ย้อนรอยการใส่กางเกงของสุภาพสตรี พลังที่เปลี่ยนโลกของพวกเธอไปตลอดกาล!
ในปัจจุบันหากเราจะเอ่ยถึงเรื่องราวของผู้หญิงที่ใส่ กางเกง ก็ดูเหมือนว่าจะเป็นเรื่องปกติที่ใครก็ต่างเห็นกันอยู่อย่างชินตาตามท้องถนนในชีวิตประจำวัน หากจะมีสักกี่คนที่รู้ว่า กางเกง เครื่องแต่งกายชิ้นธรรมดาในศตวรรษที่ 21 นี้ คือจุดเริ่มต้นของการพร่าเลือนพรมแดนความเท่าเทียมทางเพศ ที่เคยถูกขีดแบ่งเอาไว้ระหว่างชาย-หญิงในอดีต อีกทั้งยังเป็นเช่นการประกาศกร้าวให้สังคมได้รับรู้ว่า ความเท่าเทียมของคนนั้นมีอยู่จริง...
อดีตกาลตามตำนาน คติความเชื่อ ก่อนยุคศาสนา ยังมีการยกย่องเพศหญิงผ่านความเชื่อที่ยังหลงเหลือให้เห็นในปัจจุบัน ทั้ง พระแม่คงคาผู้ดูแลและเป็นใหญ่แห่งแม่น้ำ พระแม่โพสพผู้เป็นใหญ่แห่งผืนข้าว หรือแม้แต่พระแม่ธรณีผู้ปกป้องผืนแผ่นดิน ทำให้เพศหญิงในยุคก่อนเกินศานากลายเป็นดั่งสัญลักษณ์แห่งการให้กำเนิดสูงสุด ทว่าเมื่อโลกนี้รู้จักกับสิ่งที่เรียกว่าศาสนา บทบาทของสตรีเพศทั้งในตำนานปกรณัม ความเชื่อ และในโลกแห่งความเป็นจริงยังต้องถูกทอนลง ให้ไปอยู่ในตำแหน่งของเพศรองต่อจากบุรุษเพศ พร้อมเข้าครอบงำสังคมด้วยขนบการปกครองแบบ Pratiachy หรือระบอบชายเป็นใหญ่ในที่สุดเรื่อยมาจนถึงปัจจุบันกาล
ดังนั้นแล้ว ความเชื่อที่เราต่างนับถือ พระแม่ ต่างๆ อันเป็นเพศหญิงในอดีตกาลนั้น ก็ถูกทำให้ห่างจากโลกความเป็ฯจริงไกลออกไปมากขึ้นกว่าเท่าตัว ผู้หญิงในโลกจริงถูกจำกัดให้มีบทบาทลดน้อยถอยลงผ่านวันเวลามาอย่างยาวนาน ไม่เพียงในด้านศาสนา การเมืองการปกครอง หรือการใช้ชีวิต หากในแง่มุมที่เกี่ยวข้องกับโลกของแฟชั่น และการแต่งตัว ที่หลายคนเห็นว่ามีเหล่าสตรีเพศเป็นใหญ่นั้น ก็ใช่ว่าจะเป็นเรื่องง่ายเท่าไหร่ กว่าที่จะมาเป็นเฉกเช่นทุกวันนี้...
