ย้อนรอยประวัติศาสตร์แฟชั่น 5,000 ปีจากยุคอียิปต์จนถึงปัจจุบันแฟชั่นเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง
พบกับซีรีส์ #VogueFashionClass จากโว้กประเทศไทย ซีรีส์ประจำที่อัดแน่นไปด้วยความรู้เบสิกเกี่ยวกับแฟชั่น ไล่ตั้งแต่เสื้อผ้า แอ็กเซสเซอรี่ ไปจนถึงความรู้ทั่วไปที่สายแฟไม่ควรพลาด สำหรับผู้ที่เริ่มต้นศึกษาแฟชั่น และแฟชั่นนิสต้าทั่วประเทศเซฟเก็บเป็นคลังความรู้และนำไปใช้ได้ตลอดกาล
นิยามความสวยงามของร่างกาย ผิวพันธุ์ และแฟชั่นแต่ละยุคแต่ละสมัยย่อมไม่เหมือนกัน นั่นนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงเป็นพลวัตจากยุคสู่ยุค ครั้งหนึ่งเคยฮิตมาสู่ความเชย ครั้งหนึ่งความปังมาสู่ความเงียบ วิวัฒนาการความยิ่งใหญ่จนสามารถกำหนดเทรนด์ได้มีหลายปัจจัย ตั้งแต่พลังอำนาจทางตรงไปจนถึงสื่อแบบในปัจจุบัน เราอาจจะเคยนิยามแฟชั่นว่านั่นคือ ‘70s หรือ ‘80s วันนี้เราพาย้อนกลับไปตั้งแต่ 5,000 ปีก่อนตั้งแต่สมัยอียิปต์ว่าความสวยงามเชิงแฟชั่นตลอดหลายพันปีมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง
Egyptian (3100-320 ปีก่อนคริสตกาล)
ภาพ: Courtesy of Brand
จิวเวลรี่เครื่องถักเครื่องทอ ชุดเดรสที่เป็นเอกลักษณ์ด้วยผ้าผืนยาวเป็นชุดเดรสชิ้นเดียวพร้อมเครื่องประดับช่วงคอและเอวที่ลักษณะคล้ายสายสะพายผูกเป็นหลัก โดยมีเฮดเดรสรูปทรงที่เราคุ้นตาประดับบนศีรษะเป็นการฟินิชลุคให้คนนึกถึงชาวอียิปต์โบราณตามอุดมคติ แต่บรรทัดฐานนี่ยึดถือตามชนชั้นกลางและสูงของสังคมเท่านั้นเพราะจารึกนั้นมีไม่มากที่จะเอ่ยถึงชนชั้นแรงงานและชุดของพวกเขาโดยเฉพาะ
ยุโรปยุคกลาง (ศตวรรษที่ 5 - 15)
ภาพ: World History
ภาพ: Ada H-T
ช่วงยุคที่ยาวนานหลักพันปีทำให้เสื้อผ้าเปลี่ยนแปลงไปได้พอสมควรแต่ก็ยังคงระบุได้ว่าอยู่ในช่วงยุคกลางนี้ ด้วยเหตุผลด้านความแตกต่างทางวัฒนธรรมและพื้นที่ย่อมส่งผลให้ชุดที่ออกมานั้นแตกต่างเช่นเดียวกัน ชุดของยุคกลางในยุโรปจึงกลายเป็นชุดเดรสที่มีรูปแบบทั้งเปิดไหล่ ปิดถึงช่วงคอ เนกไลน์แบบรูกุญแจสำหรับให้นม ไปจนถึงรูปแบบชุดดั่งเจ้าหญิง แต่มีอีกชุดหนึ่ง (เลื่อนสไลด์รูป 2) คือความเป็นเอกลักษณ์ของชาวบ้านยุคนั้นคือลักษณะเหมือนผ้ากันเปื้อนหรืออุปกรณ์กันเปื้อนเพื่อทำงานสะท้อนชีวิตอันตรากตรำของผู้ไม่ใช่ชนชั้นสูงในยุคนั้นได้อย่างชัดเจน
ยุค Elizabethan แห่งเกาะอังกฤษและยุค Rococo ในสไตล์ยุโรปและอเมริกัน (ปี 1550 - 1775)
