เมนูอาหารลูกน้อย "เนยถั่วอัลมอนด์" สุดยอดของถั่ว บำรุงสมองเจ้าตัวน้อย

เมนูอาหารลูกน้อย "เนยถั่วอัลมอนด์" สุดยอดของถั่ว บำรุงสมองเจ้าตัวน้อย

เมนูอาหารลูกน้อย "เนยถั่วอัลมอนด์" สุดยอดของถั่ว บำรุงสมองเจ้าตัวน้อย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

EP5. เนยถั่วอัลมอนด์ Almond Butter

อาหารประเภทถั่วนับเป็นโปรตีนทางเลือกที่ดีอีกกลุ่มหนึ่งสำหรับเด็กเล็ก ถั่วอัลมอนด์ถือว่าเป็นสุดยอดของถั่ว เพราะมีไขมันดีที่มีส่วนช่วยปกป้องและบำรุงสมองเจ้าตัวน้อย นอกจากจะดื่มเป็นนมแล้ว ยังทำเป็นเนยถั่วไว้ทากับขนมปัง หรือใช้เป็นเครื่องปรุงที่ช่วยทำให้อาหารมีรสหวานมันได้อีกด้วย วันนี้คุณแม่ปอม รัตมา พงศ์พนรัตน์ พรชำนิ จะพาเข้าครัวทำเนยอัลมอนด์ เพื่อเพิ่มทางเลือกสำหรับอาหารที่มีประโยชน์ต่อการเจริญเติบโตของสมองเจ้าตัวจิ๋วในช่วง 1000 วันแรกกันค่ะ


อย่างที่เคยเล่าในบทความที่ผ่านมา ความสำคัญของไขมันดีนั้น มีผลต่อความฉลาดของลูกน้อยเป็นอย่างมาก ในบรรดาถั่วเปลือกแข็งทั้งหลาย อัลมอนด์เป็นถั่วที่มีสารอาหารมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นโปรตีน ไขมันอย่างโอเมก้า 3 และโอเมก้า 6 ในปริมาณสูง วิตามินบีรวมและวิตามินอีที่ช่วยบำรุงระบบประสาทและสมอง ฟอสฟอรัสและแคลเซียมที่ดูแลกระดูกให้แข็งแรง ถ้าบ้านไหนมีคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ อัลมอนด์ยังอุดมไปด้วยกรดโฟลิกในปริมาณที่สูงอีกด้วย

ในใจของคุณแม่หลายคนเห็นว่าถั่วมีปัจจัยเสี่ยงต่อการแพ้อาหารของลูกไม่มากก็น้อย ทำให้ลังเลใจว่าจะให้ทานดีหรือไม่ดี หนังสือหลายเล่มอ้างว่าเราไม่จำเป็นที่จะต้องเสียโอกาสรอจนฟันขึ้นครบ หรือให้โตก่อนค่อยทาน อย่างสถาบัน American Academy of Allergy, Asthma and Immunology แนะว่าอาหารที่เสี่ยงต่อการแพ้ง่ายอย่าง ถั่วเหลือง อาหารทะเล อาหารจากนมวัว และไข่ เป็นต้น ควรให้น้องได้ลองทานตั้งแต่ 6 เดือน เป็นต้นไป

การไม่ให้อาหารที่มีความเสี่ยงตอนเด็ก ไม่ได้ป้องกันให้ไม่เกิดการแพ้ในตอนโตแต่อย่างใด เพราะมีการศึกษาค้นพบว่าการให้ลองทานอาหารกลุ่มเสี่ยงตั้งแต่เด็ก จะลดความเสี่ยงที่น้องจะแพ้อาหารพวกนี้อีกในอนาคตได้[i] ยกเว้นคนในครอบครัวจะมีประวัติการแพ้มาก่อน อันนี้ก็ต้องใช้วิจารณญานของคุณแม่แต่ละท่านนะคะ

