เหนื่อย อ่อนเพลีย ช่วงตั้งครรภ์ ถือเป็นเรื่องปกติหรือเปล่า
เหนื่อย อ่อนเพลีย ช่วงตั้งครรภ์ ถือเป็นอาการที่พบได้บ่อย โดยผู้หญิงบางคนอาจรู้สึกเหนื่อยและอ่อนเพลียช่วงตั้งครรภ์ ในขณะที่บางคนอาจไม่เคยรู้สึกเหนื่อยเลย นอกจากนี้อาการเหนื่อยล้ามักจะพบมากที่สุดในช่วง ตั้งครรภ์ไตรมาสแรก และมีแนวโน้มว่าจะหายไปในช่วงไตรมาสที่ 2 แล้วอาการจะกลับมาอีกในช่วงไตรมาสที่ 3 ในบทความนี้ Hello คุณหมอ มีข้อมูลเกี่ยวกับอาการเหนื่อยล้าในช่วงตั้งครรภ์ มาฝากดังนี้ค่ะ
สาเหตุที่ทำให้มีอาการ เหนื่อย อ่อนเพลีย ช่วงตั้งครรภ์
การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน โดยเฉพาะฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน มีบทบาทสำคัญที่ทำให้คุณรู้สึกเหนื่อย เนื่องจากฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนจะเพิ่มขึ้น ในช่วงตั้งครรภ์ไตรมาสแรก มากไปกว่านั้น ปริมาตรเลือดในกาย (blood volume) ยังเพิ่มขึ้นระหว่างตั้งครรภ์ ส่งผลให้ชีพจรเต้นเร็วขึ้น รวมถึงการที่ระดับธาตุเหล็กต่ำลง สามารถทำให้เกิดอาการเหนื่อยได้
อาการเหนื่อยในช่วงตั้งครรภ์ จะอยู่นานแค่ไหน
ผู้หญิงส่วนใหญ่ จะมีอาการเหนื่อยมากในช่วงไตรมาสแรก และอาการจะบรรเทาลงในช่วงไตรมาสที่ 2 ดังนั้นถ้าคุณรู้สึกเหนื่อยมากในช่วงสัปดาห์แรกของการตั้งครรภ์ การนั่งพักหรืองีบหลับซักพักก็จะช่วยได้ นอกจากนี้ โดยปกติแล้วอาการเหนื่อยล้าจะกลับมาอีกในช่วงไตรมาสที่ 3
วิธีบรรเทาอาการเหนื่อยล้า ช่วงตั้งครรภ์
- กินอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ เนื่องจากอาหารที่ดีจะช่วยทำให้ร่างกายแข็งแรง และป้องกันอาการคลื่นไส้ด้วย
- พักระหว่างวัน ถ้าอยู่ในที่ทำงาน แล้วมีอาการเหนื่อยล้า อ่อนเพลียอย่างมาก ให้ลองยืดเส้นยืดสาย และหายใจเข้าลึกๆ หรืออาจจะลุกขึ้นไปเดินเล่น และหาที่นั่งพักผ่อนประมาณ 5-10 นาทีเพื่อให้อาการดีขึ้น
- งีบหลับระหว่างวัน ถ้าเป็นไปได้ ควรงีบหลับระหว่างวัน เพื่อให้ร่างกายได้พักผ่อนมากขึ้น
- ดื่มน้ำให้เพียงพอ ควรดื่มน้ำให้เพียงพอ อย่างน้อย 2 ลิตรต่อวัน และก่อนนอนไม่ควรดื่มน้ำมาก เพื่อป้องกันการลุกขึ้นมาปัสสาวะในตอนกลางคืน ที่อาจรบกวนการนอนหลับได้
- ควรหลีกเลี่ยงการดื่มคาเฟอีน การดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนหลังบ่าย 2 อาจรบกวนการนอนหลับ และที่สำคัญคือคาเฟอีนไม่ค่อยดีต่อพัฒนาการของทารก ดังนั้นคุณแม่ตั้งครรภ์ควรดื่มน้ำเปล่าดีที่สุด
- ใส่ใจสุขภาพจิต ผู้หญิงบางคนอาจรู้สึกผิด ที่ตัวเองไม่สามารถทำได้ทุกอย่างเหมือนที่เคยทำ เพราะความเหนื่อยล้าทำให้เป็นอุปสรรคในการทำสิ่งต่างๆ ดังนั้นจึงควรระวังความเครียด และควรปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์บางอย่าง เพื่อให้ได้พักผ่อนมากขึ้น เช่น อาจลดงานบางอย่างลง เพื่อให้มีเวลานอนหลับมากกว่าเดิม ในช่วงตั้งครรภ์