9 วิธี ฟิตสมองและความจำ
รู้หรือไม่ การใช้ชีวิตแบบเดิม ทำกิจกรรมซ้ำเดิมอยู่ทุกวัน ทำให้ใช้เพียงแค่ประสาทส่วนเดิม ส่งผลให้ลดทอนประสิทธิภาพของเซลล์ประสาทส่วนอื่น จนเป็นเหตุให้เกิดภาวะสมองเสื่อมในวัยชราได้
เรามีเทคนิคจาก ศาสตราจารย์ลอเรนซ์ ซีแคทซ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านประสาทวิทยา ชาวอเมริกัน ที่มีแนวคิดการบริหารสมองแบบ
"นิวโรบิกเอ็กเซอร์ไซส์" โดยใช้ประสาทสัมผัสทั้ง 5 ให้ไปกระตุ้นกล้ามเนื้อสมองหลาย ๆ ส่วนให้ขยับและตื่นตัวจากการทำกิจกรรมใหม่ ๆ อยู่เสมอ
ไปดูกันเลยว่าเทคนิคที่ศ.ลอเรนซ์แนะนำ มีอะไรบ้าง
1.รับรสสัมผัสใหม่ ๆ หลับตาอาบน้ำเปิดฝักบัว ปรับตามความแรงหรืออุณหภูมิของน้ำโดยใช้ประสาทสัมผัสความรู้สึก หลับตาเลือกชุดที่จะใส่ การฝึกใช้มือและนิ้วในการแยกความแตกต่างของผิวสัมผัสของสิ่งของ วิธีเหล่านี้จะช่วยให้สมองสร้างและขยายเครือข่ายของเซลล์ประสาทที่เกี่ยวข้องกับการสัมผัสได้ดี
2.เปลี่ยนชนิดของอาหารในแต่ละวันและแต่ละมื้อ กลิ่นและรสชาติของอาหารที่แปลกจากเดิม เช่น อาหารอินเดีย ญี่ปุ่น เวียดนาม ฝรั่งเศส จะทำให้สมองรู้สึกเหมือนไปท่องเที่ยวในสถานที่แปลกใหม่นั้นด้วย หรือเปลี่ยนเมนูอาหารที่ทานเป็นประจำทุกวัน หรือลงมือทำอาหารเอง ก็จะช่วยประสาทสัมผัสรับรู้สิ่งหลากหลาย ไม่จำเจ
3.เปลี่ยนความถนัดส่วนตัว ฝึกใช้มือข้างที่ไม่ถนัดมากิจกรรมต่าง ๆ ดูบ้าง เช่น ปกติเขียนหนังสือมือขวา ก็เปลี่ยนเป็นมือซ้ายบ้าง เพื่อเป็นการกระตุ้นสมองอีกด้านให้ทำงานมากขึ้น
4.ทำกิจกรรมใหม่ ๆ ทุกวันไม่ให้ซ้ำแบบเดิม เช่น เปลี่ยนลำดับการทำกิจกรรมในแต่ละวัน เช่น ถ้าปกติอาบน้ำก่อนกินข้าวเช้า ก็ให้เปลี่ยนเป็นกินข้าวก่อน แล้วค่อยไปอาบน้ำ เปลี่ยนเสียงเรียกเข้าโทรศัพท์ ฟังรายการวิทยุ ดูทีวี หรืออ่านหนังสือที่ปกติไม่อ่าน จะช่วยให้สมองสามารถทำงานได้อย่างสร้างสรรค์ จุดประกายความคิดใหม่ ๆ ได้
5.มีเซ็กซ์ ออกกำลังสมอง ใครคิดว่าเซ็กซ์เป็นเรื่องของกามารมณ์แต่เพียงอย่างเดียว ขณะมีเซ็กซ์ ประสาทสัมผัสทุกส่วนในร่างกายจะถูกกระตุ้นในวงจรสมอง รวมทั้งวงจรที่รับรู้เรื่องอารมณ์ด้วย
6.เปลี่ยนเส้นทางใหม่ ๆ เช่น เดินไปในที่ไม่เคยเดิน หรือเดินทางที่ ๆ ไม่เคยไป อาจเปลี่ยนเส้นทางกลับบ้าน จะช่วยให้สมองของคุณได้คิดและมีโอกาสพบกับสิ่งใหม่ ๆ อยู่ตลอดเวลา
7.เสริมความจำด้วยกลิ่น ขณะอ่านหนังสือหรือพูดโทรศัพท์ ให้สูดดมน้ำมันหอมระเหย เช่น กลิ่นมินต์ หรือกลิ่นมะนาว จะช่วยกระตุ้นสมองให้จดจำรายละเอียดได้ดียิ่งขึ้น
8.เพลินกับเสียงสุนทรีย์ อ่านหนังสือแบบออกเสียงให้เพื่อนหรือคนใกล้ชิดฟังแล้วสลับบทบาทกัน ลองเป็นผู้ฟังบ้าง เพราะขณะอ่านออกเสียงร่างกายจะใช้วงจรในสมองคนละส่วนกับวงจรที่ใช้ขณะอ่านในใจ นั่นคือ การอ่านออกเสียง สมองทั้งซ้ายและขวาจะกระตุ้นสมองชั้นนอกซีรีเบลลัมจะทำงานไปพร้อมกัน ขณะที่อ่านในใจจะกระตุ้นสมองชั้นนอกซีกซ้ายเพียงส่วนเดียวเท่านั้น ส่วนการฟัง สมองชั้นนอกจะได้รับการกระตุ้นทั้งซีกซ้ายและขวา
9.ปรับเปลี่ยนสิ่งแวดล้อม เช่น จัดบ้าน จัดสวน เปลี่ยนเฟอร์นิเจอร์ พบปะผู้คนใหม่ ๆ สมองซีกซ้ายจะพัฒนาด้านความคิดสร้างสรรค์เพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม
นอกจากนี้ในแต่ละวันเรายังสามารถออกกำลังสมองได้ด้วยการคิดเลขคำนวณแบบง่าย ๆ คะเนระยะทาง เล่นหมากรุก หมากล้อม สแครบเบิลต่าง ๆ เกมโซดูกุ ต่อจิ๊กซอว์ เกมเสริมทักษะความคิดเหล่านี้ จะกระตุ้นให้สมองทำงานและมีการพัฒนาตลอดเวลา ลดภาวะการเกิดอัลไซเมอร์หรือโรคความจำเสื่อมในวัยสูงอายุได้
แค่นี้ ไม่ว่าจะคิดอะไร ก็จะมีไอเดียใหม่ ๆ เกิดขึ้นเสมอ
ที่มา Never-Age.com