ออกกำลัง สมอง เพิ่ม คุณภาพ ให้ชีวิต

ออกกำลัง สมอง เพิ่ม คุณภาพ ให้ชีวิต

ออกกำลัง สมอง เพิ่ม คุณภาพ ให้ชีวิต
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ดร.ริชาร์ด เดวิดสัน นักประสาทวิทยา จากมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-เมดิสัน สหรัฐอเมริกา ค้นพบข้อเท็จจริงที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าค้นพบมากว่าสองพันห้าร้อยปีก่อนหน้านี้ว่า สมองของคนเรานั้นไม่เพียงสามารถปรับปรุงขีดความสามารถในการทำงานให้ดีขึ้นได้ด้วยกระบวนการฝึก หากแต่ยังสามารถปรับเปลี่ยนเชิงโครงสร้างระบบประสาทของสมองไปในทางที่ดีได้ด้วยการฝึกฝนหรือการ "ออกกำลังสมอง" ดังกล่าวนั้น

ดร.เดวิดสัน พร้อมคณะผู้เชี่ยวชาญอีกจำนวนหนึ่งกล่าวไว้ในการสัมมนาที่สถาบันวิทยาศาสตร์แห่งนิวยอร์ก เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมานี้ว่า สมองของคนเราไม่ได้หยุดนิ่งเฉย แต่ปรับเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลาไปตามประสบการณ์ของผู้เป็นเจ้าของสมองไปจนตลอดชีวิต อันที่จริงแม้หลังการเสียชีวิตแล้ว โครงสร้างของสมองก็ยังปรับเปลี่ยนไปอีกเป็นครั้งสุดท้ายในระยะเวลาสั้นๆ หลังการตาย ก่อนที่จะปิดสนิทไปตลอดกาล

ในวิชาการทางด้านประสาทวิทยา เรียกการปรับเปลี่ยนดังกล่าวนี้เอาไว้ว่า "นิวโรพลาสติซิตี้" ที่หมายถึงการเปลี่ยนรูปของระบบประสาทไปตามแรงที่กระทำต่อสมองนั้นๆ ซึ่งก็คือประสบการณ์ที่ผ่านมาและสั่งสมไว้ของคนเรานั่นเอง สิ่งที่บ่งชี้ถึงเรื่องนี้ก็คือเหตุผลของการที่เด็กๆ และวัยรุ่นสามารถเรียนรู้ "ภาษาที่สอง" หรือ "ท่วงทำนองและเครื่องดนตรี" ได้ดีกว่าผู้ใหญ่ที่โครงสร้างของระบบประสาทปรับเปลี่ยนไปมากแล้วตามกาลเวลานั่นเอง

แต่ปรากฏการณ์ "นิวโรพลาสติซิตี้" ก็เป็นเครื่องยืนยันได้เช่นกันว่า เราสามารถฝึกฝนเพื่อเปลี่ยนแปลงการทำงานและรูปแบบของสมองได้

แอมิชิ จา นักประสาทวิทยาอีกคนจากมหาวิทยาลัยไมอามี ได้เรียนรู้ประสบการณ์ดังกล่าวนี้ด้วยตัวเองหลังจากเคยรับฟังการบรรยายของ ดร.เดวิดสัน ที่แนะนำให้ผู้ฟัง "ออกกำลังสมอง" ด้วยการนั่งสมาธิ

ศาสตราจารย์จาเปิดเผยว่า ในฐานะเป็นศาสตราจารย์หน้าใหม่ และเป็นคุณแม่มือใหม่พร้อมกันไป ทำให้ทั้งชีวิตส่วนตัวและหน้าที่การงานกลายเป็นแรงกดดันมหาศาลจนถึงกับก่อให้เกิดการมึนงง เฉยเฉื่อยชาไปเลย แต่เมื่อทดลองทำสมาธิตามคำแนะนำของ ดร.เดวิดสันไประยะหนึ่ง ไม่เพียงศาสตราจารย์จาจะสามารถเพิ่มการตื่นตัว ความฉับไวของสมองได้มากขึ้นเท่านั้น จากการตรวจสอบยังพบว่าสมองของตนเองมีการไหลเวียนของกระแสไฟฟ้าในรูปแบบที่เป็นทางบวกเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย ในเวลาเดียวกันกับที่อาการเครียดที่เกิดขึ้นลดระดับลงอย่างเห็นได้ชัด ส่งผลให้ศาสตราจารย์รายนี้หันมาศึกษาเพิ่มเติมทางด้านประสาทวิทยาในที่สุด

ดร.เดวิดสัน เคยใช้พระสงฆ์ที่ผ่านการบวชเรียน ฝึกจิต บำเพ็ญภาวนามาแล้วกลุ่มหนึ่งเป็นตัวอย่างเพื่อศึกษาการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของระบบประสาทของสมองดังกล่าวนี้ พบว่าระดับการเปลี่ยนแปลงของกิจกรรมของสมองขึ้นอยู่กับระดับของการฝึกฝนของพระสงฆ์แต่ละรูป และความต่างของวิธีการทำสมาธิที่แต่ละรูปใช้ แต่สามารถบ่งชี้ได้ชัดเจนถึงการเชื่อมโยงระหว่างการทำสมาธิกับระดับของขันติ ความอดทน อดกลั้นที่คนเรามีต่อสภาวะปัญหาและความเพียร หรือความมานะบากบั่นของแต่ละบุคคล

จากการศึกษาของ ดร.เดวิดสัน พบว่าการที่คนเราเกิด "ความรู้สึก" ค้างคา เป็นปฏิกิริยาต่อปัญหาหนึ่งปัญหาใดอยู่ยาวนานแม้ว่าปัญหาจะเกิดขึ้นนานแล้วก็ตามนั้น เป็นเพราะสมองในส่วนที่เรียกว่า "อไมกดาลา" (amygdala) ทำงานยืดเยื้อเกี่ยวกับเรื่องนั้นนั่นเอง การทำสมาธิเพื่อสร้างความตื่นตัวให้กับสมองหรือการเจริญสตินั้นช่วยฟื้นฟูการทำงานของอไมกดาลาให้กลับคืนสู่สภาวะปกติได้โดยเร็ว ยิ่งฝึกฝนนานมากเท่าใด การฟื้นสู่สภาพปกติก็ยิ่งเร็วมากขึ้นเท่านั้น

ข้อแนะนำเรื่องการ "ออกกำลังสมอง" ด้วยการฝึกสมาธิพื้นฐานง่ายๆ จากผู้เชี่ยวชาญ ก็คือ การพุ่งความสนใจของเราไปที่สิ่งหนึ่งสิ่งใดเพียงอย่างเดียว อย่างเช่นการทำสมาธิให้อยู่ที่ลมหายใจเข้าออก เมื่อเกิดวอกแวกก็ดึงจิตใจกลับมาที่ลมหายใจของเราให้ต่อเนื่องให้ได้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook