"ยาคุมฉุกเฉิน" กินอย่างไรให้ถูกต้อง และไม่ท้อง

"ยาคุมฉุกเฉิน" กินอย่างไรให้ถูกต้อง และไม่ท้อง

"ยาคุมฉุกเฉิน" กินอย่างไรให้ถูกต้อง และไม่ท้อง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ตื่นเช้ามา พบว่าที่นอนอยู่ไม่ใช่เตียงที่คุ้นเคย ได้แต่ร้องเบา ๆ ว่า "งานเข้า" แล้ว ถ้าเกิดว่าพลาดมีเซ็กซ์แบบไม่ได้ป้องกันไป อย่าเพิ่งกลุ้มใจ คิดวนเวียนว่า “จะท้องมั้ย​?”  รีบพุ่งตัวออกไปซื้อ “ยาคุมฉุกเฉิน” มาก่อนเลย

ยาคุมฉุกเฉิน หรือ ยาคุมกำเนิดแบบฉุกเฉิน (Emergency Contraceptive Pill) คือ ยาคุมกำเนิดที่ใช้เพื่อป้องกันการตั้งครรภ์ในกรณีจำเป็น ที่ไม่ได้คุมกำเนิดด้วยวิธีปกติอื่น ๆ หรือ เกิดความผิดพลาดจากการคุมกำเนิด เช่น ถุงยางอนามัยฉีกขาด มีเพศสัมพันธ์ขณะมึนเมาจนไม่ได้ป้องกัน หรือถูกล่วงละเมิดทางเพศ ข่มขืนกระทำชำเรา

ยาคุมฉุกเฉินสามารถยับยั้ง หรือ ทําให้การตกไข่เลื่อนออกไป โดยมีกลไกการออกฤทธิ์ที่สำคัญ คือรบกวน หรือชะลอการตกไข่ ทำให้ช่วยลดโอกาสการตั้งครรภ์ได้

ยาคุมฉุกเฉินยาคุมฉุกเฉิน กินอย่างไรให้ถูกต้อง ไม่ท้อง

วิธีการกินยาคุมฉุกเฉิน ที่ถูกต้องคือ กินให้เร็วที่สุด ภายหลังมีเพศสัมพันธ์แบบที่ไม่ได้ป้องกันภายใน 72 ชั่วโมง (3 วัน)

ตัวยาสำคัญในยาคุมฉุกเฉิน คือ ลีโวนอร์เจสเตรล (levonorgestrel) มี 2 ขนาด คือ เม็ดละ 0.75 และ 1.5 มิลลิกรัม ที่นิยมใช้ในบ้านเรา เป็นชนิดความแรงเม็ดละ 0.75 มิลลิกรัม (หรือ 750 ไมโครกรัม) จำหน่ายเป็นกล่อง โดย 1 กล่องจะมี 1 แผง แต่ละแผงมียาคุมฉุกเฉิน 2 เม็ด

1. ยาคุมฉุกเฉินขนาด 1.5 มิลลิกรัม ให้กิน 1 เม็ดทันที หลังมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน (ยาคุมฉุกเฉิน แบบ 1 เม็ด ไม่ได้จำหน่ายในประเทศไทย)

2. ยาคุมฉุกเฉินขนาด 0.75 มิลลิกรัม กิน 1 เม็ดทันที หลังมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน และกินอีก 1 เม็ดหลังผ่านไป 12 ชั่วโมง (ห้ามลืมกินเม็ดที่ 2) หรือ สามารถกินยาคุมฉุกเฉิน ขนาด 0.75 มิลลิกรัม พร้อมกันทีเดียว 2 เม็ด เลยก็ได้

ข้อควรรู้ เมื่อต้องกินยาคุมฉุกเฉิน

- ยิ่งเริ่มกินเร็วยิ่งป้องกันได้ดี ควรกินยาคุมฉุกเฉินให้เร็วที่สุดหลังมีเพศสัมพันธ์ไม่ป้องกัน โดยไม่ควรเกิน 72 ชั่วโมง จะป้องกันการตั้งครรภ์ได้ประมาณ ร้อยละ 75 แต่ถ้ากินภายใน 24 ชั่วโมง หลังการมีเพศสัมพันธ์ จะให้ประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์ เพิ่มขึ้นเป็น ร้อยละ 85
ไม่ควรกินยาเกิน 4 เม็ด หรือ 2 กล่องต่อเดือน

- กิน 2 เม็ดพร้อมกันได้ ยาคุมฉุกเฉินขนาด 0.75 มิลลิกรัม สามารถกินยาคุมฉุกเฉิน 2 เม็ด พร้อมกันในครั้งเดียวได้

- ยาคุมฉุกเฉินลดความเสี่ยงในการตั้งครรภ์ ได้ประมาณร้อยละ 85-95 ซึ่งประสิทธิภาพนั้นจะลดลงตามระยะเวลาที่กินยา

ยาคุมฉุกเฉิน

ขอขอบคุณภาพอินโฟกราฟิกจาก "กระทรวงสาธารณสุข"

- ยาคุมฉุกเฉินไม่ทำให้แท้ง ดังนั้นหากไข่ที่ผสมกับอสุจิได้ฝังตัวที่ผนังมดลูกไปแล้ว ยานี้จะทำอะไรไม่ได้

- ยาคุมฉุกเฉินป้องกันโรคติดต่อไม่ได้ ยาคุมฉุกเฉินไม่สามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้

- ไม่ควรใช้ยาคุมฉุกเฉินแทนการคุมกำเนิด ควรใช้ยาคุมฉุกเฉิน เมื่อจำเป็นเท่านั้น แต่หากจะวางแผนคุมกำเนิดระยะยาว ควรใช้วิธีอื่น เช่น การกินยาคุมกำเนิดแบบปกติชนิดเม็ด การใช้ถุงยางอนามัย ฝังห่วงคุมกำเนิด ฯลฯ

อันตราย ผลข้างเคียงของ ยาคุมฉุกเฉิน

ยาคุมฉุกเฉินชื่อก็บอกเราอยู่แล้วว่า “ฉุกเฉิน” คือ ต้องเป็นการใช้ในกรณีที่จำเป็นจริง ๆ เพื่อป้องกันตั้งครรภ์ ไม่ควรใช้ยาคุมฉุกเฉินพร่ำเพรื่อ หรือใช้แทนการคุมกำเนิดระยะยาว ที่สำคัญคือ การใช้ยาคุมฉุกเฉินอาจไม่ได้ประสิทธิภาพ และยังส่งผลข้างเคียงกับร่างกายได้ หากกินเป็นประจำ ทำให้มีอาการเหล่านี้

  • ปวดศีรษะ
  • คลื่นไส้
  • อาเจียน
  • เลือดออกกะปริบกะปรอย
  • ประจำเดือนมาผิดปกติ
  • เสี่ยงการตั้งครรภ์นอกมดลูก

ยาคุมฉุกเฉิน ไม่ใช่ยาวิเศษ ที่จะรับประกันผลว่ากินแล้วจะไม่ท้องได้ 100 % เพราะโอกาสที่จะเกิดความผิดพลาด ถึงแม้จะกินยาแล้วก็เกิดขึ้นได้ ดังนั้นไม่ควรหวังพึ่งแค่ยาคุมฉุกเฉินเพียงอย่างเดียว หากยังไม่วางแผนตั้งครรภ์ ควรคุมกำเนิดด้วยวิธีที่มีประสิทธิภาพกว่านี้ เพื่อจะได้ไม่มาเสียใจทีหลัง! ว่าพลาดไปแล้ว เพราะอาจไม่มีโอกาสแก้ตัวอีก

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook