เรื่องใกล้ตัว ท้องผูกเรื้อรังจนเป็นริดสีดวงทวาร
คุยกับหมอพิณ ท้องผูกเรื้อรังจนเป็นริดสีดวงทวาร
โดย พญ.พิณนภางค์ ศรีพหล
"คุณถ่ายอุจจาระกี่วันครั้งหรือคะ" คำถามที่หมอมักจะถามคนไข้เป็นประจำ
"ทุกวันเลยค่ะ" คนไข้บางคนมักจะตอบด้วยสีหน้ารื่นเริง
"นาน ๆ ครั้งค่ะ ล่าสุดก็...(ทำหน้าคิดนาน)..." กลุ่มคนไข้ที่ตอบแบบนี้ มักมีสีหน้าไม่รื่นเริงค่ะ
เหมือนโฆษณาโทรทัศน์ ที่สาวสวยจะไปสมัครงาน จะไปพบพ่อแม่แฟน แต่ท้องผูกแล้วทำหน้าอมทุกข์ รู้สึกไม่มั่นใจ พอกินผลิตภัณฑ์ดังกล่าวแล้ว ได้ขับถ่ายก็มีสีหน้ารื่นเริง มั่นใจ
แสดงว่าท้องผูกก็ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของเราพอควร ใช่ไหมคะ
อย่างไร ถึงเรียกว่าท้องผูก
ท้องผูก คือการถ่ายอุจจาระที่ "น้อยกว่า 3 ครั้ง" ต่อสัปดาห์ อุจจาระลักษณะเป็นก้อนแข็ง ออกยาก กว่าจะถ่ายออกมาได้ ต้องใช้ความพยายาม เบ่งกันจนหน้าเขียว อ่านหนังสือจบไปเป็นเล่ม บางคนมีอาการท้องอืดร่วมด้วย
วิธีป้องกันการเกิดอาการท้องผูก ได้แก่ การดื่มน้ำอย่างเพียงพอ อย่างน้อย 8 แก้วต่อวัน หรืออย่างน้อย 2 ลิตรต่อวัน การรับประทานอาหารที่มีกากใย เช่น ผัก ผลไม้ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ไม่กลั้นอุจจาระเวลาที่รู้สึกปวด บางคนต้องเก็บไปปล่อยที่บ้านเท่านั้น กว่าจะถึงบ้าน ฟีลลิ่งที่ว่าก็หายไปแล้ว กว่าฟีลลิ่งจะมาอีกที ก็ท้องผูกไปเรียบร้อย
แล้วเมื่อไหร่ที่ควรใช้ยาระบายล่ะ
หากเกิดอาการท้องผูกบ่อย ๆ คุณสามารถใช้ยาระบายได้ ยาระบายหาซื้อได้ง่ายตามร้านขายยาทั่วไป แต่ควรใช้ด้วยความระมัดระวัง คือเมื่อคุณกลับมาถ่ายอุจจาระได้เป็นปกติ ก็ควรหยุดใช้ยาระบาย คือไม่ควรใช้ต่อเนื่องนั่นเอง หากใช้มากเกินไป ลำไส้ของคุณจะติดยาระบาย หากไม่ได้ใช้ยาระบาย จะถ่ายไม่ได้ ซึ่งไม่ควรนะคะ
หากใช้ยาระบายแล้ว ก็ยังมีอาการท้องผูก ควรจะปรึกษาแพทย์ เนื่องจากอาจมีโรคอื่น ๆ แอบซ่อนอยู่ค่ะ
หากท้องผูกเรื้อรัง เบ่งอุจจาระเป็นประจำบ่อย ๆ อีกโรคหนึ่งที่จะตามมาคือ "โรคริดสีดวงทวาร" ค่ะ
โรคริดสีดวงทวารเกิดจากการที่เส้นเลือดรอบรูก้นหรือลำไส้ส่วนปลายเกิดอาการโป่งพองขึ้น โดยอาจมีอาการปวด ระคายเคือง หรือคันบริเวณที่เป็นได้ อาจมีเลือดออกเวลาอุจจาระ
ริดสีดวงทวารมักเกิดในคนที่ท้องผูกบ่อย คนที่มีน้ำหนักเกิน สตรีตั้งครรภ์ คนที่ยืนนาน ๆ หรือนั่งนาน ๆ การป้องกันไม่ให้เกิดริดสีดวงทวาร ก็คือการป้องกันการเกิดภาวะท้องผูกค่ะ หากเกิดริดสีดวงทวารแล้ว สามารถบรรเทาอาการโดยครีม หรือยาเหน็บได้ ในบางรายที่เป็นมาก ควรปรึกษาแพทย์ อาจต้องรักษาโดยการผ่าตัดค่ะ