น้ำแร่ ดื่มทุกวันธาตุเยอะ ร่างกายเสียสมดุล
เตือนภัย"น้ำแร่" ดื่มทุกวันธาตุเยอะ ร่างกายเสียสมดุล ติงราคาแพงเกินเหตุ
เตือนผลกระทบดื่มน้ำแร่ทุกวัน เหมือนกินยาต่อเนื่อง ร่างกายเสียสมดุล สำรวจสินค้าที่วางขายเกลื่อนไม่ได้ระบุปริมาณแร่ธาตุในส่วนผสม อาจมีมากเกินความต้องการ จนเกิดผลเสียต่อสุขภาพ
เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม นายสุพจน์ เจิมสวัสดิพงษ์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล (ทบ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีความน่าเป็นห่วงการบริโภคน้ำดื่มของประชาชน โดยเฉพาะน้ำแร่ที่วางจำหน่ายทั่วไปตามท้องตลาด ซึ่งมีการบรรยายสรรพคุณต่างๆ เช่น เป็นน้ำสะอาดมากกว่าน้ำดื่มโดยทั่วไป การอ้างว่ามีแร่ธาตุหลายชนิดมีประโยชน์ต่อร่างกาย จนทำให้ผู้บริโภคส่วนหนึ่งหันไปดื่มน้ำแร่ ทั้งที่ในข้อเท็จจริงแล้วน้ำแร่ที่วางขายในท้องตลาด เป็นน้ำบาดาลชนิดหนึ่ง แต่อยู่ในพื้นที่เฉพาะที่มีแร่ธาตุบางชนิดมากเป็นพิเศษ
"น้ำแร่อาจจะมีแร่ธาตุที่มีประโยชน์ตามที่โฆษณาก็จริง แต่ขอเรียนว่าไม่ควรดื่มหรือบริโภคทุกวัน เนื่องจากน้ำแร่มีส่วนประกอบของแร่ธาตุชนิดต่างๆ แล้วแต่พื้นที่ที่เป็นแหล่งกำเนิด เช่น น้ำแร่บริเวณภูเขาจะมีแร่ธาตุซิลเลเนียมและวานาเดียมมาก แร่ธาตุ 2 ชนิดนี้เชื่อกันว่ามีสรรพคุณในการเพิ่มสมรรถภาพทางเพศ หรือบางพื้นที่จะมีปริมาณฟลูออไรด์ที่ช่วยให้ฟันและกระดูกแข็งแรง ขณะที่น้ำแร่บางยี่ห้อบางชนิดมีการเติมสารที่ทำให้มีรสออกหวาน ดังนั้นจึงไม่ควรดื่มน้ำแร่ทุกวัน เพราะจะทำให้ร่างกายเสียสมดุล" นายสุพจน์กล่าว
อธิบดี ทบ.กล่าวว่า ที่สำคัญก่อนจะซื้อน้ำแร่มาดื่มควรอ่านฉลากกำกับว่า ในแต่ละยี่ห้อมีสรรพคุณอย่างไร มีแร่ธาตุอะไรเป็นส่วนประกอบบ้าง และแร่ธาตุเหล่านั้นเกินค่ามาตรฐานหรือไม่ เช่น ถ้ามีส่วนผสมของฟลูออไรด์ที่เชื่อกันว่าจะช่วยบำรุงรักษาฟันและกระดูก แม้จะเป็นความจริง แต่ค่ามาตรฐานฟลูออไรด์ในน้ำแร่สำหรับดื่ม ไม่ควรเกิน 0.7 มิลลิกรัมต่อลิตร หากเกินจะส่งผลเสียต่อฟันและกระดูกได้ โดยเด็กที่อายุต่ำกว่า 7 ขวบ จะทำให้ฟันตกกระ ส่วนผู้ใหญ่จะทำให้กระดูกผิดปกติ แร่ธาตุที่อยู่ในน้ำแร่ที่สำคัญๆ เช่น ธาตุเหล็ก ไม่ควรเกิน 0.5 มิลลิกรัมต่อลิตร แมงกานีสไม่เกิน 0.3 มิลลิกรัมต่อลิตร ทองแดงไม่ควรเกิน 1.0 มิลลิกรัมต่อลิตร สังกะสีไม่ควรเกิน 5.0 มิลลิกรัมต่อลิตร ซัลเฟตไม่ควรเกิน 200 มิลลิกรัมต่อลิตร ไนเตรตไม่ควรเกิน 45 มิลลิกรัมต่อลิตร คลอไรด์ไม่ควรเกิน 250 มิลลิกรัมต่อลิตร เป็นต้น
นายสุพจน์กล่าวว่า เท่าที่ตรวจสอบจากการวางขายในท้องตลาด พบว่าน้ำแร่ส่วนใหญ่จะบอกคุณสมบัติของแร่ธาตุ แต่ไม่ได้บอกปริมาณ ทำให้ผู้บริโภคไม่รู้ว่าน้ำแร่แต่ละชนิดมีปริมาณแร่ธาตุเกินมาตรฐานหรือไม่ ผู้บริโภคพอเห็นว่าเป็นน้ำแร่ก็จะคิดเอาเองว่าดีกว่าน้ำดื่มธรรมดา ซึ่งส่วนใหญ่มาจากอิทธิพลของการโฆษณา