ภาพ : Pinterest
ย้อนกลับไปในช่วงยุคศตวรรษที่ 15 ณ ประเทศฝรั่งเศส เรายังเคยได้รับรู้เรื่องราวของวีรสตรีนามว่า Joan of Arc ผู้ซึ่งเริ่มใส่เสื้อเกราะ และแต่งตัวอย่างนักรบชายเพื่อออกสู้รบกับศัตรู หากตำนานเรื่องนี้ไม่ได้จบสวยเหมือนดั่งในนิยาย ที่จะมีผู้คนพร้อมเดินเข้ามาแห่วีรสตรีคนนี้ เพื่อเชิดชูไปทั้วเมือง หากในทางกลับกันจุดจบของเธอยังถูกจับเผาทั้งเป็นกลางไฟฟอน ด้วยเหตุผลไร้ตรรกะที่เก่งเกินสตรี อีกทั้งยังแต่งตัวเลียนแบบชายชาติทหาร จึงเป็นอื่นไปไม่ได้นอกจากแม่มด... หลังจากนั้นเป็นต้นมา เรื่องเล่าของเธอจึงยิ่งเหมือนเป็นการตอกหมุด บดย้ำให้ผู้หญิงในสมัยต่อมาต้องสยบยอมต่อความเชื่อที่ฝังรากลึกนี้ ซ่อนตัวเองอยู่ในโครงปลาวาฬ Croset ดำเนินชีวิตตามนิยามความงามที่คนอื่นกำหนดให้ว่าสวยและดีนานนับศตวรรษ
หากนั้นหาใช่การยอมแพ้ของสตรีไม่ เพราะในเรื่องราวกลางกองฟืนที่มอดไหม้ของ Joan of Arc ยังกรุ่นควันฟาง อยู่ในระลึกแห่งรุ่นน้องสตรีในรุ่นต่อมา ให้ได้มองเห็นความขบถอันเก่งกล้าที่ช่วยให้ฝรั่งเศสรอดพ้นจากเงื้อมมือศัตรู ก่อตัวเป็นกระแสสำนึกที่ว่า สตรีก็มิได้ต่างไปจากบุรุษ และฝังอยู่ในความคิดของสตรีทุกคน เพียงรอจังหวะเวลาที่เหมาะสมที่พวกเธอจะนิยามความงามใหม่เท่านั้น
ภาพ : Levi's
ผ่านเวลามากว่าหลายศตวรรษ เมื่อกระแสเฟมินิสต์เริ่มได้รับความสนใจ ประจวบเหมาะกับช่วงเวลาแห่งสงครามโลกครั้งที่ 1 ที่บังคับให้ผู้หญิงต้องออกมาเป็นแรงงานนอกบ้าน โลกแห่งความเท่าเทียมของหญิงสาว และชายหนุ่มจึงเริ่มขึ้นใหม่อีกครั้ง ผ่าน กางเกงยีนส์ ในคอลเล็กชั่น Freedom-Alls จากแบรนด์ Levis ในปี 1918 หลังจากที่ผ่านพ้นสงครามโลกครั้งแรกมาได้ไม่นาน หากนั่นก็เป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นเล็กๆ เท่านั้น เพราะไอเท็มชิ้นกางเกงยังเป็นเพียงชิ้นเสื้อผ้าของหญิงสาวที่เอาไว้สวมใส่ในบางโอกาสเท่านั้น จึงยังไม่ใช่ส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันอย่างแท้จริง และยังไม่ได้รับการยอมรับในสังคมอย่างกว้างขวางเช่นทุกวันนี้ เพราะแม้แต่ในปี 1939 หญิงสาวคนนหนึ่งในเมืองลอสแอนเจลิส ยังต้องเดินหน้าเข้าคุกด้วยข้อหาที่เธอใส่กางเกงสแล็คเข้าไปในศาลยุติธรรม โดยที่ผู้พิพากษาลงความเห็นไว้ว่า การใส่กางเกงของสุภาพสตรีผู้นั้นมีผลให้ไขว้เขวในการตัดสินคดี กระทั่งต่อมายังส่งผลกระทบไปถึงเหล่าสุภาพสตรีแห่งรัฐสภาคองเกรส ที่ถูกห้ามไม่ให้ใส่กางเกงด้วยเช่นนั้น
กระนั้นในเรื่องโชคร้ายเช่นนี้ เราก็ยังได้เห็นแง่ดีที่เป็นดั่งแรงผลักดันให้เกิดการประท้วงครั้งยิ่งใหญ่ในเวลาต่อ ที่ได้เปลี่ยนประวัติศาสตร์การแต่งตัวของเหล่าสุภาพสตรีไปตลอดกาล นั่นคือการประท้วงในชุดหมี (Pantsuit Rebellion) เพื่อล้มล้างกฎโบราณข้อนี้
ภาพ : VNT
พัฒนาการของการแต่งตัวในชุดกางเกงของเหล่าสุภาพสตรีเริ่มโดดเด่นขึ้นในช่วงยุค 1940s เป็นต้นมา กระทั่งหลังช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 อีกครั้ง ที่เหล่าสุภาพสตรีได้ออกมาทำงานอย่างเป็นทางการ เราจึงได้เห็นเหล่าสุภาพสตรีพาเหรดกางเกงตัวสวย กระทั่งชุดในแบบ Overalls ราวกับเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันมากขึ้นเรื่อยๆ ตามยุคสมัย พร้อมบทบาทหน้าที่ของเหล่าสุภาพสตรีที่มีพื้นที่อยู่ด้านนอกของตัวบ้านมากขึ้น ไม่ต้องถุกจำกัดให้ทำงานบ้านเพียงอย่างเดียว หากอีกหนึ่งจุดเปลี่ยนสำคัญที่ถูกจารึกไว้บนหน้าประวัติศาสตร์แฟชั่นอย่างไม่อาจลบเลือนได้นั้น ก็คงจะต้องยกให้กับชุด Le Smoking อันเลื่องชื่อ ผลงานการสร้างสรรค์โดย Yves Saint Laurent ในปี 1966 กับชุดสูทในแบบของหญิงสาวที่พร้อมยืนเคียงข้าง และท้าทายความเป็นผู้ชายได้อย่างถึงแก่น เพราะชุดนี้ไม่เพียงทลายล้างกำแพงความเป็นหญิง หรือชายเท่านั้น หาก Le Smoking ยังเป็นดั่งต้นตำรับแห่งเทรนด์ Androgynous หรือการไม่แบ่งเพศใดๆ ในเวลาต่อมาอีกด้วยเช่นกัน
ภาพ : Pinterest
จาก Joan of Arc ผ่านกาลเวลามาจนถึงทุกวันนี้ คงเป็นที่ยืนยันแล้วว่า นี่ไม่ใช่เรื่องง่ายที่หญิงสาวคนหนึ่งจะกล้าเดินข้ามผ่านเส้นแบ่งเขตแดนแสนอันตรายนี้มา เพื่อเลือกหยิบเอากางเกงสักตัวหนึ่งขึ้นมาสวมใส่ ดังนั้นแล้ว กางเกง หนึ่งตัวที่สาวๆ หลายคนต่างคุ้นชินกันอยู่ในทุกวันนี้ เปรียบเป็นดั่งจุดเริ่มต้น แรงบันดาลใจ ที่หนทางของมันมิใช่เพียงถูกผลิตออกมาจากโรงงานเพื่อนำมาโยนขายเท่านั้น หากมันคือองค์ประกอบเบื้องหลังหนึ่ง ที่พาเหล่าสุภาพสตรีทั้งหลายมาไกลเหลือเกิน เกินกว่าที่พรมแดนแห่งเพศจะกั้นไว้อยู่
ดังที่ทุกคนสงสัยว่า เพราะเหตุใดจึงมีแต่วันสตรีสากล แต่ไม่มีวันบุรุษสากลบ้าง ก็งคงจะเข้าใจแล้วว่าการกระทำต่อเหล่าสุภาพสตรีในอดีตกาลนั้น ไม่เท่าเทียมกันอยู่มาก เพราะฉะนั้นแล้วการมีวันสตรีสากลๆว้นั้น ก็มิใช่ว่าบุรุษจะไม่สำคัญ หากเอาไว้ย้ำเตือนว่ามนุษย์ทุกคนเท่ากัน ไม่ว่าจะเป็นเพศใดก็ตาม และมิใช่เพื่อย้ำเตือนผู้อื่นอย่างเดียว หากเอาไว้ย้ำเตือนเหล่าสุภาพสตรีด้วยเช่นกันว่า ไม่ให้หลงลืมสิทธิความเป็นคน ที่มีอยู่อย่างเต็มเปี่ยมในตัวเอง...