รู้จัก "คุณเผ็ด" เจ้าของแบรนด์ Nakamol Chicago จิวเวลรี่ขึ้นห้างทั่วสหรัฐฯ

รู้จัก "คุณเผ็ด" เจ้าของแบรนด์ Nakamol Chicago จิวเวลรี่ขึ้นห้างทั่วสหรัฐฯ

รู้จัก "คุณเผ็ด" เจ้าของแบรนด์ Nakamol Chicago จิวเวลรี่ขึ้นห้างทั่วสหรัฐฯ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หลังจากการขายจิวเวลรี่ทำมือในเวลาว่างโดยใส่กระเป๋าเดินทางแล้วนำไปเสนอทีละร้าน วันนี้เครื่องประดับของ คุณณกมล ซุสแมน หรือ “คุณเผ็ด” กลายเป็นที่นิยมและสร้างงานให้กับลูกจ้างกว่า 200 ชีวิต นี่คือเส้นทางของนักธุรกิจสาวชาวไทย ที่ตัวเธอเองอยากเห็นความสำเร็จนี้เกิดขึ้นกับคนไทยรุ่นต่อไป

ชิคาโก้คือเมืองที่มีประชากรมากเป็นอันดับสามในสหรัฐฯ และนี่คือที่ตั้งของแบรนด์เครื่องประดับอย่าง Nakamol Chicago ปัจจุบันมีหน้าร้านอยู่สองแห่ง คือบนถนน Michigan Avenue และบริเวณ Navy Pier

แต่ไม่ใช่เพียงสองสาขาเท่านั้น เครื่องประดับที่รังสรรค์จากฝีมือชาวไทยราว 200 คน ยังถูกวางขายที่ร้านค้าชั้นนำเช่น Nordstrom และ Antropologie ถ้ารวมร้านค้าขนาดเล็กและผ่านแคตตาล็อกด้วยจะมีจำนวนกว่า 2,000 แห่งทั่วโลก

Nakamol 2

เครื่องประดับที่หลากหลายทั้งสร้อยคอ สร้อยข้อมือ และ ต่างหู ทุกชิ้นล้วนสะท้อนความเป็นตัวตนของผู้สวมใส่ ที่แม้แต่คนดังอย่าง “เลดี้กาก้า” ยังเลือกใส่แบรนด์นี้มาแล้ว ผู้ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จก็คือ คุณณกมล ซุสแมน หรือ “คุณเผ็ด” ผู้ก่อตั้งและหัวหน้าการออกแบบของแบรนด์ Nakamol

“พี่เผ็ดอยากจะให้ทุกคนรู้ว่าเราคือคนไทย และนี่คือคุณภาพงานของคนไทย”

คุณณกมลบอกกับวีโอเอถึงความภูมิใจที่ทำหน้าที่เหมือนเป็นตัวแทนของประเทศในวงการจิวเวลรี่ที่สหรัฐฯ ธุรกิจนี้ทำให้เธอมีโอกาสนำเสนองานที่เป็นความชอบส่วนตัว อีกทั้งยังได้เอาฝีมือที่ละเอียดปราณีตของคนไทยมาเผยแพร่

“พี่เป็นคนที่ชอบงานทำมือของคนไทย … คือเห็นอยู่แล้วว่าฝีมือคนไทยเรา เป็นอะไรที่มันค่อนข้างมีเอกลักษณ์”

 

นอกจากผลักดันธุรกิจของตัวเองจนประสบความสำเร็จแล้ว อีกสิ่งที่คุณณกมลพยายามมาโดยตลอดคือการให้โอกาสและส่งเสริมนักออกแบบหน้าใหม่ ถ้าเลือกได้บริษัทเลือกที่จะจ้างคนไทยเป็นอันดับแรก สิ่งที่เธอบอกกับคนที่อยากมีธุรกิจก็คือ “อย่ากลัวที่จะเริ่มต้น” ยังมีโอกาสทางธุรกิจอีกมากมายในสหรัฐฯ ที่คนรุ่นใหม่ไม่ควรมองข้าม

“อยากให้น้องถามตัวเองว่า น้องอยากทําอะไร อยากให้น้องทําตามความฝันตัวเอง อุปสรรคมันมีอยู่แล้ว แต่อย่าท้อ”

แบรนด์ Nakamol นั้นก็ไม่ต่างจากธุรกิจอื่นที่ต้องพบอุปสรรค ในปี 2012 ขณะที่คุณณกมลกำลังตั้งครรภ์ โรงงานผลิตในไทยเกือบถูกน้ำท่วมใหญ่ ซ้ำออฟฟิศเดิมก็ใกล้ถูกยกเลิกสัญญา ทำให้เธอและสามี คุณเครตัน ซุสแมน (Clayton Sussman) ต้องตัดสินใจครั้งสำคัญว่าจะซื้ออาคารพาณิชย์ 4 ชั้น พื้นที่ 6,000 ตารางฟุต มูลค่า 2.9 ล้านดอลล่าร์บนถนน Michigan Avenue เพื่อเปิดเป็นที่ตั้งของร้านใหม่หรือไม่ แม้หลายคนจะคัดค้าน แต่สุดท้ายทั้งคู่ก็ตัดสินใจซื้อตึกดังกล่าว

“เรา (คุณณกมลและสามี) เสี่ยงมาโดยตลอด นี่คือครั้งที่ใหญ่มาก แต่ผลลัพธ์ก็ถือว่าคุ้มค่าทีเดียว”

คุณเครตันบอกว่า การตัดสินใจครั้งนี้ช่วยเพิ่มมูลค่าและทำให้สถานะทางการเงินของบริษัทอยู่ในสภาพที่ดีขึ้น

ตั้งแต่สมัยเป็นวัยรุ่นอยู่ที่ไทย คุณณกมลสนุกที่จะเดินตามสวนจตุจักรดูไอเดียใหม่ ๆ มีนิสัยรักการขาย และชอบทำเครื่องประดับใส่เอง จนเมื่อเดินทางมาเรียนต่อด้านบริหารธุรกิจ ที่เมืองชิคาโก้ ในปี 2001 เรื่องราวที่แทบไม่น่าเชื่อของแบรนด์ Nakamol ก็ได้เริ่มต้นขึ้น

คุณเผ็ดทดลองทำสร้อยคอตั้งใจออกขายเป็นครั้งแรก แต่ขณะนั้นการขายของออนไลน์ยังไม่แพร่หลาย เธอจึงถือสร้อยคอเดินไปย่านดาวน์ทาวน์ใกล้ที่พักแล้วเคาะประตูขายทีละร้าน

“สิ่งแรกคือเอาสร้อยคอที่เป็นของตัวพี่เอง เอามาแล้วก็เดินขาย คือใช้คำว่า Knock door เดินขายเลยนะคะ ร้านแรกนี่คืออยู่ใกล้ๆ กับที่พี่พัก”

มีร้านรับซื้อสร้อยของคุณณกมลไป 10 เส้น และร้านนั้นขายต่อได้ถึง 8 เส้นในเวลาเพียงหนึ่งวัน ไม่นานนักเจ้าของร้านจิวเวลรี่ได้เห็นความมุ่งมั่นจึงจุดประกายให้เธอเริ่มสร้างธุรกิจ

“วันหนึ่งเขาก็ถามพี่เผ็ดขึ้นมาว่า พี่อยากมีธุรกิจเป็นของตัวเองไหม เขาบอกว่าถ้าอยาก จะมีโชว์ที่ชิคาโก้ชื่อ Stylemax Show และเขามีเพื่อนที่เป็นเจ้าของโชว์รูมอยู่ที่ชิคาโก้ ถ้าเกิดพี่เผ็ดสนใจอยากทำ เขาจะแนะนำให้รู้จักกับเพื่อนเขา และนั่นคือจุดกำเนิดของ Nakamol จริงๆ”

เพียงสามวันที่ร่วมงานเทรดโชว์ เครื่องประดับของคุณณกมลได้รับยอดสั่งจองมูลค่าเกือบ 3 หมื่นดอลล่าร์ ทำให้เธอต้องรีบบินกลับไทยเพื่อสร้างทีมผลิตอย่างจริงจัง ในเวลาอันรวดเร็วแบรนด์ Nakamol ได้รับการบอกต่อแบบปากต่อปาก จนทำให้สินค้าของเธอถูกนำไปแสดงในโชว์รูม ทั้งในเมืองลอสแองเจลิส ดัลลัสและนิวยอร์ก

ปรัชญาเบื้องหลังความสำเร็จที่คุณณกมลเปิดเผยกับวีโอเอก็คือ ในด้านการออกแบบ ต้องทำให้สินค้าดูมีค่าในราคาที่จับต้องได้ ส่วนในด้านการบริหารต้องดูแลพนักงานให้เหมือนกับครอบครัว เธอเลือกที่จะจ้างคนที่ด้อยโอกาส สร้างที่ทำงานให้มีความปลอดภัย มีความยืดหยุ่นกับพนักงาน ในบางกรณีอนุญาตให้รับงานกลับไปทำที่บ้านได้

“เวลาทำงาน คุณณกมลจะเปิดโอกาส ให้คนรุ่นใหม่ๆ ได้แสดงศักยภาพ ให้แสดงผลงานของตัวเอง”

คุณนิทัศน์ ดีเทียน หรือคุณทอม ปัจจุบันทำหน้าที่ผู้จัดการหน้าร้านให้กับแบรนด์ Nakamol บอกกับเราถึงบรรยากาศการทำงานที่นี่ว่า มีอิสระ สอนงานอย่างสม่ำเสมอ และรับฟังความคิดเห็นของพนักงาน

“พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนไป เราต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองไปตามสถานการณ์”

ในอนาคตอันใกล้นี้ เราอาจจะได้เห็น Nakamol Chicago มีสินค้าเพิ่มขึ้นในกลุ่มใหม่ๆ เช่น ผ้าคลุมไหล่ หรือแม้กระทั่งกิโมโน

โดยที่คุณณกมลเผยว่า เธออาจเลือกวัสดุเช่นผ้าไหมไทยมาร่วมประยุกต์ใช้เพื่อสร้างความแปลกใหม่ให้กับตลาด

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook