รีวิวต้นแบบ “ชุดศิลปะบำบัดเพื่อผู้ป่วยมะเร็ง” แม้ไม่เป็นมะเร็งก็มองเห็นใจตัวเองได้
สุดสัปดาห์นี้ (30 พ.ย.2562) ยาวไปจนถึงวันที่ 5 ธ.ค.62 ที่สามย่านมิตรทาวน์จะมีอีเวนท์สนุกน่าเดินนั่นคือ “ตลาดอาร์ตฟอร์แคนเซอร์”Art for Cancer ตลาดสินค้าดีไซน์ งานคราฟต์ งานประดิษฐ์ ฯลฯ และนานากิจกรรมเวิร์คช้อป รายได้จากการขายสินค้าและกิจกรรมในงานจะนำไปเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนา “ชุดศิลปะบำบัด” หรือ “Art Theraphy Kit” ที่ถูกพัฒนาขึ้นโดยนักศิลปะบำบัด เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยมะเร็งและผู้ดูแลผู้ป่วยได้ทดลองเล่นเพื่อให้ได้มองเห็นใจของตนเอง
>> สิ้นเดือนนี้ชวนเดิน “Art for Cancer Market” ตลาดมองเห็นใจเพื่อผู้ป่วยมะเร็ง
จากการชักชวนของคุณออย-ไอรีล ไตรสารศรี ผู้ป่วยมะเร็งและผู้ก่อตั้งอาร์ต ฟอร์ แคนเซอร์ให้ทดลองเล่น “กล่องมองเห็นใจ” หรือจะเรียกอย่างเป็นทางการว่า “ชุดศิลปะบำบัด” หรือ “Art Theraphy Kit” ก็เริ่มรู้สึกสนใจว่ามันคืออะไร ซึ่งคุณออยเล่าให้ฟังคร่าวๆ ว่ากล่องมองเห็นใจนี้ถูกพัฒนาขึ้นโดยนักศิลปะบำบัด ซึ่งเชื่อว่าศิลปะบำบัดนั้นเป็นหนึ่งในกระบวนการเยียวยาอารมณ์จิตใจของผู้ป่วยมะเร็ง เพราะมีงานวิจัยต่างประเทศหลายชิ้นใช้ศิลปะบำบัดกับผู้ป่วยมะเร็งแล้วพบว่าศิลปะช่วยเยียวยาผู้ป่วยให้สามารถจัดการกับอารมณ์ความรู้สึกเชิงลบ เพิ่มอารมณ์เชิงบวก ทำให้ผู้ป่วยมีความหวังที่จะมีชีวิตต่อไป แม้โดยปกติผู้ป่วยอาจจะใช้วิธีการบันเทิงใจด้วยการดูซีรีส์ อ่านหนังสือ เล่นโซเชียลมีเดีย แต่นั่นก็ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกดีขึ้นเพียงชั่วคราวเท่านั้น แต่การมีชุดศิลปะบำบัดนี้จะช่วยทำให้ผู้ป่วยมองเห็นใจตนเอง และเห็นทางออกชีวิตได้มากขึ้น
แม้ตอนนี้ “กล่องมองเห็นใจ” จะยังเป็นเพียงต้นแบบที่รอการพัฒนา แต่เมื่อได้ทดลองเล่นก็เกิดรู้สึกบางอย่างขึ้นจริงๆ โดยตอนที่ไปนั่งทำเวิร์คช้อปร่วมกับนักศิลปะบำบัดที่เดินทางมาในวันนั้นเริ่มต้นด้วยให้ทุกคนแนะนำตัว พร้อมถามความรู้สึกของแต่ละคนในตอนนั้น ซึ่งแต่ละคนก็บอกความรู้สึกหลากหลายทั้งเหนื่อย หิว สดชื่น สับสน ฯลฯ พร้อมเล่าที่มาของอารมณ์ความรู้สึกเหล่านั้น เมื่อวอล์มด้วยการทำความรู้จักกันเบื้องต้นแล้ว นักศิลปะบำบัดก็แจกกระดาษ A4 เปล่ามาคนละ 1 แผ่นแล้วให้พับครึ่ง ก่อนจะมอบโจทย์ให้แต่ละคนวาดภาพกระดาษฝั่งหนึ่งเกี่ยวกับสิ่งที่ตัวเองจดจำได้อย่างละเอียด บางคนก็วาดภาพในห้องนอนที่บ้าน บางคนก็วาดภาพการเดินทางมาทำงาน บางคนก็วาดภาพความทรงจำระหว่างเดินทางท่องเที่ยวกับครอบครัว
เมื่อวาดภาพเสร็จแล้วนักศิลปะบำบัดก็ให้แต่ละคนอธิบายเกี่ยวภาพที่วาดว่าเพราะอะไรจึงวาดภาพนี้ และตอนที่วาดรู้สึกอย่างไรบ้าง ตอนอธิบายแต่ละคนก็เล่าเรื่องราวในภาพอย่างออกรส ซึ่งนักศิลปะบำบัดบอกว่าภาพในส่วนแรกนี้เป็นส่วนที่สะท้อนความคิดของคนๆ นั้นในตอนนั้น ต่อมาก็ให้แต่ละคนระบายสีที่กระดาษอีกฝั่งซึ่งว่างอยู่ จะวาดเป็นลายเส้น ระบายสีอะไรก็ได้ตามความรู้สึกของตัวเองที่เกิดขึ้นในตอนนั้น มองไปที่คนอื่นๆ ก็จะระบายสีกันหลากหลายมาก ส่วนตัวเลือกระบายสีเหลืองและวาดเป็นลายดอกไม้สลับกับการเลือกใช้สีชมพูแทนความรู้สึกสดใส สดชื่นที่เชื่อมโยงกับภาพอีกด้านหนึ่ง
จากนั้นนักศิลปะบำบัดก็จะอธิบายว่าการระบายสีในกระดาษอีกฝั่งนั้นเป็นตัวแทนเรื่องความรู้สึก โดยสรุปแล้วนักศิลปะบำบัดบอกว่าหากใครที่ป่วยส่วนที่เป็นความคิด ความรู้สึก และเจตจำนงจะไม่สมดุลกัน ซึ่งการวาดภาพเช่นนี้เป็นวิธีเบื้องต้นที่จะช่วยบอกว่าเราติดขัดในเรื่องใดจาก 3 เรื่องที่ว่ามา ต่อมาก็เริ่มไปสู่การเปิด “กล่องมองเห็นใจ” ที่ทางทีมงานผู้พัฒนาและนักศิลปะบำบัดมอบให้แต่ละคน
กล่องมีขนาดใหญ่ประมาณกล่องใส่รองเท้าผ้าใบ ด้านในแบ่งเป็นช่องต่างๆ รวมแล้วแบ่งเป็น 4 โหมดรวมโจทย์ 12 ข้อที่แยกไว้ตามสี นักศิลปะบำบัดบอกให้แต่ละคนเลือกของเล่น 1 ชิ้นจากทั้ง 4 โหมดที่มีโดยอิงจากสีส่วนใหญ่ที่เราระบายลงบนกระดาษเมื่อสักครู่นี้ ส่วนตัวเลือกสีเหลือง และหยิบซองโจทย์เกี่ยวกับการเขียนคำอวยพรและห่อกล่องของขวัญขึ้นมา เพราะตอนนั้นคิดว่าไม่น่าจะยาก และอยากเขียนอะไรถึงใครอยู่พอดี
เมื่อหันไปมองคนอื่นๆ ก็จะเห็นแต่ละคนเลือกโจทย์ที่หลากหลายแตกต่างกันไป บางคนได้โจทย์ที่ต้องฉีกกระดาษ บางคนได้โจทย์ต่อเลโก้ไม้ บางคนได้โจทย์เจาะกระดาษ ซึ่งของเล่นทั้ง 12 ชิ้นนี้มีความแตกต่างกัน แต่โดยรวมจะเน้นเรื่องการได้ลงมือกระทำไม่ว่าจะเป็นการต่อ การพับ การเขียน การวาด การฉีก การเจาะ ฯลฯ เมื่อลองสังเกตตัวเองที่ได้โจทย์ห่อกล่องของขวัญกระดาษตอนแรกคิดว่าจะง่ายๆ แต่ใช้เวลาพักใหญ่เลยทีเดียวกว่าจะประกอบร่างได้ เมื่อประกอบกล่องขึ้นมาได้แล้วโจทย์ต่อไปคือเขียนข้อความส่งต่อให้คนที่ตนเองรักว่าอยากจะบอกอะไรกับเขา
ทุกๆ จะได้ลงมือและใช้เวลาสักระยะหนึ่งเพื่อแก้โจทย์ที่ได้มา หากลองสังเกตความรู้สึกของตัวเองจะพบว่าเราได้หยุดนิ่ง เราได้มีสมาธิกับสิ่งที่อยู่ข้างหน้าของเรา แม้จะเป็นระยะเวลาสั้นๆ แต่ก็รู้สึกสงบ และนิ่งขึ้น จากนั้นเราต้องตั้งชื่อผลงานของตัวเอง บอกความรู้สึกที่เกิดขึ้น สิ่งที่ซ่อนอยู่และเราดึงมันออกมาได้ ฯลฯ การได้อธิบายสิ่งเหล่านี้มันทำให้เราเข้าถึงใจของตัวเองได้จริงๆ เพราะหลายๆ คนบอกว่าเมื่อมาลองเล่นแล้วบอกว่าได้รู้สึกถึงความรู้สึกที่แท้จริงของตัวเอง บางคนบอกว่าเพิ่งรู้สึกว่าความรู้สึกเหล่านั้นมันมีอยู่จริง รวมไปถึงบางคนก็รู้สึกว่านอกจากความคิดลบๆ ของตัวเองแล้ว เขายังมีด้านบวกอยู่ด้วยเช่นเดียวกัน
ไม่น่าเชื่อว่าการได้ลองฉีกกระดาษ ต่อเลโก้ ห่อกล่องของขวัญ หรือระบายสีต่างๆ จะทำให้สามารถดูใจ เห็นใจของตัวเองได้จริงๆ ซึ่งนักศิลปะบำบัดเองก็อธิบายว่า “กล่องมองเห็นใจ” นี้ช่วยผู้ป่วยได้โดยผ่าน 3 ขั้นตอนคือ 1.ช่วยในการมองสุขภาวะในปัจจุบัน เพื่อเข้าใจภาพรวมของสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับตัวเองผ่านเส้นและสี
2.เมื่อเห็นเส้นและสีนั้นแล้ว ให้พิจารณาว่าจะเพิกเฉย ปล่อยมันไปแบบนั้น หรือจะแก้ไขจัดการ ก็กลับเข้าไปที่ภาพแล้วทำงานกับมันต่อ โดยกระบวนการศิลปะจะช่วยให้ผู้ป่วยค้นพบศักยภาพที่จะพาตัวเองออกจากสถานการณ์นั้นได้ เช่นการจัดเรียง การเจาะ การปะติดปะต่อ ซึ่งขั้นตอนนี้จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อผู้ป่วยได้ลงมือทำเท่านั้น
3.และเมื่อจบงานศิลปะชิ้นนั้นแล้ว การทำงานศิลปะควบคู่กับการเขียนบันทึกประสบการณ์ จะช่วยเอาสิ่งที่อยู่ข้างในมาทำให้เห็นประจักษ์ตรงหน้าเหมือนเป็นกระจกสะท้อนให้เห็นตัวเอง ผู้ป่วยจะได้พิจารณาสิ่งที่เกิดขึ้นในชิ้นงานตรงหน้า หากเขาค้นพบหนทางของตัวเองแล้ว ก็จะสามารถสร้างแรงบันดาลใจให้ตัวเองและคนอื่นๆ รอบตัวได้
กระบวนการต่างๆ เหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่นักศิลปะบำบัดคัดสรรมาแล้ว เพื่อทำงานกับอารมณ์ นำไปสู่การหาคำตอบโดยตัวผู้ทำเอง การทำให้ตัวเองแข็งแรงทางความรู้สึกด้านในเป็นเรื่องที่สามารถฝึกฝนผ่านประสบการณ์และการทำซ้ำจนเข้าใจ สำหรับกล่องมองเห็นใจที่ว่านี้น่าจะพัฒนาและจัดทำมอบให้ผู้ป่วยทดลองใช้ก่อนประมาณ 50-100 ชุด และจะผลิตจริงประมาณเดือนเมษายน 2563 โดยผลิตจริงประมาณ 500-1,000 ชุด ราคาอยู่ที่ชุดละประมาณ 1,000 กว่าบาท นอกจากผู้ป่วยมะเร็ง ผู้ป่วยเรื้อรัง ผู้ป่วยติดเตียงแล้ว คนทั่วไปก็สามารถมีไว้ได้เพราะทุกคนจะได้ลองมองเห็นใจของตัวเองอยู่เป็นระยะๆ
อัลบั้มภาพ 14 ภาพ