"ในต่างประเทศไม่มีใครดื่มน้ำแร่กันทุกวัน เพราะการดื่มน้ำแร่ทุกวันเหมือนกับการกินยาทุกวัน ไม่ดีต่อร่างกายแน่ๆ" นายสุพจน์กล่าว
เมื่อถามว่า หากเป็นเช่นนั้นก็ไม่ควรดื่มน้ำบาดาลทุกวัน เพราะน้ำบาดาลก็คือน้ำแร่เหมือนกัน นายสุพจน์กล่าวว่า น้ำบาดาลคือน้ำดิบที่บริสุทธิ์ มีแร่ธาตุหลายชนิดเจือปนอยู่ ในปริมาณที่ไม่เป็นโทษแก่ผู้ดื่ม การขุดเจาะแต่ละพื้นที่ต้องมีเทคนิคโดยเฉพาะตามหลักวิชาการ อาทิ อุทกธรณีวิทยา ธรณีฟิสิกส์ เป็นต้น หากเปรียบเทียบน้ำบาดาลสำหรับบริโภคปกติ กับแหล่งน้ำแร่ที่คนไทยซื้อบริโภคในราคาสูง ความสะอาดและความบริสุทธิ์จะไม่แตกต่างกัน แต่แตกต่างกันตรงน้ำแร่ที่คนไทยซื้อดื่ม มีแร่ธาตุบางชนิดอยู่ เช่น โซเดียม สังกะสี คลอไรด์ ซิลิกา โพแทสเซียม แมกนีเซียม
"สิ่งที่ผมอยากจะบอกคือ ในอาหารที่เรากินปกติในชีวิตประจำวัน ก็มีแร่ธาตุผสมอยู่แล้ว หากเราไม่ได้เจ็บป่วยหรือร่างกายขาดแร่ธาตุตัวใด ก็ไม่จำเป็นต้องดื่มน้ำแร่ หรือดื่มได้ แต่ไม่จำเป็นต้องดื่มทุกวัน เพราะกลัวว่าร่างกายจะขาดแร่ธาตุ หรือต้องการแร่ธาตุสำหรับบำรุงร่างกาย เหมือนกับการกินอาหารเสริมหรือวิตามิน ถ้าเรากินอาหารครบตามหลักโภชนาการ เราไม่จำเป็นต้องกินวิตามิน หรืออาหารเสริมใดๆ เลย" อธิบดี ทบ.กล่าว
ด้านนายสง่า ดามาพงษ์ นักโภชนาการ ที่ปรึกษากรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ขณะนี้เป็นความเข้าใจผิดกันมากว่าการดื่มน้ำแร่แล้ว ร่างกายจะดี หรือได้รับประโยชน์มากกว่าการดื่มน้ำสะอาดตามปกติทั่วไป และที่ผ่านมา ยังไม่มีงานวิจัยใดๆ ออกมารองรับว่าคนที่ดื่มน้ำแร่ทุกวัน จะมีสุขภาพดีกว่าคนที่ดื่มน้ำสะอาดธรรมดา หลักการทั่วไปทางโภชนาการคือ แร่ธาตุสำคัญๆ ที่ร่างกายต้องการ มาจากอาหารมื้อหลักและครบ 5 หมู่เท่านั้น ซึ่งแร่ธาตุที่สำคัญที่มีประโยชน์และร่างกายต้องการ จะมีในปริมาณที่เหมาะสมอยู่ในอาหารอยู่แล้ว ใครที่รับประทานอาหารครบ 5 หมู่ ก็จะได้รับแร่ธาตุที่พอเหมาะแก่ความต้องการของร่างกายอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องดื่มน้ำแร่ที่มีแร่ธาตุต่างๆ เสริมอีก
"น้ำแร่ราคาแพงกว่าน้ำดื่มทั่วไป ถามว่าดื่มน้ำแร่แล้วเสียหายหรือไม่ ก็ไม่ได้เสียหายอะไร ก็เหมือนกับการดื่มน้ำสะอาดทั่วไป แต่ก็ไม่ได้มีประโยชน์ถึงขั้นไปเสริมเพิ่มความแข็งแรง หรือทำให้ร่างกายดีขึ้นไปกว่าการดื่มน้ำปกติที่ราคาถูกกว่า การดื่มน้ำแร่อาจจะเป็นเพียงรสนิยมและความรู้สึกที่คิดกันว่าดื่มแล้วดี อาจจะมาจากการโฆษณาประชาสัมพันธ์เท่านั้น แต่มีคำถามที่อยากถามคือ ราคาน้ำแร่นั้นแพงเกินไปหรือเปล่า" นายสง่ากล่าว