"ณัฐธิดา สงวนสิน" กับทัศนคติ Can Do พลิกรายได้ติดลบสู่ 800M. ใน 10 ปี
"ไม่ว่าจะล้มกี่ครั้งเราก็สามารถที่จะผ่านมันไปได้ เพราะพิ้งค์และทีมล้วนมีแอตติจูดว่า ‘Can Doz’" - คุณพิ้งค์-ณัฐธิดา สงวนสิน เจ้าของธุรกิจสตาร์ทอัพเจ้าแรกที่ทำให้คนไทยเปลี่ยนมาสะสมแต้ม แลกสิทธิประโยชน์บนมือถือ
เรียกว่าลบภาพลักษณ์ของสาวหน้าหวานไปเลยค่ะ สำหรับ 'คุณพิ้งค์-ณัฐธิดา สงวนสิน' ที่วัยเด็กเรียนเต้นเคป๊อปเป็นงานอดิเรก เป็นแม่ที่พยายามแบ่งเวลาไปผูกสัมพันธ์กับลูก และเป็นหนึ่งในผู้หญิงไม่กี่คนที่ (ร่วม) ก่อตั้งสตาร์ทอัพเป็นเจ้าแรกๆ ในเมืองไทย ซึ่งเป็นเจ้าแรกที่ทำให้คนไทยเปลี่ยนมาสะสมแต้ม แลกสิทธิประโยชน์บนมือถือ และก้าวสู่ปีที่ 8 แล้ว Buzzebees ชื่อที่มาจากตัวการ์ตูนรูปผึ้งชื่อดังในนิวซีแลนด์ ปัจจุบันมีลูกค้าองค์กร 130 แบรนด์ เข้าถึงคนไทย 62 ล้านคน และแจกไปแล้วเกิน 10,000 ล้านแต้ม
คุณพิ้งค์ถือว่าเป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งและกรรมการบริหาร กล่าวว่าเกิดปรากฏการณ์ที่สตาร์ทอัพไทยมีผู้ใช้งานเป็นรองแค่เฟสบุ๊กและไลน์ได้นั้นมาจากทัศนคติแบบ ‘Can Do’ และสตาร์ทอัพที่เริ่มจากรายได้ติดลบ ทะยานมาสร้างตัวเลขเป็น 800 ล้านบาทได้ในเวลาแค่หนึ่งทศวรรษ เป็นเพราะความเชื่อว่าการทำงานเป็น infinite game “ชีวิตและธุรกิจคือสิ่งที่ทำใหม่ไปได้เรื่อยๆ เราอยู่ในเกมที่ไม่มีวันสิ้นสุด”
ผนังสีน้ำตาลเข้มฉลุเป็นรูปรวงผึ้งและผึ้งงานวัยเจนเอ็กซ์ เจนวาย จนถึงเจนซีสาละวนทำงานขันแข็ง ใช่ที่นี่แน่ บัซซี่บีส์ เรามีนัดพบกับนางพญาผึ้งอย่างคุณพิ้งค์ ซึ่งแลดูแรงดีไม่มีตกแม้จะปั้นสตาร์ทอัพขนาด 260 ชีวิตมาเกือบทศวรรษแล้วก็ตาม “ย้อนกลับไปเมื่อ 10 ปีก่อน พิ้งค์มีบริษัททำลายนิ้วมือเพื่อรักษาความมั่นคง รายได้ปีละ 30 - 40 ล้านบาท คิดว่าฉันเจ๋งระดับหนึ่งสำหรับคนอายุ 30 กว่า จนพิ้งค์ ได้เจอเพื่อนชาวไต้หวันในงานแต่งงาน เขาเล่าว่าทำสตาร์ทอัพเล็กๆ ที่ซิลิคอนวัลเลย์ อีก 2 ปีถัดมาเขาก็ยังทำสตาร์ทอัพเล็กๆ นี้อยู่ แต่บอกข่าวใหม่ว่าเขาเพิ่งขายบริษัทให้ Intel ไป 2,000 ล้านยูเอสดอลลาร์ (เน้นเสียง) เขาทำให้พิ้งค์ตื่นว่า สิ่งที่ฉันทำสำเร็จมามันเล็กมากเมื่อเทียบกับสตาร์ทอัพที่เพื่อนทำ ฉันจะทำสตาร์ทอัพบ้าง”
ง่ายๆ แค่นั้นและคิดแล้วทำเลย คือหลักการของเธอ ไม่ช้านานผลิตภัณฑ์แรกของบัซซี่บีส์ก็ออกมาลืมตาดูโลก ‘เฟสบุ๊กสีเหลือง’ เล่นเฟสบุ๊กแล้วได้แต้มสะสม ไอเดียใหม่ล้ำที่ยังไม่มีใครทำมาก่อน “เราคิดกันว่ามันจะเปลี่ยนโลก เฟสบุ๊กจะมาซื้อเรา เราจะเป็นมหาเศรษฐี แล้วเราจะไปซื้อเกาะกัน” เธอฝันหวาน ก่อนจะเจอความจริงตีแสกหน้าด้วยยอดดาวน์โหลดวันแรก 20 คนถ้วนจากพนักงานทุกคนของบัซซี่บีส์ และยอดกะปริบกะปรอยน้อยยิ่งกว่านี้ในวันต่อๆ มา เธอพยายามพลิกเกมด้วยการลงงบ 3 ล้านบาทสุดท้ายในชีวิตไปกับการจ้างเอเจนซี่มาทำการตลาด ภายใน 1 เดือนมียอดดาวน์โหลด 250,000 คน เป็นน้ำทิพย์ชโลมใจคุณพิ้งค์ที่ลงเงินเก็บไปแล้วร่วม 30 ล้านบาท “1 เดือนผ่านไปทุกอย่างก็หายไป เพราะเราไม่มีของแจก”
บัซซี่บีส์เปลี่ยนโมเดลธุรกิจไปทำอี-คอมเมิร์ซ
การแข่งขันกับ Ensogo ซึ่งสุดท้ายก็เป็นการเลี้ยวไปชนตอม่อจังใหญ่อีกครั้ง “มันเป็น losing game เป็นธุรกิจที่ตัดกันที่ราคา จนคุณไมเคิล (คุณไมเคิล เชน สามีและผู้ร่วมก่อตั้งบัซซี่บีส์) บอกว่ายูต้องไม่ลงเงินกับธุรกิจอีกแม้แต่บาทเดียว พิ้งค์จ๋อยมาก ทีมก็ฝ่อ ทำอะไรก็ล้มเหลวตลอด เงินก็หมดไป”
ลูกฮึดอีกเฮือกคือการรวบรวมรายชื่อของธุรกิจ
7 ประเภทที่ต้องใช้บริการของบัซซี่บีส์ แล้วไล่โทร.ไปแนะนำตัวทีละรายๆ “ไม่มีคอนเน็กชั่นใดๆ ค่ะ โทร. ไปตามเบอร์ 02 จนได้นัดที่ซัมซุงและเอไอเอส ขายงานไป 2 ชั่วโมง ลูกค้าถามว่า สรุปแล้วคุณขายอะไร (หัวเราะ) เราพูดจาไม่รู้เรื่อง ทำแอพใช้ยากมาก มีเป็นสิบๆ ฟีเจอร์ ซึ่งลูกค้าบอกว่าขอแค่ 3 ฟีเจอร์ ในวันนี้มันก็คือ Galaxy Gift และ AIS Privilege เวอร์ชั่นแรก แต่เมื่อเกือบ 8 ปีที่แล้วเราเป็นเจ้าแรกที่ทำ บัซซี่บีส์เกิดมาเพื่อเป็นแพลตฟอร์มสะสมแต้ม แลกรางวัล พิ้งค์และทีมช่วยกันคิดจากตัวเองที่ชอบส่วนลดและโปรโมชั่นมาก ทุกการใช้จ่ายของฉันต้องคุ้มค่าที่สุด
“พอการตลาดที่ดีมาเจอกับไอทีเจ๋งๆ มันก็กลายเป็นซูเปอร์ทีม ทำให้พอเปิดตัวปุ๊บ Galaxy Gift ติดตลาดทันที เราเองก็ได้เรียนรู้ว่าวิชั่นเราถูกต้องนะคะ แต่วิธีการเราผิด ต้องทำอะไรง่ายๆ อย่าเยอะ ด้วยวิธีนี้เราได้ลูกค้ารายใหญ่คือ ซัมซุง เอไอเอส และ ปตท. ผ่านไป 2 ปีมีลูกค้า 3 รายเท่าเดิม กลายเป็นความชอกช้ำที่เราต้องมานั่งคุยกันอีกครั้งว่าหรือเราเป็นธุรกิจที่ไม่โต ปิดตัวดีไหม เราไม่ได้ทำอะไรผิดเลย แค่เรามาเร็วไป ผู้บริโภคยังไม่พร้อม สุดท้ายเราอดทนกันจนถึงปีที่ 4 จู่ๆ ยอดพุ่งทะลุกราฟ”
สาเหตุก็เพราะเทคโนโลยีและผู้บริโภคทันกัน สตาร์ทอัพบัซซี่บีส์จึงผงาดขึ้นเป็น Digital CRM (Customer Relationship Management การบริหารจัดการความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทกับลูกค้า) เบอร์หนึ่งของประเทศไทยที่ครองส่วนแบ่งในตลาดกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ แต่สิ่งที่ทำให้ผึ้งงานทุกตัวภูมิใจคือการปฏิวัติการใช้จ่ายของคนไทย “สมัยก่อนเราซื้อเวาเชอร์เป็นกระดาษ ต้องจ้างมอเตอร์ไซค์ส่งบัตรนี้ไปยังไปรษณีย์ ต้องทำขั้นตอนต่างๆ วุ่นวาย แต่พอเราเข้ามาเปลี่ยนทุกอย่างให้เป็นดิจิตอล ทำให้คนเปลี่ยนมา Redeem Transaction (การใช้สิทธิ์แลกซื้อของรางวัล
บนมือถือ) ได้เป็นล้านๆ ครั้ง ไม่ใช่แค่เราช่วยประหยัดกระดาษได้ปริมาณมหาศาล แต่ยังหมายถึงการประหยัดทรัพยากรต่างๆ ทั้งพลังงานในการขนส่ง แรงงานคน และเวลา ซึ่งอันหลังเป็นสิ่งที่มีค่าที่สุด”
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาผู้คนเปิดรับเทคโนโลยีมากขึ้น จนโทรศัพท์มือถือกลายเป็นอวัยวะที่ 33 เป็นห้างสรรพสินค้า ประกันภัย จนถึงธนาคาร เมื่อนั้นรายรับของบัซซี่บีส์เติบโตขึ้นเรื่อยๆ จากติดลบก็เริ่มได้กำเงิน 5 ล้านบาท แล้วเพิ่มขึ้นเป็น 50, 160, 390, 665 ปีนี้อาจไปแตะที่ 800 ล้านบาท ฝันดีของเธอและทีมทุกคนก็คือเดินไปทางไหนก็เห็นแต่ผลงานของตัวเอง “ทำบัซซี่บีส์แล้วภูมิใจนะ เดินเข้า 7-11 แคมเปญโค้กนั่นเราก็ทำ ไปร้าน Boots ป้ายทั้งหมดฉันก็ทำ เปิดมือถือมาเจอแอพ Galaxy Gift นั่นฉันก็ทำ แม้แต่จะไปกู้เงินทำธุรกิจ เราก็เป็นคนทำแอพกู้เงินให้ธนาคารเอสเอ็มอี เมื่อเช้าเราคุยกันเรื่องโปรโมชั่นของ Royal Canin สำหรับชิวาว่าและแมวเปอร์เซียในที่ประชุม
“จะเห็นว่าเราทำงานกว้างมาก เพราะลูกค้าเรามีตั้งแต่ธนาคารทุกแห่ง ยกเว้นธนาคารของรัฐ บริษัทประกันระดับท็อป ยกเว้นเอไอเอ ปั๊มน้ำมันเจ้าใหญ่เกือบทุกแห่ง เนสท์เล่ สิงห์ โค้ก เอ็ม150 มาม่า ยามาฮ่า ไปจนถึงอาหารสัตว์ พูดง่ายๆ ว่าโปรโมชั่นทุกอันและอาร์ตเวิร์กทุกชิ้นที่ผู้บริโภคเห็นในแอพ เราเป็นคนทำให้ทั้งหมด เราทำแม้กระทั่งซื้อของแจกโปรโมชั่น แถมส่งให้อีกต่างหาก เมื่อเช้าหนึ่งในเรื่องที่ประชุมกันคือโถส้วมเป็ด ของแจกของ Mead Johnson ส่งไปถึงมือลูกค้าหรือยัง ทุกอย่างที่พูดมา เราใช้ไอทีทำงานให้ทั้งหมด เรามีคนทำงานแค่ 200 กว่าคน ไม่ได้มีพนักงานหมื่นคนนะคะ”
เธอเล่าถึงฝันดีไปแล้ว มาถึงคิวฝันร้ายกันบ้าง “รู้สึกเหมือนออกสนามรบตลอดเวลา” เธอหัวเราะแห้งๆ “ทุกวันมีเรื่องให้ตั้งคำถามตัวเองว่าฉันทำอะไรอยู่ ด้วยความที่โมเดลธุรกิจของบัซซี่บีส์ไม่เหมือนสตาร์ทอัพทั่วไป ปกติเขามีกัน 3 แพลตฟอร์ม คือ ไอโอเอส แอนดรอยด์ และเว็บ ส่วนเรามี 300 กว่าแพลตฟอร์ม เพราะแต่ละแบรนด์มีแพลตฟอร์มหลากหลายมาก แล้วเราเข้าถึงผู้ใช้งาน 62 ล้านคนในประเทศไทย มีลูกค้า 130 บริษัท เราติดอันดับ 1 ใน 3 ของผู้ใช้งานสูงสุดในประเทศไทย รองจากเฟสบุ๊กและไลน์เท่านั้น แต่ก็หมายถึงปัญหามากมายในแต่ละวัน ถ้ามีคนคอมเพลนวันละ 60,000 คน นั่นเท่ากับ 0.01 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ทีมของเราจิตแข็งสุดๆ ค่ะ (หัวเราะ) เพราะเรามีแอตติจูดว่า ‘Can Doz’
เป้าหมายทางธุรกิจที่เธอทำสำเร็จไปแล้วคือการทำให้บัซซี่บีส์เป็นอันดับหนึ่งของประเทศ เป้าต่อไปในระดับภูมิภาคคงไม่ยากเกิน และยังเป้าระหว่างทางว่าเมื่อเข้าตลาดหุ้น เธอจะกระจายหุ้น 5 เปอร์เซ็นต์ให้แก่พนักงานทุกคน “เขาอาจมีเงินถึง 10, 20 หรือ 30 ล้านได้ ซึ่งในชีวิตพนักงานหนึ่งคนแทบไม่มีวันเห็นเงินก้อนนี้ แต่พิ้งค์จะทำให้ทุกคนเห็น”
เสน่ห์ของคนทำสตาร์ทอัพคือพวกเขาเป็นคนมีแพสชั่นแรงกล้า และแม้จะทำงานข้องเกี่ยวกับเทคโนโลยีซับซ้อน ทว่าก็เป็นคนฝันสนุกสนานอย่างเหลือเชื่อ “ฝันสูงสุดของพิ้งค์คืออยากยกระดับประเทศไทยในทุกๆ ด้าน ตั้งแต่การศึกษาจนถึงการเกษตร พิ้งค์เห็นพนักงานคนหนึ่งต้องลากลับบ้านทุกปีเพื่อไปปลูกข้าว ปลูกแล้วน้ำก็ท่วมทุกปี เขาแค่ต้องการเงินชดเชยน้ำท่วม พนักงานอีกคนต้องยืมเงินพิ้งค์ทุกครั้งที่ไปดำนา เพราะได้เงินมาก็ต้องเอาไปซื้อปุ๋ยซื้อยา ขาดทุนแต่ก็ยังทำมันเพื่ออะไร
“ถ้าพิ้งค์มีข้อมูลจากกระทรวงเกษตรฯ ว่า คนนี้ทำนาแล้วขาดทุนทุกปี พิ้งค์จะต้องแนะนำให้เขาปลูกพืชชนิดอื่นหรือเลี้ยงปลาแทนได้แล้ว และพิ้งค์จะให้กู้เพื่อไปทำเกษตรที่เหมาะสมกับพื้นที่ ไม่ใช่ให้กู้เพื่อไปปลูกข้าวแล้วน้ำท่วมหรือขาดทุนซ้ำซาก ถ้าเรื่องนี้มี Big Data เราแก้ได้ มันไม่ง่ายหรอกค่ะ แต่เราเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ เริ่มทำก่อนจากกลุ่มคนที่พร้อม สมมุติเกษตรกรไทยมี 10 ล้าน ทำได้แสนคนก็ดีใจแล้ว คิดดูว่าจะมีกี่ครัวเรือนที่ชีวิตดีขึ้น
“ถ้าคุณไม่หยุดเดินขึ้นบันได คุณก็มีแต่ขึ้นไปเรื่อยๆ ต่อให้โดนผลักตกก็ตกลงมา ก็ลุกแล้วเดินขึ้นไปใหม่ อย่ามาเสียดายบันไดขั้นที่เดินไปแล้ว และไม่มีคำว่าสาย ประเทศก็เป็น infinite game ไม่ใช่ว่าอีก 99 ปีจะหมดสัญญาการเป็นประเทศ ถ้าคุณทำให้ประเทศดีขึ้นวันนี้ มันก็ดีขึ้นวันนี้เลยค่ะ”