Dragonfly 360 Summit สร้างแรงขับเคลื่อนให้สังคมไทย ไปสู่ความเสมอภาคทางเพศ
สำหรับในสังคมไทยหลายคนจะต้องเคยได้ยินแนวคิดเกี่ยวกับความเสมอภาคทางเพศ (Gender Equality) กันมาอย่างแน่นอน เพราะในระยะหลังมานี้ผู้หญิงมักเข้ามามีบทบาทในการพัฒนาสังคม และเศรษฐกิจกันมากขึ้น นั่นเป็นเพราะว่าศักยภาพในการทำงานด้านต่างๆ สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน ไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นผู้ชายเท่านั้นที่สามารถเป็นผู้นำได้ เพราะทุกเพศ ทุกวัย ทุกสถานะ ย่อมมีสิทธิในความเป็นมนุษย์อย่างเท่าเทียมกัน
ล่าสุด ประนัปดา พรประภา นักธุรกิจสาวมากความสามารถชื่อดังของเมืองไทย ผู้ก่อตั้งโครงการ “ดราก้อนฟลาย 360” (Dragonfly 360) ได้ตอกย้ำแนวคิดดังกล่าวด้วยการจัดสุดยอดงานบรรยายครั้งยิ่งใหญ่ “ดราก้อนฟลาย 360 ซัมมิท” (Dragonfly 360 Summit) โดยนำเสนอเรื่องราวหลากหลายรสชาติจากบรรดาเหล่าคนดังแถวหน้าของเมืองไทย และต่างประเทศที่สร้างความเปลี่ยนแปลงทางสังคม เศรษฐกิจ และทางวัฒนธรรม โดยเรื่องราวของพวกเขาเหล่านั้น มักจะสามารถสร้างแรงบันดาลใจให้กับวิธีคิดและวิถีการดำเนินชีวิตให้กับแต่ละบุคคลได้อยู่เสมอ ที่โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ เมื่อวันก่อน
โดยในงานได้รับเกียรติจากเหล่าคนดังเข้าร่วมเผยประสบการณ์ และแนวคิดด้านการใช้ชีวิตกันอย่างมากมาย อาทิ ชมพู่-อารยา เอ ฮาร์เก็ต, วู้ดดี้-วุฒิธร มิลินทจินดา, แพร- อมตา จิตตะเสนีย์, ซินดี้-สิรินยา บิชอพ, ประณิธาน พรประภา ชุดารี เทพาคํา, ดวงพร ทรงวิศวะ รวมถึงคนดังจากต่างประเทศ อาทิ แม็กกี้ คิว (Maggie Q), จามีลล่า จามีล (Jameela Jamil), แมดิสัน เมห์ทา (Madison Mehta), สุนิตา คริสแนนท์ (Sunitha Krishnan), ซีย่า คู่แก้วเกษม (Sia Kukaewkasem), มารินา มาฮาเตอ (Marina Mahathir), ลิน่า คาลิเฟ่ (Lina Kalifeh) และอีกมากมาย
รวมถึงเหล่าเซเลบริตี้คนดังที่ให้ความสนใจเข้าร่วมงานอย่างคับคั่ง อาทิ ประกาสิทธิ์-ประธานวงศ์ พรประภา, ม.ร.ว.จันทรลัดดา-ม.ล.เอวิตา ยุคล, หฤทัย ไชยันต์ ณ อยุธยา, จรสพรรณ สวัสดิวัตน์ ณ อยุธยา, นภัสนันท์ พสวงศ์, ณชา จึงกานต์กุล, รวิวัลย์ ทานาก้า, อลิสา อัศวโภคิน, สุทัตตา อุดมศิลป์ และอีกมากมาย
“ดราก้อนฟลาย 360” (Dragonfly 360) โครงการที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อต้องการรณรงค์ขับเคลื่อนสังคมไทย และสังคมเอเชียไปสู่ความเสมอภาคเท่าเทียมในเพศชายและเพศหญิง พร้อมสร้างแรงกระตุ้นให้เกิด “การเปลี่ยนแปลง” (Transformation) เพื่อสร้างแรงผลักดันให้กับคนในสังคมสามารถทลายกรอบ และข้ามผ่านเรื่องราวที่กำลังเผชิญอยู่ไปสู่การใช้ชีวิตที่ถูกพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้นอีกทั้งยังเป็นกระบอกเสียงให้ผู้หญิงทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ลุกขึ้นมาพัฒนาและปฏิวัติตนเองให้ดีขึ้น
