เสื้อคลุมในตำนาน "เทรนช์โค้ต" จากจุดกำเนิดในสนามรบ สู่เครื่องแต่งกายระดับฮอลลีวูด

เสื้อคลุมในตำนาน "เทรนช์โค้ต" จากจุดกำเนิดในสนามรบ สู่เครื่องแต่งกายระดับฮอลลีวูด

เสื้อคลุมในตำนาน "เทรนช์โค้ต" จากจุดกำเนิดในสนามรบ สู่เครื่องแต่งกายระดับฮอลลีวูด
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หากจะพูดถึงเสื้อเทรนช์โค้ต ภาพจำแรกที่แว้บเข้ามาในหัวของสาวหลายคน ก็คงจะหนีไม่พ้นฉากหนึ่งจากภาพยนตร์ขึ้นหิ้งตลอดกาลเรื่อง Breakfast at Tiffany’s ในปี 1961 ที่ได้นางเอกสาวระดับฮอลลีวูดอย่างออเดรย์ เฮปเบิร์นมารับบทนำในเรื่อง สวมใส่เสื้อเทรนช์โค้ตยาว เงยหน้าจุมพิตกับชายหนุ่มผู้เป็นพระเอกของเรื่อง โดยมีเจ้าแมวแสนรักอยู่ในอ้อมกอดของเธอ นับเป็นฉากที่สะกดคนดู และเหล่าสาวช่างฝันได้อย่างอยู่หมัด กระทั่งที่หลังจากนั้นเป็นต้นมา เสื้อเทรนช์โค้ตก็ถูกพูดถึง กลายเป็นอีกหนึ่งกระแสหลักในอุตสาหกรรมแฟชั่น กลายเป็นไอเท็มชิ้นสำคัญที่ช่วยเสริมบุคลิกให้กับเหล่าสุภาพสตรี และสุภาพบุรุษทั่วโลก หากแต่ต้นกำเนิดของมันไม่ได้อยู่ในห้องเสื้อสวยหรูอย่างไอเท็มชิ้นสำคัญอื่นๆ...

ภาพ : HLWภาพของนางเอกสาวออเดรย์ เฮปเบิร์น จากภาพยนตร์เรื่อง Breakfast at Tiffany's
ตำนานเรื่องเสื้อเทรนช์โค้ตที่ทหารสวมใส่ในสนามรบช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 กลายเป็นจุดเริ่มต้นของชิ้นไอเท็มชื่อดัง และมีเสน่ห์ดึงดูดเกินกว่าที่ใครจะปฏิเสธ หากในความเป็นจริงเสื้อเทรนช์โค้ตที่ว่านี้มีวิวัฒนาการมาจากเสื้อกันน้ำแสนธรรมดา ที่ได้ทดลองสร้างสรรค์ขึ้นโดยฝีมือของนักเคมีชาวสก็อต แลนด์ผู้ควบตำแหน่งนักประดิษฐ์นามว่า Charles Macintosh และ Thomas Hancock ผู้ก่อตั้งอุตสาหกรรมยางแห่งอังกฤษ ในช่วงต้นปี 1820 และผู้ที่สวมมันในช่วงสงครามส่วนใหญ่จะเป็นนายทหารระดับสูง ซึ่งมักจะสลักชื่อ และปีที่ตัวเองซื้อไว้เป็นส่วนหนึ่งของเครื่องแบบ ที่ทำหน้าที่เป็นดั่งเครื่องหมายของความแตกต่างทางสังคม และชนชั้นในกองทัพสมัยนั้น

      และเมื่อกลับไปที่จุดเริ่มต้นของเสื้อเทรนช์โค้ตในช่วงปี 1820 นั้น ยังได้รับการสร้างสรรค์ขึ้นมาจากผ้าฝ้าย และผ้าที่สกัดจากยาง เพื่อให้เกิดเป็นเสื้อแจ๊กเก็ตสำหรับผู้ชาย จำพวกที่รักในกิจกรรมกลางแจ้งแบบพร้อมลุย หรือการรับราชการทหาร เพราะมีคุณสมบัติพิเศษทนแดด และฝนนั่นเอง ก่อนที่ในเวลาต่อมาเมื่อเทคโนโลยีพัฒนามากขึ้น การเคลือบผิวยางทำให้ระบายอากาศได้ดีขึ้น ทำให้เหงื่อของผู้สวมใส่ออกน้อยลง และต้านทานน้ำได้ดีมากขึ้นตามลำดับ กระทั่งในช่วงปี 1853 บริษัท Aquascutum ได้พัฒนาเสื้อเทรนช์โค้ตให้นำสมัยไปอีกขั้น ด้วยเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นตามยุคสมัย ก่อนที่โทมัส เบอร์เบอรี่ แห่งแบรนด์ Burberry จะมารับไม้ต่อ พร้อมสร้างสรรค์เสื้อเทรนช์โค้ตให้มีมิติที่หลากหลาย ไปจนถึงการเลือกใช้รูปแบบผ้า “กาเบอรีน” ของแบรนด์ที่ประดิษฐ์ขึ้นในปี 1879 และได้กลายเป็นเนื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ดี จนกลายเป็นที่นิยมได้ในที่สุด

ภาพ : vintagepriceป้ายโฆษณาเสื้อเทรนช์โค้ตที่ได้รับการผลิต และสร้างสรรค์โดยบริษัท Aquascutum ในยุคสงคราม
ทั้ง Aquascutum และ Burberry ยกความดีความชอบที่เสื้อเทรนช์โค้ตกลายเป็นที่รู้จักให้กับการสวมใส่ของเหล่าทหารในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 หากในอีกแง่หนึ่งของความจริงก็คือ แบรนด์ทั้งสองก็คือส่วนหนึ่งที่ช่วยให้เสื้อเทรนช์โค้ตมีชื่อเสียงอยู่ไม่น้อย (ในมิติของอุตสาหกรรมแฟชั่น) ผสานกับภาพของนายทหารระดับสูงที่มีฝีมือที่ช่วยทำสงครามอย่างกล้าหาญขณะที่สวมเสื้อเทรนช์โค้ตของพวกเขา ก็ยิ่งขับเน้นให้เห็นสไตล์ที่แอบซ่อนอยู่อันน่าทึ่ง กระทั่งที่เสื้อเทรนช์โค้ตถูกวางจำหน่าย และขายโดยผู้ค้าปลีกรายอื่นๆ ตามท้องตลาดการันตีความดัง และความนิยมของเสื้อชนิดนี้ ไม่เพียงในวงการทหาร แต่คนทั่วไปก็เข้าถึงได้ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา


ภาพ : ALAMYเจ้าหน้าที่ทหารชั้นสูงสวมใส่เสื้อเทรนช์โค้ตในช่วงยุค 1940s หรือช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1
เสื้อเทรนช์โค้ตแบบดั้งเดิมที่ว่า มีลักษณะสำคัญคือเป็นกระดุมสองแถว ความยาวระดับเข่า มีสาย D-rings สำหรับอุปกรณ์เสริมสำหรับเชื่อมต่อเพื่อการทหาร ผ้าที่เป็นลักษณะเหมือนปีกด้านหลังยังถูกออกแบบมาให้เกิดการระบายอากาศได้ดี อีกทั้งตัวกระเป๋าจะมีความลึกเท่ากับความยาวถึงข้อมือ เสื้อเทรนช์โค้ตบางตัวยังมาพร้อมกับซับด้านในให้ความอบอุ่น ที่สามารถถอดออกได้ ซึ่งสามารถใช้เป็นผ้าปูที่นอนได้หากต้องการ เพื่อเอื้อให้กับสถานการณ์ในสนามรบ ที่มาพร้อมกับสีกากีที่นับเป็นสีที่สามารถใช้พรางตัวได้ดีที่สุดอีกด้วย

ภาพ : RExHumphrey Bogart ในภาพยนตร์เรื่อง Casablanca

ภาพ : RExMeryl Streep ในภาพยนตร์เรื่อง Kramer vs. Kramer

ภาพ : Vogue Britishภาพจากรันเวย์โชว์คอลเล็กชั่นประจำฤดูกาลใบไม้ร่วง/ฤดูหนาว ปี 2019 จากแบรนด์ Burberry

ภาพ : Vogue Britishภาพจากรันเวย์โชว์คอลเล็กชั่นประจำฤดูกาลใบไม้ร่วง/ฤดูหนาว ปี 2019 จากแบรนด์ Maison Margiela
ภาพ : Vogue Britishนางแบบสาวเคต มอส ในลุคของสาวเทรนช์โค้ต
แม้ว่ามันจะถูกสวมใส่โดยเจ้าหน้าที่ทหารอีกครั้งในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่ในตอนนั้นเสื้อเทรนช์โค้ตก็เริ่มผันตัวเองมาอยู่บนสายทางโรแมนติกฮอลลีวูดแล้วอย่างเต็มตัว ด้วยการแทนที่ภาพของเหล่าเจ้าหน้าที่ทหารด้วย นักข่าวที่รายงานข่าวด่วนภาคสนาม, ตัวละครนักสืบในภาพยนตร์, ไปจนถึงเหล่าตัวละครหญิงในภาพยนตร์เรื่องดัง จนอาจกล่าวได้ว่าอุตสาหกรรมภาพยนตร์คือ อีกส่วนช่วยสำคัญให้เสื้อเทรนช์โค้ตเดินทางเข้าสู่อาณาจักรแห่งความทันสมัย เพราะนอกจากออเดรย์ เฮปเบิร์นในภาพยนตร์เรื่อง Breakfast at Tiffany’s แล้ว เสื้อเทรนช์โค้ตยังถูกสวมใส่ในฉากที่โดดเด่นที่สุดในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์โดย Humphrey Bogart ใน Casablanca, Marlene Dietrich ใน A Foreign Affair หรือแม้แต่ Meryl Streep ใน Kramer vs. Kramer ที่นับเป็นไอเท็มสำคัญที่ช่วยให้ตัวละครสาวดูทะมัดทะแมง และน่าค้นหา

     วัฒนธรรมของเสื้อเทรนช์โค้ตยังคงดำเนินอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน โดยห้องเสื้อมากหน้าหลายตา ทั้ง Maison Margiela, Rei Kawakubo และ Jean-Paul Gaultier หากที่โดดเด่น และยังคงเป็นลายเซ็นที่ยั่งยืนเสมอมา ก็คงต้องยกให้กับ Burberry ผู้สร้างมันขึ้นมาแต่แรก มีให้เลือกหลากหลายสไตล์ ทั้งที่เป็นรายละเอียดแบบดั้งเดิม และสไตล์ใหม่ และถึงแม้ว่าเสื้อเทรนช์โค้ตจะเดินออกมาไกลจากมิติแห่งการรับใช้ชาติ (วงการทหาร) เป็นเวลานานแล้ว แต่เส้นทางใหม่บนถนนสายภาพยนตร์ฮอลลีวูด และอุตสาหกรรมแฟชั่น ของเสื้อชนิดนี้ก็น่าสนใจไม่แพ้กัน...

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook