามารถด้านอื่น เป็นครั้งแรกที่มนุษย์อายุ 3 ปีคนนี้เดินได้แข็งแรง มีมือที่ทรงพลัง และพูดจาสื่อสารได้ เป็นเวลาเดียวกับที่เขาเพิ่งจะเป็นอิสรภาพจากมนุษย์อีกคนคือคุณแม่ คิดว่ามนุษย์คนนี้เขาจะทำอะไรเป็นอย่างแรกครับ
คำตอบคือท้าทายและทดสอบ ท้าทายคือท้าทายตัวเอง ทดสอบคือทดสอบคนอื่น
ถูกต้องแล้ว เขาเพียงแค่ทำหน้าที่ของเขาคือท้าทายความสามารถของตนเอง ลองเดินออกไปถนนหน้าบ้านดูซิว่าจะไปถึงมั้ย ลองปีนขึ้นไปกระโดดบนโต๊ะกินข้าวดูซิว่าจะตกมั้ย ลองรื้อของเล่นออกมาให้กองเต็มบ้านดูซิว่าจะสนุกมั้ย ลองพูดคำหยาบเลียนแบบคุณลุงข้างบ้านดูสิว่าจะพูดเหมือนมั้ย เด็กยิ่งฉลาดพัฒนาเร็วยิ่งอยากท้าทายข้อจำกัดของตนเองทุกๆวัน
แล้วเขาจะพบว่าในบ้านเริ่มมีคำว่า "ไม่" บ่อยขึ้นเรื่อยๆ เขาก็ทำหน้าที่ของเขาต่อไป คือทดสอบคำสั่งของคนอื่นว่าเอาจริงแค่ไหน แน่จริงหรือเปล่า พ่อว่าไม่ ก็ลองดู แม่ว่าไม่ ก็ลองดู น้าว่าไม่ ก็ลองดู แล้วเขาก็ค้นพบว่า พ่อว่าไม่คือไม่ จบข่าว แม่ว่าไม่แปลว่าร้องไห้ดังๆจะชนะได้ ถ้าน้าว่าไม่แปลว่าทำได้ ฯลฯ
เราเป็นผู้ใหญ่ครับ มีหน้าที่เป็นเสาหลักที่มั่นคงให้ลูกทดสอบ หากเรามั่นคงจริงเขาจะยึดเราเป็นทั้งที่พึ่งและแม่แบบในการพัฒนาตนเองต่อไป หากเราขี้โมโห ขี้งอน อารมณ์แปรปรวน เขาก็จะเลียนแบบตามนั้น