ภายใต้คอนเซ็ปต์ “เริ่มต้น ลงมือทำ สร้างการเปลี่ยนแปลง” เพื่อตอกย้ำ 5 แนวคิดหลักของการใช้ชีวิต ได้แก่ Be Financially Independent แนวคิดด้านการใช้ชีวิตที่มุ่งมั่นทำงานด้วยตนเองจนประสบความสำเร็จ และมีอิสระภาพทางด้านการเงิน, Be a Role Model แนวคิดเพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่, Be Yourself แนวคิดที่เชื่อมั่นในความเป็นตัวเอง ไม่เดินตามกรอบที่สังคมขีดไว้, Be Educated แนวคิดที่ว่าการศึกษาไม่ควรถูกจำกัดด้วยเพศ ความรู้คือทรัพย์สินที่ทุกคนพึงมี และ Be the Change แนวคิดที่ต้องการสร้างจุดเปลี่ยนให้แก่สังคม
ประนัปดา พรประภา กล่าวถึงแนวคิดหลักของการจัดงานครั้งนี้ว่า “ในวัยเด็กเรามักได้ยินคำพูดของผู้ใหญ่อยู่บ่อยครั้งว่าในทุกความสำเร็จของผู้ชายมักจะต้องมีผู้หญิงคอยอยู่เบื้องหลังเสมอ และในสังคมส่วนใหญ่ก็มักจะบอกว่าเป็นผู้หญิงต้องไม่เก่งเกินกว่าผู้ชาย ซึ่งเรารู้สึกว่ามันไม่แน่นอนเสมอไป เพราะศักยภาพนั้นเป็นเรื่องของตัวบุคคล ประกอบเรื่องราวของบุคคลรอบตัวที่มักประสบปัญหาจากการถูกเอาเปรียบเพียงเพราะเป็นผู้หญิง เราก็เลยมีแนวคิดที่ต้องการจะสร้างความเปลี่ยนแปลงทางความคิดเช่นนี้ไปสู่สังคมของความเสมอภาคทางเพศ และช่วยดึงศักยภาพภายในตัวผู้หญิงทุกคนออกมา
โดยในงานครั้งนี้จึงเป็นการรวมตัวของเหล่าคนดังระดับโลกมากมายในเกือบทุกสาขาอาชีพและทุกเพศ ทุกวัย ที่ล้วนแต่ประสบความสำเร็จในด้านการดำเนินชีวิต เพราะพวกเขาต่างมีวิธีคิดที่น่าสนใจ และสามารถก้าวข้ามผ่านอุปสรรคต่างๆ มาได้อย่างเข้มแข็ง จึงได้มาร่วมแชร์เรื่องราวมากมายที่จะสามารถสร้างแรงบันดาลใจให้กับวิธีคิดและการดำเนินชีวิตให้กับแต่ละบุคคล ได้นำไปเป็นแรงผลักดันในการพัฒนาชีวิตของตัวเองให้สามารถเปลี่ยนเป็นคนใหม่ที่ดีกว่าเดิมได้”
ด้านเหล่าคนดังที่มาร่วมภายในงานต่างก็ร่วมเผยถึงประสบการณ์ชีวิตและแง่มุมความคิดในการดำเนินชีวิต เริ่มจากนักแสดงแถวหน้าของเมืองไทย ชมพู่-อารยา เอ ฮาร์เก็ต เล่าว่า “ตอนเด็กไม่เคยคิดว่าตัวเองจะได้มาเป็นดารา จนกระทั่งวันที่ได้มีโอกาสเราก็ทำมันอย่างดีที่สุด เพราะแม่มักจะสอนให้เป็นตัวของตัวเอง และทำในสิ่งที่รัก อย่างเรื่องการออกกำลังกาย เราทำเพราะเรารักสุขภาพ เราก็แค่เป็นอีกคนที่อยากมีเวอร์ชั่นที่ดีที่สุดของตัวเอง แต่เราก็ไม่ได้คาดหวังว่าจะต้องเชี่ยวชาญไปทุกอย่าง อย่างตอนแรกก็ไม่คิดว่าเรื่องราวในชีวิตของตัวเองจะน่าสนใจจนสามารถนำมาแชร์ให้ใครฟังได้ แต่เราก็แค่อยากออกจากคอมฟอร์ทโซน (Comfort Zone) แล้วก็รู้สึกดีมากด้วยที่เรื่องราวนี้จะสามารถเป็นแรงบันดาลใจให้ใครหลายคนได้”
ต่อมาที่พิธีกรฝีปากกล้า วู้ดดี้-วุฒิธร มิลินทจินดา เผยว่า “เราเคยไม่ยอมรับในสิ่งที่ตัวเองเป็น เคยคิดว่าจะสามารถกลับมาเป็นผู้ชายได้ ซึ่งตลอดระยะเวลา 15 ปี ที่ทำรายการมา ไม่เคยชวนแขกรับเชิญที่เป็น LGBTQ มาเลย เพราะกลัวคนสงสัยเรื่องเพศสภาพ กระทั่งวันหนึ่งที่ตัดสินใจเปิดใจ ยอมรับในสิ่งที่ตัวเองเป็น ผู้คนก็มองภาพของเราดีขึ้น จากเมื่อก่อนภาพจำก็แค่เป็นพิธีกรแรงๆ คนหนึ่ง สำหรับชีวิตตอนนี้รู้สึกรักและภูมิใจในตัวเองมาก เราวางแผนจะลงมือทำรายการทีวีอีกครั้ง ซึ่งเป็นงานที่เรารัก และจะให้พื้นที่กับ LGBTQ ได้มีโอกาสได้แสดงบทบาทอย่างแน่นอน”
คนถัดมาสาวนักอนุรักษ์ แพร-อมตา จิตตะเสนีย์ เล่าว่า “ช่วง 3 ปีที่ผ่านมาเราหายไปจากวงการบิวตี้ที่เคยทำมา 9 ปี เพราะรู้สึกว่าหาเป้าหมายของชีวิตไม่เจอ เคยถามตัวเองว่าแล้วเรามีชีวิตเพื่ออะไร เพื่อเงิน หรือเพื่อชื่อเสียง ซึ่งมันก็ยังไม่ใช่คำตอบ จนมีโอกาสได้ไปสัมผัสวิถีการใช้ชีวิตของชาวภาคอีสาน ทำให้ได้รู้จักกับอาชีพทอผ้าอย่างจริงจัง ได้เห็นความรักและความตั้งใจในการทำผ้าของชาวบ้าน จึงอยากช่วยอนุรักษ์และถ่ายทอดเรื่องราวของผ้าไทยให้คนได้รู้จักมากขึ้น และสิ่งนี้กลับสร้างความสุขให้เราได้อย่างไม่น่าเชื่อ จนไม่อยากปล่อยให้ความสุขเหล่านี้ต้องหลุดลอยไป”
ถัดมาที่นักแสดงและนางแบบมากฝีมือ ซินดี้-สิรินยา บิชอพ เผยว่า “จากสถิติแล้วผู้หญิงหนึ่งในสามคนทั่วโลกล้วนเคยถูกล่วงละเมิดทางเพศและทำร้ายร่างกาย และมักเกิดขึ้นโดยคนใกล้ตัว ซึ่งในเอเชียสถิติยังคงสูงขึ้นเรื่อยๆ เราจึงต้องการเป็นกระบอกเสียงที่อยากจะหยุดเรื่องราวเหล่านี้ เพราะตัวเราเองก็เคยถูกล่วงละเมิดในช่วงเทศกาลสงกรานต์เมื่อตอนอายุ 17 ปี และมักเห็นข่าวเกี่ยวกับการห้ามไม่ให้ผู้หญิงแต่งตัวเซ็กซี่ช่วงสงกรานต์เพื่อไม่ให้ถูกลวนลาม ซึ่งเรารู้สึกไม่เห็นด้วย เพราะเมื่อครั้งที่ถูกล่วงละเมิดก็แต่งตัวมิดชิด สังคมจึงไม่ควรประณามคนที่มีโอกาสตกเป็นเหยื่อเพียงเพราะเขาแต่งตัวไม่เรียบร้อย แต่ความจริงแล้วมันเป็นเพราะการไม่รู้จักให้เกียรติและเคารพซึ่งกันและกันมากกว่า ดังนั้นเราจึงควรปลูกฝังให้สังคมตระหนักถึงสิ่งนี้”
คนต่อมานักอาหารชื่อดัง เชฟโบ-ดวงพร ทรงวิศวะ เผยว่า “ทุกคนต้องเรียนรู้ที่จะพึ่งพาตัวเอง เราก็แค่ต้องตามหาสิ่งที่เรารัก และลงมือทำอย่างมีความสุข ถ้าเกิดปัญหาก็มองให้เป็นความท้าทาย อย่างอาชีพเชฟของเราก็ไม่เคยมองว่าเรื่องเพศจะเป็นปัญหา ถ้าเราไม่คิดไปเองว่าเป็นผู้หญิงแล้วจะต้องอ่อนแอ ยกของหนักหลังครัวไม่ได้ มันเป็นเรื่องของทัศนคติมากกว่า คุณอาจจะคิดว่าคุณทำไม่ได้ แต่จริงๆ แล้วคุณทำได้ แต่อาจจะต้องเปิดใจก่อน”
สำหรับนักแสดงสาวชื่อดังระดับโลก แม็กกี้ คิว (Maggie Q) เล่าว่า “ผู้หญิงเอเชียมักถูกสอนมาให้อดทนรับกับความทุกข์ยาก ที่ไม่ยอมลุกขึ้นสู้และยืนหยัดด้วยตัวเอง อาจเป็นเพราะเสียงของผู้หญิงยังไม่ดังเท่าผู้ชาย ดังนั้นในฐานะที่เราทำงานตรงนี้จึงอยากสร้างแรงขับเคลื่อนให้ผู้หญิงทุกคนลุกขึ้นมาแสดงศักยภาพของตนเองออกมาให้ได้ ถ้าเรารู้สึกว่าสิ่งที่กำลังเผชิญมันไม่ถูกต้อง และไม่ยุติธรรม เพราะในความเป็นจริงไม่มีใครที่เหนือกว่าคุณ ไม่มีใครที่คุณต้องอิจฉา มีเพียงคนที่มีความเป็นผู้นำ และกล้าที่จะแสดงออกมาอย่างแข็งแกร่งเท่านั้นเอง”
คนต่อมานักแสดงชาวอังกฤษ จามีลล่า จามีล (Jameela Jamil) เผยว่า “เราพบว่าในโซเชียลมีเดียผู้คนมักนิยามและตัดสินผู้หญิงผ่านทางรูปร่างกับรูปลักษณ์ภายนอกเท่านั้น เราจึงสร้างอินสตาแกรมชื่อ i_weigh ขึ้นมา เพื่อแชร์เรื่องราวความสำเร็จและความมั่นใจของผู้คนมากมายจนกลายเป็นคอมมูนิตี้ แต่สิ่งที่พวกเขาแชร์มาให้เรามันไม่ใช่แค่ความมั่นใจในรูปร่าง แต่คือการยอมรับและเชื่อมั่นในสิ่งที่ตัวเองเป็น อย่างตัวเราเองก็ยังเคยดั้นด้นมาอเมริกาตอนอายุ 29 ปี ในขณะที่หลายคนมักบอกว่าเราคงไม่มีทางไปได้ไกล เพราะอายุมากแล้ว แต่เราก็ยังอยากที่จะเสี่ยงเพราะความเชื่อมั่นที่ช่วยผลักดันจนกระทั่งมีวันนี้ เพราะเราทุกคนมีสิทธิ์ที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเอง”
ถัดมาที่เด็กสาววัย 17 ที่สนับสนุนเกษตรกรไทยและสิ่งแวดล้อม แมดิสัน เมห์ทา (Madison Mehta) เล่าว่า “สิ่งที่จะสามารถสร้างความเสมอภาคในโลกนี้ได้คือทุกคนต้องใส่ใจในเสียงของตัวเอง ถ้าคุณมีสิ่งที่อยากทำก็ต้องแสดงมันออกมา ไม่ว่าจะเป็นเพศหญิงหรือชาย เด็กหรือผู้ใหญ่ เพราะทุกคนสามารถสร้างประโยชน์ให้กับสังคมได้ และเราก็ควรให้เด็กมีพื้นที่มากขึ้นในการลงมือทำเช่นเดียวกับผู้ใหญ่ ควรที่จะสนับสนุนและร่วมมือกัน ถ้าความต้องการของเด็กเหล่านั้นจะสามารถสร้างสิ่งที่ยิ่งใหญ่ได้”
ด้านเหยื่อที่เคยถูกล่วงละเมิดทางเพศซึ่งผันตัวมาเป็นนักเคลื่อนไหวเพื่อสังคมชาวอินเดีย สุนิตา คริสแนนท์ (Sunitha Krishnan) เผยว่า “เราเคยถูกล่วงละเมิดทางเพศเมื่อตอนอายุ 15 ปี หลังเหตุการณ์นั้นมีทางเลือกสองทางว่าจะเลือกเป็นเหยื่อที่ปิดบังความจริงไว้ หรือจะมีชีวิตรอดเพื่อสู้ต่อ แต่ทางเลือกทุกทางย่อมมีผลกับชีวิต แต่ถ้าเราเลือกที่จะเงียบ โดยที่ยังคงหาข้ออ้างที่จะไม่ลุกขึ้นสู้ ความเท่าเทียมบนโลกใบนี้คงไม่เกิดขึ้น เราไม่รู้ว่าจะสามารถเปลี่ยนโลกได้ไหม แต่ที่แน่ๆ เราสามารถเปลี่ยนโลกของเด็กผู้หญิงที่เคยถูกทารุณคนหนึ่งได้”
ต่อมาที่หญิงสาวผู้ตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงในครอบครัว ซีย่า คู่แก้วเกษม (Sia Kukaewkasem) เล่าว่า “ในวัยเด็กมักเห็นแม่ถูกพ่อทำร้ายอยู่เสมอ และในวันที่แม่พยายามจะพาเราหนีแต่ถูกพ่อจับได้จึงลากแม่ไปทำร้ายอย่างหนัก เรารู้สึกแย่มากที่ไม่สามารถช่วยได้ แม่พยายามขอความช่วยเหลือจากญาติ แต่ทุกคนบอกว่าให้กลับไปหาพ่อ เพราะลูกต้องการพ่อ นั่นเป็นสาเหตุที่ทำให้แม่ต้องถูกพ่อทำร้ายตลอดระยะเวลา 22 ปี เราจึงตัดสินใจทำงานเก็บเงินเพื่อจ้างทนายมาฟ้องร้องให้แม่ได้หย่ากับพ่อ ทุกคนควรหยุดความคิดว่าความรุนแรงเป็นเรื่องภายในบ้าน เพราะจริงๆ มันส่งผลกระทบต่อสังคม นี่เป็นเหตุผลที่เราอยากผลักดันให้เกิดความเท่าเทียมทางเพศและขจัดการแบ่งแยกออกจากสังคม”
สำหรับ มารินา มาฮาเตอ (Marina Mahathir) บุตรสาวของนายกรัฐมนตรีของมาเลเซีย เผยว่า “ประชาธิปไตยในสังคมควรเริ่มจากประชาธิปไตยในครอบครัว ดังนั้นกฎหมายย่อมมีความสำคัญเป็นอย่างมากในการผลักดันพลังของผู้หญิง เพราะสิ่งนี้จะช่วยคุ้มครองเรื่องสิทธิภายในบ้าน และการได้รับสิทธิ์เหล่านี้จะช่วยให้ผู้หญิงมีอำนาจในการตัดสินใจมากขึ้น ไม่จำเป็นต้องพึ่งแต่สามีฝ่ายเดียวอยู่เสมอไป”
ปิดท้ายที่ ลิน่า คาลิเฟ่ (Lina Kalifeh) ผู้ก่อตั้งชีไฟท์เตอร์ (SheFighter) สตูดิโอสอนศิลปะป้องกันตัวสำหรับผู้หญิง เล่าว่า “เราอยากให้ผู้หญิงรู้จักการป้องกันตัวเอง และเล่นกีฬามากขึ้น เพราะเหตุการณ์ความรุนแรงเราไม่สามารถรู้ได้เลยว่ามันจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ ดังนั้นเราต้องรู้จักการรับมือกับมัน รวมทั้งทางกายภาพด้วย เพราะถ้าคุณอยากสร้างความเปลี่ยนแปลงในสังคม ไม่ว่าเพศไหนก็ต้องแข็งแกร่งเหมือนกัน ไม่ได้แปลว่าเป็นผู้หญิงแล้วจะต่อสู้ไม่ได้ เราต้องเข้าใจจิตใจของตัวเองว่าต้องการอะไร และตั้งเป้าหมายในชีวิตให้ชัดเจน ไม่เก็บเรื่องแย่ในอดีตมากวนใจ ทุกคนสามารถเลือกได้ว่าจะจมอยู่กับอดีต หรือสู้เพื่ออนาคต และเชื่อมั่นว่าสิ่งที่กำลังลงมือทำ มันจะต้องเป็นไปได้”
ร่วมติดตามการสร้างพลังขับเคลื่อนสังคมไทยไปสู่ความเท่าเทียมทางเพศ และส่งเสริมศักยภาพของผู้หญิง ในครั้งต่อไปกับโครงการ “ดราก้อนฟลาย 360” (Dragonfly 360) โดยสามารถติดตามรายละเอียดกิจกรรมต่างๆ ครั้งถัดไป ได้ทางเว็บไซต์ https://dragonfly360.co หรือทาง Facebook: Dragonfly360.co และ Instagram: Dragonfly360.co
อัลบั้มภาพ 36 ภาพ