ปัญหาสุขภาพของคนรุ่นใหม่ ที่ชาวมิลเลนเนียลต้องใส่ใจ

ปัญหาสุขภาพของคนรุ่นใหม่ ที่ชาวมิลเลนเนียลต้องใส่ใจ

ปัญหาสุขภาพของคนรุ่นใหม่ ที่ชาวมิลเลนเนียลต้องใส่ใจ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ปัจจุบันโลกเราพัฒนาไปมาก มีเทคโนโลยีล้ำสมัยต่างๆ เกิดขึ้นให้เราตื่นตาตื่นใจไม่เว้นแต่ละวัน แต่ผู้เชี่ยวชาญกลับพบว่า สุขภาพของคนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะชาวมิลเลนเนียล ซึ่งเป็นกลุ่มคนวัยทำงานและเริ่มเข้าสู่วัยทำงาน นั้นแย่ลงเรื่อยๆ ปัญหาสุขภาพของคนรุ่นใหม่ ในยุคนี้จะมีอะไรบ้างที่เราต้องใส่ใจ แล้วเราจะรับมือกับมันยังไงได้บ้าง บทความนี้มีคำตอบให้แล้ว

ท็อปเทน ปัญหาสุขภาพของคนรุ่นใหม่

ยุคนี้เรื่องสุขภาพถูกพูดถึงมากขึ้น ผู้คนเริ่มหันมาใส่ใจกับสุขภาพ เน้นการออกกำลังกายและการกินอาหารที่มีประโยชน์ หากมองในแง่นี้ เราอาจจะคิดว่า คนรุ่นใหม่จะต้องมีสุขภาพที่สมบูรณ์แข็งแรงกว่าคนรุ่นเก่าๆ แต่ข้อมูลจาก Blue Cross Blue Shield Association (BCBSA) ซึ่งเป็นองค์กรเกี่ยวกับการประกันภัยในประเทศสหรัฐอเมริกากลับเผยว่า สุขภาพของคนรุ่นใหม่นั้นถือว่า ไม่แข็งแรงเลยหากเทียบกับอายุของพวกเขา

โดยข้อมูลยังเผยอีกว่า โรคยอดฮิตในสิบอันดับแรกพบในกลุ่มคนรุ่นใหม่ และชาวมิลเลนเนียลมากขึ้นนั้น ได้แก่

โรคซึมเศร้า โรคที่เกิดจากการใช้สารเสพติด โรคที่เกิดจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ความดันโลหิตสูง อาการไฮเปอร์ (Hyperactivity) หรือภาวะอยู่ไม่สุข ขาดสมาธิ โรคจิต โรคโครห์น และโรคลำไส้ใหญ่อักเสบเป็นแผลเรื้อรัง คอเลสเตอรอลในเลือดสูง โรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่ โรคเบาหวานชนิดที่สอง

นอกจากสิบโรคดังกล่าวแล้ว ชาวมิลเลนเนียลและคนรุ่นใหม่ในยุคนี้ยังมีความเสี่ยงในการเกิดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ และโรคหลอดเลือดสมอง เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน ซึ่งจะเห็นได้ว่าปัญหาสุขภาพดังกล่าวมีทั้งปัญหาสุขภาพกายและสุขภาพจิต

ผู้เชี่ยวชาญเผยว่า ชาวมิลเลนเนียลนั้นมีปัญหาสุขภาพจิตเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะโรคซึมเศร้าและอาการไฮเปอร์ และความชุกของโรคในกลุ่มประชากรชาวมิลเลนเนียลนั้นสูงกว่า คนเจนเอ็กซ์และคนกลุ่มเบบี้บูมเบอร์เสียอีก

ปัจจัยที่ส่งผลต่อสุขภาพของคนรุ่นใหม่

ปัญหาสุขภาพของคนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะชาวมิลเลนเนียลที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ นี้ อาจเป็นผลมาจาก

ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี

ชาวมิลเลนเนียลถือว่า เป็นกลุ่มคนที่เติบโตมากับเทคโนโลยีโดยแท้จริง และได้เรียนรู้การใช้อุปกรณ์อิเล็กโทรนิกส์ต่างๆ เช่น คอมพิวเตอร์ และใช้ชีวิตอยู่กับอุปกรณ์เหล่านั้นมากกว่าจะเรียนรู้ในการสร้างปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้าง การสบตาผู้คน ทำให้ไม่ถนัดในการอ่านสีหน้า หรือไม่ระมัดระวังในการรับมือกับอารมณ์ของผู้อื่นรวมถึงตัวเองเท่าไหร่นัก

การขาดความตระหนักรู้ทางอารมณ์ (emotional awareness) นี้เรียกว่า ภาวะอเลกซีไธเมีย(Alexithymia) ที่ทำให้ชาวมิลเลนเนียลไม่สามารถเข้าใจอารมณ์และความรู้สึกของตัวเองและผู้อื่น จนทำไปสู่ปัญหาการเข้าสังคม การเรียน การทำงาน และปัญหาสุขภาพได้ในที่สุด

การรับสื่อมากเกินไป

อินเตอร์เน็ตทำให้คนรุ่นใหม่สามารถเข้าถึงสื่อต่างๆ ได้ตลอด 24 ชั่วโมง และทำให้เราเข้าถึงข้อมูลได้แทบจะทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นภาพวิดีโอขำขัน ข่าวบันเทิง ไปจนถึงภาพเหตุการณ์ระทึกขวัญหรือน่ากลัว ภาพการก่อการร้าย ภัยธรรมชาติ หายนะ และความรุนแรงต่างๆ มีให้เห็นอยู่ทั่วไป นั่นทำให้คนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะชาวมิลเลนเนียลรู้สึกสิ้นหวัง ท้อแท้ หดหู่ ปัญหาสุขภาพต่างๆ โดยเฉพาะปัญหาสุขภาพจิตจึงเกิดขึ้นไม่ได้ยาก

ตารางการทำงานที่ไม่แน่นอน

ปัจจุบันการทำงานไม่จำเป็นต้องเข้าออฟฟิศ หรือตอกบัตรเข้า-ออกในเวลาเดียวกันทุกวัน บริษัทส่วนหนึ่งเริ่มให้พนักงานทำงานทางไกล ทำงานที่บ้าน หรือยืดหยุ่นในเรื่องเวลาทำงานมากขึ้น วิธีนี้อาจจะฟังดูดีและเป็นที่ถูกอกถูกใจคนรุ่นใหม่ส่วนใหญ่ เพราะรู้สึกเป็นอิสระในการทำงานมากกว่าคนรุ่นก่อนๆ

แต่ความจริงแล้ว รูปแบบการทำงานที่ไม่มีตารางงานแน่นอนนี้ ทำให้คนรุ่นใหม่บางส่วนมักต้องทำงานในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ หรือช่วงหยุดพักร้อนอยู่เป็นประจำเมื่อเป็นเช่นนั้นแทนที่จะได้พักผ่อนเพิ่มเติมพลังในเต็มที่ในช่วงวันหยุด ก่อนจะกลับไปทำงานอีกครั้ง กลับกลายเป็นว่า คนรุ่นใหม่พักผ่อนไม่เพียงพอ เมื่อต้องกลับไปทำงานจึงเสี่ยงเกิดความเครียดและปัญหาทางอารมณ์ยิ่งขึ้น

ผู้เชี่ยวชาญยังเผยอีกว่า ความเครียดจากการทำงานทำให้คนรุ่นใหม่ และชาวมิลเลนเนียลมีปัญหาสุขภาพจิตและโรคจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การใช้สารเสพติด หรือการสูบบุหรี่สูงขึ้นด้วย

เคล็ดลับช่วยให้คนรุ่นใหม่อยากสุขภาพดีขึ้น

แม้ปัจจัยแวดล้อมจะกระตุ้นให้ชาวมิลเลนเนียล รวมถึงคนรุ่นใหม่ๆ ในเจนอื่นเสี่ยงเกิดโรคและปัญหสุขภาพมากขึ้น แต่เคล็ดลับเหล่านี้ก็อาจช่วยลดความเสี่ยงได้

อย่ากลัวการไปพบคุณหมอ

คนรุ่นใหม่โดยเฉพาะชาวมิลเลนเนียล มักไม่ชอบไปโรงพยาบาลหรือเข้ารับการตรวจร่างกาย เนื่องจากปัจจัยด้านเวลาและการเงิน โดยเฉพาะเวลามีปัญหาสุขภาพจิต ก็มักไม่กล้าไปพบจิตแพทย์ เพราะอาจยังติดภาพว่าคนอื่นจะมองว่าบ้า

แต่ในความเป็นจริง การไปพบคุณหมอเวลารู้สึกว่าสุขภาพผิดปกติ การตรวจสุขภาพประจำปี และการเข้าพบจิตแพทย์ ถือเป็นเรื่องปกติที่คุณควรปฏิบัติเป็นอย่างยิ่ง เพราะหากคุณมาตรวจพบทีหลังว่า มีปัญหาสุขภาพในระดับรุนแรงแล้ว การรักษาย่อมทำให้คุณเสียเงินและเสียเวลามากกว่าการรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ แน่นอน

ใช้ชีวิตแบบเวิร์คไลฟ์บาลานซ์

การใช้ชีวิตแบบเวิร์คไลฟ์บาลานซ์ คือ การทำงานและใช้ชีวิตส่วนตัวแบบมีสมดุล ซึ่งถือเป็นรูปแบบที่ช่วยให้คุณจัดการกับความเครียดในการทำงานและชีวิตส่วนตัวได้อย่างดี ในช่วงเวลาทำงาน คุณควรใช้เวลาทำงานให้เต็มประสิทธิภาพ ตั้งเป้าหมายในการทำงานแต่ละวันให้ชัดเจน และทำให้ได้ตามเป้า โดยต้องไม่ลืมหยุดพักระหว่างวันด้วย เพื่อไม่ให้เกิดความเครียดสะสม

และเมื่อกลับถึงบ้าน คุณควรพักจากอุปกรณ์อิเล็กโทรนิกส์ต่างๆ แล้วหันไปทำกิจกรรมผ่อนคลายให้เต็มที่ เช่น อ่านหนังสือ นั่งสมาธิ ทำอาหาร หากไม่จำเป็นอย่าหอบงานกลับไปทำที่บ้าน และหากคุณรู้สึกเครียดหรือเหนื่อยล้าจากการทำงานสุดๆ ก็ควรลาพักร้อนบ้าง เพื่อเป็นการชาร์จพลังให้กับตัวเอง

กระฉับกระเฉงอยู่เสมอ

การออกกำลังกาย หรือเล่นกีฬาเป็นประจำจะช่วยให้ร่างกายตื่นตัว กระปรี้กระเปร่าและมีพลังงาน ช่วยให้คุณแข็งแรงขึ้น ช่วยบรรเทาความเครียด อาการซึมเศร้า อาการวิตกกังวล อีกทั้งยังช่วยกระตุ้นระบบภูมิคุ้มทานของร่างกาย ทำให้ร่างกายของคุณรับมือกับเชื้อโรคต่างๆ ได้ดีขึ้น จึงลดความเสี่ยงในการเกิดปัญหาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต

คุณควรออกกำลังกายเป็นประจำอย่างน้อยสัปดาห์ละ 150 นาที หรือวันละ 30 นาที หากใครไม่มีเวลาไปเข้าฟิตเนส แค่คุณเดินออกไปกินข้าวนอกออฟฟิศในตอนพักกลางวัน หรือปั่นจักรยานรอบหมู่บ้าน ก็ถือว่าได้ออกกำลังกายแล้ว และถ้าจะให้ดี คุณต้องออกกำลังกายควบคู่ไปกับการกินอาหารที่มีสารอาหารครบถ้วน และมีประโยชน์ต่อสุขภาพ หากงดอาหารมัน อาหารทอด อาหารแปรรูป อาหารเค็มจัดหวานจัดได้ ก็จะยิ่งดีมาก

หากไม่ไหวต้องขอความช่วยเหลือ

หากคุณรู้สึกว่าปัญหาในการทำงานและชีวิตส่วนตัวส่งผลให้คุณเครียดจัด หรือกระทบกับสุขภาพ ทำให้ชีวิตไม่มีความสุข คุณควรพูดคุย ขอความช่วยเหลือจากคนรอบข้าง หรือไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ อย่าคิดว่า การขอให้คนอื่นช่วยจะทำให้ตัวเองกลายเป็นคนอ่อนแอ เพราะอันที่จริง การที่คุณรู้จักดูแลตัวเองถือว่าเป็นสัญญาณของความเข้มแข็งต่างหาก

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำปรึกษาด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook