สตรีวัยหมดประจำเดือน
คอลัมน์ ทอล์ค ออฟ เดอะ ทาวน์ โดย ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา
เป็นระเบียบปฏิบัติกันมาช้านาน ที่ต้องให้ "สตรี" ที่เริ่มย่างเข้าสู่วัยทอง หรือเริ่มหมดประจำเดือนต้องเสริมด้วยแคลเซียม วันละไม่ต่ำกว่า 1,000 มิลลิกรัม (มก.) ร่วมกับวิตามินดี (D) ไม่ต่ำกว่า 400 หน่วยต่อวัน
นัยว่า...เป็นการป้องกันกระดูกหัก ทั้งนี้เนื่องจากเมื่อฮอร์โมนเพศหญิงเริ่มลดลง กระดูกจะเริ่มพรุนบางขึ้น
ล่าสุด จากการประกาศของสหรัฐอเมริกาผ่านทางวิทยาลัยอายุรแพทย์ เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ไม่สนับสนุนให้เสริมแคลเซียม ไม่ว่าจะมีหรือไม่มีวิตามินดีด้วยก็ตาม เนื่องจากเมื่อทำการติดตามสตรีวัยทอง จำนวน 36,282 ราย อายุระหว่าง 50-79 ปี อัตราหักไม่ว่าจะเป็นกระดูกสะโพก หรือกระดูกส่วนอื่นๆ ก็ตาม ไม่ต่างกันระหว่างกลุ่มที่ได้หรือไม่ได้รับแคลเซียมกับวิตามินดี คนที่สมควรได้เสริมจะเริ่มตั้งแต่สตรีอายุ 65 ปีขึ้นไป โดยที่มีความเสี่ยงของการหกล้มคลุกคลานมาก การได้รับแคลเซียมและวิตามินดี จะมีความเสี่ยงของการเกิดนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะในอัตรา 1 ต่อ 273 เมื่อเสริมต่อเนื่องไปนานถึง 7 ปี
สำหรับการตรวจความหนาแน่นของกระดูกซึ่งทำเป็นประจำ ประกาศล่าสุดของสหรัฐ เดือนกุมภาพันธ์เช่นกัน ระบุให้ทำในสตรีตั้งแต่อายุ 65 ปี และในผู้ชายอายุ 70 ปีขึ้นไป ไม่จำเป็นต้องทำในอายุน้อยกว่านั้น ยกเว้นแต่ว่า เคยมีกระดูกหักง่าย แม้ถูกกระแทกเบาะๆ เช่น โรคข้อรูมาตอยด์ หรือมีบิดา มารดาที่มีกระดูกสะโพกหัก ดื่มจัด สูบหนัก หรือใช้ยาสเตียรอยด์
แต่ทั้งนี้ ไม่เกี่ยวกับกาแฟที่เชื่อกันนักกันหนาว่าทำให้กระดูกพรุนนะครับ
คนที่กระดูกบางเล็กน้อยแล้วเริ่มโหมกระหน่ำแคลเซียมและวิตามินดี จากที่แพทย์ให้หรือซื้ออาหารเสริมกินเติมกระหน่ำเพิ่มอีกด้วย มีโอกาสเกิดแคลเซียมสูงในเลือด และมีผลต่อหัวใจเต้นผิดปกติจนหัวใจหยุด กล้ามเนื้ออ่อนล้า มีอาการทางจิตประสาท ซึมเศร้า กังวล และรุนแรงจนถึงมีภาพหลอน ซึม ไม่รู้ตัว โดยอาจมีอาการนำมาก่อน เช่น ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน
สรุปว่า...ถ้ายังไม่ต้องกินเสริมแคลเซียมและวิตามินดีก็สามารถประหยัดไปได้อีกหลาย ไม่ต้องตรวจความหนาแน่นของกระดูกทุกราย และไม่ต้องโด๊ปอาหารเสริมไปอีก 2 ขนาน
หน้า 7,มติชนรายวัน ฉบับวันอาทิตย์ที่ 10 มีนาคม 2556