ส่วนตัวแล้ว ดิฉันให้ทานทีละอย่าง สับเปลี่ยนกันไปเรื่อยๆ กว่าจะถึงอัลมอนด์ก็ปาเข้าไปเดือนที่สิบ โดยเริ่มทานจากแพนเค้กที่ทำจากแป้งอัลมอนด์ เอาเป็นว่าเอาที่สะดวกใจและใกล้แพทย์เข้าไว้เป็นพอ คุณแม่บางท่านนึกในใจ เมนูอาหารสุขภาพพวกนี้ดูยากที่ลูกจะทาน ข้ามๆ ไปได้ไหม อันนี้แล้วแต่ความเชื่อเลยค่ะ ถ้าในอนาคตอยากให้ลูกเลือกทานอาหารที่มีประโยชน์อย่างยั่งยืน เราก็ควรจะเริ่มตีกรอบความชอบตั้งแต่ต้นค่ะ

 

เครื่องปรุง

สำหรับเนยถั่ว 1 ¼ ถ้วย เตรียม 10 นาที ปรุง 30 นาที

ถั่วอัลมอนด์ดิบ                     2                              ถ้วย

(อบเชยป่น 1 หยิบมือ)

วิธีทำ

เป็นจานที่ง่ายไม่ยุ่งยาก แต่ต้องใช้ความอดทนในการรอการออกตัวของเจ้าน้ำมันเนยค่ะ มีเครื่องปรุงเพียงอย่างเดียวคือ ถั่วอัลมอนด์ดิบ เริ่มจากนำไปคั่วหรืออบจนหอมประมาณ 10 นาที จากนั้นนำไปตากลมให้อุ่นเกือบเย็นอีก 10 นาที ก่อนนำลงปั่นที่ความเร็วสูงสุด (เครื่องปั่นต้องเป็นเครื่องปั่นแรงสูงด้วยนะคะ ไม่งั้นน้ำมันจะไม่ออกค่ะ) ผ่านไปหกนาที ถั่วจะละเอียดหมด จะเห็นว่าช่วงก้นโถจะเริ่มมีน้ำมันซึมออกมาทีละนิด ให้ปั่นต่อไปอีก 6 นาที น้ำมันจะเริ่มออกมาเยอะขึ้น

ดิฉันจะใส่ผงอบเชยลงไปตอนนี้ แล้วค่อยปั่นต่อไปอีกนิดหน่อยจนได้เนยถั่วที่เหนียวติดไม้พาย เบ็ดเสร็จก็เกือบยี่สิบนาที เสร็จแล้วตักใส่ขวดโหลแช่ไว้ในตู้เย็นอยู่ได้หนึ่งเดือน เวลานำไปใช้ จะทาบนขนมปังโรยด้วยผลไม้สับ หรือจะใช้เป็นน้ำจิ้มผักนึ่งผักสดเป็นของว่างก็ได้  ใช้ปรุงข้าวโอ๊ตตุ๋นนมสำหรับอาหารเช้า ใช้ผัดผักกับเนื้อสัตว์เสมือนซอสสะเต๊ะในพระรามลงสรงฉบับเด็กน้อยเป็นกับข้าวอาหารเที่ยงก็ได้ เนยถั่วอัลมอนด์นี้สามารถเป็นอาหารให้กับทุกคนในครอบครัวได้ค่ะ

อาทิตย์หน้าจะมาแนะนำเมนูต้องมีติดครัวอย่างการต้มน้ำสต๊อกไก่ ไว้มาปรุงอาหารให้ลูกน้อยกันต่อนะคะ แล้วพบกันค่ะ



[i]  Smart Ways to Introduce Your Baby to Nuts https://www.parents.com/recipes/tips/introduce-baby-to-nuts/?

>> "รัตมา พงศ์พนรัตน์" แนะนำสูตรอาหารเด็กทำง่าย ได้ประโยชน์

>> เมนูอาหารลูกน้อย "ข้าวคั่วตุ๋น" เต็มไปด้วยประโยชน์ที่ลูกน้อยต้องการ

>> เมนูอาหารสำหรับลูกน้อย "โจ๊กมรกตไข่แดง" ทำง่าย ได้ประโยชน์เต็มๆ

>> เมนูอาหารลูกน้อย "แอปเปิล มะละกอ อะโวคาโด พิวเร" สารอาหารเสริมไขมัน

>> เมนูอาหารลูกน้อย "แซลมอนนึ่งสมุนไพร" ใช้เวลาทำน้อย แต่มากประโยชน์

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook