แนวคิดการเลี้ยงลูกเพื่อป้องกันการเป็นคนแยกตัวจากสังคม

แนวคิดการเลี้ยงลูกเพื่อป้องกันการเป็นคนแยกตัวจากสังคม

แนวคิดการเลี้ยงลูกเพื่อป้องกันการเป็นคนแยกตัวจากสังคม
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ปัญหาหนึ่งที่เป็นปัญหาค่อนข้างใหญ่ในสังคมญี่ปุ่นคือ ปัญหาคนแยกตัวจากสังคมหรือฮิคิโคโมริ (Hikikomori) มาดูสาเหตุ แนวคิดการเลี้ยงเด็กเพื่อไม่ให้เกิดภาวะแยกตัวจากสังคม และวิธีช่วยเหลือให้เด็กพ้นจากการเป็นคนแยกตัวจากสังคมตามแนวคิดของแม่คนไทยในญี่ปุ่นกันนะคะ

สาเหตุของปัญหาแยกตัวจากสังคมหรือฮิคิโคโมริ

ปัญหาแยกตัวจากสังคมหรือฮิคิโคโมริเกิดจากหลากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นความผิดหวังจากเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เช่น ความล้มเหลวจากการสอบหรือการทำงาน แรงกดดันจากสังคมและคนรอบข้างที่ทำให้เกิดความเครียดสะสม จนเกิดเป็นความเบื่อหน่ายที่จะต้องพบปะผู้คนและรับแรงกดดัน หรืออาจเกิดกับคนที่แตกต่างหรือโดดเด่นกว่าคนอื่น ทำให้ถูกล้อเลียนหรือกลั่นแกล้งจนสูญเสียความมั่นใจ รู้สึกแย่และรู้สึกกลัวจนต้องเลือกที่จะแยกตัวออกจากสังคมเพื่อหลีกหนี อย่างไรก็ตามการแยกออกจากสังคมนั้นส่งผลด้านลบให้แก่เขามากขึ้น เมื่อต้องหมกมุ่นอยู่คนเดียว ความซึมเศร้า เกลียดชังตัวเองและเกลียดชังคนอื่นอาจเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจนำไปสู่ผลร้ายต่าง ๆ เช่น ทำร้ายร่างกายและชีวิตของผู้อื่นหรือการฆ่าตัวตาย เป็นต้น นอกจากผู้ใหญ่แล้วปัญหานี้ยังเกิดขึ้นเยอะในเด็กญี่ปุ่น ขณะนี้พบว่าเด็กจำนวนไม่น้อยไม่อยากไปโรงเรียนและอยู่ในสังคมโรงเรียนไม่ได้

แนวคิดวิธีการเลี้ยงลูกเพื่อป้องกันลูกแยกตัวออกจากสังคม

ดังกล่าวต่อไปนี้เป็นแนวคิดที่ผู้เขียนคิดว่าหากต้องการลดปัญหาการแยกตัวจากสังคมของประชากรนั้นก็ควรจะพิจารณาวิธีการเลี้ยงดูลูกตั้งแต่เล็ก ๆ ดังนี้

– สร้างจิตใจที่เข้มแข็งจากการให้เวลา ความรัก และการโอบกอดจากทั้งพ่อและแม่

– พาลูกน้อยเข้าสู่สังคมเล็ก ๆ ด้วยการพาไปเล่นที่สนามเด็กเล่นอย่างสม่ำเสมอ และไปในที่ต่าง ๆ ที่เปิดโอกาสให้เขาได้มีโอกาสพัฒนาทักษะทางสังคมจากการพบปะเพื่อนฝูงในวัยเดียวกันหรือวัยที่แตกต่างกัน

– ไม่คาดหวังและกดดันให้เขาทำให้สิ่งที่พ่อแม่คาดหวัง เช่น ต้องเรียนพิเศษอย่างหนักเพื่อสอบเข้าโรงเรียนดังให้ได้ ต้องซ้อมกีฬาอย่างหนักเพื่อเป็นตัวแทนนักกีฬาหรืออาชีพที่พ่อแม่ต้องการให้ได้ เป็นต้น

–ให้ลูกได้ทำในสิ่งที่ตัวเองชอบและถนัด เด็กที่มีความชอบและความถนัดจะเป็นคนที่เห็นคุณค่าของตัวเองและทำให้เขามีความมั่นใจเมื่ออยู่ในสังคม

– คอยปรับเปลี่ยนความคิดที่สุดโต่งของลูกอย่างสร้างสรรค์โดยไม่ทำให้เขาเสียความมั่นใจ

– ฝึกนิสัยยอมรับความผิดพลาดและเรียนรู้ที่จำความผิดพลาดมาใช้เป็นแรงบันดาลใจของชีวิต

– ฝึกหลักธรรมพรหมวิหาร4  ได้แก่ เมตตา กรุณา มุติตาและอุเบกขาให้ซึมซับเข้าสู่นิสัยลูกแบบง่าย ๆ

– ฝึกฝนบุคลิกที่หนักแน่นเพื่อให้ไม่ใส่ใจคำพูดที่ไม่ดีจากเพื่อน

– ชมเชยและให้กำลังใจเพื่อให้เขารู้ว่าพ่อแม่มีความเชื่อมั่นในทางที่เขาเลือก

วิธีแก้ไขเมื่อลูกแยกตัวจากสังคม

– ให้ลูกรู้ว่าพ่อแม่อยู่เคียงข้างเขาตลอดเวลาและเชื่อมั่นในตัวเขาและพร้อมที่จะแก้ไขปัญหาทุกสิ่งไปพร้อมกับเขา

– ไม่พูดดุด่า ทำร้ายร่างกายหรือเปรียบเทียบลูกกับคนอื่น

– ชมเชยและให้กำลังใจเมื่อเขากล้าที่จะเผชิญกับปัญหาที่คิดว่ารุนแรงสำหรับเขาได้

– หาโรงเรียนทางเลือกเพื่อให้ลูกมีความมั่นใจ

– ขอความร่วมมือจากคุณครูและบุคลากรในแนวทางที่ค่อยเป็นค่อยไป เพื่อให้เด็กที่แยกตัวออกจากโรงเรียนกลับเข้าสู่โรงเรียนอีกครั้ง เช่น แม้ไม่อยากเข้าห้องเรียนก็ขอให้มานอนห้องพยาบาลที่โรงเรียนดีกว่าการขาดโรงเรียน หรือเข้าเรียนในชั่วโมงเรียนที่ตนเองถนัด เป็นต้น

– จำกัดเวลาการใช้เทคโนโลยีการสื่อสารต่าง ๆ เช่น โทรทัศน์ เกม คอมพิวเตอร์ อินเทอร์เน็ต เป็นต้น เพราะเป็นสิ่งที่มีผลทำให้เด็กที่แยกตัวออกจากสังคมยิ่งขังตัวเองอยู่ในห้องได้นานขึ้น

– รอคอยด้วยความมั่นใจว่าเขาจะต้องกลับมาสู่สังคมปกติได้สักวันหนึ่ง

จากประสบการณ์เลี้ยงลูกอยู่ในสังคมญี่ปุ่นมากว่าสิบปีทำให้รู้ว่าสังคมญี่ปุ่นเป็นสังคมที่ซับซ้อนและมีชีวิตไปตามกระแสโดยเฉพาะการเลี้ยงดูลูก ผู้เขียนพบว่าในเด็กญี่ปุ่น 10 คนจะเรียนพิเศษอย่างหนัก 7-8 คน และในการเรียนพิเศษนั้นมีการสอบแข่งขันที่สูงจนสร้างความเครียดให้เด็กเป็นเวลายาวนาน พ่อแม่หลายคนจริงจังเกินเหตุ เช่น ลูกแข่งกีฬาแพ้ก็ตอกย้ำจนลูกรู้สึกแย่ บางคนใส่ใจสิ่งแวดล้อมรอบข้างจนเกินไป บางคนเป็นพ่อแม่สายสมบูรณ์แบบลูกต้องเก่งและดีทุกอย่าง อีกทั้งพ่อแม่จำนวนมากไม่ค่อยเปิดใจรับอะไรที่แปลกใหม่และไม่เปิดใจรับความผิดหวัง คาดหวังในตัวลูกหลานมากเกินไป จนไปกดดันและทำให้เด็กบริสุทธิ์จำนวนไม่น้อยต้องเติบโตกลายเป็นคนแยกตัวออกจากสังคมในที่สุด ไม่ใช่แต่คนญี่ปุ่นนะคะในยุคนี้พ่อแม่ไทยก็เลี้ยงลูกแบบคาดหวังมากขึ้น ภัยเงียบจากการเป็นโรคซึมเศร้าก็เกิดขึ้นเรื่อย ๆ

ที่มารูป: businessinsider

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook