รณรงค์คนไทยตื่นตัวรับมือโรคไตวาย
ในปีพ.ศ. 2556 เป็นปีแห่งการรณรงค์ให้ทั่วโลกหันมาตื่นตัวรับมือในเรื่อง โรคไตวายเฉียบพลัน หรือ ภาวะที่ทำให้ไตเสียหายได้ เนื่องจากผู้ป่วยโรคไตส่วนใหญ่ไม่รู้ตัวว่าเป็นโรคไตจนกระทั่งป่วยมากจนเป็น โรคไตวายระยะสุดท้ายแล้วต้องอาศัย การฟอกเลือด หรือ การปลูกถ่ายไต เพื่อการรักษาตัว เราสามารถที่จะป้องกันเรื่องเหล่านี้ได้ด้วย การตรวจดูหน้าที่ของไต และหลีกเลี่ยงภาวะเสี่ยงต่อการเกิดไตวาย วันนี้ศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ เครือโรงพยาบาลกรุงเทพ จะพาไปรู้จักโรคใกล้ตัวคนไทยอย่างโรคไต เพื่อเรียนรู้ที่จะป้องกันอวัยวะที่ชื่อว่า ‘ไต' ให้อยู่กับเราไปนานๆ
ไต (Kidney) เป็นอวัยวะในร่างกายอยู่ด้านข้างของกระดูกสันหลัง บริเวณบั้นเอว มีอยู่สองข้าง รูปร่างคล้ายเมล็ดถั่ว ทำหน้าที่ กำจัดของเสียออกจากร่างกาย , ควบคุมสมดุล น้ำ เกลือ และแร่ธาตุอื่นๆ , สร้างฮอร์โมนและเอนไซม์ที่มีความสำคัญต่อร่างกาย เช่น ในขบวนการสังเคราะห์วิตามินดี ช่วยในการควบคุมแคลเซียมและฟอสฟอรัส, Erythropoietin ซึ่งมีส่วนช่วยในการสร้างเม็ดเลือดแดงและ renin ในการควบคุมความดันโลหิต ไตจะ ทำหน้าที่กรองของเสียจากร่างกาย ในหนึ่งวันไตต้องกรองเลือดมากถึง 180 ลิตร หรือ เลือดในร่างกายเราต้องกรองผ่านไตถึงวันละ 50 ครั้ง และช่วยควบคุมระดับน้ำในร่างกาย โดยการขับน้ำส่วนเกินออกมาเป็นปัสสาวะ คอยควบคุมระดับเกลือแร่ต่างๆในร่างกาย ถ้าเกลือแร่เสียสมดุล เซลล์หรืออวัยวะต่างๆจะไม่สามารถทำงานได้ หากผิดปกติมากๆ อาจทำให้เสียชีวิตได้ ช่วยร่างกายควบคุมความดันโลหิต ผู้ป่วยโรคไตมักมีความดันโลหิตสูงยากต่อการควบคุม นอกจากนี้ไตยังช่วยร่างกายในการเสริมสร้างกระดูกให้แข็งแรง โดยมีส่วนร่วมในการสังเคราะห์ วิตามินดี และช่วยร่างกายในการสร้างเลือด โดยการผลิตฮอร์โมนที่จำเป็นต่อการสร้างเม็ดเลือดแดง อีกด้วย
โรคไตชนิดเรื้อรัง คือ ภาวะที่มีการทำงานของไตค่อยๆลดลงอย่างช้าๆในเวลาหลายเดือนหรือเป็นปี จนกระทั่งสูญเสียหน้าที่อย่างถาวรโดย มีสาเหตุมาจากการเสื่อมตามอายุหรือมีสาเหตุอื่นที่พบได้บ่อย เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคแพ้ภูมิตัวเอง ถุงน้ำในไตเป็นต้น ปัจจุบันมีการแบ่งระยะของโรคไตเรื้อรังออกเป็น 5 ระยะ(ตารางที่ 1)ตามอัตราการกรองของไต ซึ่งวิธีการคำนวนมีหลายวิธี ปัจจุบันนิยมใช้ CKD EPI Creatinine เนื่องจากมีความถูกต้องแม่นยำสูง ในปีหนึ่งมีผู้ป่วยเป็นจำนวนนับล้าน ทั่วโลกที่เสียชีวิตก่อนวัยอันควรเนื่องจากภาวะแทรกซ้อนจากโรคไตเรื้อรัง ร้อยละ 8-10 ของกลุ่มประชากรผู้ใหญ่ มักจะมีความผิดปกติอย่างใดอย่างหนึ่งของไต ซึ่งส่วนใหญ่มีสาเหตุเกิดจากโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดโรคไตเรื้อรัง โดยเฉพาะในผู้สูงอายุทั่วโลก โดยผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังระยะแรกๆ มักจะไม่มีอาการผิดปกติใดๆ ทำให้สูญเสียโอกาสสำคัญในการรักษาโรค ดังนั้น การตรวจหาโรคไตจึงเป็นสิ่งสำคัญ เราสามารถตรวจโดย การตรวจเลือด เพื่อดูค่า ครีเอตินีน(Creatinine) ซึ่งเป็นของเสียที่ไตขับออกมาในปัสสาวะ เพื่อคำนวณค่า การทำงานของไต (estimated Glomerular Filtration Rate) และ ตรวจวิเคราะห์ปัสสาวะ (Urinalysis) และตรวจปัสสาวะเพื่อวัดปริมาณโปรตีน/ไข่ขาวปัสสาวะ (Urine microalbumin to creatinine ratio) โดยกลุ่มเสี่ยงที่ควรได้รับการตรวจหาโรคไต ได้แก่ ผู้ป่วยโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง ผู้ที่เป็นโรคอ้วน ผู้ที่สูบบุหรี่ ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป ผู้ที่มีประวัติครอบครัวที่มี โรคไต โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง
การวินิจฉัยโรคไตเรื้อรังแพทย์จำเป็นต้องได้ประวัติครบถ้วนเนื่องจากการวินิจฉัยต้องอาศัยระยะเวลาที่ป่วย อย่างน้อยสามเดือน ร่วมกับอัตราการกรองของไตลดน้อยกว่า 60 มล/นาที/1.73 ตารางเมตร หรือมีหลักฐานอื่นที่แสดงว่าไตมีการถูกทำลาย เช่น ผลชิ้นเนื้อของไต หรือ โปรตีนรั่วในปัสสาวะมากกว่าเกณฑ์มาตรฐาน หรือ ตรวจปัสสาวะพบเม็ดเลือดที่มากกว่าเกณฑ์มาตรฐาน หรือ มีภาพถ่ายทางรังสีพบว่า ไตมีขนาดเล็ก มีถุงน้ำ เล้นเลือดที่ไปเลี้ยงไตตีบ เป็นต้น ดังนั้นผู้ป่วยจำเป็นต้องให้ความร่วมมือกับแพทย์ เพื่อให้ได้การวินิจฉัยที่ถูกต้องแม่นยำ
อาการของโรคไตเรื้อรัง โดยส่วนใหญ่ถ้าเป็นโรคไตเรื้อรังระยะ 1 , 2 และ 3 มักมีอาการแสดงเล็กน้อย ซึ่งเราสามารถสังเกตได้เบื้องต้นดังนี้
1. บวม มักจะบวมทั้งตัว ระยะแรกอาจมีเพียงการบวมที่หนังตา และใบหน้า อาจจะรู้สึกว่าแหวนหรือรองเท้าคับขึ้น ต่อมาจะมีการบวมที่ขาและเท้าทั้งสองข้าง ถ้าบวมไม่มากอาจสังเกตไม่เห็น ลองใช้นิ้วกดที่หน้าแข้งสักพักแล้วปล่อยจะมีรอยบุ๋มอยู่แสดงว่า บวม
2. ปัสสาวะเป็นฟอง เกิดจากมีโปรตีนรั่วออกมาในปัสสาวะ
3. ปัสสาวะเป็นเลือด ปัสสาวะคนเราจะมีสีเหลืองใส อาจมีสีเข้มขึ้นเล็กน้อยถ้าดื่มน้ำน้อย ถ้าปัสสาวะที่ออกมามีสีออกแดงหรือเป็นแบบสีน้ำส้างเนื้อแสดงว่ามีเลือดออกจากทางเดินปัสสาวะ คนปกติไม่ควรมีปัสสาวะเป็นเลือด ในผู้ป่วยหญิงการเก็บปัสสาวะต้องเก็บหลังหมดประจำเดือน 5 - 7 วัน
4. ปัสสาวะบ่อย คนเราแต่ละคนจะมีความถี่บ่อยของการปัสสาวะแตกต่างกัน ขึ้นกับการฝึกหรือนิสัยส่วนตัว รวมทั้งปริมาณน้ำที่ดื่มและน้ำที่เสียไปทางเหงื่อกับอุจจาระ การที่มีปัสสาวะบ่อยกว่าที่เคยเป็นอยู่ ในระยะเริ่มต้นอาจสังเกตได้ไม่ชัดเจน อาการที่ต้องนึกถึงว่ามีปัสสาวะบ่อยผิดปกติก็คือ การตื่นขึ้นมาปัสสาวะตอนกลางคืน
5. ปัสสาวะน้อยลง เมื่อคนเราดื่มน้ำมากปริมาณปัสสาวะมักจะมากขึ้น เมื่อดื่มน้ำน้อยปัสสาวะก็มักจะน้อยลงเช่นกัน แต่หากดื่มน้ำมากแต่ปัสสาวะไม่ออกมากตามหรือปัสสาวะไม่ออกเลย มักเกิดจากการทำงานของไตเสียไป ดังนั้นเมื่อสังเกตว่าปัสสาวะน้อยลงให้ลองรับประทานน้ำเพิ่มขึ้นและสังเกตว่ามีปัสสาวะมากขึ้นหรือไม่ หากยังคงมีปัสสาวะออกน้อยถึงแม้จะดื่มน้ำมากขึ้นแล้วควรรีบมาปรึกษาแพทย์เพื่อให้การรักษาโดยทันที
อาการดังกล่าวจะรุนแรงขึ้นในระยะที่ 4 และ 5 ร่วมกับมีอาการอื่นๆ เช่น คลื่นไส้อาเจียน ซีด อ่อนเพลีย คัน เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ มีภาวะน้ำเกิน สับสน เป็นต้น
แนวทางการรักษาโรคไต จะใช้ยากลุ่มที่ block Renin-Angiotensin System เช่น ยากลุ่ม ACE Inhibitors, ARBs ที่มีการใช้มากกว่า 10 ปี ในการรักษา โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคไต อย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนการที่จะชะลอโรคไตให้เสื่อมช้าลง สามารถทำได้โดย ควบคุมความดันโลหิต โดยให้ ความดันโลหิตลดลงมาอยู่ในเกณฑ์ปกติในระดับ 130/80 มม. ปรอท ลดโปรตีนในปัสสาวะให้น้อยกว่า 0.5 กรัมต่อวัน โดยใช้ยาลดความดันโลหิตกลุ่ม ACEI, ARB ถ้าเป็นเบาหวานให้ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้น้อยกว่า 130 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ควบคุมระดับไขมันในเลือด ควบคุมความเข้มข้นของเลือดไม่ให้จางจนเกินไป ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ควบคุมอาหาร โดยเฉพาะ เกลือ หรือ ความเค็มของอาหาร อาหารไขมันสูง ออกกำลังกายสม่ำเสมอ หยุดสูบบุหรี่ ดื่มน้ำอย่างน้อย 1.5-2 ลิตร ต่อวัน หลีกเลี่ยงการใช้ยาแก้ปวดกลุ่ม NSAIDs, COX-2 Inhibitorsหลีกเลี่ยงการใช้ยาสมุนไพรและถ้าไม่สามารถชะลอโรคไตเรื้อรังได้ ควรเตรียมการรักษาด้วยวิธี การฟอกเลือด การล้างไตทางช่องท้อง หรือการปลูกถ่ายไตตามความเหมาะสม
โดย ศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ เครือโรงพยาบาลกรุงเทพ
ภาพประกอบจาก photos.com