“เชอรี่ สามโคก” เรื่องเซ็กส์ต้องพูดได้!
ถ้าพูดถึงเรื่องเซ็กส์ของสาวๆ เชื่อว่าสมัยนี้คงสามารถพูดคุยกันได้อย่างเปิดเผย โดยเฉพาะการเม้าท์มอยในหมู่เพื่อนสาว แต่เมื่อมาอยู่กับแฟนหรือสามี ผู้หญิงหลายคนกลับไม่สามารถบอกเล่าหรือแสดงความต้องการเกี่ยวกับเซ็กส์ของตัวเองได้ ส่วนหนึ่งก็มาจากความกังวลเรื่องภาพลักษณ์ของ “ผู้หญิงที่ดี” ที่สังคมกำหนด ซึ่งหากเปิดเผยความต้องการของตัวเองอย่างตรงไปตรงมา ก็อาจจะถูกมองว่าเป็นผู้หญิงไม่ดี ที่หมกมุ่นกับเรื่องเพศ ไม่รักนวลสงวนตัว และสุดท้าย ความสุขทางเพศของผู้หญิงก็เป็นอันต้องถูกเก็บงำไว้ ปล่อยให้ฝ่ายชายได้แสดงออกอย่างเสรี และได้รับการตอบสนองอยู่ฝ่ายเดียว
แต่สาวๆ คะ นี่ปี 2019 แล้ว และ Sanook! Women เชื่อว่าผู้หญิงสามารถมีความสุขทางเพศได้เท่ากับผู้ชาย ในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง ดังนั้น เราจึงชวนสาวมั่นอย่างคุณลฎาภา รัชตะอมรโชติ หรือ “เชอรี่ สามโคก” เซ็กซี่สตาร์ที่ไม่ได้มีดีแค่รูปร่างหน้าตา แต่ยังมีมุมมองที่น่าสนใจเรื่องสิทธิสตรี มาแชร์มุมมองเกี่ยวกับเรื่องนี้ ซึ่งเธอยืนยันว่า เซ็กส์เป็นความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ เป็นเรื่องธรรมชาติ แต่ค่านิยมของสังคมกลับ “ปิดปาก” ไม่ให้พวกเธอได้มี “พื้นที่ความสุข” ของตัวเอง
“เรื่องเซ็กส์ เรื่องความต้องการ มันเป็นเรื่องส่วนตัวของเรานะ แต่เราก็ต้องมีคู่ที่จะมาประกอบกิจกรรมด้วยกัน หลายครั้งเราเองก็เป็น ที่บางครั้งก็ไม่ค่อยกล้าพูด ไม่กล้าบอกแฟนว่า ฉันไม่ชอบทำแบบนั้น ทำลักษณะแบบนี้ฉันไม่โอเค แต่อยากเอาใจแฟน อยากมัดใจแฟน กลัวว่าเราทำแบบนั้นไม่ได้แล้วเขาจะไม่พอใจ เขาจะไปมีคนอื่น ก็เลยต้องยอมทำ แต่มันไม่ใช่ความสุขของเรา แล้วไม่ยอมบอก ก็เลยเป็นข้อขัดข้องในจิตใจของเราเอง แล้วเราจะมีความสุขได้อย่างไร” คุณเชอรี่เริ่มบทสนทนา
ในมุมของคุณเชอรี่ สิ่งสำคัญในการกระชับความสัมพันธ์ทางกาย คือการได้พูดเรื่องเซ็กส์อย่างเปิดเผยกับแฟนหรือสามี ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบ Dirty joke ที่สร้างสีสันให้กับชีวิตคู่ หรือการพูดคุยถึงรสนิยม ความต้องการของแต่ละคนอย่างตรงไปตรงมา เพื่อหาพื้นที่ตรงกลาง ที่ทั้งคู่สามารถมีความสุขร่วมกันได้
