หากเกิดมะเร็งปากมดลูกขณะตั้งครรภ์ จะทำอย่างไรดี?
มะเร็งปากมดลูก เป็นชนิดของมะเร็งที่พบได้มากเป็นอันดับ 2 ในประเทศไทย และเพียงการเกิดในสภาวะปกติก็สามารถสร้างความกังวลใจให้กับผู้หญิงเราได้มากมายแล้ว แต่หากเกิดในช่วงตั้งครรภ์ จะยิ่งทำให้เกิดผลกระทบต่อทารกในครรภ์ไปด้วยหรือไม่ และจะมีแนวทางการรักษาที่เหมาะสมปลอดภัยอย่างไร วันนี้เราจะมาไขข้อสงสัยนี้กัน
มะเร็งปากมดลูก คืออะไร
มะเร็งปากมดลูกคือ มะเร็งที่ไม่มีการถ่ายทอดทางพันธุกรรม แต่มีสาเหตุมาจากการติดเชื้อไวรัส ซึ่งจากงานวิจัยพบว่าผู้ที่เป็นโรคมะเร็งปากมดลูกจะตรวจพบไวรัส HPV (Human Papillomavirus) ที่สามารถติดต่อได้จากการมีเพศสัมพันธ์ ความร้ายกาจของมะเร็งชนิดนี้คือ ผู้ป่วยจะไม่รู้ตัวเลยว่าร่างกายได้รับไวรัสเข้ามาแล้ว และยังเป็นโรคที่ไม่แสดงอาการอะไรจนกว่าจะอยู่ในระยะท้ายของโรค การรักษาในกลุ่มผู้ป่วยทั่วไปอาจจำเป็นต้องตัดมดลูกทิ้งเพื่อป้องกันการลุกลามของโรค
อาการของมะเร็งปากมดลูกขณะตั้งครรภ์
อาการในที่พบในคนท้อง ความรุนแรงจะขึ้นอยู่กับระยะของโรค หากระยะของโรคอยู่ในช่วงแรกๆ ก็จะยังไม่มีการแสดงอาการอะไร คนส่วนใหญ่มักมาพบแพทย์ด้วยอาการเลือดออกทางช่องคลอด มีการตกขาวผิดปกติเป็นหนองหรือมีกลิ่นเหม็นรุนแรง
หากก้อนมะเร็งใหญ่อาจกดเบียดอวัยวะภายใน เช่น ทางเดินปัสสาวะ ทำให้ปัสสาวะบ่อย ตลอดจนท้องผูก และเมื่อเซลล์มะเร็งลุกลามจะส่งผลให้เกิดอาการปวดท้องน้อยอย่างรุนแรง ปวดสีข้างหรือปวดเอวชาร้าวลงขา ตัวซีด เหนื่อยง่าย ซึ่งความรุนแรงนี้จะพบในช่วงระยะที่ 3 และ 4 ของโรค ดังนั้นเมื่อมีอาการเลือดออกทางช่องคลอดควรรีบไปพบแพทย์ด่วน
การรักษามะเร็งปากมดลูกในหญิงตั้งครรภ์
การรักษาในหญิงตั้งครรภ์จำเป็นต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญหลายสาขามาวางแผนร่วมกัน เพื่อให้เกิดความปลอดภัยต่อทั้งมารดาและทารกในครรภ์ ซึ่งอาจแบ่งแนวทางการรักษาได้ ดังนี้
· ตรวจพบมะเร็งในระยะแรกเริ่ม และเซลล์มะเร็งไม่ลุกลามให้ตั้งครรภ์ต่อไปก่อน โดยจะมีการติดตามอาการอย่างใกล้ชิด
· หากเป็นระยะลุกลาม โดยที่ทารกในครรภ์มีอายุประมาณ 4 เดือนจะทำการรักษาทันที โดยไม่คำนึกถึงพัฒนาการของทารก เพื่อความปลอดภัยของร่างกายคุณแม่ และยังเป็นการป้องกันไม่ให้มะเร็งเกิดการลุกลามต่อไป
วิธีรักษามะเร็งปากมดลูกในหญิงตั้งครรภ์
1.การผ่าตัด เป็นการผ่าตัดเพื่อนำก้อนมะเร็งออกไป หากมีการลุกลามของเซลล์มะเร็งแพทย์อาจพิจารณาตัดมดลูก หรือรังไข่ทิ้ง
2.การใช้รังสีรักษา แพทย์จะพิจารณาใช้รังสีเพื่อฆ่าเซลล์มะเร็ง 5 วัน/สัปดาห์ ซึ่งการรักษาด้วยวิธีนี้จะส่งผลกระทบต่อทารกในครรภ์แน่นอนคือ อาจเกิดการแท้ง พิการ พัฒนาการล่าช้า คุณแม่อาจจะต้องทำใจไว้ล่วงหน้า
3.การทำเคมีบำบัด วิธีนี้คือ การให้สารเคมีเข้าไปในทางเส้นเลือด แต่การใช้วิธีนี้ควรหลีกเลี่ยงใช้กับคนท้องที่อยู่ในไตรมาส 1-3 เพื่อป้องกันผลกระทบจากยาที่มีต่อทารกในครรภ์
4.การสร้างภูมิคุ้มกัน การใช้ยาบางชนิดที่มีฤทธิ์เฉพาะในการสร้างภูมิคุ้มกันจะช่วยในการทำลายเซลล์มะเร็งได้
วิธีป้องกันมะเร็งปากมดลูก
· การตรวจคัดกรอง ผู้หญิงที่มีอายุ 30 ปีขึ้นไปและผ่านการมีเพศสัมพันธ์แล้ว ควรได้รับการตรวจคัดกรองอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ส่วนผู้หญิงที่มีอายุมากกว่า 40 ปี ควรตรวจอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง
· การฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อ HPV
· หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เช่น การสูบบุหรี่ และการมีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุยังน้อย เป็นต้น
มะเร็งปากมดลูก ถือเป็นภัยเงียบที่สามารถฆ่าชีวิตผู้หญิงไทยได้เป็นอันดับต้นๆ ดังนั้น ผู้หญิงที่มีความเสี่ยงทุกคนควรเข้ารับการตรวจสุขภาพประจำปีอย่างต่อเนื่องทุกปี เพื่อลดความเสี่ยงและวางแผนการรักษาที่ถูกต้องเหมาะสม โดยเฉพาะโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นตอนตั้งครรภ์จะได้มีลดน้อยลงด้วยนั่นเอง