ภาพ: Elizabethan Era England Life
ภาพ: Aurora Anne
ในช่วงยุคพระราชินีนาถเอลิซาเบธแฟชั่นออกมาในรูปแบบความอลังการอย่างเหลือล้นแอ็กเซสเซอรี่แบบเต็มที่กระโปรงรูปแบบทรงเอสู่กระโปรงที่มีความโป่งป่องที่ดันทรงไว้ มีการแหวกช่วงกลางเล็กน้อยเพื่ออวดลวดลายกระโปรงชั้นใน เนื้อผ้าส่วนใหญ่เป็นผ้าวูลทำจากหนังสัตว์เพื่อความอบอุ่นรวมถึงเนื้อผ้าภายนอกที่มีการใส่ลวดแทรกนูนเพื่อความสวยงามและที่เป็นเอกลักษณ์จริง ๆ คือเครื่องประดับรัฟเฟิลช่วงคอที่บ่งบอกว่านี่ล่ะยุคของเอลิซาเบธ ความงามเหล่านี้ส่งอิทธิพลต่อมาถึงยุคโรโคโค่ในแถบยุโรปและอเมริกาเหนือ ชุดเดรสแบบฉบับสุ่มนิด ๆ มีการเปิดเผยความสวยงามตรงช่วงคอและหน้าอกแสดงสัดส่วนความสวยงามของผู้หญิงมากขึ้น
ยุค Victorian และ Gibson Girl (ปี 1830-1900)
ภาพ: Le Marquis Bertrand
ภาพ: Andréa Fagim
ในสมัยยุควิกตอเรียทรวดทรงในอุดมคติของผู้หญิงเริ่มเปลี่ยนไปจากชุดเรียบร้อยสวยงามของรีเจนซี่หรือกระโปรงสุ่มโครงกว้างแบบเก่าไม่ใช่ความสวยงามในอุดมคติอีกต่อไป กลายเป็นเซตคอร์เซตรัดเอวประกอบกับรูปร่างอวบแน่นในช่วงหน้าอกและบั้นท้าย นำมาสู่ชุดที่เราคุ้นตากันดีกับความเอวคอดของเสื้อแต่แฝงไปด้วยสัดส่วนที่เผื่อสำหรับหน้าอกปรับแต่งไปตามพื้นที่ ช่วงกระโปรงเป็นทิ้งชายจับระบายหลากหลายรูปแบบ หรือแม้แต่การทิ้งเลเยอร์ผ้ามาตรง ๆ ก็มีเช่นกัน รูปร่างในอุดมคติแบบนี้ส่งผลให้แฟชั่นในอเมริกามีบรรทัดฐานเรียกว่ากิบสันเกิร์ล ภาพอันโด่งดังที่คนยึดถือเป็นแม่แบบทั้งทางแฟชั่นและรูปร่าง จนชุดที่มีลักษณะช่วงไหล่ยกขึ้นเล็กน้อย ชุดกระโปรงหรือเดรสที่คงไว้ซึ่งการคอดของเอวราวกับใส่คอร์เซตแต่ปรับสัดส่วนนิดหน่อยให้ดูสบายมากขึ้นตามแบบฉบับอเมริกัน
ยุค ‘20s และ Flapper Dress (1920s)
ภาพ: Catwalk Yourself
ยุค 1920 ความรุ่งโรจน์ทางการออกแบบแฟชั่นมีให้เราเห็นจากอิทธิพลของแบรนด์ Chanel ที่สร้างสรรค์ชุดแฟลปเปอร์เดรสสุดคลาสสิก รูปแบบของเสื้อผ้าจะโน้มเอียงไปในทิศทางเดียวกันอิงจากร่างกายในอุดมคติของสาว ๆ ที่ต้องแบนเป็นกระดานส่วนเว้าส่วนโค้งไม่มากนัก ทำให้ชุดต่าง ๆ ถูกออกแบบมาแบบไม่เปิดเผยเน้นรัดทรวดทรงมากนัก ชุดส่วนมากจะเป็นแขนกุดหรือแขนยาวโดยมีกระโปรงที่ยาวระดับเข่าเป็นองค์ประกอบหลักของชุด สะท้อนถึงชุดที่สามารถเดินอวดโฉมตามท้องถนนในขณะที่ปรับเปลี่ยนดีไซน์และเนื้อผ้าเล็กน้อยก็สามารถเต้นบนฟลอร์ได้อย่างพลิ้วไหว...
ยุค ‘30s / The Hollywood Starlets (1930s)
ภาพ: Amera Boy
ภาพ: Glamour Daze
ภาพ: OldCuts
ความรุ่งเรืองของวัฒนธรรมฮอลลีวู้ดตั้งแต่ช่วงปลายยุค ‘20s เป็นต้นมามีอิทธิพลถึงช่วงยุค ‘30s ยาวไปจนถึง ‘40s เลยด้วยซ้ำ ชุดเดรสยาวมีความอู้ฟู่หรูหราประกอบกับเครื่องประดับช่วงคอที่เสริมแต่งให้ชุดนั้นดูเลอค่าขึ้นไปอีกระดับเป็นการตั้งบรรทัดฐานของแฟชั่นยุคสมัยนั้นอย่างเห็นได้ชัด แต่มันไม่ได้ทั้งหมดเพราะชุดเหล่านี้โดดเด่นแต่ในแสงไฟและช่วงเวลากลางคืน หากมองย้อนกลับไปดูจริง ๆ ชุดอีกรูปแบบหนึ่งคือชุดค่อนสั้นค่อนยาวหรือจะเป็นชุด 2 ส่วนแบ่งกระโปรงและแจ๊กเก็ต เพิ่มดีเทลตรงช่วงเอวด้วยเข็มขัดและสร้างเอกลักษณ์เฉพาะบุคคลด้วยหมวกที่สไตลิ่งการใส่แบบเอียงนิด ๆ ทั้งหมดรวมกันก็จะกลายเป็นสาว ‘30s ที่สมบูรณ์ และถ้าจะสมบูรณ์ที่สุดห้ามลืมรองเท้าออกซ์ฟอร์ดเสริมส้นเด็ดขาด
ยุค ‘40s / สงครามโลก (1940s)
ภาพ: Blue 17 Vintage Clothing
ภาพ: Fashion in American History
แฟชั่นสมัยยุค ‘40s อาจจะดูแข็งกระด้างไปสักนิดหากเทียบกับเดรสรูปแบบต่าง ๆ หรือไม่ก็การมิกซ์แอนด์แมตช์เนื้อผ้าความพลิ้วไหวที่สะท้อนถึงความเฟมีนีน กรอบของสังคมที่มุ่งเน้นความเข้มแข็งแฟชั่นก็ย่อมเปลี่ยนตามไหล่กว้างตรงหรือที่เรียกว่า “Strong Shoulders” ถูกพัฒนาลงในเสื้อเชิ้ตของผู้หญิง ประกอบกับกระโปรงยาวเลยเข่าทรงเอปลายพลีตและปลายเรียบแล้วแต่สไตล์ รองเท้ายังคงเป็นส้นแบบยุค ‘30s แต่ที่เพิ่มเติมและเห็นว่าขาดไม่ได้เลยแค่ลุคทหารของสุภาพสตรี กำลังพลทหารผู้ชายไม่เพียงพอเสมอไป ฉะนั้นการคัดเลือกผู้หญิงเข้ามาเป็นทหารในหลาย ๆ ฝ่ายทำให้เกิดแฟชั่นของยุคทหารและส่งต่อมาเป็นแฟชั่นเน้นฟังก์ชั่นสำหรับกรอบแฟชั่นยุคนั้นไปโดยปริยาย
New Look (1947)
ภาพ: Serge Balkin, Vogue
พูดถึงแฟชั่นแต่จะไม่พูดถึงสิ่งที่ปฏิวัติให้แฟชั่นกลับมายิ่งใหญ่และเต็มไปด้วยสีสันอย่าง “New Look” ฝีมือของ Christian Dior ไม่ได้ ด้วยลักษณะของสังคมที่เผชิญสงครามนานหลายปีทำให้เสื้อผ้าและความสร้างสรรค์ผ่านมุมมองทางศิลปะเสื้อผ้าไม่ถูกให้ความสำคัญ แต่คริสเตียนบอกไม่! เขาสวนกระแสด้วยการปล่อยชิ้นงานที่ใช้ทั้งเวลา ความซับซ้อน เงินทุน รวมถึงเทคนิคมหาศาลเพื่อสร้างสรรค์ชุดนี้เพื่อปลุกชีวิตแฟชั่นอีกครั้งหลังจากเสียชีวิตนอนกองไปกับซากศพทหารและพลเรือนหลักล้าน นี่คือเทรนด์แฟชั่นที่ชุบชีวิตวงการอย่างแท้จริง