“สมมติว่าผู้ชายไม่ค่อยทำการบ้านเลย แต่เรามีความต้องการนะ จะทำอย่างไรดี ปกติให้ผู้ชายเริ่ม รอให้เริ่มตั้งนานแล้วก็ไม่เริ่มสักที ใส่ซีทรูก็แล้ว ชุดนอนไม่ได้นอนแล้ว ก็ไม่อะไรสักที แต่ถ้าจะไปสะกิดเขาเลย เราก็จะดูเป็นผู้หญิงหื่น เพราะฉะนั้น ก็ต้องมองย้อนไปที่จุดเริ่มต้น ถ้าเซ็กส์มันเป็นเรื่องของความต้องการพื้นฐานปกติ เราแค่อาจจะต้องรู้ว่าต้องพูดที่ไหนกับใครเท่านั้นเอง ถ้าเป็นแฟนเรา ทำไมจะปรึกษาไม่ได้ ถามแฟนว่าจะกินข้าวอะไรดี ยังถามกันได้ แล้วนี่มันเป็นเรื่องที่จะกระชับความสัมพันธ์ เป็นส่วนหนึ่งของความสัมพันธ์ระหว่างหญิงชายอยู่แล้ว เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ต้องคุยกัน ถ้าไม่คุย มันมีปัญหาแน่ๆ” คุณเชอรี่กล่าว
แต่อย่างไรก็ตาม หลายครั้งการเปิดใจพูดคุยถึงความต้องการก็ไม่ได้ผล แถมยังก่อให้เกิดรอยร้าวมากกว่าเดิม ในกรณีนี้ คุณเชอรี่มองว่า เรื่องนี้ไม่ใช่แค่การมีเซ็กส์ แต่ยังหมายถึงความสัมพันธ์ในระยะยาวด้วย ซึ่งเมื่อเรามั่นใจว่าสิ่งที่พูดเป็นความจริง ก็ต้องยอมให้ฝ่ายชายเสียความรู้สึก
“เราทำเพื่อคนอื่นได้ แต่มันต้องครึ่งๆ ระหว่างความต้องการของเราด้วย ถ้าเขาไม่โอเค ไม่โอเคเรื่องไหน ไม่โอเคเรื่องเซ็กส์หรือเรื่องที่เราบ่น แล้วเขาจะเลิกกับเราเลยไหม ถ้าจะเลิกก็ต้องปล่อยเขาเลิกไปเลย เพราะว่ามันต้องจูนกัน มันต้องฟังกันได้ เขาไม่โอเคเราก็เข้าใจ แต่ถ้าไม่พอใจทั้งที่เราจะปรึกษาเพื่อหาทางแก้ไข อันนี้ก็น่าจะเป็นคนที่ใช้ไม่ได้ในความรู้สึกของเรา” คุณเชอรี่อธิบาย
ส่วนตัวของคุณเชอรี่นั้น เธอยืนยันว่าเธอเป็นคนที่สามารถพูดเรื่องเพศได้อย่างเปิดเผย โดยดูที่กาลเทศะเป็นหลัก ซึ่งพื้นที่ที่เธอสามารถพูดเรื่องนี้ได้อย่างสบายก็คือในวงเม้าท์กับเพื่อนๆ และกับคนที่เธอคบหาอยู่เท่านั้น
“ถ้ามองเซ็กส์เหมือนเรื่องกินข้าว กินกาแฟ กินชาไข่มุก มันก็เป็นเรื่องที่ไม่ว่าเพศไหนก็สนุกกับมันได้ เพศไหนก็พูดถึงมันได้ ที่สำคัญก็คือ กาลเทศะที่จะพูดมากกว่า ดังนั้น ถ้าจะพูดเรื่องเพศ ถามตัวเองว่าอยากพูดไหม ดูกาลเทศะแล้วมันได้ รู้สึกสบายใจที่จะพูด ก็พูด ผู้หญิงก็คน ผู้ชายก็คน อยากพูดก็พูด ถ้าพูดแล้วทำให้เราไม่รู้สึกแย่ทีหลังหรือไม่ทำร้ายใคร ก็ไม่ใช่ปัญหา แต่บางคนอาจจะรู้สึกว่า ฉันอยู่ในกรอบแล้วรู้สึกดีกับตัวเอง ขอเป็นผู้หญิงที่ดีตามค่านิยมที่ใครก็ไม่รู้ตีกรอบเอาไว้ ก็อยู่ในกรอบไปเลย ไม่ต้องพูดเรื่องเซ็กส์ ไม่ต้องบอกแฟนก็ได้ ถ้ามันทำให้คุณมีความสุขจริงๆ”
เมื่อถามว่าค่านิยมของสังคมมีผลต่อการแสดงออกทางเพศของเธอหรือไม่ คุณเชอรี่ตอบอย่างมั่นใจว่า ค่านิยมเหล่านั้นไม่มีผลต่อเธออีกต่อไปแล้ว ด้วยวัยที่มากขึ้น และประสบการณ์ทั้งดีและร้ายที่เธอได้เรียนรู้มาเป็นเวลานาน ตั้งแต่ยุคที่มีคนส่งอีเมลเป็นร้อยฉบับมาประณามพฤติกรรมของเธอ จนกระทั่งยุคเฟื่องฟูของโซเชียลเน็ตเวิร์ก ซึ่งเธอมองว่าทุกวันนี้ กรอบกติกาในสังคมถูกแบ่งออกเป็น 2 อย่าง คือกรอบในชีวิตจริง และกรอบในโลกโซเชียล ส่งผลให้ค่านิยมต่างๆ บิดเบี้ยว จนไม่อาจยึดถือกรอบใดกรอบหนึ่งได้อีกต่อไป
“โลกจริงกับโลกโซเชียลมันใช้คนละกฎกัน ในโลกปกติ สมมติว่าเชอใส่ชุดนี้ เดินออกจากบ้าน ไม่มีใครเดินมาบอกเชอหรอกว่า ว้าย! แต่งตัวอะไร สีเขียวเหมือนขี้ หรือเห็นเชอแต่งตัวเซ็กซี่ คนจะเดินมาพูดกับเชอไหมว่า เฮ้ย! แก้ผ้าให้ดูหน่อย ในโลกจริงเราไม่ทำแบบนั้น แต่ในโลกโซเชียล เมื่อไรก็ตามที่โพสต์รูปไป ทุกคนสามารถพูดอะไรก็ได้โดยอ้างว่ามันเป็นความคิดเห็นของฉัน ถ้าโลกทั้งสองมันทับซ้อนกันแล้ว นั่นแปลว่าค่านิยมก็เริ่มบิดเบี้ยว ไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร ในเมื่อค่านิยมหรือกฎมันไม่นิ่ง ตัวเราก็ต้องออกมาจากกฎพวกนั้น”
“สมมติว่าสังคมไม่ชอบเรา เราไม่พูดเรื่องเพศ สังคมก็จะมองว่าเฟค แต่พอกลับกัน ถ้าเราบอกว่า เรื่องเซ็กส์มันเป็นแบบนี้นะคะ พลิกท่านั้นท่านี้แล้วจะมัน คนก็จะด่าว่าแย่มากเลย คือทำอะไรก็ไม่ได้ แสดงออกก็ไม่ได้ ไม่แสดงออกก็ไม่ได้ แล้วเราจะมีชีวิตอยู่ได้อย่างไร ถ้าเรายังแคร์ค่านิยมของสังคมที่มันไม่นิ่ง ถ้ายังอยู่ เชอคงเป็นบ้า เราถามตัวเองดีกว่าว่าจะใช้กฎไหนกับตัวเอง แต่กฎที่จะใช้กับตัวเองไม่ใช่ทำอะไรตามใจตัวเองได้ในโลกนี้ หนึ่ง กฎหมายต้องมี นับถือศาสนาอะไร ศาสนาของคุณมีกฎของเขาหรือเปล่า ขนบธรรมเนียมประเพณี ยึดถือที่ตัวเองสบายใจ ยึดถือของตัวเองจริงๆ” คุณเชอรี่กล่าว
เมื่อพูดถึงสิทธิเสรีภาพของผู้หญิง เราก็อดไม่ได้ที่จะถามถึงความเท่าเทียมทางเพศ ซึ่งคุณเชอรี่มองว่า โดยธรรมชาติแล้ว ผู้หญิงและผู้ชายไม่ได้เท่าเทียมกัน เนื่องจากความแตกต่างด้านร่างกาย แต่สิ่งที่ทั้งสองฝ่ายควรจะได้รับอย่างเท่าเทียมกันในฐานะมนุษย์ คือสิทธิและเสรีภาพ อย่างไรก็ตาม หากผู้หญิงต้องการมีสิทธิและเสรีภาพเท่ากับผู้ชาย สิ่งแรกที่ผู้หญิงควรทำก็คือ “หยุดกดทับและเหยียดหยามผู้หญิงด้วยกัน”
“ผู้หญิงมีคุณค่า แต่หลายกรณี ผู้หญิงถูกลดคุณค่า ถูกลดสิทธิ ถูกทำให้ดูไม่ดีด้วยผู้หญิงด้วยกันเอง ถ้าอยากจะเท่าเทียม ต้องถามตัวเองว่าเลิกเหยียดกันเองได้หรือยัง เลิกจำกัดสิทธิกันเองได้ไหม เลิกให้ค่าผู้ชายมากกว่าตัวเองได้หรือยัง ก็คงจะต้องตื่นตัวกันทุกคนแล้วล่ะ” คุณเชอรี่สรุป