ยุค ‘50s (1950s)
ภาพ: Merv Ballard
ภาพ: Vintagedancer.com
หลังจากที่ “New Look” พลิกเส้นทางของแฟชั่นทุกสาย ช่วงยุค ‘50s อิทธิพลของลุคใหม่จากห้องเสื้อชื่อดังของฝรั่งเศสแพร่กระจายไปทั่ว คนเริ่มหันกลับมาให้ความสำคัญแฟชั่น ยุคนี้เองเหมือนแฟชั่นความซับซ้อนเกิดขึ้นอีกครั้ง ซิลูเอตแบบวิกตอเรียทั้งกระโปรงยาวบาน เสื้อปักเย็บ bodice รัดหน้าอก แต่เพิ่มเติมด้วยเสื้อที่สามารถปรับเปลี่ยนจากเกาะอกสมัยโบราณสู่เสื้อรูปแบบต่าง ๆ ราวกับนี่คือการเริ่มต้นของแฟชั่นยุคสมัยใหม่หลังสงครามจนตอนนี้ชุดเดรสเหล่านั้นกลายเป็นบรรทัดฐานและแรงบันดาลใจให้กับแฟชั่นมาตลอดหลักร้อยปีนับตั้งแต่ยุควิกตอเรีย รองเท้าแฟลตหรือส้นเตี้ยก็ได้รับความนิยมมากขึ้นยุคนี้รู้จักแมตช์ชุดกับความเรียบง่ายของรองเท้าแต่ซ่อนไปด้วยความประณีตก็หรูหราเลอค่าเหนือคำบรรยายได้
ยุค '60s / Space Age / Jackie (1960s)
ภาพ: Vintagedancer.com
ภาพ: WWD
ภาพ: Time Magazine
เดรสสั้นเรียง่ายชุดเดียวสวมพร้อมรองเท้าแฟลตคงเป็นอะไรที่คุ้นตาสำหรับการเป็นตัวแทนแฟชั่นยุคนี้เป็นอย่างดี เพิ่มเติมรายละเอียดคือสีสันของชุดที่สดใสพร้อมลายพิมพ์บ้างบางส่วนประกอบกับรองเท้า Mary Jane และถุงน่องสีขาวชวนให้นึกถึงสไตล์ยุคนี้ แต่ที่เห็นเด่นชัดจริง ๆ คืออิทธิพลการแต่งตัวสไตล์ “Chanel Girl” ในแบบฉบับของ Jackie Kennedy สตรีหมายเลข 1 ของสหรัฐฯ ผู้เซตเทรนด์แฟชั่นมานักต่อนักตั้งแต่ผ้าพันคอ เสื้อแจ๊กเก็ตและอื่น ๆ อีกมากมาย แต่ที่ขาดไม่ได้คือยุคเฟื่องฟูของยานยนต์อวกาศช่วงสงคามเย็น แฟชั่นก็ตามกระแสนี้ไปจนเกิดเป็นลุคแบบฟิวเจอริสติกในแบบฉบับ 50 กว่าปีที่แล้ว ถ้าเรามองกลับไปมันอาจจะดูตลกสักเล็กน้อยแต่ในเชิงความสร้างสรรค์นี่คือการพลิกหน้าประวัติศาสตร์
ยุค Hippies / ‘70s (กลางยุค ‘60s ถึง ‘70s)
ภาพ: Fashion in American History
ภาพ: Libaifoundation.Org Image Fashion
โฟกัสไปที่แฟชั่นทางฝั่งอเมริกาในยุคนี้ที่เป็นสัญลักษณ์เรียกร้องสันติภาพความสงบเรื่องสงครามเวียดนาม วัยรุ่นหญิงชายออกมาเดินขบวนและใช้ชีวิตวิถีที่เรียกว่า “ฮิปปี้” รวมถึงแฟชั่นก็ฮิปเช่นกันเสื้อสบาย ๆ กางเกงลายเพสลีย์ เครื่องประดับหนัง เชือก ขนนก และอื่น ๆ สร้างลุคอันน่าจดจำให้กับยุคนี้ นอกจากเรื่องสันติแล้วยังมีเรื่องของ “สิทธิ์” เข้ามาเกี่ยวข้องอย่างหนักในยุคนี้ ผู้หญิงจะมีรูปร่างแบบใดหรือแต่งกายแบบใดก็ได้ไม่ใช่ยุคที่ใครจะมานิยามอีกแล้ว ถึงแม้ว่ากางเกงจะถูกสวมโดยผู้หญิงมาตั้งแต่ยุค ‘60s แต่บทบาทจริงจังเกิดขึ้นในยุคนี้ที่ผู้หญิงสามารถสวมทั้งกระโปรงและกางเกงอย่างไม่ผิดแปลก กางเกงขาบาน ขากระดิ่ง สร้อยมุก และสีสันฉูดฉาดสดใส แบบที่ Alessandro Michele นำกลับมาเป็นแรงบันดาลใจทำ Gucci ภายใต้การกุมบังเหียนของเขา และนี่เองคือยุคที่ถูกผลิตซ้ำพร้อมทั้งตีความใหม่เยอะที่สุดในไทม์ไลน์แฟชั่นโลก
ภาพ: retrowaste.com
ภาพ: Telegraph UK
วัฒนธรรมฟิตเนสเกิร์ลและการเล่นกีฬาส่งผ่านอยู่ตลอดทั้งทศวรรษโดยมี Jane Fonda เป็นผู้บุกเบิก มันไม่ใช่แค่เรื่องของร่างกายที่ต้องฟิตปั๋งสมเป็นนักกีฬาหรือผู้ใส่ใจในรูปร่างและสุขภาพ แต่มันส่งผลถึงเรื่องของแฟชั่นเช่นกันเพราะสปอร์ตแวร์หรือที่เราเรียกว่าชุดแอโรบิกมามากในยุคนี้ สังคมหล่อหลอมให้ใคร ๆ ก็อยากสุขภาพดีจึงกลายเป็นเทรนด์แฟชั่นในทุกมุมมอง แต่แน่นอนว่าแฟชั่นตลอด 10 ปีมันอาจจะไม่ได้มีแค่รูปแบบเดียว Balenciaga ผ่านฝีมือการออกแบบของ Demna Gvasalia คือไทม์แมชชีนที่พาเราย้อนกลับไปในยุค ‘80s อีกมุมมองหนึ่ง “Power Dressing” คือคำนิยามของเสื้อไหล่กว้างทรงใหญ่โอเวอร์ไซส์นิดหน่อยตามแบบฉบับที่เราคุ้นตากันดีในแฟชั่นที่ถูกปรับเข้ากับสตรีตแวร์ในปัจจุบัน ใครอยากเท่ใครอยากปังแฟชั่นยุค ‘80s ก็เป็นต้นตอสำคัญของเทรนด์แฟชั่นตลอด 30 กว่าปี
ยุค Minimalist / Casual Chic / Music-Based (1990s)
ภาพ: Fashion Gum
ภาพ: Little Earthly Things
ภาพ: Who What Wear UK
อิทธิพลจากยุค ‘80s ยังส่งอิทธิพลสปอร์ตแวร์จนถึงยุค ‘90s เพราะเสื้อผ้าสบายเหมาะแก่การออกกำลังกายยังเป็นที่นิยมอยู่ แต่เทรนด์นี้ก็มาตีคู่กับกระแสซูเปอร์โมเดลต่าง ๆ ที่นอกรันเวย์ก็แต่งตัวสไตล์มินิมอลเหมือนคนปกติทั่วไป ประกอบกับอิทธิพลดนตรีอัลเทอร์เนทีฟร็อกที่พลิกผันโฉมแฟชั่นมาสู่การแต่งกายง่าย ๆ ด้วยเสื้อยืดกางเกงยีนส์ เสื้อลายตารางและเสื้อครอปสำหรับผู้หญิงอวดความเซ็กซี่ในแบบ “Casual Chic” และกลางยุคยังมีแพตเทิร์นการใส่เดรสสายเดี่ยวตัวจิ๋วออกมาเป็นกระแสและเหล่ามินิเดรสที่ดูผ่อนคลายกว่าแต่ก่อนยังคงได้รับความนิยมอยู่จนถึงปัจจุบัน
ยุค 2000s
ภาพ: Daily Mirror
ภาพ: LilVanderRohe
ภาพ: Isabel Vargas
ในยุคนี้แฟชั่นมีความหลากหลายมากขึ้นทั้งฮิปฮอปเองหรือแม้แต่กระแสอัลเทอร์เนทีฟร็อก รวมถึงถึงเพลงป๊อปก็มาไม่ขายสาดฉะนั้นแฟชั่นจึงเป็นเรื่องที่นิยามยากขึ้นในยุคนี้ แต่ที่เรากำลังจะพูดถึงคือไอเท็มที่สอดแทรกเข้าไปอยู่ในทุกแขนงการแต่งตัวนั่นก็คือยีนส์หรือเสื้อผ้าเดนิมซึ่งมีบทบาทอย่างมากในยุคนี้ ต้องบอกว่ามีตั้งแต่กางเกงเอวต่ำ กระโปรงตัวจิ๋ว เสื้อสายเดี่ยวและอื่น ๆ อีกมากมาย แต่เนื้อผ้าที่นิยมที่สุดก็หนีไม่พ้นยีนส์อยู่ดี ถ้าเราจะนิยามตลอด 10 ปีของยุคสมัยนี้แบบคำเดียวอยู่คงต้องบอกว่า “Denim Era”
ในปัจจุบันมีความหลากหลายของแฟชั่นอย่างมากแต่ส่วนใหญ่ล้วนนำสิ่งเก่ามาตีความใหม่ให้ทันยุคสมัยมากขึ้น ทั้ง Power Dressing จากยุค ‘80s ที่เล่นรายละเอียดความแข็งแกร่งเพิ่มความแมสคิวลีนสมกับที่ผู้หญิงมีความเท่าเทียมชายในยุค 2019 นี้ประกอบการแมตช์เสื้อผ้าเข้ากับสไตล์สตรีตที่มีความขบถนิด ๆ ได้อย่างลงตัว
ส่วนจากปี ‘70s ก็ถูกตีความใหม่โดยเฉพาะจาก Gucci ที่หยิบเอาสีสันและซิลูเอตบางอย่างมาทำใหม่ทำให้กลายเป็น Modern ‘70s ที่ดูล้ำสมัยไปเลย อีกทั้ง ‘90s ก็ยังมีให้เห็นเช่นกันความไหล่โป่งพองจาก Givenchy ปัจจุบันแฟชั่นกระแสหลักมันไม่ได้มีแบบเดียวอีกต่อไป เหตุเพราะอิทธิพลสื่อในรูปแบบต่าง ๆ คนเข้าถึงความชอบตัวเองและสร้างจุดยืนความเป็นปัจเจกได้มากขึ้น เราตัดสินคนไม่ได้แบบ 100 เปอร์เซ็นต์อีกต่อไปว่าอันไหนอินอันเอาต์
เพราะสุดท้ายยุค 2019 แฟชั่นคือความชอบส่วนบุคคลที่บ่งบอกถึงลักษณะของปัจเจกอย่างชัดเจน “คาแรกเตอร์ถูกสร้างโดยภาพลักษณ์ และภาพลักษณ์ก็ถูกสร้างโดยมนุษย์คนหนึ่ง” วลีนี้บ่งบอกได้อย่างดีว่าเราไม่ได้กลืนไปกับความทันสมัยในเทรนด์แฟชั่น เพราะเราลุกขึ้นเป็นในแบบของเราสตรีต ซาร์ทอเรียล สาวหวาน เผ็ดแซ่บ ไม่ว่าอะไรก็แล้วแต่ทุกคนมีที่ยืนในสังคมทั้งหมด
อัลบั้มภาพ 30 ภาพ